การแยกสายสกุลจากแขกเป็นบุนนาค
เป็นที่ทราบกันแล้วในกระทู้ก่อนนี้ว่าสายกุลบุนนาคแท้จริงสืบเชื้อสายมาจากมุสลิม คือ เชื้อสายวงศ์เฉกอะหมัด
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อเชื้อสายวงศ์เฉกอะหมัดในชั้นที่ ๖ มีการแบ่งออกเป็นหลายสาย แต่ละสายล้วนถือกำเนิดมาจากเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ทั้งสิ้น บทความต่อไปจะกล่าวเฉพาะเชื้อสายที่สืบมาถึงท่านบุนนาค ซึ่งเป็นต้นตระกูลของสกุลบุนนาคกับพี่น้องบางคนเท่านั้น คือ
หลวงมหาใจภักดิ์ (บุญมา) บุตรคนที่สี่ของเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) ซึ่งเป็นบุตรคนที่สามของ เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) นั้น พลัดกับครอบครัวตอนกรุงแตก หนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์ ส่วนพี่สาวทั้งสามของหลวงมหาใจภักดิ์ คือ เป้า แป้น และทองดี ตลอดทั้งภรรยาและบุตรของหลวงมหาใจภักดิ์เองถูกกวาดต้อนไปอยู่เมืองพม่า ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี หลวงมหาใจภักดิ์ (บุญมา) เข้ามาถวายตัวเข้ารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระพลเมืองเพชรบูรณ์ พระพลเมืองเพชรบูรณ์ได้โอกาสจึงกราบทูลขอถวายตัวนายก้อนแก้วพี่ชาย ซึ่งเป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) ผู้เป็นลุง ให้เข้ารับราชการ จึงโปรดเกล้าฯตั้งนายก้อนแก้วเป็นหลวงศรีนวรัตน์
ส่วนนายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) บุตรคนที่ห้าของเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) ได้แต่งงานกับท่านลิ้ม ธิดาพระยาธิเบศร์บดีจางวางมหาดเล็ก มีธิดาคนหนึ่งชื่อ ตานี เมื่อกรุงเก่าจวนจะเสียแก่พม่า นายฉลองไนยนารถได้พาภรรยา ธิดา และนายก้อนแก้ว ซึ่งเป็นบุตรของลุง ออกไปอยู่กับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (คือ นายทองด้วง ซึ่งต่อมาปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี)
ในสมัยกรุงธนบุรี เพื่อนและญาติหลายคนของนายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) ได้ถวายตัวรับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี รวมทั้งหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ทองด้วง) ซึ่งพระมหามนตรี (บุญมา) ผู้น้องชวนมารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย ส่วนนายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) ไม่ยอมเข้ารับราชการ ทั้งยังขอมิให้ญาติและเพื่อนฝูงกล่าวชื่อตนให้เข้าพระกรรณพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอันขาด เนื่องจากมีเรื่องหมางใจกันมาแต่เยาว์
มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ มีเด็กชายสามคน คนหนึ่งชื่อ สิน บุตรจีนแต้ไหฮอง ซึ่งเจ้าพระยาจักรีในเวลานั้นขอมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม คนหนึ่งชื่อ ทองด้วง บุตรหลวงพินิจอักษร (ทองดี) เสมียนตรากรมมหาดไทย คนหนึ่งชื่อ บุนนาค บุตรพระยาจ่าแสนยากร (เสน) สามคนนี้เป็นเพื่อนเล่นรักใคร่กันมาก เมื่ออุปสมบทเป็นสามเณรก็อยู่วัดสามวิหารด้วยกัน ครั้งหนึ่งสามเณรบุนนาค ได้รับนิมนต์ให้เทศน์กัณฑ์มัทรีในศาลาการเปรียญ ขณะที่กำลังเทศน์อยู่ สามเณรสินแอบเข้าไปถอดบันไดออกจากธรรมาสน์ พอสามเณร บุนนาค เทศน์จบห่อคัมภีร์แล้วไม่ทันดูว่าธรรมาสน์มีบันไดหรือไม่ เมื่อก้าวลงมาจึงพลัดตกลง สามเณรบุนนาคได้รับทั้งความเจ็บความอาย
เมื่อสึกจากสามเณรแล้ว เจ้าพระยาจักรีได้นำนายสินเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ส่วนนายทองด้วงกับนายบุนนาคนั้นบิดานำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระราชวังบวร แม้รับราชการแยกแห่งกัน ทั้งสามคนนี้ก็ยังพบปะเที่ยวเล่นด้วยกันเสมอ วันหนึ่งในขณะที่ทั้งสามคนนอนคุยกันที่หน้าบ้านเจ้าพระยาจักรี นายสินเคลิ้มหลับไป นายสินเวลานั้นยังไว้ผมเปีย นายบุนนาคเห็นได้ทีก็ค่อยๆ เอาผมเปียนายสินผูกเข้ากับฟากเรือนที่นอนกันอยู่โดยมิให้นายสินรู้สึกตัว ผูกแน่นดีแล้วก็ทำเสียงดังเอะอะขึ้น นายสินตื่นขึ้นด้วยความตกใจ รีบลุกขึ้นกระชากผมเปียตนเองโดยแรง คนที่ได้เห็นก็พากันหัวเราะ เป็นเหตุให้ทั้งสองคนมีความหมางเมินกันตั้งแต่นั้นมา ต่อมาเมื่อนายสินได้ขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี และนายทองด้วงเป็นเจ้าพระยาจักรี นายบุนนาคจึงไม่กล้าถวายตัวรับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรีเนื่องด้วยเรื่องผิดใจกันดังกล่าว
เมื่อหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ทองด้วง) เข้ามารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระราชวรินทร์ และขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรีต่อมา นายบุญมาน้องชาย โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ส่วนนายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) ยังคงอยู่กับเจ้าพระยาจักรีตลอดมา โดยเป็นทนายคอยถือพานทองล่วมหมากตามหลังเจ้าพระยาจักรีไม่ว่าจะไปไหน แต่ต่อมานายฉลองไนยนารถเกรงพระเจ้ากรุงธนบุรี จะทอดพระเนตรเห็น และจะทราบเรื่องของตน จึงไม่ตามเจ้าพระยาจักรีเข้าไปในพระราชวังอีก เพียงแต่รับใช้กิจการอยู่ภายนอกเท่านั้น
ต่อมานายฉลองไนยนารถ ชวนท่านลิ้มผู้เป็นภรรยาไปขุดทรัพย์ที่บิดาฝังไว้ ณ กรุงเก่า เมื่อตอนกรุง ศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าเพื่อไม่ให้ตกเป็นของข้าศึก หลังจากขุดสมบัติได้แล้วจึงเดินทางกลับ ล่องเรือเข้ามาทางแม่น้ำอ้อมเมืองนนทบุรี มาถึงปากคลองบางใหญ่ถูกผู้ร้ายปล้นสมบัติ ภรรยาและข้าทาสอีกสองคนถูกฆ่าตาย นายฉลองไนยนารถกับทาสอีกหนึ่งคนต้องกระโดดน้ำหนีไปโดยไม่ได้ทรัพย์สินเลย
เมื่อท่านผู้หญิงนาก ภรรยาของเจ้าพระยาจักรีทราบถึงเหตุร้ายดังกล่าว เกิดความสงสารนายฉลองไนยนารถ จึงยกท่านนวล น้องสาวให้เป็นภรรยาโดยเป็นผู้ประกอบพิธีสมรสให้ ดังนั้นนายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในฐานะเป็นน้องเขยของเจ้าพระยาจักรีกับท่านผู้หญิงนากด้วย นอกเหนือจากเป็นเพื่อนและเป็นผู้คอยรับใช้ช่วยเหลือแล้ว
ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเคยทำความดีความชอบให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ เช่น เจ้าพระยาสุรสีห์ได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นต้น ทั้งยังทรงตั้งตำแหน่งเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยหลายกรม กอง สำหรับผู้สืบสายเฉกอะหมัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครั้งนั้นมี 5 ท่าน คือ
ท่านแจ่ม ธิดาท่านผู้หญิงแก้วมหาเสนา กับเจ้าพระยากลาโหมคลองแกลบ ซึ่งเป็นพี่ต่างมารดาของเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) เป็นท้าววรจันทร์
หลวงศรีนวรัตน์ (ก้อนแก้ว) บุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) เป็นพระยาจุฬาราชมนตรีแทนบิดา พระพลเมืองเพชรบูรณ์ (บุญมา) บุตรเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) เป็นพระยาตะเกิง (ได้เป็นเจ้าพระยามหาเสนาในสมัยรัชกาลที่ 2) นายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) บุตรเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) น้องต่างมารดาของท่านบุญมา ได้เป็นพระยาอุไทยธรรม (ตอนปลายรัชกาลที่ 1 ได้เป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม) ท่านน้อย บุตรจมื่นไวยวรนารถ (หนู) หลานเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) เป็นหลวงนายสิทธิ์มหาดเล็ก
ผู้สืบเชื้อสายในวงศ์เฉกอะหมัดในชั้นที่หกนี้มี 8 ท่าน อยู่ในกรุงสยาม 5 ท่านดังกล่าวแล้ว ส่วนอีก 3 ท่านได้แก่ ท่านเป้า ท่านแป้น และท่านทองดี ธิดาเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) พี่สาวต่างมารดาของท่านบุนนาคนั้นเป็นเชลยตกไปอยู่เมืองพม่า และไม่มีใครทราบเรื่องราวของท่านทั้งสามเลย
วงศ์เฉกอะหมัดอันรวมเป็นวงศ์เดียวกันมา 5 ชั่วคนนั้น ตั้งแต่ชั้นที่หกนี้ไปแยกออกไป 5 สาย และเมื่อครั้งตั้งนามสกุลคนไทยในแผ่นดินสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สายหนึ่งๆ ยังแยกออกเป็นหลายสกุล
ซึ่งผู้สืบสายสกุลโดยตรงจากเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับท่านเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (นวล)
ราชินิกุลบุนนาค
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวไว้ในหนังสือ "อธิบายราชินิกุลบางช้าง" ว่า พระญาติของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นราชินิกุลก่อนสกุลอื่น ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะสมเด็จพระ อมรินทราบรมราชินี ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระองค์แรก เมื่อสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระญาติของสมเด็จพระอมรินทร์ฯ ก็ขึ้นสู่ฐานะเป็นราชินิกุลตั้งแต่นั้นมา หรือถ้าว่าโดยการนิยม ราชินิกุลสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ มีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2352 เป็นปฐม และที่เรียกกันว่า "ราชินิกุลบางช้าง" เพราะพระญาติวงศ์ขององค์สมเด็จพระอมรินทร์ฯ โดยมาก ตั้งนิวาสสถานอยู่สืบกันมาในแขวงอำเภอบางช้าง เขตจังหวัดสมุทรสงคราม แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แม้องค์สมเด็จพระอมรินทร์ฯ ก็ทรงสมภพและได้ตั้งพระนิวาสสถานอยู่ ณ บางช้าง มาแต่เดิม ตรงที่ทรงสร้างวัดอัมพวันเจติยาราม ตำบลอัมพวา อำเภอบางช้าง
ราชินิกุล หมายถึง พระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นับทางฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนี และถือเอาการที่ถวายตัวทำราชการ (คือได้รับเบี้ยหวัด) เป็นสำคัญ สกุลบุนนาคเกี่ยวเป็นราชินิกุลเฉพาะผู้สืบสายจาก เจ้าคุณนวล ซึ่งเป็นน้องของสมเด็จพระอมรินทร์ฯ เจ้าคุณนวลซึ่งเรียกกันว่า เจ้าคุณโต ได้สมรสกับ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) (เดิมเขียนว่า "อัครมหาเสนา" แต่รัชกาลที่ 6 ทรงอักษรว่า "อรรคมหาเสนา" จึงเขียนตามท่าน) บุนนาคสายนี้จึงเป็นราชินิกุล
บรรดาราชินิกุล ซึ่งเป็นพระพี่และน้องของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมัยรัชกาลที่ 4 เรียกในราชการว่า "เจ้าคุณพระอัยยิกา" ถึงรัชกาลที่ 6 ทรงบัญญัติให้เรียกว่า "เจ้าคุณพระราชพันธุ์ชั้นที่ 1"
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงยกย่องราชินิกุลเจ้าคุณนวลยิ่งกว่าราชินิกุลบางช้างวงศ์อื่น เพราะเหตุที่เจ้าคุณนวลได้อภิบาลพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ บุตรธิดาเจ้าคุณนวลมียศเป็นเจ้าคุณพระราชพันธุ์ ชั้นที่ 2
สมเด็จพระอมรินทร์ฯ ทรงพระนามเดิมว่า "นาก" พระชนกท่านชื่อ "ทอง" ถึงแก่พิราลัยตั้งแต่สมัย กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระชนนีทรงพระนามเดิมว่า "สั้น" ภายหลังผนวชเป็นรูปชี มีพระชนม์มาจนรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาถวายพระนามว่า สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี พระโอรสธิดาของสมเด็จพระรูปฯ มี 10 องค์ด้วยกัน คือ
1 เจ้าคุณหญิงแวน ไม่มีบุตร
2 เจ้าคุณหญิงทองอยู่ เรียกกันว่า เจ้าคุณผู้ใหญ่ ท่านเป็นภรรยาของท่านตาเจ้าขุนทอง ในราชินิกุลสาย สาขา มีบุตรธิดานับเป็นราชินิกุลชั้นที่ 2 คือ 1) เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี (สังข์) ที่สมุหพระกลาโหม ในรัชกาลที่ 2 แต่ไม่มีทายาทสืบสกุล และ 2) ธิดาชื่อ หงส์ เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 1
3 เจ้าคุณชายโต มีภรรยาชื่อทองดี มีธิดาชื่อคุณหญิงม่วง เป็นภรรยาพระยาสมบัติบาล (เสือ) มีบุตรธิดา 7 คน ใช้นามสกุลว่า "ชูโต" แต่บุตรคนที่ 6 ชื่อสวัสดิ์ ซี่งต่อมาเป็นพระยาสุรเสนา ใ นรัชกาลที่ 4 ใช้นามสกุลใหม่ว่า "สวัสดิ์-ชูโต" และบุตรของพระยา สุรเสนาที่ชื่อ "แสง" ซึ่งต่อมาเป็นพระยาสุรศักดิ์มนตรี ในรัชกาลที่ 5 ใช้สกุลใหม่ว่า "แสง-ชูโต"
4 สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 5 พระองค์ ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียกว่า "วงษ์ษากยราช"
5 เจ้าคุณชายแตง หามีบุตรไม่
6 เจ้าคุณหญิงชีโพ มีบุตรชื่อหง ไปอยู่พม่า
7 เจ้าคุณชายโพ หามีบุตรไม่
8 เจ้าคุณหญิงเสม หามีบุตรไม่
9 เจ้าคุณหญิงนวล เป็นภรรยาของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) บุตรหลานของท่านใช้นามสกุลว่า "บุนนาค"
10 เจ้าคุณหญิงแก้ว คนทั้งหลายเรียกว่า "เจ้าคุณบางช้าง" บุตรหลานใช้นามสกุลว่า "ณ บางช้าง"
พระญาติวงศ์ของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทั้ง 10 ท่านนี้นับเป็นชั้นที่ 1 ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล 6 วงศ์ เหลือเพียง 4 วงศ์ เป็นราชสกุล 1 วงศ์ คือ สายของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 เป็นราชวงศ์จักรี นอกจากนั้นเป็นราชินิกุลสายตรง 3 วงศ์ ได้แก่ สายเจ้าคุณชาย ชูโต เป็นต้นสกุลชูโต สวัสดิ์-ชูโต และแสง-ชูโต สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล เป็นสกุลบุนนาค และสายเจ้าคุณหญิงแก้วเป็นสกุล ณ บางช้าง ส่วนพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีซึ่งมีนิวาสสถาน อยู่ในตำบลอัมพวา แขวงอำเภอบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม อันเป็นพระนิวาสสถานเดิมนั้นเรียกว่า ราชินิกุลบางช้าง ซึ่งแยกเป็น 2 สาย ได้แก่ ราชินิกุลบางช้างสายตรง คือ ผู้สืบวงศ์ลงมาจากพระชนกชนนีของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชชนนี กับราชินิกุลสายสาขาคือ ผู้สืบวงศ์นอกจากสายตรง
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายความหมายของคำว่า "ราชินิกุล" ต่างกับคำว่า "ราชนิกุล" ดังนี้ ราชนิกุล หมายถึงเป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นับทางฝ่ายสมเด็จพระบรมชนกนาถ ราชินิกุล เป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นับทางฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนี ต่างกันอีกอย่างหนึ่ง คือ ราชนิกุล ย่อมเป็นเชื้อเจ้า เพราะสืบสายลงมาจากเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ในพระราชวงศ์ร่วมสกุลอันเดียวกัน ดั่งใช้นามสกุลว่า ณ อยุธยา อยู่ในปัจจุบันนี้ แต่ราชินิกุลนั้น เพราะสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ย่อมมีพระญาติเป็นสกุลอื่นต่างกันทุกองค์ ราชินิกุลจึงมีหลายสกุล
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ปี พ.ศ. 2453 ได้ทรงออกพระราชบัญญัติขนานนามสกุล กำหนดให้ภายใน 6 เดือน ให้หัวหน้าครอบครัวทุกครัวเรือน เลือกสรรถือเอาชื่อสกุลอันหนึ่งแล้วให้จดทะเบียนชื่อสกุลนั้น ณ ที่สำนักงานอำเภอท้องที่ของตน ฯลฯ พระราชบัญญัตินี้ทำให้คนไทยทุกคนในพระราชอาณาจักรสยาม ต้องมีนามสกุลใช้ และต้องเรียกขานชื่อตัวและชื่อสกุลตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2456 เป็นต้นมา
ส่วนข้าราชบริพาร ข้าราชการ และเจ้านายทั้งหลายได้ขอพระราชทานนามสกุล กราบทูลประวัติของบรรพบุรุษ ของตน ตำแหน่งหน้าที่ราชการขอพระราชทานนามสกุล ให้เป็นศิริมงคลเป็นเกียรติแก่วงศ์สกุล
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งสืบสายสกุลมาจากเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (นวล) ขอพระราชทานนามสกุลว่า "บุนนาคนวล" เพื่อให้มีนามเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) และนามของเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (นวล) ราชินิกุลบางช้าง ติดอยู่ในนามสกุล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลว่า "บุนนาค" ให้บุตรหลานของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ใช้ได้ทุกคน ส่วนบุตรหลานของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ที่ปรารถนาจะตั้งสกุลขึ้นใหม่ ได้ขอพระราชทานนามสกุล และได้รับพระราชทานตั้งให้ใหม่ ได้แก่
1. พระยาราชสมบัติ (เอิบ) บุตรพระยาวิเศษโภชนา (จีน) หลานพระยาอรรคราชนารถภักดี (เมือง) เหลนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ขอพระราชทานนามสกุล ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "บุรานนท์" โดยเอานามพระยาอรรคราชนารถภักดี (เมือง)
2. จมื่นเสมอใจราช (เจ๊ก) บุตรหลวงแก้วอายัติ (จาด) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ขอพระราชทานนามสกุลใหม่ ได้พระราชทานว่า "จาติกรัตน์"
3. เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด) สมุหพระตำรวจ เหลนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ในขณะนั้นยังเป็นพระยาราชวัลภานุสิษฐ์ ขอพระราชทานนามสกุล ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "ศุภมิตร"
เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณหญิงนวล เป็นสกุลบุนนาคชั้นที่ 1 และท่านทั้งสองมียศเป็นเจ้าคุณพระราชพันธุ์ชั้นที่ 1 ด้วย
สกุลบุนนาคสายตรงชั้นที่ 2 ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต) ตามลำดับ ซึ่งคนทั่วไปเรียกนามท่านคู่กันว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่และสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย"
สกุลบุนนาคชั้นที่ 3 แยกออกเป็นสกุลบุนนาคสายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ซึ่งผู้สืบสกุลโดยตรงคือ บุตรของท่านและท่านผู้หญิงจันทร์ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในรัชกาลที่ 5 และพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ในรัชกาลที่ 4 ส่วนสายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหา พิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) มีผู้ที่สืบเชื้อสายสายตรง คือ พระสุริยภักดี (สนิท บุนนาค) ซึ่งเกิดด้วยท่านผู้หญิงน้อย แต่พระสุริยภักดี เจ้ากรมตำรวจได้ถึงแก่กรรมในรัชกาล ที่ 3 เมื่ออายุเพียง 27 ปี บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยที่เป็นผู้นำสกุล ได้แก่ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) และพระยานานาพิธภาษี (โต บุนนาค) ตามลำดับ
สำหรับสกุลบุนนาคชั้นที่สี่ ผู้สืบสกุลโดยตรง คือ บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กับท่านผู้หญิงกลิ่น ได้แก่ เจ้าพระยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหม ในรัชกาล ที่ 5 และพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) บุตรของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) กับเจ้าคุณหญิงเป้า ซึ่งเป็นที่สมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือ ในรัชกาลที่ 5
สกุลบุนนาคสายตรงชั้นที่ห้า มีผู้สืบเชื้อสายคือ บุตรชายของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) กับท่านผู้หญิงอ่วม ได้แก่ พระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุนนาค) เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) และพระยาราชานุวงศ์ (เล็ก บุนนาค) ตามลำดับ แต่พระยาประภากรวงศ์ (ชาย) ถึงอนิจกรรมในรัชกาลที่ 5 ทายาท สายตรงของสกุลในชั้นนี้จึงได้แก่ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ในรัชกาลที่ 5 ส่วนพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) มีบุตรกับคุณหญิงเลื่อน คือ วิเชียร เป็นผู้สืบสกุล ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยามนตรีสุริยวงศ์เช่นเดียวกับปู่และบิดา
ผู้สืบสกุลบุนนาคสายตรงชั้นที่ 6 ได้แก่ บุตรชายของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) กับท่านผู้หญิง ตลับ คือ พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (เต็น บุนนาค) และพระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค) ตามลำดับ พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ ได้เป็นผู้นำของตระกูลนี้ในปี พ.ศ. 2452 เมื่อท่านบิดาถึงแก่อสัญกรรม
สำหรับผู้ที่จะเป็นผู้นำในการสืบสกุลบุนนาคสายตรงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้นั้นเป็นผู้รักษาสมบัติสำหรับสกุลบุนนาค คือ อัฐิเจ้าคุณพระราชพันธุ์ผู้เป็นต้นสกุล ได้แก่ อัฐิของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณนวล และสิ่งของบางอย่างซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวแต่ละพระองค์พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาฯ อาทิเช่น พระทนต์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งได้พระราชทานให้เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เก็บรักษาไว้เมื่อครั้งยังทรงพระชนม์อยู่ สมบัติดังกล่าวนี้รักษามาตั้งแต่ครั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมอบให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) รักษาสืบต่อมา เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) รักษาสมบัติสำหรับสกุลสืบต่อมา และเมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (เต็น บุนนาค) เป็นผู้รักษาสมบัติสำหรับสกุลสืบต่อมาจนถึงแผ่นดินสมัยรัชกาล ที่ 6
ปัจจุบันนี้มีผู้ใช้นามสกุลบุนนาคมากมายทั่วประเทศไทย โดยที่บางคนอาจจะไม่รู้จักกันเลยแม้อยู่ในสกุลเดียวกัน มีทั้งผู้ที่สืบเชื้อสายโดยทางตรงและโดยสายสาขา
เสนาบดีตระกูลบุนนาค
ตระกูล "บุนนาค" เป็นตระกูลเก่าแก่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ท่านเฉกอะหมัด พ่อค้าชาวเปอร์เซียและคณะ ได้เข้ามาทำการค้าขายและต่อมาได้รับราชการในกรมพระคลัง วงศ์เฉกอะหมัดได้สืบตระกูลต่อเนื่องกันมา ๖ ชั้น จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310
หม่อมบุนนาคหรือนายบุนนาค ผู้สืบวงศ์เฉกอะหมัดลำดับชั้นที่ 6 เข้ารับราชการและเป็นขุนนางที่ได้รับใช้ใกล้ชิดด้วยความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้สมรสกับเจ้าคุณนวล พระกนิษฐภคินี ของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยว ดองกับพระองค์ท่าน หม่อมบุนนาครับราชการสนองพระเดชพระคุณมีความดีความชอบมากมาย โปรด เกล้าฯ เลื่อนตำแหน่งและตั้งให้เป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม แล้วเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา ท่านผู้นี้เป็นต้นสกุล "บุนนาค" นับเป็นชั้นที่ 1
เสนาบดีสมัยรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ที่มาจากตระกูล ณ บางช้าง ซึ่งเป็นพระญาติทางฝ่ายพระบรมราชชนนีเป็นส่วนใหญ่ เสนาบดีในสมัยรัชกาลที่ 3 จะเป็นขุนนางที่รับราชการในกรมวังมานาน และเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับพระองค์ท่านมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ได้แก่ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อัครมหาเสนา บดีมหาดไทย ส่วนตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีกลาโหม จะเป็นบุตรหลานในสกุลบุนนาค
เสนาบดีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ส่วนใหญ่มีตำแหน่งสำคัญๆ อยู่ในกรมมหาดเล็กหลวง มีเสนาบดี 7 คน เป็นบุตรหลานโดยตรง ของตระกูลบุนนาค ได้แก่ บุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) 2 ท่าน คือ ท่านดิศ และท่านทัต ได้เข้ารับราชการมาตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ 1 เป็นผู้ที่มีบทบาทในการช่วยบริหารประเทศ ในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ท่านทั้งสองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) ผู้สำเร็จราชการทั่วพระราชอาณาจักร และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต) ผู้สำเร็จราชการพระนคร ตามลำดับ บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) คือ เจ้าคุณช่วง ซึ่งรับราชการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ต่อมา
ตลอดระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2325 ถึง พ.ศ. 2416 เสนาบดีจากตระกูลบุนนาคมีบทบาทในการบริหารประเทศมากกว่าเสนาบดีในตระกูลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาล ที่ 5 (พ.ศ. 2367 - 2416)
ความรุ่งเรืองของตระกูลบุนนาคอาจจะเกิดจากสาเหตุ ใหญ่ ๆ 5 ประการ ได้แก่ ประการแรก มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับองค์พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีอย่างมิตรและอย่างญาติ ประการที่สอง นโยบายของรัชกาลที่ 2 อันเกี่ยวกับพระอุตสาหะวิริยะที่จะจัดการกับอำนาจของขุนนาง ประการที่สาม การเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองซึ่งมีผลต่อขุนนาง ประการที่สี่ การตัดสินใจที่จะลดอำนาจเจ้านายลง และประการสุดท้าย ความสามารถของคนในตระกูลบุนนาคที่แต่ละคนจะแสวงหาความรู้ที่จำเป็นในเวลานั้นโดยเฉพาะ
จากเอกสารหนังสือประวัติสกุลบุนนาค ได้กล่าวถึงประวัติของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ตั้งแต่เยาว์วัยว่า เป็นมิตรสนิทของรัชกาลที่ 1 ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาถูกพม่ายึดครอง และต่อมาสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราชได้กู้อิสรภาพและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เมื่อครั้งเป็นนายฉลองไนยนารถ ได้รับใช้อยู่กับเจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ 1) เสมอมา อนึ่ง เมื่อตอนสูญเสียภรรยาไป ท่านได้แต่งงานกับเจ้าคุณนวล ซึ่งเป็นพระกนิษฐภคินีของพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 1 ทั้งสองท่านได้อาศัยอยู่กับรัชกาลที่ 1 (ขณะนั้นเป็นเจ้าพระยาจักรี) กล่าวกันว่าท่านเจ้าคุณนวลเป็นพระอภิบาลของรัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2330 เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดีกลาโหมและธิดาของท่าน 5 คนได้เป็นเจ้าจอม ได้แก่ เจ้าจอมมารดาตานี เจ้าจอม จิตร เจ้าจอมนก เจ้าจอมส้ม และเจ้าจอมชู บุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ที่เกิดกับเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล นับเป็นราชินิกุล เป็นเจ้าคุณพระราชพันธุ์ชั้นที่ 2 ตามลำดับ
ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งอำนาจของขุนนางต่างๆ ไว้โดยการแต่งตั้งพระญาติให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งหมด ทรงตั้งตำแหน่ง ผู้กำกับราชการ ประจำกรมที่สำคัญๆ และทรงแต่งตั้งเจ้านายให้ประจำตำแหน่งนั้นด้วย เสนาบดีส่วนใหญ่จะเป็นพระญาติทางฝ่ายพระราชชนนีจากบุคคลในตระกูล ณ บางช้าง หรือเกี่ยวดองกับตระกูล ณ บางช้าง เช่น บุนนาค-นวล จะเห็นได้ว่าเสนาบดีในรัชกาลนี้ 11 ท่าน จะเป็นพระญาติ 8 ท่าน หนึ่งในบรรดาเสนาบดีเหล่านี้มีท่านดิศ บุนนาค ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีคลัง และได้เป็นสมุหพระ กลาโหม ในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4
โดยทั่วๆ ไปคนในตระกูลบุนนาคจะรับราชการดำรงตำแหน่งกรมคลังติดต่อกันไป แต่ความสามารถยอดเยี่ยม ที่ได้รับการยกย่องของเสนาบดีในตระกูลบุนนาคคือ ในด้านการทูต ในสมัยที่ราชอาณาจักรสยามถูกประเทศมหาอำนาจตะวันตกคุกคามนั้น เมืองไทยยังไม่มีกำลังทหาร ที่ทันสมัยและเข้มแข็งที่จะต่อต้านมหาอำนาจตะวันตกได้ ความสามารถในทางการทูตจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุด บุตร ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) คือ ท่านช่วงเป็นผู้ที่ได้เตรียมพร้อมที่จะเผชิญปัญหา ใหม่ๆ ของบ้านเมือง ท่านได้ศึกษาภาษาอังกฤษ มีความ สนใจทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และด้านวิศวกรรม ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ท่านมีชื่อเสียงในการควบคุมดูแลการก่อสร้าง ป้อมที่ปากน้ำ และต่อเรือสำเภาแบบใช้ใบมีสายระโยง ระยางตามแบบยุโรปได้สำเร็จ นอกจากนี้ท่านยังมีมิตร สหายเป็นชาวต่างประเทศอีกด้วย
เสนาบดีตระกูลบุนนาค ได้ตระหนักถึงปัญหาบ้าน เมืองที่กำลังเผชิญอยู่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติ มีพระมหากรุณาธิคุณกับคนในสกุลบุนนาคเป็นอย่างมาก ได้โปรดเกล้าฯ แต่ง ตั้งบุคคลในตระกูลบุนนาคและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายคน
ตำแหน่งเสนาบดีสำคัญๆ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ของขุนนางในสกุลบุนนาคนั้นมีหลายตำแหน่ง ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ระหว่าง พ.ศ. 2325 ถึง พ.ศ. 2416 เป็นช่วงที่เสนาบดีจากตระกูลบุนนาคมีบทบาท ในการช่วยบริหารประเทศมากกว่าเสนาบดีในตระกูลอื่น ตำแหน่งสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยนั้น มีบุคคลในสกุลบุนนาคดำรงตำแหน่ง โดยสรุปดังนี้
1. ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เป็นตำแหน่งสูงสุดในแผ่นดินที่บริหารราชการในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่พระองค์มิได้ประทับอยู่ในพระนคร เป็นตำแหน่งที่เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9
- สมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการในรัชกาลนี้ และอยู่ในตำแหน่งจนถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2398
- สมัยรัชกาลที่ 5 ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินท่านแรกคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเมื่อขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุ 15 พรรษา และดำรงตำแหน่งอยู่ 5 ปี พ้นหน้าที่โดยถึงแก่พิราลัย
ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินท่านที่ 2 คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีบรมราชินีนาถ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ปี พ.ศ. 2450
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีตำแหน่งที่สูงมากขึ้นอีก 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ทั่วพระราชอาณาจักร พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ผู้พี่ และตำแหน่งที่สองได้แก่ ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการในพระนคร พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้น้อง
2. ตำแหน่งผู้กำกับราชการ ตำแหน่งนี้เริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 2 สำหรับขุนนางสกุลบุนนาคได้เป็นผู้กำกับราชการเพียงท่านเดียว คือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) เป็นผู้กำกับราชการกรมท่า ท่านเป็นเจ้าพระยาที่มีศักดินาสูงกว่าเจ้าพระยาท่านอื่นๆ และเป็นเจ้าพระยาคนเดียวที่มีศักดินาถึง 20,000 ไร่ (เจ้าพระยาทุกคนมีศักดินา 10,000 ไร่) มีเกียรติยศเสมอสมเด็จเจ้าพระยา และมีอำนาจแต่งตั้งจางวางทนาย ปลัดจางวางและสมุห์บัญชีจางวางประจำตำแหน่งตนเองได้ เป็นขุนนางคนหนึ่งที่มีอำนาจมากสมัยนั้น
3. ตำแหน่งสมุหนายก กรมมหาดไทย ตำแหน่งนี้ไม่มีขุนนางสกุลบุนนาค ในสมัยรัชกาล ที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5
4. ตำแหน่งสมุหพระกลาโหม สมัยรัชกาลที่ 1 - เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) บุตรเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยา ท่านเป็นน้องต่างมารดากับเจ้าพระยามหาเสนา (บุญมา) และท่านเป็นต้นสกุล "บุนนาค" สมัยรัชกาลที่ 3 - เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค)บุตรเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ในรัชกาล ที่ 4 สมัยรัชกาลที่ 4 - สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมัยรัชกาลที่ 5 - เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) - พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม) ในตำแหน่งสมุหพระกลาโหมชั่วคราว
5. ตำแหน่งเสนาบดีกรมเมือง สมัยรัชกาลที่ 1 - เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยายมราช
6. ตำแหน่งเสนาบดีกรมคลัง สมัยรัชกาลที่ 2 - เจ้าพระยาสุริยวงศ์โกษา (ดิศ บุนนาค) คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ สมัยรัชกาลที่ 3 - ในรัชกาลนี้มีผู้ดำรงตำแหน่งเพียงท่านเดียว คือ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ โดยท่านว่าราชการพร้อมกัน 2 ตำแหน่ง ได้แก่ สมุหพระกลาโหมและเสนาบดีกรมท่าตลอดรัชกาลนี้ สมัยรัชกาลที่ 4 - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) สมัยรัชกาลที่ ๕ - ในรัชกาลนี้มีผู้ดำรงตำแหน่งเพียงท่านเดียวคือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ)
7. ตำแหน่งกระทรวงกลาโหม สมัยรัชกาลที่ 5 - พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) ท่านผู้นี้มารักษาการแทนชั่วคราวเท่านั้น
8. ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัชกาลที่ 5- พ.ศ. 2418 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้แยกกรมพระคลังมหาสมบัติออกจากกรมท่า พร้อมกันนั้นโกรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ดำรงตำแหน่ง "ผู้ว่าการต่างประเทศ" - พ.ศ. 2430 มหาอำมาตย์เอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์ วโรปการ เสด็จประพาสยุโรป ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) มาเป็นผู้รักษาการแทนเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศชั่วคราว
9. ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ สมัยรัชกาลที่ 5 - พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เดิมเป็นราชทูตประจำกรุงปารีส ได้มีพระบรมราชโองการสั่งให้กลับมาเข้าดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ แล้วย้ายมาอยู่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
10. ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตร พาณิชยการ สมัยรัชกาลที่ 5 - เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
11. ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ สมัยรัชกาลที่ 5 - เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
12. ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ สมัยรัชกาลที่ 5 - พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค)
13. ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ สมัยรัชกาลที่ 5 - พลโท เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)
14. ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี - เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ) - พระยาสุรินทรฤๅชัย (เทียม) - พระยาสุรินทรฤๅชัย (เทียน)
ตำแหน่งเสนาบดี ยศบรรดาศักดิ์ขุนนางนั้นมีรายละเอียดมากมาย จะเห็นว่าบางท่านจะมีราชทินนามซ้ำๆ กัน ดังที่เคยกล่าวในตอนต้นว่า ยศ บรรดาศักดิ์ และราชทินนามอาจจะบอกตำแหน่งหน้าที่ควบคู่กันไปได้ เช่น เจ้าพระยามหาเสนา เป็นบรรดาศักดิ์และราชทินนามของตำแหน่งสมุหพระกลาโหม เจ้าพระยายมราช จะมีตำแหน่งเป็นเสนาบดีกรมเมือง เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เป็นเสนาบดีกรมวัง เจ้าพระยาพระคลังเป็นเสนาบดีกรมพระคลัง เจ้าพระยาพลเทพเป็นเสนาบดีกรมนา พระยาโชฎึกราชเศรษฐีเป็นเสนาบดีกรมท่า เป็นต้น
สำหรับตำแหน่งเจ้าเมือง เมื่อมีการแต่งตั้งจะมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามปรากฏในสัญญาบัตร แต่คนส่วนมากนิยมเรียกตามชื่อเมืองที่ไปอยู่ เช่น เจ้าเมืองตาก หรือพระยาตาก เจ้าเมืองราชบุรีหรือพระยาราชบุรี เป็นต้น ในกฎหมายตราสามดวงกำหนดบรรดาศักดิ์และราชทินนาม เจ้าเมืองไว้ จะขอยกตัวอย่างเมือง/จังหวัด ที่มีขุนนางตระกูลบุนนาคไปเป็นเจ้าเมือง ได้แก่ ตำแหน่งพระยา สุรินทรฤๅชัย เจ้าเมืองเพชรบุรีซึ่งมี
1 พระยาสุรินทรฤๅชัย (เทศ บุนนาค) ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี (พ.ศ. 2401- 2437) ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี (พ.ศ. 2437 - 2456) และต่อมารับตำแหน่งเจ้าเมืองราชบุรี ซึ่งมีราชทินนามว่า อัมรินทรฤๅชัย ได้แก่ พระยาอัมรินทรฤๅชัย (เทียน บุนนาค) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สู่ระบอบประชาธิปไตยไม่นาน ได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศเรื่องการยกเลิกบรรดาศักดิ์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480 และลงวันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 "โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกบรรดาศักดิ์ อันมีราชทินนามเป็นเจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน เป็นต้น... ผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ผู้ใดประสงค์จะใช้ราชทินนามเป็นชื่อตัวหรือชื่อสกุล เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดีงามในราชการ จนได้รับพระราชทานราชทินนามนั้น และเพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่ตนหรือครอบครัวของตน ก็ให้ใช้ราชทินนามนั้นได้..."
การยกเลิกบรรดาศักดิ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องชื่อและนามสกุล ผู้มีบรรดาศักดิ์หลายท่านได้เปลี่ยนชื่อและนามสกุลไปพร้อมกันเลย บางท่านใช้ราชทินนามที่ตนได้รับอยู่เป็นนามสกุลก็มีอยู่มาก บางท่านกลับไปใช้นามสกุลเดิมไม่ยอมเปลี่ยน สำหรับผู้ที่อยู่ในตระกูลบุนนาคแม้จะมีบรรดาศักดิ์สูงสุดหรือราชทินนาม ใด ทุกท่านก็ยังใช้นามสกุล "บุนนาค" โดยเฉพาะบุตรหลานที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) และเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล