"มีวันนี้ได้เพราะนมเปรี้ยว" จากชีวิตเคยลำบาก ตอนนี้มีบ้าน-มีรถ ส่งลูกหลานเรียน มีเงินหลักล้าน!
สัปดาห์นี้เจาะเส้นทางสาวยาคูลท์ยุคบุกเบิก “พี่ทัศนีย์” วัย 53 ปี ลั่นขอบคุณลูกค้าเพราะเป็นผู้มีพระคุณ ยึดหลัก “อดทน-ประหยัด-ซื่อสัตย์” ตลอด 30 ปีออกแบบทางเดินชีวิตกว่าจะมีเงินล้านพุธที่ 24 เมษายน 2562 เวลา 07.00 น.
กลับมาพบกันอีกเช่นเคย กับความรู้ดี ๆ ที่จะพาไปรู้จักนมเปรี้ยวที่ชื่อว่า “ยาคูลท์” ให้มากขึ้น แต่เสียงตอบรับที่ดีเกินขาด หลังจากครั้งที่แล้วพาไป เจาะชีวิตสาวยาคูลท์วัย60 จบป.4มัธยัสถ์มีบ้าน3หลัง ทำให้หลายคนมีกำลังใจและสร้างแรงผลักดันที่จะทำงานเพื่อสู้กันต่อไป
ในครั้งนี้เรื่องราวของสาวยาคูลท์ ก็เป็นระดับตำนานเช่นกัน เพราะระยะเวลากว่า 30 ปีบนเส้นทางสายนี้ “ทัศนีย์ วิสุทธิ์วงค์” วัย 53 ปี สาวยาคูลท์ จ.สุพรรณบุรี จะมาถ่ายทอดพร้อมเล่าประสบการณ์ในยุคบุกเบิกที่เธอเรียกว่า “โอกาส” เดินตามความฝันจนสำเร็จให้ฟังแบบไม่มีกั๊กเลย
เมื่อราว ๆ ปี พ.ศ. 2532 ประมาณ 30 ปีก่อน “อ้อ...ตอนนั้นพี่เลี้ยงลูกอายุ 2 ขวบอยู่บ้าน จบม.3 ไม่ได้มีรายได้อะไรเลย” นั่นคือการเปิดโอกาสให้เข้ามาหาตนเอง เพราะเธอคิดเสมอว่าจะทำอย่างไร จึงจะมีรายได้เข้ามาอีกทางเพื่อช่วยสามีดูแลครอบครัว กระทั่งได้พบกับเพื่อนคนหนึ่ง แนะนำให้รู้จักและเข้าอบรมการเป็นสาวยาคูลท์ จึงตัดสินใจสมัครเข้ามาทำงาน เพราะคิดว่าไม่น่าจะยากเกินกำลังของตนเอง
พี่ทัศนีย์ เล่าให้ฟังว่า ยุคแรก ๆ ที่เข้ามาทำงานทุกคนจะขี่รถจักรยานไปส่งยาคูลท์ “ปั่นไปส่งยาคูลท์ 20 กม. พี่ก็ไป เมื่อก่อนขายได้ไม่เยอะ วันละ 300-400 ขวด พี่ก็อยู่ได้แล้ว” โดยหลังจากนั้นทำงานได้ 2 ปี เธอเป็นคนแรก ๆ ที่คิดว่า ถ้าเรามีรถจักรยานยนต์ เราก็จะสามารถไปได้ไกล และมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ผลที่ตามมารายได้ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
เธอจึงทำเรื่องขออนุมัติจากบริษัทยาคูลท์ ในที่สุดได้รับการอนุมัติ จากจักรยานสู่รถจักรยานยนต์ นับเป็นเครื่องพิสูจน์และกลายเป็นสัญลักษณ์ของสาวยาคูลท์ ทำให้สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่สูงขึ้น เข้าถึงได้ทุกตำบล สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ผลตอบรับดี และยอดคนสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากถึงวันละ 1,000 ขวด แม้การเดินทางในสมัยก่อนนั้น พื้นที่ต่าง ๆ จะเป็นถนนลูกรัง แต่อุปสรรคนี้ก็ไม่เกินกำลังและความพยายามของเธอไปได้
แม้กระทั่งว่ารถจักรยานยนต์ไม่สามารถขี่ไปส่งยาคูลท์ได้ เธอก็ไม่ยอมแพ้ แต่เลือกที่จะคิดปรับกลยุทธ์เพื่อเอาใจลูกค้า และเอาชนะ “น้องน้ำ” ในปี พ.ศ.2549 ที่เกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ได้อย่างสบาย ๆ เพราะต้องพายเรือขายยาคูลท์ โดยภาพนี้คือน้ำท่วมที่ จ.สุพรรณบุรี พื้นที่ที่เธอรับผิดชอบ
โดยแต่ละอุปสรรคของพี่ทัศนีย์ มักจะให้แง่คิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น “ความอดทน การประหยัด ความซื้อสัตย์” และกลายเป็นสิ่งที่เธอทำจนเคยชิน เพราะหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และคอยบริการยาคูลท์ส่งตรงถึงบ้าน มันไม่ใช่แค่หน้าบ้าน แต่เป็น...ข้างในบ้าน...เดินเข้าไปได้จนถึงตู้เย็น ของลูกค้า สิ่งเหล่านี้จึงนับว่าเป็น “หัวใจของสาวยาคูลท์”
“เราเข้าบ้านลูกค้าได้ การเห็นเงินวางอยู่ก็ห้ามหยิบแม้แต่บาทเดียว ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่ออาชีพ เราจะหวังให้ลูกค้าซื่อสัตย์สั่งยาคูลท์กับเราไปตลอดได้อย่างไร เมื่อเขาไว้ใจเราแล้วก็อย่าคิดโกงลูกค้า เพราะความไว้ใจสามารถทำร้ายเราได้ อย่าไปพังทำลายมันก่อน” ข้อคิดจากพี่ทัศนีย์ ลั่นออกมาเป็นประโยค ที่เดินบนเส้นทางของสาวยาคูลท์
จากปัจจุบันถ้าย้อนกลับไปประมาณ 10 ปีให้หลัง วันที่เธอเก็บเงินสะสมไว้จำนวนที่มากพอสมควร เงินนั้นสามารถซื้อบ้านหลักล้านได้สำเร็จ จากนั้นไปกู้ธนาคารมาซื้อรถตู้ 1 คัน เพื่อต่อยอดทรัพย์สินและเปิดกิจการโดยสามีประกอบอาชีพ “ขับรถตู้รับจ้าง” และในที่สุดสามารถซื้อรถตู้ด้วยเงินของตัวเองได้อีกคัน นับเป็นความภูมิใจที่สามีภรรยาคู่นี้มุมานะมาด้วยกัน เธอจึงอยากขอบคุณอาชีพ “สาวยาคูลท์” ที่เปิดโอกาสและสอนให้เธออดทน จนสามาถสร้างครอบครัวให้มีความสุขได้จากวันที่ไม่มีอะไรเลยเป็นของตัวเอง
“ถ้าพี่ไม่เจอเพื่อนคนนั้น พี่มองไม่ออกว่าชีวิตในวันนี้ของพี่จะเป็นอย่างไร หรืออยู่ตรงไหนของสังคม พี่ต้องขอบคุณเพื่อนคนนั้นด้วย และลูกสาวพี่ก็คงไม่ได้รับโอกาสเรื่องค่าเล่าเรียนจากบริษัทยาคูลท์ จนจบมหาวิทยาลัย”
ปัจจุบันนี้พี่ทัศนีย์ ได้ย้ายมาประจำที่ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี และยังสามารถใช้เงินเก็บซื้อรถแท็กซี่ให้คุณพ่อ ขับสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ทำงานเป็นสาวยาคูลท์กว่า 30 ปี พี่ทัศนีย์ได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย และได้รับรางวัลต่าง ๆ ของบริษัท เช่น ได้ไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น ได้รู้จักผู้คนทุกระดับ ซึ่งการที่ได้มาเป็นสาวยาคูลท์ นอกจากจะทำให้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองแล้ว ยังทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้ที่สามารถดูแลพ่อ ดูแลครอบครัวได้ ด้วยการออกเส้นทางชีวิตด้วยตัวเอง และยังมีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายในอนาคตอีกด้วย
แหล่งที่มา: http://www.liekr.com