พิษ “ถูกแฟนเท” เป็นชนวนเหตุหนุ่มสาว 4 จว.อีสานตอนล่าง คิดสั้น แนะใช้ 7 วิธีเยียวยาแผลใจ ให้ตัดทิ้งโซเซียลอดีตแฟน!
จิตแพทย์เผยปัญหาถูกแฟนเท อกหักเป็นสาเหตุทำให้คนวัยหนุ่มสาวในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่างคิดสั้น รอบ 9 เดือนปีนี้พบ10 คน แนะใช้ 7วิธีเยียวยาแผลใจให้หายเร็ว อาทิให้ปรับใจยอมรับความจริง ลบสิ่งซ้ำเติมแผลใจโดยเฉพาะโซเซียลของอดีตแฟนออกจากหน้าจอ เร่งสร้างสิ่งดีๆ ให้พลังใจสู้เช่นชมตัวเองหลังตื่นนอนทุกวัน รีบกลับไปทำหน้าที่ตามปกติให้เร็วที่สุด อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่หากรู้สึกว่าตัวเองแย่ลงเรื่อยๆให้พึ่งสายด่วนสุขภาพจิต1323ฟรี 24 ชั่วโมงหรือพบจิตแพทย์ ไม่ต้องอาย
แพทย์หญิงกรองกาญจน์ แก้วชัง รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์และประธานทีมนำทางคลินิก โรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์การฆ่าตัวตายในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ซึ่งอยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 หรือนครชัยบุรินทร์ ได้แก่นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์และบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯและศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 ว่า ในรอบเกือบ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่ตุลาคม2561 ถึง 25 มิถุนายน 2562 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 205 คน เป็นชาย 177 คน หญิง 28 คน คิดเป็นอัตรา 3.02 ต่อประชากรแสนคน แนวโน้มลดลงเป็นไปตามเป้าหมายของกรมสุขภาพจิต สาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตายที่พบในพื้นที่คือเรื่องผิดหวังความรัก มักพบในวัยหนุ่มสาว ซึ่งในปีนี้พบ 10 คน อยู่ในอันดับที่ 4 ของสาเหตุฆ่าตัวตายทั้งหมด ตลอดปี 2561 ในเขตสุขภาพที่ 9 มีผู้ฆ่าตัวตายจากสาเหตุนี้จำนวน 28 คน อย่างไรก็ตามปัญหานี้สามารถแก้ไขให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและมีความสุข การฆ่าตัวตายไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา
ทางด้านแพทย์หญิงนพวรรณ ตันศิริมาศ จิตแพทย์และประธานอนุกรรมการการพัฒนาระบบฟื้นฟูผู้ป่วยเพื่อการฟื้นคืนสุขภาวะ (Recovery Model) ประจำรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า ปัญหาอกหัก ถูกคนรักนอกใจนั้นเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิต เมื่อเผชิญปัญหาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องรู้จักวิธีการเยียวยาฟื้นฟูจิตใจตัวเองให้แผลใจหายเร็วที่สุด โดยมีข้อแนะนำให้ปฏิบัติ 7 ประการดังนี้ ประการแรกคือ
1. ให้ปรับใจยอมรับความจริง ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่สำคัญที่สุดเพราะการยอมรับทำให้อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงในปัจจุบันได้และจะข่วยให้สามารถเดินหน้าต่อไป
2. ไม่หมกมุ่นเก็บปัญหาความรักที่เกิดขึ้นและผ่านมาแล้วมาคิดซ้ำๆ วกวน เช่น ทำไมเขาทำแบบนี้, ทำไมเขาจึงเลิกกับเรา เป็นต้น เนื่องจากจะทำให้ทุกข์ใจซ้ำเติม
3. ให้เก็บสิ่งที่จะซ้ำเติมบาดแผลใจหรือกระตุ้นให้หวนระลึกถึงเรื่องเดิมๆ ออกไปให้พ้นจากสายตา เช่นภาพถ่าย ของขวัญของอดีตแฟนเป็นต้น ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในยุคโลกโซเซียล เช่นไลน์ เฟสบุ๊คของอดีตแฟนที่เคยใช้ติดต่อกัน ขอให้ลบออกจากหน้าจอมือถือของตนเองให้หมด เนื่องจากหากยังพยายามติดต่อกับอดีตแฟนทางเฟสบุ๊คหรือไลน์เป็นระยะๆ เพื่อหวังว่าเขาจะกลับมาเป็นแฟนเราเหมือนเดิม หากอดีตแฟนไม่โต้ตอบกลับมาก็จะยิ่งตอกย้ำให้ช้ำใจหนักขึ้นไปอีก และแนะนำให้หลีกเลี่ยงฟังเพลงประเภทอกหัก ผิดหวัง เพื่อไม่ให้อารมณ์จมดิ่งไปกับความเศร้าใจ ซึ่งจะมีผลทำให้การปรับตัวช้าขึ้นไปอีก
4. เร่งสร้างสิ่งดีๆ เพิ่มพลังใจสู้ให้ตัวเอง เพื่อก้าวข้าม ชนะปัญหาให้ได้ โดยต้องไม่โทษตัวเองว่าผิด และฝึกการยิ้มหน้ากระจก ฝึกการชื่นชมสิ่งดีๆ ให้ตัวเองทุกเช้าหลังตื่นนอน อาจพูดในใจหรือพูดเปล่งเสียงออกมาให้ได้ยิน เช่น “สวยจัง-เก่งจัง-หล่อจัง” เป็นต้น คำพูดดีๆ เหล่านี้ จะฝังอยู่ใต้จิตสำนึก ทำให้เกิดพลังต่อสู้กับอุปสรรค ช่วยสร้างความภาคภูมิใจ-มั่นใจ เสริมความเข้มแข็งทางจิตใจ จะช่วยลดความรู้สึกด้อยค่าลงได้อย่างดี รวมทั้งปรับตัวกับการใช้ชีวิตใหม่ที่ให้ความสุขตัวเอง เช่น ไปดูหนัง กินข้าวกับเพื่อน ออกกำลังกายเช่น วิ่ง หรือเข้าฟิตเนส วันละ 30-60 นาที ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา จิตใจแจ่มใส นอนหลับได้ดีขึ้น
5. ทำชีวิตแต่ละวันให้มีคุณค่า ให้รีบกลับไปทำกิจกรรมหน้าที่ที่เคยทำตามปกติให้เร็วที่สุด แม้จะรู้สึกว่าไม่มีอารมณ์หรือไม่อยากไปก็ตาม การทำกิจกรรมจะทำให้เรามีสติ มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่เราทำและได้พูดคุยกับเพื่อน ผู้ร่วมงาน จะเกิดความเพลิดเพลิน ความคิดจะไม่ฟุ้งซ่านแต่เรื่องเดิมๆ
6. มีที่ปรึกษาที่ดี อาจเป็นเพื่อนสนิท เพื่อระบายทุกข์ที่มีอยู่ในใจทั้งหมดออกมา
7.ใจเย็นและอดทน ทั้งหมดนี้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งอาการเศร้าเสียใจจะดีขึ้นเรื่อยๆ กลับมาเบิกบานสนุกสนานเหมือนเดิม แต่หากยังไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง จนไม่อยากทำอะไร ชีวิตในแต่ละวันมีแต่ความน่าเบื่อ ไม่มีความสุขเกิดติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ขอให้ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงหรือพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการที่เป็น ไม่ต้องอาย จะสามารถคลี่คลายปัญหาได้อย่างปลอดภัย สิ่งที่ไม่ควรใช้แก้ปัญหาหลังอกหัก เสียใจ คือการพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดหรือใช้ยาเสพติดย้อมใจ เพราะนอกจากจะไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้นอย่างถาวรแล้ว ยังเสี่ยงเกิดการเสพติดได้ง่าย ปัญหาจะรุนแรงขึ้น แพทย์หญิงนพวรรณ กล่าว