คำไทยที่ฉันงง มาดูกันว่า "ผลัด" - "ผัด" คำไหนใช้กับคน คำไหนใช้กับสิ่งของ คำไหนใช้กับเวลา
“ผัดวันประกันพรุ่ง” หรือ “ผลัดวันประกันพรุ่ง” คำไหนที่ถูกต้องกันแน่?
หลายๆคนคงจะงงเหมือนกับชายนะครับ ว่า "ผลัด" - "ผัด" คำไหนใช้ตอนไหน อย่างไร ที่ไหน เมื่อไร เวลาใด กับอะไร แหม่ๆชักจะยาว เราไปดูคำตอบจากเว็บสำนักงานราชบัณฑิตยสภากันดีกว่า
ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้บทนิยามของสองคำนี้ดังนี้
“ผลัด” = เปลี่ยนแทนที่ เช่น ผลัดเสื้อผ้า ผลัดเวร ผลัดใบ ผลัดขน
“ผัด” = มีหลายความหมายด้วยกัน เช่น ขอเลื่อนเวลาไป ย้ายไปย้ายมา หมุนไปมา ฯ
ขอยกตัวอย่างการใช้คำทั้งสองให้เห็นชัดเจน เช่น
– พรุ่งนี้พี่ค่อยมาผลัดดูแลแม่แทนฉันนะ
– แม่ขอผัดเป็นอาทิตย์หน้าเราค่อยไปเที่ยวทะเลกันนะจ๊ะ
– หากเป็นหนี้แล้ว ไม่มีเงินไปใช้คืนก็ต้องผัดหนี้ไปก่อน
– เมื่อเราอาบน้ำเสร็จแล้วจะเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ ต้องใช้คำว่า “ผลัด“
นอกจากนี้แล้ว คำว่า “ผัด” ยังมีความหมายอื่นอีก เช่น
– ผัดเจ้าล่อ หมายถึง ผัดให้หลงเชื่อร่ำไปอย่างขอไปที.
– ผัดช้าง หมายถึง ล่อให้ช้างไล่.
– ผัดผ่อน หมายถึง ผัดพอให้ทุเลากลับไปกลับมา.
– ผัดเพี้ยน หมายถึง ขอเลื่อนเวลาอยู่เรื่อย ๆ.
ถ้าจะให้จำง่าย “ผลัด” ใช้ในความหมายว่าเปลี่ยน ส่วน “ผัด” ใช้เมื่อขอเลื่อนเวลาเมื่อทราบความหมายที่แตกต่างกันของคำทั้งสองดีแล้ว ก็คงนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง สำนวน “ผัดวันประกันพรุ่ง” หมายถึง ขอเลื่อนเวลาออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า
http://www.royin.go.th/?knowledges=ผลัด-ผัด-๒๔-ธันวาคม-๒๕๕๑