ย้อนรอยประธาน กกต. !! “วาสนา เพิ่มลาภ” ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี จากวิกฤตเลือกตั้ง ปี 2549 มาแล้ว
จากการเมืองยุคปัจจุบัน กับการทำงานของ กกต. ล่าสุด มีการวิจารณ์การทำงานของ กกต. ชุดนี้ ในหลายๆ เรื่อง มาชมในยคุ 2549 กัน ว่าเกิดอะไรขึ้น
วิกฤตการเมือง เมื่อปี 2549 ไม่เพียงส่งผลเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไทย
ยังทำให้ตัวละครสำคัญหลายคนเผชิญชะตากรรมจากหน้าเป็นหลังมือ
และหนึ่งในนั้นก็มี“พล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ” อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
แม้เหตุการณ์จะผ่านมากว่าสิบปี และตัว พล.ต.อ. วาสนา ได้ถอยจากการเป็นตัวละครหน้าฉากนานแล้ว ..แต่อดีตก็ยังไล่ล่าเขาอยู่
โดยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 ศาลฎีกาได้ตัดสินจำคุกอดีต ประธาน กกต. รายนี้ พร้อมด้วย “ปริญญา นาคฉัตรีย์” อดีตกรรมการ กกต. จากการปฏิบัติหน้าที่ช่วงปีดังกล่าว เป็นเวลา 2 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทำให้ทั้งคู่ต้องเข้าสู่เรือนจำทันที !
จากเด็กบ้านนอก จ.จันทบุรี ด.ช. วาสนาเข้ามาเรียนในเมืองกรุงกับโรงเรียนอำนวยศิลป์ ก่อนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นเข้ารับราชการตำรวจ ใช้เวลากว่า 40 ปี ไต่เต้าจากยศ “ร้อยตำรวจตรี” จนถึง “พลตำรวจโท“ และเกษียณอายุราชการ ในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
กระทั่งได้รับพระราชทานยศ “พลตำรวจเอก” เป็นกรณีพิเศษ เมื่อปี 2545 ปีเดียวกับที่ได้เป็นรับตำแหน่งเป็น ประธาน กกต. แทน “พล.อ. ศิรินทร์ ธูปกล่ำ” อดีตประธาน กกต. ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากได้รับการสรรหามาโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศตำรวจเป็นกรณีพิเศษ ได้กล่าวถึงเหตุผลในการพระราชทานยศ พล.ต.อ. ให้กับวาสนา ไว้ว่า “เพราะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความประพฤติดี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ตรากตรำตลอดมาทั้งในราชการปกติและราชการพิเศษ มีผลการปฏิบัติราชการดีเด่น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม”
ทว่ายศและตำแหน่งสูงสุดในชีวิต ก็นำ “ทุกขลาภ” มาสู่ชีวิตของ พล.ต.อ. วาสนา
ว่าแต่ อะไรคือความทุกข์ที่อดีตประธาน กกต. รายนี้ ต้องเผชิญ ณ จุดสูงสุดของชีวิต ?
ยากที่ตอบคำถามนี้ โดยไม่กล่าวถึงบริบทของการเมืองในช่วงเวลานั้น
วิกฤตการเมืองไทยช่วงปี 2548-2549 เริ่มก่อตัวหลังมีประชาชนกลุ่มหนึ่งออกมาประท้วงการบริหารงานของรัฐบาลไทยรักไทย ยิ่งเกิดกรณีขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์โดยไม่เสียภาษี ความขัดแย้งก็ยิ่งบานปลาย กระทั่ง “ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 2 เมษายน 2549
ผู้มีอำนาจในการขณะนั้น ประเมินว่า “การเลือกตั้งใหม่” จะเป็นจุด reset ความขัดแย้งทุกอย่าง แต่อุณหภูมิการเมืองไทยนาทีนั้นร้อนฉ่าจนยากจะยุติด้วยการเข้าคูหาเลือกผู้แทน ยิ่งพรรคฝ่ายค้านหลัก 3 พรรค ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคชาติไทย (ชท.) และพรรคมหาชน (มช.) ประกาศ boycott การเลือกตั้ง
เผือกร้อนจึงถูกโยนไปอยู่ในมือของ “4 เสือ กกต.” ที่มี พล.ต.อ. วาสนา เป็นประธาน (ขณะนั้น ยังไม่มีการสรรหากรรมการ กกต. คนใหม่ แทนจรัล บูรณพันธุ์ศรี ที่เสียชีวิต)
แต่ผลการเลือกตั้ง 2 เมษาฯ ปรากฏว่า ยังได้ ส.ส. จำนวนไม่ถึง 95% (อย่างน้อย 475 คน จากทั้งหมด 500 คน) ที่จะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจากการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตบางพื้นที่ มีผู้สมัครเพียงคนเดียว และได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ 20% ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง (voter) กกต. ชุดนั้นจึงเปิดให้รับสมัครและเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตในพื้นที่ซึ่งยังไม่มีผู้ชนะใหม่ ในวันที่ 23 เม.ย. 2549 ท่ามกลางเสียคัดค้านจาก ปชป. และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การยื่นฟ้องร้องเป็นคดีความมากมาย ทั้งคดีขอให้ล้มเลือกตั้ง และคดีขอให้ดำเนินคดีอาญากับ กกต.
ตอนนั้น เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ศาลทั้ง 3 ศาล ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรม เข้ามาแก้ไขวิกฤตการเมือง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ตุลาการภิวัฒน์”
ผลก็คือ วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เมษาฯ เป็นโฆษะ ด้วยเหตุผล อาทิ การกำหนดวันเลือกตั้งหลังยุบสภาสั้นเกินไป คือ 35 วัน นับแต่ประกาศยุบสภา, การหันคูหาออกนอกหน่วยทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ ฯลฯ
และวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ศาลชั้นต้น ก็พิพากษาให้จำคุก กกต. กรณีจัดเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตใหม่ ในวันที่ 23 เมษาฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คนละ 4 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทำให้ กกต. ชุดนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งโดยทันที และต้องมีการสรรหา กกต. ชุดใหม่
พล.ต.อ. วาสนากับพวก ถูกขังอยู่ 3 วัน 3 คืน ก่อนศาลจะให้ประกัน และปล่อยตัวออกมา
กระทั่ง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เคลื่อนรถถังออกมายึดอำนาจ ล้มรัฐบาลของทักษิณ ในวันที่ 19 กันยายน 2549 วิกฤตการเมืองจึงยุติลงชั่วคราว
แต่วิบากกรรมของ พล.ต.อ. วาสนา ก็ยังไม่ยุติ
หลังพ้นจากตำแหน่ง พล.ต.อ. วาสนา ถอดสูทกลับไปใส่กางเกงขาสั้นทำสวนผลไม้ที่ จ.จันทบุรี บนที่ดินมรดกกว่า 100 ไร่ ที่ได้รับมาจากพ่อแม่ เลิกยุ่งกับการเมืองเด็ดขาด
เขาให้สัมภาษณ์“มติชนออนไลน์” ว่า ไม่ยึดติดกับอำนาจ หรือวาสนา ตั้งแต่เป็นตำรวจจนถึงประธาน กกต. ก็ไม่เคยจัดงานวันเกิด เพราะรู้ว่าสัจธรรมเหล่านี้ไม่ยั่งยืน งานเกษียณปีแรก รถมาจอดหน้าบ้านยาวเป็นกิโลเมตร อีกปีผ่านไป จะเหลือครึ่งเดียว ยิ่งผ่านไปก็ยิ่งลดลง
“ใครจะคิดว่าชีวิตตกอับก็ช่าง จะว่าไปก็เหมือนอยู่รอวันตาย” พล.ต.อ. วาสนากล่าวพร้อมหัวเราะ
แม้คดีที่ทำให้เขาต้องนอนคุกเป็นครั้งแรกในชีวิต จะถูกยกฟ้องในชั้นศาลฎีกา ในปี 2556 เพราะศาลเห็นว่า “ถาวร เสนเนียม” อดีต ส.ส. ปชป. ผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง
แต่คดีอื่นๆ ก็คืบคลาน โดนเฉพาะคดีสอบจ้างพรรคเล็กลงรับสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.แบบแบ่งเขต ในวันที่ 23 เมษาฯ ล่าช้า โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษาให้จำคุกอดีต กกต. ทั้ง 3 คน ได้แก่ พล.ต.อ. วาสนา, ปริญญา และวีระชัย แนวบุญเนียร เป็นเวลา 2 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี มาโดยตลอด
พล.ต.อ. วาสนา เคยกล่าวเปิดใจไว้เมื่อกว่า 10 ปีก่อน สมัยที่ยังมีอำนาจ-วาสนา ว่า ตัวเขาและ กกต. ถูกใช้เป็น “แพะบูชายัญ” ของการต่อสู้เอาชนะคะคานกันทางการเมือง
“ปัญหาเกิดจากแข่งขัน ต้องการเอาชนะคะคานทางการเมืองระหว่าง 4 พรรค คือ ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ มหาชน และชาติไทย ทำทุกอย่างทุกอย่างด้วยกลยุทธ์ กลวิธีต่างๆ ทางการเมือง วันนี้จึงนำมาด้วยการให้ผมเป็นแพะบูชายัญ ตั้งแต่มี พรฎ.ยุบสภามา ผมจัดการเลือกตั้ง ผมถามว่าผมผิดอะไร และทำผิดกฎหมายตรงไหน ผมชี้แจงไปหมดแล้ว อยากให้สังคมให้ความเป็นธรรมกับผมและ กกต. และอยากให้สังคมรู้ด้วยว่าความชั่วช้าเลวทรามทั้งหลายเกิดจาก กกต. หรือ เกิดจากใคร”
แต่อย่างที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น แม้หลายคนรวมถึงอดีตประธาน กกต. รายนี้ จะหลุดจากกระดานเกมการเมืองไปนานแล้ว ทว่าสะเก็ดของความขัดแย้งที่อยู่ในรูปของคดีความก็ยังดำรงอยู่ และเดินหน้าต่อไปตามครรลองของมัน
ที่สุด ศาลฎีกาก็ตัดสินให้จำคุก พล.ต.อ. วาสนา วัย 75 กับปริญญา วัย 76 (ส่วนวีระชัยเสียชีวิตไปก่อนหน้า) เป็นเวลา 2 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี โดยไม่รอลงอาญา ผู้ควบคุมการเลือกตั้ง เมื่อปี 2549 ทั้ง 2 คน จึงต้องเข้าไปใช้ชีวิตบั้นปลายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
โดยคำพิพากษาของศาลฎีกาส่วนหนึ่งระบุว่า “การที่จำเลยรับตำแหน่งสำคัญและทำคุณงามความดีจนได้รับเลือกเป็น กกต.จำเลยต้องทราบดีว่า การเป็น กกต. จัดการเลือกตั้ง ต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้นจำเลยต้องดำรงความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นคุณต่อประเทศมากที่สุด แต่จำเลยกลับกระทำตรงข้ามแสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมละทิ้งคุณงามความดีที่ได้กระทำมาทั้งหมด”
ปิดฉากชะตากรรม 2 ตัวละคร ผู้ติดอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ที่ทำให้ประเทศติดหล่ม เมื่อกว่าทศวรรษที่ผ่านมา
แต่ยังมีตัวละครอีกนับพัน-นับหมื่นคน ที่ไม่รู้ว่าชาตินี้ของตัวเอง จะมีบทสรุปของชีวิตอย่างไร
แหล่งที่มา: https://thaipublica.org/2016/06/wassana-3-6-2559/