คนหาย..หายห่วง
ปัญหาเรื่องคนหาย เป็นปัญหาในระดับสากลที่ทั่วโลกต่างพบเจอ ในอดีตเราใช้วิธีการตามหาคนหายในรูปแบบออฟไลน์ เช่น เมื่อมีคนหาย ก็ไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้ง ลงบันทึกประจำวัน จากนั้นข้อมูลก็ถูกจัดเก็บในรูปแบบกระดาษ ไม่มีการเชื่อมโยงไปหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทำให้โอกาสในการเจอผู้สูญหายเป็นเรื่องยาก และกระบวนการตามหาก็อาจจะจบลงแค่ตรงนั้น หนึ่งในองค์กรที่คนทั่วไปนึกถึงเป็นลำดับต้นๆ หลังจากแจ้งความคนหายแล้ว คงเป็นชื่อ “มูลนิธิกระจกเงา” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ช่วยเป็นสื่อกลางในการช่วยค้นหาและรวบรวมข้อมูลของบุคคลที่สูญหาย ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โลกอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสังคมขนาดใหญ่ ที่มีพลังโซเชียลช่วยกันแชร์ข้อมูลต่อกัน ทำให้โอกาสในการพบเจอผู้สูญหายมีมากขึ้น
ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมมีอาการหลงลืม โรคทางจิตเวช และพัฒนาการทางสมองช้า พลัดหลงหายออกจากบ้านมากกว่า 1,000 รายซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มนี้หาทางกลับบ้านไม่ได้จดจำและให้ข้อมูลส่วนตัวไม่ได้ เดินพลัดหลงในที่สาธารณะ อย่างล่าสุดที่เป็นข่าวที่น่าตกใจว่า มีผู้สูงอายุป่วยเป็นอัลไซเมอร์หายออกจากบ้านที่จังหวัดเชียงรายเป็นเวลา 8 เดือน และคนที่บ้านก็ออกตามหาเรื่อยมาแต่ไม่พบ วันดีคืนดีก็ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ว่า ขณะนี้พบผู้สูญหายแล้วที่มณฑลยูนนาน คุณหมิง ประเทศจีน โดยพบว่าสถานที่ที่พบตัวอยู่ห่างจากชายแดนไทย ผ่านประเทศพม่าและ ลาว ไปทางทิศเหนือหลายร้อยกิโลเมตร นี่เป็นกรณีตัวอย่างของผู้สูญหายที่โชคดีที่สามารถติดตามตัวกลับบ้านได้ แต่ยังคงมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้โชคดีเช่นนี้ >>อ่านข่าว แต่ข่าวดีล่าสุดคือ ทางมูลนิธิกระจกเงา ได้ร่วมมือกับ บริษัททรูคอปอเรชั่น พร้อมภาคีเครือข่าย ผุดไอเดียจัดทำสายรัดข้อมือ (ริสแบนด์) ที่มีคิวอาร์โค้ต และ PIN รหัสประจำตัว ภายใต้โครงการ “หาย (ไม่) ห่วง” ลักษณะของโครงการคือ เปิดโอกาสให้ญาติที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองเสื่อม กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช และกลุ่มผู้ป่วยพัฒนาการทางสมองช้า มาลงทะเบียนเพื่อรับสายรัดข้อมือให้ผู้ป่วยสวมใส่ หากเกิดเหตุพลัดหลง พลเมืองดีและเจ้าหน้าที่ผู้ให้การช่วยเหลือจะได้ทราบว่าผู้ป่วยเป็นใคร โดยข้อมูลของผู้ป่วยจะไม่ถูกเปิดเผย เนื่องจากฐานข้อมูลเป็นระบบปิด จากนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา จะประสานงานญาติโดยตรงเมื่อสายรัดข้อมูลเส้นที่ผู้ป่วยลงทะเบียนถูกสแกนและแจ้งเบาะแสเข้ามา
โดยโครงการดังกล่าวได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยให้ผู้สนใจที่มีญาติเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจผลัดหลงหรือเป็นผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและโรคจิตเวช หรือโรคอื่น ๆ ที่มีอาการใกล้เคียง สามารถลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://thaimissing.backtohome.org/register หรือลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น Thai Missing
ส่วนจิตอาสา เมื่อพบเห็นกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สูงอายุที่คาดว่าจะหลงทางและจำข้อมูลส่วนตัวไม่ได้ ให้สังเกตข้อมือหากมีสายรัดข้อมือสีเหลือง มีรูปหัวใจ และมีแถบคิวอาร์โค้ด ให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Thai Missing และสแกนคิวอาร์โค้ดบนสายรัดข้อมือ หรือนำมือถือไปใกล้ ข้อมูลในการแจ้งเบาะแสจะถูกส่งผ่านเทคโนโลยีไร้สายในระยะใกล้หรือ NFC (Near Field Communication)และเชื่อมต่อถึงมูลนิธิ ฯ ทันทีโดยที่จิตอาสาไม่รู้ว่าเป็นผู้ป่วยเป็นใคร เพื่อให้มูลนิธิฯ ติดต่อญาติให้มารับผู้พลัดกลงกลับคืนสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย
นับว่าเป็นการต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาสังคมได้เป็นอย่างดี เหนือสิ่งอื่นใดแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ก็ยังต้องได้รับความร่วมมือจากผู้คนในสังคม คอยเป็นหูเป็นตา หมั่นสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เพื่อที่เราจะได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้อย่างทันท่วงที
|