ย่านประตูผี" ที่มาของชื่อกับตำนานอันน่าสยดสยอง
"ย่านประตูผี" ที่มาของชื่อกับตำนานอันน่าสยดสยอง!!
หลายคนคงจะคุ้นเคยกันชื่อของย่านประตูผี ซึ่งมีร้านอาหารมากมายที่โด่งดังอยู่ในย่านนั้น ไม่ว่าจะเป็น ผัดไทยประตูผี ข้าวต้มเป็ด หรือหอยทอด แต่รู้หรือไม่ว่า ที่มาของชื่อที่ประตูผีนั้น ได้มาอย่างไรกันแน่
ย้อนอดีตกลับไปประมาณสมัยรัชกาลที่ 1 ศูนย์รวมของชุมชนบ้านเรือนผู้คนจะอยู่ภายในกำแพงเมือง ส่วนด้านนอกกำแพงจะมีการทำนาหรือการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ส่วนภายในกำแพงเมืองนั้นมีธรรมเนียมที่ถือกันว่าหากมีคนเสียชีวิตจะต้องขนศพออกไปเผาด้านนอกกำแพง และทางออกที่ใช้ขนศพออกไปคือ ประตูทางทิศตะวันออกของเมือง ซึ่งเมื่อระบุตำแหน่งก็คือ บริเวณใกล้สี่แยกสำราญราษฎร์ในปัจจุบันนั่นเอง ประตูนี้จึงถูกเรียกขานกันว่า “ประตูผี”
โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโรคระบาดหนักในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 พระนครและเมืองใกล้เคียงถูกคุกคามด้วยโรคห่า (อหิวาตกโรค) ส่งผลให้ระบาดไปทั่ว ทำให้มีคนตายหลายหมื่นคน ศพจำนวนมากถูกลำเลียงผ่านประตูผีไปยังวัดสระเกศซึ่งอยู่ติดๆกัน ทำให้มีศพมากมายกองพะเนินเพราะวัดไม่สามารถเผาหรือฝังได้ทัน จึงจำเป็นต้องขุดหลุมขนาดใหญ่แล้วฝังศพลงไปในหลุมเดียวกันคราวละมากๆ ที่น่าสยดสยองก็คือ เมื่อจำนวนศพมีมากเกินไปจนเผาไม่ทัน ทำให้ฝูงแร้งมากมายแห่กันมาจิกกินซากศพเป็นอาหาร สภาพศพจึงไม่ค่อยน่าดูนัก และชวนให้ขนลุกเมื่อนึกถึง
ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ได้เกิดโรคระบาดขึ้นอีกครั้ง วัดสระเกศก็ยังคงประสบปัญหาเผาศพไม่ทันเช่นเดิม ทำให้กลายเป็นแหล่งหากินของฝูงแร้งที่มาจิกกินซากศพ จนมีคำเรียกว่า “แร้งวัดสระเกศ” เกิดขึ้นในช่วงนั้นเอง
ซึ่งปัจจุบันประตูผีได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากมีการสร้างถนนบำรุงเมืองผ่านประตูผี และมีการรื้อถอนกำแพงเมืองพร้อมประตูออกไป จึงเหลือไว้เพียงชื่อที่เราเรียกต่อๆกันมา แม้ว่าภายหลังจะมีเปลี่ยนชื่อจากย่าน “ประตูผี” มาเป็น “สำราญราษฎร์” เพื่อความเป็นสิริมงคลแล้วก็ตาม แต่ชื่อประตูผีก็ยังคงเป็นชื่อเรียกติดปากผู้คนจนถึงวันนี้ โดยกลายเป็นแหล่งค้าขายที่มีชื่อเสียงในเรื่องของกินอร่อยๆ มากมาย และในตอนกลางคืนก็ย่านที่ผู้คนเดินกันอย่างครึกครัก ไม่วังเวงเหมือนอดีต ทำให้เรื่องราวความสยองในอดีตค่อยๆมลายหายไป