โป๊ะแตก!! สรุปว่าเรื่อง "ลุงอัจฉริยะคิดเครื่องปั่นไฟมหัศจรรย์" น่าจะเรื่องโม้เกินจริง
วันที่ 4 กรกฏาคม 2562 ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้โพสท์ผ่านเฟซบุ๊คเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ กรณีข่าว ลุงอัจฉริยะคิดเครื่องปั่นไฟมหัศจรรย์ โดยระบุว่า
สรุปว่าเรื่อง "ลุงอัจฉริยะคิดเครื่องปั่นไฟมหัศจรรย์" น่าจะเรื่องโม้เกินจริงครับ
ถามกันมาเต็มเมล์บ๊อกซ์เลย ว่าจริงหรือไม่ กับข่าวของอดีตพนักงานการไฟฟ้าท่านหนึ่ง ที่คิดประดิษฐ์เครื่องปั่นไฟมหัศจรรย์ ใช้มือหมุนปั่นเบาๆ แค่ 15 นาที ระบบเฟืองขับเคลื่อนและวงจรไอซีจะแปลงไฟ ไปเป็นกระแสไฟฟ้า 220 โวลต์ กำลังไฟสูงถึง 500 วัตต์ ใช้งานได้ยาวนานกับเครื่องไฟฟ้าอย่าง เครื่องชักผ้า พัดลม แอร์ เครื่องตัดเหล็ก ฯลฯ ไฟไม่ตก นานถึง 6-8 ชั่วโมง ขณะนี้จดสิทธิบัตรแล้ว มีคนสั่งจองนับล้านเครื่อง ที่สำคัญ ต้นทุนแค่ 1.6 หมื่นบาท พร้อมเปิดประมูลสิทธิบัตรให้ซื้อไปผลิตกัน !!
แต่จากที่มีคนถามไปที่เพจของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ลุงแค่ยื่นของจดสิทธิบัตรเครื่องปั่นไฟมหัศจรรย์ดังกล่าว ยังไม่ได้รับสิทธิบัตรแต่อย่างไร (ซึ่งถึงแม้ว่าสิ่งประดิษฐ์ใดจะมีการจดสิทธิบัตรแล้ว ก็ไม่ได้การันตีนะว่ามันใช้งานได้)
ในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มีเพื่อนๆ เพจต่างๆ ให้ความเห็นไว้ตรงกันหมดว่า ถึงแม้จะยังไม่เคยได้ไปดูเครื่องจริง แต่โดยหลักการแล้ว เครื่องปั่นไฟดังกล่าวไม่น่าจะมีประสิทธิภาพสูงมหัศจรรย์อย่างที่อวดอ้าง
เหตุผลคือ มันผิดหลักการทางฟิสิกส์เรื่องการทรงพลังงาน เนื่องจากพลังงานที่ให้กับเครื่องปั่นนี้ มันมีค่าน้อยมาก (ซึ่งก็คือการหมุนเฟืองด้วยมือเบาๆ 15 นาที) ขณะที่พลังงานที่ออกมา กลับมีค่าสูงมากจนเกินจริง (กระแสไฟกำลังสูงถึง 500 วัตต์ นาน 6-8 ชั่วโมง)
ในความเป็นจริงแล้ว มันควรจะกลับข้าง เสียด้วยซ้ำ คือพลังงานที่ใส่เข้าไป จะเท่ากับพลังงานที่ออกมาบวกกับพลังงานที่สูญเสียไป (เช่น กลายเป็นความร้อนจากการหมุนของเฟือง) นั่นแปลว่า ถ้าจะให้ได้ไฟฟ้า 500 วัตต์อย่างที่ว่า คงต้องใช้ระดับนักกีฬาที่ทรงพลัง มาหมุนเครื่องปั่นนี่นานเป็นสิบๆชั่วโมง
ดังนั้น สิ่งคาดว่าเครื่องปั่นนี้ทำงานได้จริงๆ ก็แต่การที่แบตเตอรี่ 12 โวลต์ ที่ชาร์จไฟเต็มมากแล้ว มาต่อกับวงจรแปลงไฟเพื่อแปลงให้เป็นไฟ 220 โวลต์ ซึ่งถ้าเอาไปต่อกับหลอดไฟฟ้า (ซึ่งกินไฟต่ำ ไม่กี่สิบวัตต์) ก็เป็นไปได้ที่เปิดไฟนานๆ หลายชั่วโมง แต่ถ้าใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟสูงหลายร้อยวัตต์ (อย่างตู้เย็น เครื่องซักผ้า แอร์) ไฟก็จะหมดในเวลาไม่นาน
อุทาหรณ์ของเรื่องนี้คือนัก ข่าวควรจะให้ความสำคัญกับพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นกว่านี้ ในการลงไปทำข่าวควรจะมีผู้รู้ทางช่างหรือวิศวกรลงไปทดสอบพิสูจน์ด้วย ไม่ใช่แค่รายงานข่าวตามที่มีแหล่งข่าวให้สัมภาษณ์กล่าวอ้างเท่านั้น (สังเกตว่ามีข่าวเครื่องปั่นไฟมหัศจรรย์ หรือเครื่องจักรพลังงานอนันต์ หรือยานพาหนะพลังแม่เหล็กพลังไฟฟ้าพลังน้ำ ฯลฯ แอบอ้างเกินจริง ทำนองนี้หลายครั้งแล้ว)
แหล่งที่มา: https://www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess