เจ้าชายเกาหลีผู้ต่อสู้เพื่อเอกราช
เจ้าชายเกาหลีผู้ต่อสู้เพื่อเอกราช
เจ้าชายอี อู (Yi U) เป็นเจ้าชายในราชวงศ์โชซอนของเกาหลี ประสูติในปี 1912 เป็นพระโอรสในเจ้าชายอี กัง (Yi Gang) พระโอรสองค์ที่ห้าในจักรพรรดิโกจงแห่งเกาหลี เจ้าชายอี อู ประสูติที่กรุงโซล ในช่วงที่จักรวรรดิเกาหลีถูกล้มล้างโดยจักรวรรดิญี่ปุ่นแล้ว ดังนั้นพระราชวงศ์เกาหลีทั้งหมดต้องดำรงพระชนม์ชีพภายใต้การปกครองของรัฐบาลญี่ปุ่น
เมื่อทรงมีพระชนมายุเพียง 5 ชันษา พระองค์ได้ถูกส่งไปญี่ปุ่น เพื่อเข้ารับการศึกษาเยี่ยงชาวญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายการศึกษาที่เข้ามามีอิทธิพลในประเทศอาณานิคมอย่างเกาหลี ซึ่งมักรู้จักกันดีว่าเป็นนโยบายกลืนชาติ เป้าประสงค์ของนโยบายคือการสร้างอัตลักษณ์ของญี่ปุ่น ให้ปลูกฝังในวัฒนธรรมของอาณานิคม และในที่สุดคนพื้นเมืองก็จะหลงลืมอัตลักษณ์ดั้งเดิมเสียสิ้น
แต่นโยบายการกลืนชาติแบบนี้ได้สร้างประโยชน์บ้าง กล่าวคือ ญี่ปุ่นได้สนับสนุนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาและอุตสาหกรรมในเกาหลี หลังจากเป็นประเทศเกษตรกรรมอย่างช้านาน แต่ในที่นี้ไม่รวมการกดขี่ขูดรีดที่มีมากมหาศาลเช่นกัน ชาวเกาหลีมักจะต่อต้านญี่ปุ่นอยู่เนืองๆ รัฐบาลญี่ปุ่น จะทำอย่างไรกับผู้กระด้างกระเดื่องนี้ดี? ปรากฎว่า รัฐบาลทหารญี่ปุ่นมีการใช้สตรีชาวเกาหลีและจีนในฐานะโสเภณีทหาร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การรณรงค์สวมชุดตะวันตกและกิโมโน ยูคาตะ เพื่อขจัดชุดประจำชาติอย่างฮันบก
ทีนี้กลับมาเข้าเรื่องดีกว่า ทำไมจึงต้องให้เชื้อพระวงศ์เกาหลีมาเรียนที่ญี่ปุ่น คำตอบก็คือ การใช้นโยบายการศึกษาแบบญี่ปุ่นกับพวกชนชั้นปกครองอย่างราชวงศ์ก่อน จะเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อให้ชาวเกาหลีทำตาม ราชวงศ์ต้องยอมทำตาม มีทั้งสนับสนุนญี่ปุ่นอย่างแรงกล้า และต่อต้านแต่ยังคงเก็บไว้ในใจเพื่อป้องกันอันตราย ดังนั้น เจ้าชายอี อูจึงได้เข้ารับการศึกษาแบบญี่ปุ่น
ในปี 1919 ขณะที่เจ้าชายอี อู มีพระชนมายุ 7 พรรษา จักรพรรดิโกจง เสด็จปู่ของพระองค์ซึ่งทรงเป็นราชวงศ์เพียงคนเดียวที่ต่อต้านญี่ปุ่นอย่างออกหน้าออกตา ได้เสด็จสวรรคตลงด้วยพระชนมายุ 66 พรรษา มีการเล่าลือในวังหลวงว่าทรงสวรรคตด้วยการลอบวางยาพิษที่ญี่ปุ่นและรัฐบาลชาวเกาหลีที่สนับสนุนญี่ปุ่น คือ นายกรัฐมนตรี ปัก แชซุน (Pak Chesoon)
ทำไมญี่ปุ่นต้องเร่งให้จักรพรรดิโกจงสวรรคตเนื่องจาก ในปี 1907 พระองค์ทรงลอบส่งคณะทูตไปยังการประชุมสันติภาพที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ เพื่อประกาศความเป็นเอกราชของเกาหลี และประณามการปกครองที่กดขี่ของญี่ปุ่นแต่หลายชาติในที่ประชุมไม่ยอมรับและกีดกันทูตส่วนพระองค์ออกจากที่ประชุม ถึงอย่างนั้นญี่ปุ่นก็เสียหน้ามาก แต่การสวรรคตของจักรพรรดิชรา เป็นการจุดประกายการเดินขบวนต่อต้านญี่ปุ่นครั้งแรกในเกาหลี เรียกว่า ขบวนการ 1 มีนาคม
.
หลังการสวรรคตของจักรพรรดิโกจง พระโอรสองค์โต และเป็นเสด็จลุงของเจ้าชายอี อู ได้ครองราชย์สืบต่อเป็นจักรพรรดิซุนจง และเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของเกาหลี ก่อนมีการล้มสถาบันจักรพรรดิเกาหลีในปี 1910 เจ้าชายอี อูทรงเจริญพระชันษาในญี่ปุ่น เมื่อทรงเป็นวัยรุ่น แม้เจ้าชายอี อูจะได้รับการอบรมแบบญี่ปุ่น แต่พระองค์กลับไม่ละทิ้งความเป็นเกาหลีของพระองค์ ไม่เหมือนกับ เจ้าชายอี ก็อน พระเชษฐาที่ทรงเป็นผู้นิยมญี่ปุ่นอย่างยิ่ง
ดังนั้น ทำให้เจ้าชาย อี กัง พระราชบิดาทรงโปรดพระโอรสองค์รองมาก เพราะไม่ชอบญี่ปุ่นเหมือนกัน ในปี 1919 เจ้าชาย อี กัง พระราชบิดา ได้ลักลอบเสด็จหนีจากเกาหลีโดยพยายามไปสมทบกับรัฐบาลเกาหลีพลัดถิ่นที่เซี่ยงไฮ้ของอี ซึง-มัน (Syngman Rhee) อี ซึง-มัน เป็นนักสาธารณรัฐและเกลียดชังราชวงศ์ยิ่ง แต่ความเกลียดญี่ปุ่นมีมากกว่า จึงยอมรับเจ้าชายอี กัง แต่เจ้าชาย อี กังหลบหนีล้มเหลว ถูกจับกุมที่แมนจูเรีย และถูกส่งมากักบริเวณที่เกาหลี ดังนั้นครอบครัวของเจ้าชายอี กังจึงถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ
แต่ถึงกระนั้น เจ้าชายอี อูก็ไม่ทรงเลือกเสกสมรสกับสตรีชาวญี่ปุ่น เหมือนพระเชษฐา แม้ว่าญี่ปุ่นจะเสนอสตรีชนชั้นสูงให้ เจ้าชายอี อู ได้เสกสมรสกับท่านหญิง พัก ชัน-จู สตรีลูกหลานขุนนางและเชื้อพระวงศ์เกาหลี ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสธิดาร่วมกันสองพระองค์
เจ้าชายอี อูทรงรับราชการในกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการที่ญี่ปุ่นพยายามเสนอให้เห็นภาพการไม่เลือกปฏิบัติต่อชาวเกาหลีในการรับราชการ แม้ว่าเจ้าชายอี อูจะไม่ทรงโปรดญี่ปุ่นเท่าไร แต่ก็ได้ไปประจำอยู่ที่ประเทศจีน และได้รับการเลื่อนยศอย่างรวดเร็วในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในฐานะพันโท แต่ในขณะที่พระองค์ได้ไปประจำที่แมนจูเรีย พระองค์ลักลอบสนับสนุนการทำสงครามแบบกองโจรของกองกำลังชาวเกาหลีพลัดถิ่นต่อต้านญี่ปุ่น
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นระแคะระคายเรื่องนี้ จึงย้ายพระองค์ไปประจำที่ฮิโรชิมาแทนในปี 1945 และนั่นเองเป็นจุดจบของเจ้าชายเกาหลีองค์นี้ เมื่อมีการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่าในปีเดียวกัน วันที่ 6 สิงหาคม พระองค์สิ้นพระชนม์ในวันถัดมาที่สถานพยาบาล รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามเอาใจพระราชวงศ์เกาหลีด้วยการเลื่อนยศเป็น นายพันเอก พระศพของเจ้าชายอี อูได้รับการฝังที่เกาหลีในวันที่ 15 สิงหาคม วันที่สงครามยุติ ปิดฉากหนึ่งในพระราชวงศ์เกาหลีที่พยายามต่อสู้เพื่อเอกราชของเกาหลี ด้วยพระชนมายุ 32 พรรษา มีการวิเคราะห์ว่าหากพระองค์มีพระชนมายุยืนยาวอาจเป็นกำลังสำคัญของกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่น ปัจจุบัน เจ้าหญิงอี แฮวอน พระขนิษฐาของพระองค์ยังคงอ้างสิทธิเป็นจักรพรรดินีแห่งเกาหลีอยู่
.