กระทรวงดิจิตอลตั้งงบกว่า 40 ล้าน จัดซื้อระบบตรวจสอบหน้าคนในโซเชียล
กระทรวงดิจิตอล ตั้งงบกว่า 40 ล้านจัดซื้อระบบ ‘ตรวจสอบใบหน้าบุคคลในโซเชียลมีเดีย’ ที่รวมข้อมูลผู้ใช้ ผู้แชร์ คนคอมเมนต์ Facebook ได้
ไม่เพียงแค่ใบหน้า ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก (ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของเจ้าหน้าที่) อาจจะถูกเก็บไว้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ แต่ข้อมูลของคนที่เข้าไป ‘คอมเมนต์’ และ ‘แชร์โพสต์’ ของกลุ่มเป้าหมายก็เข้าข่ายที่จะถูกเก็บด้วยเช่นกัน
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 เว็บไซต์กระทรวงดิจิตอลได้ลงข่าวในหน้าประกาศจัดซื้อจัดจ้าง ในโครงการที่ชื่อว่า ‘ระบบตรวจสอบเปรียบเทียบใบหน้าบุคคลบนสื่อสังคมออนไลน์’ โดยได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งหมด 39,897,200 บาท โดยในเอกสาร TOR ได้เปิดเผยถึงหลักการ และเหตุผลของการมีระบบเทียบใบหน้าคนในสื่อสังคมออนไลน์ว่า แม้อินเทอร์เน็ตจะช่วยสร้างประโยชน์ต่อการสื่อสารของประชาชนได้เป็นอย่างมาก แต่มันก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือเพื่อช่วยตรวจสอบกลุ่มคนที่ไม่หวังดีด้วยเช่นกัน
“มีบุคคลบางกลุ่มได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน หรือเป็นไปในทางลบ ใช้ในการหลอกลวงและกระทำผิดกฎหมาย อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความสงบในสังคมส่วนรวม และยังเป็นบ่อเกิดแห่งความวุ่นวายต่างๆ ในสังคม” หน่วยงานที่จะใช้เทคโนโลยีนี้คือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ป.ป.ท.)
ใน TOR ได้อธิบายด้วยว่า ระบบนี้จะต้องมีคุณสมบัติคือสามารถตรวจสอบ ติดตาม วิเคราะห์ และรวบรวมใบหน้าบุคคลบนสื่อสังคมออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และยูทูบได้ ทั้งนี้ ข้อมูลพื้นฐานของผู้ใช้เฟซบุ๊กกลุ่มเป้าหมายจะต้องมีรายละเอียด เช่น รูปประจำตัว ชื่อผู้ใช้ หมายเลขโทรศัพท์ และอีเมล นอกจากนั้น ข้อมูลหลายอย่างเกี่ยวกับ ‘ผู้ส่งต่อโพสต์’ และ ‘ผู้ที่แสดงความคิดเห็นในโพสต์’ ของผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็จะถูกรวบรวมด้วย
เอกสารบอกถึงวัตถุประสงค์หลักๆ ว่าเพื่อปรับปรุง พัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจของ ป.ป.ท. และเป็นเครื่องมือค้นหา รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่ทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล
The MATTER เคยรายงานถึงเรื่องที่กระทรวงดิจิทัลมีโครงการที่จะจัดตั้ง ‘ศูนย์ข้อมูล Big Data และวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สังคม และความมั่นคงของชาติ’ โดยประกาศไว้ในแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีงบประมาณ ปี 2561 ภายใต้งบ (ในขณะนั้น) คือ 128 ล้านบาท และเคยมีคำชี้แจงจากกระทรวงดิจิตอลว่า ศูนย์ฯ นี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อ ‘มุ่งจับผิดเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มใด’ และไม่ใช่การลิดรอนสิทธิของประชาชนแต่เป็นไปเพื่อปราบปรามอาชญากรรมเท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้ ต้องจับตากันว่าแล้วโครงการเหล่านี้จะเดินต่อกันอย่างไร