จากอนุบาลถึง ป.6 ม.3 ม.6 มากไปมั้ย? การศึกษาไทย
ครุยและพิธีการ “บัณฑิตน้อย” ที่เคยมีกันเฉพาะระดับอนุบาล และส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชน มาบัดนี้ “ลาม” ครอบคลุมกินพื้นที่มากขึ้นทั้งประเทศ…เหมือนภัยแล้ง และไฟไหม้ป่าเพลานี้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรๆ มากไปกว่าเดิม นั่นคือ -: 1.สิ้นเปลือง สิ้นเปลืองเงินทองของผู้ปกครอง ไหนบ่นกันอุบว่าเศรษฐกิจย่ำแย่? ไหนพูดกันว่าเราจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครอง?
2.สร้างสังคมที่ยึดมั่น “พิธีการ” และให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นแก่นสารน้อยกว่า พิธีการหลายๆ อย่างในสถานศึกษาหลายๆ สถานศึกษากำลังพันธนาการคุณภาพการศึกษาของเราให้อยู่กับที่ ฉุดขึ้นยากมาก ผมไม่โทษผู้บริหารสถานศึกษาครับ ที่ผ่านมาเราก็ต่างมีส่วนสร้างให้สิ่งนี้เกิดขึ้น 3.ทำให้ “ครุย” ไม่สมเกียรติ เกลื่อนเมือง ครุยระดับปริญญาของมหาวิทยาลัย ถูกลดคุณค่าและความหมายลง (ในบทความที่เผยแพร่ทาง นสพ.มติชน ผมกล่าวถึงที่มาของคำว่า “บ้ าใบ” ว่าเป็นอาการของผักสวนครัวที่มีแต่ใบ แต่ไม่มีลูกมีผลตามที่ต้องการ กล่าวที่มาของชุดครุย และให้ข้อมูลว่าครุยของมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น มีกฎหมายระดับ พ.ร.บ. รองรับ)
ครุยและพิธีการ “บัณฑิตน้อย” ที่มีอยู่แค่ระดับอนุบาล ก็ยังพอยินดี ดูความน่ารักของเด็กๆ คิดเสียว่าเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ภายในครอบครัวที่มีสถานศึกษาอำนวยการให้ แต่…ยิ่งอยู่..ครุยและพิธีการ “บัณฑิตน้อย” ยิ่งลามถึง ป.6 ม.3 ม.6 ปวช ปวส ลามจากโรงเรียนเอกชน จนถึงโรงเรียนของรัฐบาล ลามจากพื้นที่น้อยๆ จนกินพื้นที่กว้างขึ้นๆ ครอบคลุมทั้งประเทศ
ก่อนเขียนโพสต์นี้ผมลองสำรวจเล็กๆ จาก ผอ.สถานศึกษาที่เป็นกัลยาณมิตรกันจำนวนหนึ่ง ว่ากรณีครุยและพิธีการบัณฑิตน้อยของ ม.3 และ ม.6 นั้น เป็นความต้องการของใคร? สถานศึกษา ผู้ปกครอง หรือ นักเรียน ได้คำตอบว่า โดยส่วนใหญ่เป็นความประสงค์ของนักเรียน นักเรียนของเราเป็นเด็ก เราเป็นครู เราต้อง “เอาใจ” เขาหลายเรื่องอยู่แล้ว เพื่อให้เขาเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน
แต่..“หยุด” เอาใจเด็กๆ ของเรา ในเรื่องที่ไม่ควรเอาใจเถอะครับ…เพื่อฝึกนิสัยการประหยัดและไม่ยึดติดกับสิ่งที่เป็นสาระน้อยกว่าให้แก่เยาวชนของเรา เพื่อสร้างวัฒนธรรมประหยัดร่วมกันกับสังคม เพื่อสร้างสังคมที่มีแก่นสารมากกว่านี้ร่วมกัน และเพื่อสร้างสังคมการศึกษาที่รักษามาตรฐานของ “ครุย” เอาไว้ในที่ที่ควรเป็นร่วมกัน…สิ่งนี้ต่างหากที่เราจะสัมผัสได้ว่า “การศึกษาคือความเจริญงอกงามของมนุษย์และสังคมมนุษย์”
กระทรวงศึกษาธิการ “เบรค” เรื่องนี้บ้างเถอะครับ..ให้จัดกันอย่างเรียบง่าย ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา ก็พอแล้ว เน้นความภาคภูมิใจเชิงนามธรรมครับ ผมมั่นใจว่า สังคมและการศึกษาของเราจะดีขึ้นแน่…โดยการ “ไม่มองข้าม” เรื่องที่บางคนอาจจะคิดว่า “เป็นประเด็นเล็ก” แบบนี้แหละครับ. ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่