“ละโว้ ศรีเทพ เสมา” นครใหญ่แฝดสามแห่งแคว้น “ศรีจานาศะปุระ”
“ละโว้ ศรีเทพ เสมา” นครใหญ่แฝดสามแห่งแคว้น “ศรีจานาศะปุระ”
.
.
.
“จานาศะ” (Sri Canasa) เป็นชื่อนามที่ปรากฏใน “จารึกศรีจานาศะ” (หลักที่ 117 จากเทวสถานใกล้สะพานชีกุน กรุงศรีอยุธยา) จารึกด้วยอักษรเขมร ภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร (เรื่องการถวายกัลปนา ข้าทาสและสิ่งของในหน้าหลัง) อายุอักษรและการจารึกอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 กล่าวถึงชื่อนามผู้ปกครองแห่งศรีจานาศะ ว่า “ศรีจานาศะธิปติ” โดยระบุพระนามชัดเจนว่าจานาศะปุระนั้นเริ่มต้นด้วยพระเจ้าภคทัตต์ สืบต่อโดยพระเจ้าศรีสุนทรปรากรม ที่มีพระโอรสนามว่า พระเจ้าศรีสุนทรวรมัน สืบต่อมาที่พระเจ้าศรีนรปติสิงหวรมัน เป็นผู้ปกครองศรีจานาศะธิปติ และพระอนุชา พระเจ้ามงคลวรมัน (เป็นชื่อนามสุดท้ายของชื่อพระนามทั้งหมด อันอาจหมายถึงผู้สร้างจารึกหลักนี้)
.
ซึ่ง “จารึกบ่ออีกา” (K.400 หลักที่ 118) ที่พบจากบริเวณบ่ออีกา ข้างปราสาทอิฐกลางเมืองเสมา อักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต/เขมร อายุอักษรและการจารึกอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 14 ก็ได้กล่าวถึงชื่อนาม “พระราชาแห่งศรีจานาศะ” และ “กมฺวุเทศานฺตเร” อันอาจมีความหมายว่าเป็นดินแดนนอกเขตกัมพุชเทศะ ซึ่งก็เป็นการยืนยันการมีตัวของแค้วนศรีจานาศะปุระ ที่มีกษัตริย์ปกครอง ซึ่งเมื่อเทียบเวลากว่า 100 ปี กับจารึกศรีจานาศะ นามพระราชาแห่งศรีจานาศะในจารึกนี้ จึงอาจหมายถึง พระเจ้าศรีสุนทรปรากรม กษัตริย์ผู้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับรัฐแห่งนี้ครับ
.
แคว้นศรีจานาศะ มีลักษณะเดียวกันกับแคว้น “บ้านมัลยัง” (Malyang) ในเขตจังหวัดพระตะบอง ที่เป็นรัฐอิสระที่มีราชวงศ์กษัตริย์ปกครองเอง เกี่ยวดองกับอาณาจักรกัมพุชเทศะในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการดองสร้างเครือญาติด้วยการอภิเษกสมรส การถวายเครื่องบรรณาการเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ หรือการสงครามเพื่อเข้าทำลายและยึดครอง
.
เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางภูมิศาสตร์และร่องรอยพัฒนาการของบ้านเมือง กลุ่มแคว้นศรีจานาศะนั้น น่าจะมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ระหว่างแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ใต้ พังเหยและดงพญาไฟ โดยมีช่องเขาสำคัญ คือช่องลำตะคอง ช่องลำสนธิและช่องเขาน้อย (ที่ปรากฏปราสาทนางผมหอม) เป็นเส้นทางช่องเขาเชื่อมต่อเข้ามาสู่พื้นที่ราบต่ำทางตะวันตก โดยมีเมืองละโว้ เมืองศรีเทพ เป็นเมืองสำคัญในเขตที่ราบต่ำ และเมืองเสมา ในเขตที่ราบสูง มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
.
ซึ่งเขตอิทธิพลของกลุ่มแคว้นนั้น ยังรวมไปถึงเมืองวิมายปุระ ในดินแดนกลุ่มต้นแม่น้ำมูล อีกด้วยครับ
.
เมืองละโว้ (ลวปุระ) เมืองเสมา และเมืองศรีเทพ (บาจาย) เป็นเมืองแฝดสามอันมีลักษณะพิเศษในภูมิภาคตะวันออกของที่ราบลุ่มภาคกลาง ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลกันมากนัก ในรูปแบบสามมุม (Triangle) ทั้งสามเมืองมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองกัน เป็นรัฐขนาดเล็กที่มีความเข้มแข็ง มีชุมชนและเมืองในการปกครองกว้างขวาง ดังภาพสลักนูนต่ำขบวนกองทัพที่ 20 บนผนังกำแพงของระเบียงคดทิศใต้ปีกตะวันตก ของปราสาทวัดในพุทธศตวรรษที่ 17 ที่แสดงภาพ “วร กมรเตง อัญ ศรี ชัย สิงหวรรมม”ผู้นำกองทัพเมืองละโว้ (โลฺว) ประดับฉัตรสัปทนจำนวนมาก ถึง 17 คัน ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองละโว้และดินแดนในอิทธิพลฝั่งตะวันตกของเมืองพระนครอันกว้างใหญ่ไพศาลครับ
.
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 15 เป็นช่วงเวลาที่รัฐศรีจานาศะมีผู้ปกครองอิสระ ดังที่ปรากฏพระนามกษัตริย์ในจารึก ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลทางการเมืองจากกัมพุชะเทศะ จนถึงพุทธศตวรรษที่ 16 เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้พิชิตเมืองละโว้รวมทั้งเมืองวิมายปุระ และผนวกดินแดนรัฐศรีจานาศะ พระราชาแห่งศรีจานาศะที่เมืองเสมาจึงสิ้นสุดลง ละโว้กลับขึ้นมาเป็นเมืองเอกของแว่นแคว้นแทน จนเมื่อราชวงศ์มหิธระปุระได้ข้าครอบครองวิมายปุระในอีสานใต้ เมืองพระนครยังได้ส่งเหล่าพระญาติพระวงศ์กมรเตงอัญ เข้ามาปกครองเมืองละโว้ในฐานะวิษัยนคร (ลูกหลวง) ภายในอาณาจักร
.
เมื่อกลับมาพิจารณาหลักฐานจากร่องรอยพัฒนาการของบ้านเมือง สิ่งก่อสร้างและรูปประติมากรรมทางศาสนา เมืองแฝดทั้งสามนี้จะมีลักษณะทางคติความเชื่อ ศิลปะและภาษาที่คล้ายคลึงกัน ดูเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง เริ่มจากการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคเหล็ก (พุทธศตวรรษที่ 5-8) ทั้งสามเมืองเป็นเมืองชุมทาง (Hub) ตลาดและจุดตัดทางแยก (Junction) สำคัญของเส้นทางการเดินทางและการค้า ระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงตะวันออก (อีศาน) ผู้คนในแว่นแคว้นเป็นกลุ่มชนที่เป็นชาติพันธุ์ทางกายภาพและมีภาษาอักษร พูดและเขียนเดียวกันกับผู้คนในเขตเขมรต่ำ แต่มีการผสมผสานภาษาพูดและคติศิปะความเชื่อมาจากทางที่ราบตะวันตก (ที่ราบภาคกลาง)
.
ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ศรีจานาศะปุระคือรัฐลูกครึ่งอินเดียแบบเขมรในดินแดนฝั่งตะวันตก ไม่ได้ขึ้นตรงกับอาณาจักรกัมพุชเทศะในเขตเขมรต่ำนั่นเองครับ
.
ถึงจะถูกเปลี่ยนแปลง ซ้อนทับโดยผู้คนและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในหลายยุคสมัย จนมาถึงยุคสุดท้ายที่เมืองศรีเทพและเมืองเสมาเริ่มแห้งแล้ง ผู้คนอพยพออกจนกลายเป็นเมืองร้างป่ารกชัฏ เมืองละโว้ได้กลายมาเป็นเมืองใหญ่ของรัฐศูนย์กลางแว่นแคว้นศรีจานาศะเดิม แต่ก็ยังคงเห็นความเหมือนกันของเมืองแฝดทั้งสามหลายอย่าง เชื่อมโยงกันมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งสองเมืองมีหลักฐานการตั้งชุมชนมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกมาจนถึงยุคเหล็ก เข้าสู่ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อในการรับวัฒนธรรมอินเดีย มีคูเมืองเป็นวงแบบเมืองแฝดสองวงติดกัน 2 วง แบ่งเป็น "เมืองใน" และ "เมืองนอก" มีสถูปในยุคทวารวดีหลายแห่ง และยังปรากฏอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบเขมรในแต่ละช่วงเวลาเหมือนกัน
.
ทั้งสามเมืองยังเชื่อมโยงกันด้วยเส้นทางการค้าทางบก เส้นทางช่องเขาและเส้นทางแม่น้ำป่าสัก อย่างที่เมืองศรีเทพก็เคยมีร่องรอยของถนนศิลาแลงกว้างประมาณ 4 เมตร ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถนนแข่งม้า” เชื่อมต่อไปทางทิศเหนือทางประตูหนองบอน และทางทิศใต้ทางประตูหนองกรดหรือประตูมะกัก
.
ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 – 14 ทั้งสามเมืองมีผังเมืองรูปวงกลม (เรียกว่าเมืองใน) มีการสร้างศาสนสถานตามแบบวัฒนธรรมทวารวดี มีสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่เป็นประธานอยู่กลางเมือง มีคตินิยมการใช้ธรรมจักรตั้งเสา (สตัมภะ) และรูปประติมากรรมทางศาสนาแบบศิลปะคุปตะ – อานธระ – ปัลลวะ เหมือนกัน ซึ่งก็เป็นพื้นที่รับและส่งอิทธิพลพุทธศาสนาเถรวาทในคติอานธระ-ลังกา จากตะวันตกออกไปยังทิศตะวันออก อย่างเมืองวิมายปุระ เมืองกงรถและเมืองรูปวงกลมในเขตอีสานใต้ แต่ในพื้นที่ไกลออกไปจากเมืองเสมา-ศรีจานาศะ ออกไปทางตะวันออกกลับไม่มีความนิยมในการใช้ธรรมจักรตั้งเสาและคติเถรวาทแบบทวารวดี
.
ในพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 มีการเข้ามาของวัฒนธรรมอินเดีย/เขมร/จาม จากเขตตะวันออก (แม่น้ำโขง) และทางใต้ (ก่อนเมืองพระนคร) เข้ามาสู่เมืองทั้งสาม ตามเส้นทางการค้าโบราณแล้วครับ
.
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 มีการสร้างปราสาทหินแบบเขมรขึ้นครั้งแรกในทั้งสามเมือง ในศิลปะนิยมแบบเกาะแกร์-แปรรูปจากอิทธิพลของเมืองพระนคร ซึ่งน่าจะเป็นยุคสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดของแคว้นศรีจานาศะ ดังที่ปราสาทกลางเมืองและปราสาทโนนกู่ของเมืองเสมา ซากปราสาท กรอบประตูและทับหลังจากเมืองศรีเทพ และปราสาทปรางค์แขกและทับหลังที่เมืองลพบุรี นอกจากนี้ ยังมีการขยายเมืองออกอีกวงหนึ่งต่อจากเมืองรูปวงกลมเดิมเรียกว่า “เมืองนอก” ขึ้นเหมือนกันทั้งสามเมืองครับ
.
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เมืองแฝดทั้งสามของรัฐศรีจานาศะปุระและวิมายปุระ ก็คงได้รับผลจากการโจมตีของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 เหมือนกัน ราชวงศ์ผู้ปกครองศรีจานาศะ (จากชื่อพระนามจารึก) สิ้นสุดลง แต่ทั้งสามเมืองก็ยังคงได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมและศิลปะแบบเขมรเมืองพระนครต่อเนื่องกันมา อย่างปราสาทเมืองแขกและจารึกเมืองเสมา (K. 1141) ที่พบในเมืองเสมา ปราสาทปรางค์ฤๅษีที่เมืองศรีเทพ และปราสาทหินหลังหนึ่งภายในวัดมหาธาตุลพบุรี
.
ในพุทธศตวรรษที่ 17-18 ราชวงศ์มหิธระปุระได้ส่งผู้ปกครองจากเมืองพระนครหลวงเข้ามาปกครองกลุ่มสามเมืองนี้ ซึ่งก็ยังคงใช้อักษร/ภาษาเขมรในจารึกที่พบจากเมืองทั้งสามเป็นภาษาหลักของแคว้น และยังคงได้สถาปนาศาสนสถานในรูปปราสาทหินขึ้น อย่างปรางค์สองพี่น้องและปรางค์ศรีเทพที่เมืองศรีเทพ ปรางค์สามยอด ศาลประกาฬและปราสาทวัดซากที่เมืองละโว้ และอาโรคยศาลาปราสาทเมืองเก่าที่เมืองเสมา
.
.
*** จนเมื่อเมืองละโว้ได้กลายมาเป็นเมืองหลักของกลุ่มแคว้น และได้ขยายอิทธิพลเข้ามายังที่ราบลุ่มทวารวดีอันอุดมสมบูรณ์ สร้างเมืองท่าขึ้นทางทิศใต้ เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเมืองใหญ่ ในชื่อนาม “อโยธยาศรีรามเทพนคร” นครแห่ง “พระราม” บนที่ดอนทางใต้ของแม่น้ำลพบุรี ใกล้กับคุ้งน้ำโค้งตวัดของแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 - 19
.
ศูนย์กลางของรัฐศรีจานาศะ จึงได้ย้ายจากละโว้มาที่นครใหม่อันเพียบพร้อมอุเมสมบูรณ์ พร้อมกับการรื้อฟื้นพระราชวงศ์ศรีจนาศธิปติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในชื่อพระนาม “รามาธิบดี (ธิปติ)” ในความหมายผู้เป็นใหญ่แห่งอโยธยา
.
.
*** แคว้นศรีจานาศะ ก็คือต้นกำเนิดของเขมรตะวันตกหรือรัฐขอมเจ้าพระยา ที่มีการย้ายศูนย์กลางจากเมืองเสมา/ศรีเทพ มายังเมืองละโว้ ต่อมายังอโยธยา และกลายมาเป็นกรุงศรีอยุธยาในช่วงเวลาต่อมานั่นเอง
.
เป็นแคว้นเขมรหรือขอมในเขตภูมิภาคประเทศไทยในปัจจุบัน ที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับเมืองพระนครหลวงในเขตเขมรต่ำ มีกษัตริย์ปกครองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 ถูกผนวกเข้าไปในจักรวรรดิช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 กลับมาฟื้นฟูพระราชวงศ์ได้ใหม่ในพุทธศตวรรษที่ 20 แล้วย้อนกลับไปพิชิตเขมรเมืองพระนครครับ
.
.
จารึกศรีจนาศะ หน้าแรก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนค
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า
จารึกบ่ออีกา หน้าแรก จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถา
สถูปทวารวดีขนาดใหญ่ วัดนครโกษา ลพบุรี
สถูปทวารวดีขนาดใหญ่ ใกล้ไปรษณีย์ ถูกขุดทำลายทั้งหมดเมื่อครั
เสาและฐานบัวของธรรมจักรสตั
สถูป/วิหารทวารวดี เขาคลังใน เมืองโบราณศรีเทพ เพชรบูรณ์
ธรรมจักร เมืองโบราณศรีเทพ
.
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
ชมทั้งหมดที่เพจ คนรักประวัติศาสตร์ไทย และ EJeab Academy
ที่มา: https://www.facebook.com/welovethaihistory/posts/2087278087986139





















