มหาเศรษฐีขี้เหนียว เธอร่ำรวยมหาศาล แต่กินอย่างอนาถา
มหาเศรษฐีขี้เหนียว เธอร่ำรวยมหาศาล แต่กินอย่างอนาถา แบบว่า..ผ้าขี้ริ้วห่อทอง จนผู้คนยกให้เธอเป็น “แม่มดแห่งวอลล์สตรีต (The Witch of Wall Street)”
เฮตตี้ กรีน (Hetty Green) มีนามเดิมว่า เฮ็ตตี้ ฮาวแลนด์ โรบินสัน เกิดวันที่ 21 พฤศจิกายน 1834 ที่นิวเบดฟอร์ด รัฐแมสสาชูเสทท์ บิดาและปู่เป็นเจ้าของเรือล่าปลาวาฬลำใหญ่ ฐานะดี แต่กระนั้นทุกคนในครอบครัวก็ประหยัดมัธยัสก์ด้วยว่าเป็นสมาชิกของชมรมเควกเกอร์ (Quaker) ซึ่งถือหลักความเป็นอยู่แบบสมถะ ทำให้เฮ็ตตี้คุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบนี้มาแต่เด็ก
จากการที่มารดาป่วยกระเสาะกระแสะ เฮ็ตตี้จึงคลุกคลีอยู่กับบิดาเป็นส่วนใหญ่เธอช่วยอ่านเอกสารการค้าให้บิดาฟังเมื่อเธอวัยแค่หกขวบ และพอย่างเข้าวัย 13 เธอก็เป็นผู้ดูแลรักษาหนังสือและเอกสารต่างๆของครอบครัว แล้วได้เข้าเรียนหนังสือที่บอสตันเมื่ออายุ 15 แต่ก็มีเพื่อนน้อยมีเพียงหมาเธอชื่อเดวีเป็นคู่ใจของเธอ
บิดาของเฮตตี้เสียชีวิตในปี 1864 เธอได้รับมรดกเป็นเงิน 7.5 ล้านดอลลาร์ (มูลค่าปัจจุบันราวๆเทียบเท่า 3,000 ล้านบาท) ท่ามกลางเสียงประท้วงทายาทอื่นๆแต่เฮตตี้ยังไม่อิ่ม เมื่อได้ข่าวว่าป้าซิลเวียของเธอได้บริจาคมรดก 2 ล้านเหรียญให้เป็นการกุศลทั้งหมด เธอก็ยื่นคำคัดค้านต่อศาลโดยจัดทำพินัยกรรมที่อ้างว่าถูกต้องตามกฎหมายซึ่งยกอสังหาริมทรัพย์ทั้งปวงให้แก่เธอ หากทว่าไม่สำเร็จเพราะศาลพิสูจน์ได้ว่าลายเซ็นของป้าซิลเวียเป็นของปลอม
หลังจากนั้นเฮ็ตตี้ก็นำเงินมรดกบิดาไปลงทุนเล่นหุ้นในวอลล์สตรีทและอาศัยความเฉลียวฉลาดทำเงินได้มากมาย ด้วยความที่เป็นสตรีเพียงคนเดียวที่สามารถสร้างความร่ำรวยจากหุ้น เธอจึงได้รับฉายาว่าเป็น “ราชินีแห่งวอลล์สตรีท” แต่นักเล่นหุ้นหลายคนอาจอิจฉาจึงตั้งฉายาให้ใหม่เป็น “แม่มดแห่งวอลล์สตรีท” จากพฤติกรรมแปลกๆของเธอ อาทิ
ที่พักอาศัยของเธอในนครนิวยอร์คมีสภาพซอมซ่อราคาถูก เสื้อผ้าชุดดำที่เธอสวมใส่เก่าจนซีด เธอไปไหนมาไหนด้วยรถม้าที่เดิมเคยเป็นรถบรรทุกเป็ดไก่ อาหารส่วนใหญ่ของเธอเป็นพายชิ้นละ 15 เซนต์ ลือกันว่ามีอยู่หนหนึ่งซึ่งเฮ็ตตี้ใช้เวลาครึ่งคืนควานหาแสตมป์ที่หล่นหายในรถม้า ทั้งที่มูลค่าของแสตมป์ก็แค่ 2 เซนต์เท่านั้นเอง แม้แต่การซักเสื้อผ้าเธอก็ยังบอกร้านซักรีดให้ซักแต่ส่วนที่สกปรกที่สุดเท่านั้น
ที่โด่งดังที่สุดได้แก่เฮตตี้ไม่ยอมตั้งสำนักงานธุรกิจของเธอเองด้วยกลัวสิ้นเปลือง เธออาศัยมุมหนึ่งในธนาคารซีบอร์ดเนชันแนลเป็นที่ทำการรอบๆตัวเธอและหีบที่บรรจุเอกสารการค้าหุ้นของเธอ แถมบางคนยังค่อนขอดว่าเธออาศัยเครื่องทำความอุ่น(ฮีตเตอร์)ของแบงค์เป็นที่อุ่นอาหารของเธออีกด้วย อย่างไรก็ตามพนักงานธนาคารทุกคนไม่กล้าแตะต้องเฮตตี้ด้วยว่าบัญชีเงินฝากของเธอนั้นยอดไม่ต่ำกว่าสองล้านดอลลาร์
เมื่ออายุขึ้นเลข 30 เฮตตี้ได้พบกับเอ็ดเวิร์ด เฮนรีย์ กรีน (Edward Henry Green) หนุ่มหล่อสูงล่ำสัน เขาทำมาหาได้จากการค้าขายกับซีกโลกตะวันออกจนร่ำรวย ทั้งสองแต่งงานกันในปี 1867 แล้วมีลูกด้วยกันสองคน คือ เน็ด (Ned) กัน ซิลเวีย (Sylvia)
ปี 1879 เอ็ดเวิร์ด พาเฮ็ตตี้กับลูกๆไปอยู่กับครอบครัวของเขาที่เบลโลว์ฟอลล์ เป็นบ้านเก่างดงามริมแม่น้ำคอนเนกติกัต ซึ่งเฮตตี้ก็ยังคงใช้ชีวิตแบบสมถะเช่นเดิม เธอมักจะเดินไปยังร้านชำประจำตำบลเพื่อซื้อคุกกี้แตกๆป่นๆที่แม่ค้ารวมใส่ในถุงราคาถูก กล่องเปล่าที่ใส่ลูกเบอรี่เธอก็นำไปขายคืนในราคาใบละ 5 เซนต์ จะซื้อนมก็นำกระป๋องไปใส่เองเพราะจะได้ราคาถูกสำหรับเลี้ยงแมวของเธอ เมื่อจะซื้อเนื้อวัวเธอก็จะขอกระดูกเอามาเลี้ยงหมา
จะเห็นได้ว่าความขี้เหนียวถี่ถ้วนของเธอนั้นมิได้เป็นพิษภัยต่อผู้อื้นหากทว่ามีอยู่กรณีหนึ่งแห่งความตระหนี่ที่ทำให้ลูกเธอเองต้องสูญเสียขาของเขาไป
ตอนเป็นเด็กนั้นเน็ดหกล้มขาหัก เฮตตี้พยายามจะส่งเขาเข้ารักษาฟรีในสถานพยาบาลสำหรับคนจนแต่เจ้าหน้าที่จำเธอได้ เธอจึงยอมจ่ายเงินแล้วพาเน็ดกลับมารักษาต่อที่บ้าน (บางรายแย้งว่าพาเขาไปหาหมออีกคนหนึ่ง) การรักษานั้นไม่ดีขึ้นในที่สุดเน็ดก็ถูกตัดขาและต้องใส่ขาเทียมไปตลอดชีวิต
เมื่อโตขึ้นเน็ดแยกจากมารดาเพื่อไปดูแลกิจการของครอบครัวในชิคาโกและเท็กซัส เขาแต่งงานกับหญิงชื่อมาเบล (Mabel) ผู้ทำหน้าที่แม่บ้านให้เขาเป็นเวลายาวนาน (เธอเคยเป็นโสเภณีมาก่อนในเท็กซัส)
ส่วนซิลเวียลูกสาวนั้นใช้ชีวิตอยู่กับแม่จนอายุได้ 30 โดยเฮตตี้มักไม่ชอบหน้าบรรดาหนุ่มๆที่มาติดพันซิลเวียเพราะคิดว่าเขาเหล่านั้นมุ่งหมายเงินของเธอ แต่สุดท้ายก็ยอมให้เธอแต่งงานกับแม็ตธิว แอสเตอร์ วิลคส์ในเดือนกุมภาพันธ์ 1909 ที่ร่ำรวย เพราะหนุ่มแมตธิวเป็นหนึ่งในทายาทตระกูลแอสเตอร์ที่ร่ำรวย ตอนแต่งกับซิลเวียนั้นเขามีเงินของตนเองราว 2 ล้านดอลลาร์ทำให้เฮตตี้มั่นใจว่าเขาไม่ได้มาขุดทองจากการวิวาห์
เมื่อลูกๆออกไปมีครอบครัวกันหมด เฮตตี้ได้ย้ายไปอยู่ตามอพาร์ตเม้นต์เล็กๆแห่งโน้นแห่งนี้ เธอเปลี่ยนทีพำนักบ่อยเพื่อว่าเจ้าหน้าที่สรรพากรจะได้ไม่รู้ว่าจะตามเก็บภาษีเธอที่ไหน
พอสูงวัยเฮตตี้เป็นโรคไส้เลื่อนแต่ไม่ยอมผ่าตัดเนื่องจากหมอจะคิดค่าผ่าตัด 150 ดอลลาร์ แพงเกินไปสำหรับเธอผู้มีเงินนับร้อยล้าน นอกจากนี้ยังเป็นลมบ่อยๆจนต้องนั่งเก้าอี้ล้อเลื่อน (วีลแชร์) เฮตตี้จะเปลี่ยนเส้นทางการไปไหนมาไหนประจำทุกวันเพราะเกรงว่าจะถูกลักพาตัว
ความสำเร็จด้านการเงินของเฮตตี้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจบ้านและที่ดิน การลงทุนในกิจการรถไฟและการให้กู้ยืม ทางการนครนิวยอร์คมักจะมาขอกู้ยืมเงินจากเธอเสมอๆในยามที่ขาดสภาพคล่อง เช่นในกรณีวิกฤต ปี ค.ศ.1907 เฮตตี้เขียนเช็คหนึ่งล้านดอลลาร์ให้ทางการนิวยอร์คและได้รับค่าชดใช้ในรูปของพันธบัตรระยะสั้นซึ่งทำกำไรให้เธออย่างงดงาม
ในธุรกิจการเงินข้ามโพ้นทะเล ทำให้เฮตตี้ต้องเดินทางไกลเป็นพันไมล์แบบโดดเดี่ยว ซึ่งในยุคสมัยนั้นมีผู้หญิงน้อยคนกล้าทำอย่างเธอ เพื่อว่าจะเก็บดอกเบี้ยเพียงแค่ไม่กี่ร้อยดอลลาร์
เฮตตี้ กรีน เสียชีวิตเมื่ออายุ 81 ในนครนิวยอร์ค จากบันทึกของกินเนสส์บุ๊คที่ยกให้เธอเป็น “สตรีขี้เหนียวที่สุดในโลก” ครองสถิติยาวนานระบุว่าเธอตายเพราะเส้นโลหิตในสมองแตกเนื่องจากทะเลาะกับสาวใช้เรื่องซื้อนมสดแพงเกินไป แต่ชาร์ลส์ แสล์คผู้เขียนชีวประวัติของเฮตตี้กล่าวว่าไม่ได้มาจากการทะเลาะกับสาวใช้ซึ่งที่จริงคือเพื่อนรักเก่าแก่ของเธอนามว่า แอนน์ เลียรี่ ซึ่งเธอจ้างมาทำหน้าที่แม่ครัว แต่การตายของเฮตตี้มาจากโรคลมชักที่เธอเป็นบ่อยในปีนั้น
มรดกที่เฮตตี้ทิ้งไว้มีมูลค่าระหว่าง 100 ล้านถึง 200 ล้านดอลลาร์(คิดมูลค่าเป็นเงินในปัจจุบันราว 3 พันล้านดอลลาร์หรือแสนล้านบาท) จัดเป็นสตรีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ศพของเธอฝังอยู่ในเบลโลว์ ฟอลล์,รัฐเวอร์มอนต์ เคียงข้างหลุมศพของสามี
หลังจากนั้นลูกๆของเอตตี้ก็จับจ่ายใช้สอยได้เต็มที่โดยเฉพาะเน็ดลูกชายซึ่งเป็นผู้ชอบสะสมสิ่งของทุกอย่างตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันรถแข่ง บ้านพักของเขาที่เมืองราวด์ฮิลล์ถูกยืมใช้เป็นที่ทดลองวิทยาศาสตร์ของสถาบัน MIT เช่น ทดลองสร้างเครื่องเร่งอะตอม เครื่องส่งสัญญาณวิทยุแรงสูง อย่างไรก็ตามแม้จะใช้เงินฟุ่มเฟือย แต่รายได้ปีละล้านดอลลาร์จากมรดก 100 ล้านดอลลาร์ที่เขาได้รับ ก็ทำให้เน็ดจับจ่ายได้สบายๆตลอดชีวิต
สำหรับซิลเวียลูกสาว เมื่อเธอถึงแก่กรรมในปี 1951 มรดกของเธอมีมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์ซึ่งเกือบทั้งหมดเธอบริจาคให้องค์การณ์สาธารณะ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล โบสถ์ ฯลฯ ลูกทั้งสองของเฮตตี้ เมื่อเสียชีวิตลงร่างของเขาถูกนำไปฝังในสุสานเดียวกับมารดา
เรื่องเด่น ต่วย'ตูน พิเศษ /อุดร จารุรัตน์