อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา (โคราช)
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย : หรือที่หลายๆ ท่านเรียกกันสั้นๆ ว่า “ปราสาทหินพิมาย” ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะเคยแวะเวียนไปบ้างแล้ว แต่หากท่านใดยังไม่เคยไปก็ไม่เป็นไร ไว้หาโอกาสไปเยือนสักครั้ง วันนี้ทางผู้เขียนขอนำเอาเรื่องราวของสถานที่สำคัญแห่งนี้มาเล่าสู่กันฟัง ทางผู้เขียนเองก็ไม่ได้ไปเยือนเมืองโคราช นานแล้วคิดแล้วก็อยากไปอีก ภาพนี้ถ่ายไว้ตั้งแต่ เดือนสิงหาคม ปี 2014 หรือ พ.ศ. 2557
“ปราสาทหินพิมาย” เป็นพุทธสถานในนิกายมหายานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จากการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ เชื่อว่าปราสาทหินพิมายสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าศรีชัยวีรวรมัน กษัตริย์แห่งอาณาจักรขอม ราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 หลังจากนั้นในช่วงศตวรรษที่ 18 กษัตริย์ขอมอีกหลายพระองค์ได้มีการบูรณะ ปฏิสังขรณ์และก่อสร้างปราสาทหินพิมายเพิ่มเติม โดยลักษณะผังของปราสาทหินพิมายนั้นสร้างขึ้นคล้ายเขาพระสุเมรุตามคติความเชื่อเกี่ยวกับสวรรค์และโลกมนุษย์ โดยมีปราสาทหินพิมายเสมือนประหนึ่งเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกกับสวรรค์
ปราสาทหินพิมายเป็นปราสาทขอมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ โดยกษัตริย์ขอมพระนามว่า “พระเจ้าชัยวีรวรมัน” เมื่อท่านสิ้นอำนาจลงปราสาทหินแห่งนี้ก็ได้ถูกทิ้งร้างในระยะหนึ่ง ต่อมาในสมัยของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗” ขึ้นครองราชย์ท่านก็ได้ทรงกลับมาบูรณะปราสาทแห่งนี้ขึ้นใหม่อีกครั้ง เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ดังนั้นสถานที่แห่งนี้จึงมีลักษณะที่คล้ายกับวัด แต่ไม่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ เป็นเพียงสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธนิกายมหายาน
พลับพลาเปลื้องเครื่อง
เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยด้านในแบ่งออกเป็น ๒ ห้อง สร้างด้วยหินทรายขาวและหินทรายแดง เรียกว่า พลับพลา พลับพลาหลังนี้ใช้เป็นที่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายของพระมหากษัตริย์และขุนนางชั้นสูง จึงเรียกว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง ด้านในแบ่งออกเป็น ๒ ห้อง สันนิษฐานว่าจะเป็นห้องที่แยกหญิงแยกชายในการเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย หรืออาจจะเป็นการแยกยศถาบรรดาศักดิ์ โดยแต่เดิมอาจจะมีการมุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผาและมีคานไม้ค้ำยันอยู่ แต่เนื่องจากกาลเวลาผ่านไปจึงทำให้หลังคาพังทลายลงมา กรมศิลปากรจึงไม่ได้บูรณะเพราะหลังคาเป็นส่วนที่บูรณะได้ยากยิ่ง หลังคาจะเป็นทรงประทุนเรือคว่ำ แต่เดิมอาคารหลังนี้เรียกว่า คลังเงิน เพราะในสมัยที่มาบูรณะ ได้พบวัตถุมงคลที่มีค่าจำพวกเครื่องเงินเครื่องทองตกลงอยู่ในบริเวณอาคารหลังนี้ จึงได้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นคลังเก็บสมบัติ แต่มาภายหลังก็ได้เปลี่ยนสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น พลับพลาเปลื้องเครื่องมากกว่า เนื่องจากถ้าเป็นคลังเก็บสมบัติไม่ควรที่จะสร้างไว้ด้านหน้าของปราสาทเพราะจะเสี่ยงต่อการถูกขโมย
สะพานนาคราช
สะพานนาคราช ด้านหน้าของสะพานนาคราช จะมีสิงห์ ๒ ตัว สิงห์ ๒ ตัวนี้ เป็นสิงห์เพศผู้โดยจะดูได้จากแผงขนที่เกาะอยู่บริเวณหน้าอก และอวัยวะเพศที่อยู่ใต้ท้อง ซึ่งสิงห์ ๒ ตัวนี้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนองครักษ์ที่คอยปกปักรักษา ไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้าไปด้านใน
ด้านบน จะพบบันไดปีกกาทำขั้นเพื่อยกระดับให้ก้าวข้ามธรณีประตูได้สะดวกขึ้น โดยธรณีประตูนี้ คนสมัยก่อนจะเชื่อว่า มีพระแม่ธรณสถิตอยู่ ดังนั้นเราจึงควรเคารพโดยการข้ามไป และส่วนนี้ จะเรียกว่าสะพานนาคราช สาเหตุที่เรียกว่าสะพานนาคราชก็เนื่องจากราวสะพานมีการแกะสลักเป็นรูปลำตัวพญานาคอยู่โดยรอบทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งพญานาคนี้จะแผ่ผังพานออกเป็น ๗ เศียร โดยพญานาคจะเป็นเพศเมียโดยสังเกตได้จากเขี้ยวที่เล็กและไม่มีเครา
โคปุระ
โคปุระเป็นภาษาเขมรโบราณ แปลว่า ซุ้มประตูโดยที่ด้านหน้าของโคปุระจะมีทับหลังอยู่ชิ้นหนึ่ง ทับหลังชิ้นนี้แกะสลักเป็นรูปนางอัปสรร่ายรำ ๘ นาง เปรียบเสมือนการร่ายรำเพื่อต้อนรับ ผู้ที่มาเยือนสถานที่นี้
เมื่อเข้ามาด้านในของโคปุระจะพบว่าพื้นที่ของโคปุระจะมีหลุมอยู่โดยหลุมเหล่านี้จะอยู่ในแนวเดียวกัน สันนิษฐานว่า หลุมเหล่านี้ใช้บรรจุตอไม้ มีความสูงประมาณ ๑ ฟุต หรือ ๓๐ เซนติเมตร เมื่อวางตอไม้ลงไปครบทุกหลุมแล้ว ก็จะนำแผ่นไม้กระดานขนาดใหญ่มาวาง เพื่อเป็นที่ลาดพระบาทของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พระมหากษัตริย์เสด็จผ่านได้อย่างสะดวก ซึ่งเปรียบเสมือนการปูพรมแดงในปัจจุบันนั้นเอง
ชาลาทางเดิน
ชาลาเป็นภาษาขอมโบราณ หมายถึง ทางเดินหรือทางไป ทำขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างโคปุระกับระเบียงคต โดยชาลาจะเป็นทางเดินของพระมหากษัตริย์และ
เชื้อพระวงศ์เท่านั้น จะสังเกตเห็นว่า ที่ชาลาจะมีหลุมขนาดใหญ่อยู่ ๔ หลุม
หลุมเหล่านี้ในสมัยก่อนสันนิษฐานว่า น่าจะใช้ระบายน้ำจากหลังคา โดยสมัยก่อนบริเวณนี้จะมีการมุงหลังคาซึ่งปลายหลังคาก็จะไปเกยกับปากหลุมพอดี เมื่อฝนตกลงมาน้ำก็จะไหลลงสู่หลุมซึ่งก้นหลุมเป็นทราย ทรายมีคุณสมบัติไม่อุ้มน้ำ ส่วนสาเหตุที่ไม่สันนิษฐานว่าเป็นหลุมกักเก็บน้ำก็เพราะว่าเราจะสังเกตเห็นบริเวณผนังของหลุมจะมีการแกะสลักลวดลายซึ่งถ้ามีน้ำบรรจุอยู่จริงน้ำก็จะกัดเซาะลวดลายจางหายไป เนื่องจากหินทรายสีแดงไม่คงทนต่อน้ำ แต่ในปัจจุบันเรายังเห็นลวดลายแกะสลักอย่างชัดเจน จึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นหลุมระบายน้ำ ไม่ใช่หลุมกักเก็บน้ำ
ระเบียงคต
ระเบียงคต คือ กำแพงที่ล้อมรอบองค์ปรางค์ทั้งสามปรางค์ไว้ โดยลักษณะของกำแพงจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านในมีทางเดินเอาไว้สำหรับให้พระมหากษัตริย์เดิน ทักษิณาวัตร หรือการเดินหันแขนขวาให้กับสิ่งที่เคารพทั้งหมดสามรอบ เพื่อสงบจิตใจก่อนเข้าไปด้านใน
ด้านหน้าจะมีทับหลัง เป็นทับหลังรูปพระกฤษณะยกช้างสาร ๒ เชือก อยู่เหนือตัวหน้ากาล เพื่อแสดงถึงพละกำลังของตน ตัวหน้ากาลเกิดจากดวงตาที่สามได้เบิกขึ้นและหน้ากาลจะออกมาจากดวงตาที่สามของพระศิวะ ซึ่งมันอยู่ในดวงตาที่สามของพระศิวะ เป็นร้อยเป็นพันปี เมื่อมันออกมามันจึงหิวจัด ได้กลืนกินทุกอย่างแม้กระทั้งกาลเวลาและตัวของมันเองจึงทำให้เหลือเพียงส่วนหัวและส่วนแขนที่ใช้หยิบกินเท่านั้น โดยของโปรดของหน้ากาล คือ ความชั่วร้าย คนโบราณจึงเชื่อว่า เมื่อเราเดินผ่านทับหลังชิ้นนี้ไปมันจะดูดกลืนกินความชั่วร้ายที่ติดตัวเรามา จึงทำให้เราเป็นผู้บริสุทธิ์ ก่อนที่จะเข้าด้านใน
หลุมบรรจุวัตถุมงคล
หลุมบรรจุวัตถุมงคล ซึ่งการวางหลุมบรรจุวัตถุมงคลนั้น ก็เปรียบเสมือนกับเป็นการวางศิลาฤกษ์ ในการสร้างปราสาท โดยจะบรรจุของมีค่าไว้ด้านใน แบ่งออกเป็น ๓ จำพวก พวกแรกจะมี ๙ หลุม ๙ หลุมนี้จะบรรจุแร่รัตนชาติจำพวกพลอยแดงพลอยขาว ส่วน ๕ หลุมโดยรอบ จะเป็นหลุมบรรจุแผ่นทองคำ ซึ่งแกะสลักเป็นรูปดอกบัวแปดกลีบ
หมายถึง มงคลสี่ประการ แปดพยางค์ คือ
ชัยยะ คือ ขอให้มีชัย
ฤทธิ คือ ขอให้มีฤทธิ์
สวัสดิ คือ ขอให้มีความสุข
ลาภ คือ ขอให้มีลาภ
และหลุมทางด้านสามเหลี่ยมเป็นหลุมที่บรรจุพระพิมพ์ดินเผารูปพระพุทธรูป
ปางนาคปรก ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปที่อยู่ด้านในปรางค์ประธานแต่มีขนาดเล็กกว่า
หลุมบรรจุวัตถุมงคล นี้ ได้พบก่อนวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๒ เมื่อครั้งที่
สมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธาน เปิดปราสาทหินพิมายให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย โดยทหารได้นำเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด มาตรวจพื้นที่โดยรอบปราสาทโดยเมื่อผ่านบริเวณนี้แผ่นทองคำ ได้ทำปฏิกิริยากับเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดเหล่าทหารจึงได้งัดแผ่นหินบริเวณนี้ออกมา จึงพบกับหลุมบรรจุวัตถุมงคลเหล่านี้และได้นำของมงคลเหล่านี้ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย
ศิลาจารึก
จารึกภาษาขอมโบราณ แปลเป็นภาษาไทยโดย อาจารย์ฉ่ำ ทองคำวัน ซึ่งเป็นนักภาษาโบราณคดีของกรมศิลปากร โดยจารึกนี้จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสมัยก่อนโดยจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำพิธีกรรม “สังควัชรปุณมี” ซึ่งจะทำขึ้น
ในวันพุธ แรมหกค่ำ เดือนอ้ายของทุกๆปี และได้บอกถึงชื่อเดิมของปราสาทหินพิมาย คือ “ศรีวิเรนทราศรม” หมายถึง อาศรมของผู้ยิ่งใหญ่ และชื่อเดิมของเมืองพิมาย
คือ “วิมายะปุระ” ซึ่งหมายถึงเมืองที่ปราศจากมายา นั้นเอง
ลานชั้นใน
ลานชั้นในจะประกอบด้วยปรางค์ที่สำคัญอยู่ ๓ ปรางค์ คือ
ปรางค์หินแดง
ปรางค์ประธาน
และปรางค์พรหมทัต
ปรางค์หินแดง
เหตุที่เรียกว่าปรางค์หินแดงก็เพราะว่า หินที่ใช้สร้างปรางค์นี้ก็คือหินทรายแดง ปรางค์หินแดงจะมีลักษณะที่ไม่สวยสดงดงามนัก เนื่องจากว่านำหินที่เหลือจากการสร้างส่วนอื่นๆนำมาสร้าง หรืออาจจะนำหินจากปราสาทร้างละแวกใกล้เคียงมาสร้าง และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือได้มีการสร้างด้วยความรวดเร็ว เนื่องจากสมัยนั้นได้มีการเปลี่ยนศาสนาจากการนับถือศาสนาพราหมณ์มานับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นจึงต้องย้ายศิวลึงค์ ที่อยู่ในองค์ปรางค์ประธานมาไว้ด้านนอก จึงได้สร้างปราสาทหินแดงขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับเก็บศิวลึงค์ ซึ่งสร้างด้วยความเร่งรีบจึงทำให้ไม่สวยสดงดงามเหมือนปรางค์องค์อื่น โดยด้านในจะประดิษฐาน ฐานโยนีและศิวลึงค์คู่กัน แต่ปัจจุบันได้นำศิวลึงค์ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย
หอพราหมณ์
อาคารที่อยู่ข้างปรางค์หินแดงนี้เรียกว่า หอพราหมณ์ หอพราหมณ์ คือ อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นที่สำหรับเตรียมอุปกรณ์และเป็นที่พักผ่อนก่อนและหลังการประกอบพิธีกรรม โดยสมัยที่มาบูรณะได้พบศิวลึงค์ขนาดย่อมทั้งหมด ๗ ชิ้น อยู่ภายในหอพราหมณ์ ปัจจุบันได้นำศิวลึงค์ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย
ปรางค์พรหมทัต
ปรางค์พรหมทัต เหตุที่เรียกว่า ปรางค์พรหมทัต เพราะว่าตั้งชื่อตามรูปเคารพที่อยู่ด้านในปรางค์นี้โดยภายในจะมีรูปเคารพของ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หรือที่ชาวพิมายเรียกท่านว่า พระเจ้าพรหมทัต จะเป็นการแกะสลักแบบบายนเป็นลักษณะที่มีมงคล ๔คือ
๑. พระเนตรหลับไม่สนิท เปรียบเสมือนท่านเป็นสมมติเทพ ซึ่งอยู่บนสรวงสวรรค์และมองลงมายังโลกมนุษย์เพื่อดูแลความทุกข์สุขของประชาชน
๒. พระนาสิกโต เปรียบเสมือนว่าท่านเป็นผู้มีอำนาจวาสนาดั่งราชสีห์ และมีความร่ำรวยมั่งคั่ง
๓. พระโอษฐ์แย้ม เปรียบเสมือนกับท่านมีความสุขเมื่อเห็นประชาชนของท่านนั้นมีความสุข
๔. พระกรรณยาว เปรียบเสมือนท่านมีอายุยืนยาว
๕. พระวรกายอุดมสมบูรณ์ เปรียบเสมือนบ้านเมืองที่ท่านปกครองนั้นมีความอุดมสมบูรณ์
องค์นี้เป็นองค์จำลอง องค์จริงจะสร้างด้วยหินทรายสีเขียวซึ่งหินทรายสีเขียวจะสร้างเฉพาะสิ่งที่สำคัญที่สุดเพราะหินทรายสีเขียวจะหาได้ยาก รูปเคารพของ
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ยังคงมีเศียรอยู่มี ๒ องค์ในโลกคือที่พิพิธภัณฑ์สถาน
แห่งชาติพิมาย และที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
โดยจะสังเกตได้ว่า พระกรของท่านจะหักหายไป ทั้งสองข้างโดยมีข้อสันนิษฐานว่า
๑.หินที่อยู่ด้านบนอาจจะหล่นลงมาโดน ที่รูปเคารพทำให้แขนหักหายไป
๒.เหล่าพราหมณ์ได้โกรธเคืองท่านที่ท่านได้เปลี่ยนการนับถือศาสนาจากศาสนาพราหมณ์มาเป็นศาสนาพุทธจึงทำให้เหล่าพราหมณ์ได้ตัดแขนของท่านเพราะแต่เดิมพบว่าท่านนั้นได้นั่งอยู่ในท่าพนมมือ ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา และเหตุที่ไม่ตัดเศียรนั้นก็เพราะว่าที่นั้นได้มวยผมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพราหมณ์
ปรางค์ประธาน
ปรางค์ประธานของปราสาทหินพิมายเป็นปรางค์ประธานที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในประเทศไทย คือมีความสูงจากฐานสู่ยอด ๒๘ เมตร สร้างด้วยหินทรายขาวโดยหินทรายขาวนั้นจะเป็นหินทรายที่หาได้ค่อนข้างยากและจะใช้สร้างเฉพาะสถานที่ ที่สำคัญเท่านั้น สาเหตุที่พิมายมีความสำคัญต่อขอมนั้นก็เนื่องจากอำเภอพิมายเปรียบเสมือนเมืองหนึ่งของขอมซึ่งขอมจะส่งเสนาบดีมาปกครอง โดยเมืองพิมายนั้นจะเปรียบเสมือนกับเมืองอู่ข้าวอู่น้ำของขอมเพราะเมืองพิมายจะมีความอุดมสมบูรณ์ สาเหตุเนื่องจากเมืองพิมายจะมีสายน้ำล้อมรอบซึ่งจะทำให้เมืองพิมายมีความอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะแก่การปลูกข้าว จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองพิมายมีความสำคัญต่อขอม
ทิศใต้
จะมีหน้าบันเป็นรูปศิวนาฏราช ร่ายรำด้วยท่วงท่าทั้งหมด ๑๐๘ ท่าโดยมีความเชื่อว่าถ้าพระศิวะร่ายรำในท่วงท่าที่สวยสดงดงามจะเป็นการทำนายว่าบ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุขแต่ถ้าร่ายรำในท่าที่ไม่สวยสดงดงามหรือด้วยอารมณ์โกรธฉุนเฉียวจะทำให้บ้านเมืองเกิดความไม่สงบสุขหรือเกิดกลียุค
โดยทางด้านหน้าปรางค์ประธานจะมีบันได โดยบันไดนี้จะทำขึ้นมาใหม่ เนื่องจากว่าแต่เดิมด้านหน้าปรางค์ประธานไม่มีบันไดทางขึ้นเนื่องจากว่าปรางค์ประธานนี้จะหันหน้าไปทางทิศใต้ โดยคนเขมรเชื่อว่าทิศใต้เป็นทิศของพระยมทรงกระบือซึ่งเป็นทิศแห่งความตายคนโบราณจึงไม่ทำบันไดขึ้นทางทิศนี้และสาเหตุที่ปรางค์ประธานหันหน้าไปทางทิศนี้เพราะหันหน้าไปรับกับคันถนนโบราณที่ตัดมาจากพระนครหลวงโดยกรมศิลปากรได้พบคันถนนโบราณนี้ในสมัยที่มาบูรณะจึงได้ข้อสันนิษฐานว่าที่ปรางค์ประธานหันหน้าไปทางทิศใต้เนื่องจากหันหน้าไปรับกับคันถนนโบราณที่ตัดตรงมาจากพระนคร หรืออาจจะเป็นการหันไปรับกับเมืองหลวงนั้นเอง
ทิศตะวันตก
-ทับหลังที่อยู่ด้านนี้เป็นทับหลังเรื่องรามายณะตอน พระลักษณ์ พระรามต้อง
ศรนาคบาศโดยจะสังเกตเห็นที่มุมซ้ายด้านบนของทับหลังว่าจะมีบุคคลทำท่าง้างธนูอยู่นั้น คือ อินทรชิต ซึ่งอินทรชิตได้แผลงศรนาคบาศใส่พระลักษณ์ พระราม โดยศรนั้นกลายเป็นพระยานาคราชไปรัดพระลักษณ์ พระรามนอนสงบแน่นิ่งอยู่ตรงกลางทับหลัง โดยหน้าบันด้านบนจะเป็นตอนที่เชื่อมต่อกันกับทับหลังนั่นคือเป็นตอนที่หนุมานขันอาสาไปตามพระยาสุบรรณซึ่งเป็นพระยาครุฑให้มาแบศรนาคบาศออกจากพระลักษณ์พระรามซึ่งเมื่อพระยาสุบรรณแบศรนาคบาศออกไปแล้วก็ทำให้ทั้งสองพระองค์ฟื้นคืนสติมาดังเดิม และหน้าบันด้านบนสุดเป็นรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ เนื่องจากในตอนนั้นพระอินทร์ทรงพิโรธพระกฤษณะ เนื่องจากพระกฤษณะทำให้ประชาชนที่นับถือพระอินทร์หันมานับถือเขาโควรรธนะเมื่อพระอินทร์ทราบเรื่องทรงพิโรธหนักจึงเสกให้มีฝนกรดตกลงมา ๗ วัน ๗ คืน ซึ่งพระกฤษณะก็ได้ยกเขาโควรรธนะเพื่อมาปกป้องกันฝนกรดให้แก่ตนเองและเหล่าประชาชนจนปลอดภัย
-ทับหลังเรื่องนี้เป็นเรื่องรามายณะตอนพระรามจองถนน เนื่องจากว่า
กรุงอโยธยากับกรุงลงกาของทศกัณฑ์มีมหาสมุทรกั้นอยู่ตรงกลาง ดังนั้นทำให้ไม่สามารถที่จะยกทัพไปรบกับทศกัณฑ์ได้ พระรามจึงให้หนุมานและเหล่าลิงนำหินไปถมมหาสมุทรเพื่อทำทางไปยังกรุงลงกา โดยเมื่อทศกัณฑ์ทราบเรื่องจึงสั่งให้ลูกสาวของตน คือนางสุวรรณมัจฉาให้ไปขัดขวางการทำทางของพระรามโดยนางสุวรรณมัจฉาได้ไปชวนพวกเหล่าปลา ให้มาช่วยขัดขวางการทำถนนของพระราม โดยได้นำเอาหินไปไว้บนบกเหมือนเดิม หนุมานเกิดความสงสัยว่าทำไมถมหินเท่าไรก็ไม่เต็มสักที จึงได้อาสาลงไปดูใต้น้ำและได้เจอกับนางสุวรรณมัจฉา และหนุมานก็ได้ไปเกี้ยวพาราสีนางสุวรรณมัจฉาจนทำให้เกิดมัจฉานุขึ้นมา โดยฝ่ายนางสุวรรณมัจฉาจึงได้มาเข้าข้างฝ่ายหนุมานและช่วยหนุมานทำทางไปยังกรุงลงกาจนสำเร็จ
ส่วนหน้าบันด้านบน เป็นตอนที่พระลักษณ์ พระราม สู้รบกับทศกัณฑ์ เพื่อแย้งชิงนางสีดา และเมื่อมองขึ้นไปทางด้านบน ก็จะพบกับรูปสลักพญาครุฑ ซึ่งเรียกว่า ครุฑแบก โดยครุฑแบกนี้ได้แบกกลีบขนุนรูปเทพประจำทิศเอาไว้ ซึ่งด้านนี้จะเป็นรูปพระวิรุณทรงหงส์ ซึ่งเป็นเทพแห่งฟ้าฝน และความอุดมสมบูรณ์
ทิศเหนือ
ทับหลังด้านนี้ เป็นรูปพระนารายณ์สี่กร ที่ทราบว่าเป็นพระนารายณ์ เนื่องจากว่าดูที่อาวุธของท่าน ซึ่งท่านจะถือ คฑา จักร สังข์ และ ดอกบัว
ส่วนหน้าบันด้านบน จะเป็นตอนที่ พระรามเคลื่อนทัพไปยังกรุงลงกา ทางด้านนี้จะไม่มีกลีบขนุนรูปเทพประจำทิศ เนื่องจากว่า ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ สาเหตุเพราะ กลีบขนุนได้ตกลงมาหักเลยนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ซึ่งเทพประจำทิศนี้คือ ท้าวกุเวณทรงคชสีห์ ซึ่งคชสีห์คือช้างกับราชสีห์ผสมกันซึ่งเป็นเทพแห่งความร่ำรวย
เสาสองต้นคือ เสาประทีปโคมไฟ โดยในวันที่มีการทำพิธีกรรม จะมีการจุดคบเพลิง และนำไปเสียบไว้ด้านบนเสา โดยเชื้อเพลิงที่ใช้คือ ไขมันสัตว์ใหญ่ เช่นวัว ควาย โดยการจุดคบเพลิงนี้ เปรียบเสมือนเป็นการบอกเบื้องบนให้รู้ว่ามีการประกอบพิธีกรรม เพื่ออัญเชิญให้เทพต่างๆ ลงมาเป็นสักขีพยานในพิธีกรรมด้วย
ทิศตะวันออก
ที่ฐานของปรางค์ประธานด้านนี้ จะมีรางน้ำยื่นออกมาซึ่งจะเรียกว่า รางน้ำมนต์หรือท่อโสมสูตร ซึ่งเป็นรางน้ำมนต์ที่ต่อออกมาจากรางด้านบน ซึ่งเมื่อทำพิธีกรรมน้ำมนต์จากด้านบนจะไหลลงมาตามรางน้ำลงมาทางด้านล่างซึ่งจะมีบุคคลมารองรับน้ำเพื่อนำไปแจกจ่ายกัน โดยที่ปลายของรางน้ำนี้จะทำเป็นรูปหัวสัตว์คือหัวของตัวมกร ซึ่งจะอ้าปากและน้ำก็จะไหลออกมาจากปากของตัวมกร โดยเปรียบเสมือนได้รองรับน้ำจากสัตว์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ทับหลังของด้านนี้เป็นตอนที่พระรามเหยียบยักษ์วิราศให้จมธรณีไป โดยแต่เดิมยักษ์วิราศเป็นยักษ์ที่เฝ้าสวนดอกไม้ที่อยู่บนสรวงสวรรค์ ซึ่งยักษ์วิราศได้ไปเกี้ยวพาราสีนางอัปสรจึงทำให้พระอินทร์ทรงพิโรธจึงสาปให้ยักษ์วิราศไปเฝ้าเมืองดอกไม้บนโลกมนุษย์ ในครั้งนั้นยักษ์วิราศได้เห็นนางสีดามาเที่ยวชมสวนดอกไม้จึงเกี้ยวพาราสีนางสีดา พระรามเห็นจึงพิโรธจึงเหยียบยักษ์วิราศให้ให้จมธรณีไป โดยที่การกระทำของพระรามนี้ทำให้ยักษ์วิราศพ้นคำสาปของพระอินทร์ ก็เนื่องจากพระอินทร์ได้ตั้งการแก้สำสาปไว้ว่าต้องให้พระรามเหยียบยักษ์วิราศจมดินจึงจะเป็นการแก้คำสาป หน้าบันด้านบนเป็นตอนที่ทศกัณฑ์ล้ม ซึ่งพระรามได้แผลงศรไปตัดเศียรของทศกัณฑ์ขาด ร่างของทศกัณฑ์จึงลอยไปบนสรวงสวรรค์เพื่อไปหาท้าวมาลีวราชซึ่งเป็นปู่ของทศกัณฑ์ที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่อให้ท้าวมาลีวราชว่าความให้ว่า นางสีดาควรจะเป็นของผู้ใด ถึงแม้ว่าท้าวมาลีวราชจะเป็นปู่ของทศกัณฑ์แต่ท้าวมาลีวราชเป็นยักษ์ที่ซื่อสัตย์ ซื่อตรง จึงได้ว่าความให้นางสีดาควรจะเป็นของพระราม ทศกัณฑ์จึงได้โวยต่อหน้าท้าวมาลีวราชว่าเหตุใดจึงไปเข้าข้างศัตรูทำไมไม่เข้าข้างหลาน ท้าวมาลีวราชได้ยินดังนั้นก็พิโรธหนัก จึงสาปให้ทศกัณฑ์เมื่อรบกับพระรามครั้งใดก็ขอให้แพ้ทุกครั้งไป ส่วนกลีบขนุนประจำทิศทางด้านนี้เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณซึ่งเป็นเทพแห่งทางด้านทิศตะวันออก โดยช้างเอราวัณนั้นมีเศียรทั้งหมด ๓๓ แต่ละเศียรมีงา แต่ละงามีสระน้ำอยู่ภายใน แต่ละสระมีกอบัว แต่ละกอบัวมีดอกบัว และแต่ละดอกบัวมีกลีบอยู่ และแต่ละกลีบมีนางอัปสรอยู่ภายใน และทับหลังด้านนี้จะเป็นตอนจบของ
เรื่องรามายณะคือตอนที่พระลักษณ์ พระราม นางสีดาและไพลพลลิงเดินทางกลับนั้นเอง
ส่วนหน้าบันด้านบน เป็นตอนรวมเทพประจำทิศซึ่งจะมีพระศิวะและ
พระแม่อุมาทรงโคนนทิ พระพรหมทรงหงส์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระนารายณ์ทรงครุฑ โดยที่ท่านมารวมกันเพื่ออวยพรให้แก่พระลักษณ์ พระราม นางสีดา และไพล่พลลิงพายเรือกลับกรุงอโยธยาโดยสวัสดิภาพนั่นเอง
ห้องมณฑป
ห้องมณฑปหรือห้องสิงแบก โดยองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมมีส่วนคือ มณฑปส่วนหน้าและเรือนธาตุโดยด้านบนจะมีฝ้าไม้เพดาน ซึ่งฝ้าไม้เพดานจะทำขึ้นมาใหม่ เนื่องจากพบหลักฐานเดิมว่าเป็นลักษณะนี้ โดยของเดิมมีอยู่แต่พังไปแล้วจึงได้ทำของใหม่ขึ้นมาแทนและทาสีอย่างเด่นชัด เพื่อให้รู้ว่าเป็นของใหม่ ส่วนทับหลังด้านบนจะเป็นรูปตอนที่พระพุทธเจ้านั่งประทับอยู่ตรงกลาง ซึ่งท่านกำลังจะตรัสรู้ได้โดยสำเร็จแต่ว่าได้มีเหล่าหมู่มารมาผจญท่าน จึงทำให้ท่านตรัสรู้ได้ไม่สำเร็จ ท่านจึงใช้นิ้วแตะไปที่พื้นเพื่อเรียกพระแม่ธรณีขึ้นมา ซึ่งพระแม่ธรณีจะอยู่ด้านซ้ายมือของพระพุทธเจ้าองค์ที่นั่งชันเข่าอยู่ ซึ่งท่านได้บีบมวยผมกลั่นความดีของพระพุทธเจ้าออกมาเป็นหยดน้ำและรวมกันเป็นสายน้ำและพัดพาเหล่ามารสูญไป ทับหลังชิ้นนี้จึงได้ชื่อว่า
ทับหลังปางมารวิชัย ซึ่งหมายถึงการชนะมารนั่นเอง
ถัดจากห้องมณฑป คือ ชนวนทางเดินเชื่อมระหว่างมณฑปกับเรือนธาตุและทับหลังด้านนี้สลักภาพอุบาสก อุบาสิกา นำสิ่งของมาถวายพระพุทธเจ้า
ห้องครรภคฤหะ
ห้องนี้เป็นห้องที่สำคัญที่สุดในปราสาทหินพิมาย เรียกว่าห้อง ครรภคฤหะ โดยเป็นห้องที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรกซึ่งองค์นี้เป็นองค์จำลองของจริงเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย ส่วนพิธีกรรมที่ทำในห้องนี้คือ
พิธีกรรมสังวัชรปุณมี ซึ่งเป็นพระทรงน้ำ ในวันพุธ แรม ค่ำ เดือนอ้ายของของทุกปีจึงเรียกว่าพิธีครบรอบปีด้วย โดยพระมหากษัตริย์จะนำน้ำที่เชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์มารดที่ฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธรูปโดยน้ำจะไหลสู่ฐานประติมากรรมและมีการต่อรางน้ำจากฐานประติมากรรมทางด้านนอกทิศตะวันออกเฉียงเหนือมาที่ท่อโสมสูตร หรือท่อน้ำมนต์ หรือท่อน้ำมนต์ที่ต่อออกไปยังด้านล่างแล้วนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนรอบนอกปราสาท
ทับหลังด้านทิศตะวันออก
เป็นทับหลังที่สวยที่สุด สำคัญที่สุด และสมบูรณ์ที่สุดของปราสาทหินพิมาย ตรงกลางเป็นพระโพธิสัตว์ไตรโลกยะวิชัย ซึ่งมีสี่พระพักตร์ แปดพระกร ซึ่งท่านได้ห่มหนังช้างซึ่งนำมาห่อหุ้มพระวรกายเพื่อกำบังกิเลสไม่ให้มาสู่ตัวท่านได้
ซึ่งพระโพธิสัตว์ไตรโลกยะวิชัยประทับยืนอยู่เหนืออวิชา ใต้พระบาทของท่าน จะมีเศียร ๒ เศียร อยู่ด้านล่างนั้นคือเศียรของพระศิวะและพระแม่อุมาซึ่งพระศิวะและ
พระแม่อุมาเป็นตัวแทนศาสนาพราหมณ์ซึ่งหมายถึงศาสนาพุทธได้เจริญรุ่งเรืองกว่าศาสนาพราหมณ์นั่นเองโดยจะมีนางรำที่ร่ายรำ ทั้งหมด ๘ นาง สองพระองค์นั่นเองที่ถือกระดิ่งอยู่ด้านข้างพระโพธิสัตว์ไตรโลกยะวิชัยคือพระวัชรสัตว์โดยมือหนึ่งจะถือกระดิ่งและอีกมือหนึ่งจะถือสายฟ้า
กระดิ่ง หมายถึง ความกังวานรอบรู้ และ สายฟ้า หมายถึง ความเฉียบแหลมซึ่งท่าน และ นางรำจะเป็นตัวแทนของความฉลาดรอบรู้นั่นเอง
ทับหลังด้านทิศเหนือ ทับหลังด้านนี้ตรงกลางจะเป็นรูปพระวัชรสัตว์ สามพระพักตร์ หกพระกร และมีภาพสลักนางยักษ์หาริติกับลูกของนาง
ทับหลังด้านทิศตะวันตก ทับหลังด้านนี้เป็นรูปพระพุทธเจ้ายืนใต้ต้นศรีมหาโพธิ์คู่ ซึ่งท่านกำลังยืนเทศนาธรรมอยู่ ได้มีมารตนหนึ่งชื่อว่ามารชมพู ผ่านมาได้ยินการเทศนาธรรมของพระพุทธเจ้าจึงได้รู้ซาบซึ้งในรสพระธรรมจึงได้ขอพระพุทธเจ้าบวช จากทับหลังชิ้นนี้จึงได้ทราบว่าในสมัยนั้นนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน โดยภาพสลักการร่ายรำและการประโคมดนตรีเป็นส่วนประกอบทำให้เข้าใจในคำสั่งสอน
บรรณาลัย ด้านนอกปราสาทจะมีอาคารสองหลัง อาคารสองหลังนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ใด แต่จากหลักฐานที่พบในสมัยก่อนนั้นเชื่อกันว่าเป็นที่เก็บพระคัมภีร์และพระไตรปิฎกไว้ภายใน โดยมีชื่อเรียกว่า บรรณาลัย เปรียบเสมือนห้องสมุดในปัจจุบันนั้นเอง ภายในจะพบรางน้ำขนาดใหญ่อยู่ สองรางซึ่งจะเป็นรางที่เอาไว้สำหรับการตั้งตู้พระคัมภีร์ สาเหตุที่ตั้งตู้พระคัมภีร์ในรางน้ำก็เพราะว่าพระคัมภีร์นั้นจะทำจากใบลานดังนั้นจึงต้องใส่น้ำไว้ด้านล่างตู้ เพื่อป้องกันไม่ให้มด มอด ขึ้นมากินพระคัมภีร์นั่นเอง และเป็นการเก็บพระคัมภีร์อีกทางหนึ่งด้วยคือเมื่อน้ำละเหยกลายเป็นไอและไปเกาะติดอยู่ที่ตู้พระคัมภีร์จะทำให้พระคัมภีร์ไม่แห้งกรอบ ปัจจุบันได้นำตู้พระคัมภีร์และพระคัมภีร์ไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์แล้ว ทางด้านหน้าบรรณาลัยจะสังเกตเห็นว่าไม่มีบันไดทางขึ้นเนื่องจากว่า ในสมัยก่อนนั้นจะมีทางเดินเชื่อมต่อกันระหว่างสองหลังนี้ ซึ่ง ผนัง หลังคา ทางเดิน ที่หายไปนั้นเพราะว่าในสมัยอยุธยาได้มีคนมาอาศัยอยู่ที่นี่และนำหินบริเวณตรงนี้ไปทำทางลงสระน้ำโบราณ
สระน้ำโบราณ ในสมัยที่ชาวขอมสร้างปราสาทไม่ได้ขุดสระน้ำนี้ขึ้นมาด้วย แต่ขุดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกเป็นครั้งที่สองคือ ปี ๒๓๑๐ โดยกรมหมื่นเทพพิพิธได้หนีสงครามและยกกองทัพมาตั้งที่อยู่ที่ปราสาทหินพิมายแห่งนี้ โดยได้ขุดสระน้ำขึ้นภายในบริเวณปราสาทซึ่งอยู่ทางด้านหน้าปราสาทสองสระ และด้านหลังปราสาทอีกสองสระ รวมสี่สระ ซึ่งขุดไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคซึ่งสระน้ำนี้จะไม่แห้งถึงก้นสระ เพราะว่าก้นสระมีน้ำตาซึ่งจะทำให้สระน้ำมีน้ำไหลออกมาตลอดเวลาจึงทำให้สระไม่แห้งน้ำ
การเดินทางสู่ปราสาทหินพิมาย : จากตัวเมืองโคราช เดินทางโดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 พบทางแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 206 ประมาณ 10 กม. จะพบปราสาทหินพิมาย