เกย์แบบไหนเสี่ยงติดเชื้อที่สุด
เกย์แบบไหนเสี่ยงติดเชื้อที่สุด
แม้จะไม่แน่ชัดว่าประชากรกลุ่ม “ชายรักชาย” เช่น เกย์ กะเทย มีจำนวนมากน้อยเท่าไร แต่ที่ต้องยอมรับคือคนกลุ่มนี้เลิกแอ๊บ! และมีการแสดงตัวต่อสังคมมากขึ้น อาจเนื่องด้วยสังคมไทยเปิดกว้างกับเรื่องทางเพศมากกว่าแต่ก่อน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประชากรกลุ่มนี้คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะเชื้อเอชไอวี
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะจากการสำรวจสถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย พบว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 9,000-10,000 คน สาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 85 มาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกัน ส่วนกลุ่มที่มีการติดเชื้อมากที่สุด หากไม่นับการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันจากกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดแล้ว กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายนี่เองที่มีการติดเชื้อมากที่สุดในตอนนี้
ส่วนสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เล่าว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณเกือบ 5 แสนคน แต่มีการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อ รวมถึงพบเชื้อแล้วทำการรักษาเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นคือ 2 แสนกว่าราย ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การรณรงค์ให้มาตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงคือ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และควรมาตรวจทุกปีเพื่อความแน่ใจ เพราะหากยังมีพฤติกรรมเสี่ยงก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้
สอดคล้องกับ พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ แพทย์ประจำศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ที่บอกว่า ไม่ว่าคุณจะมีเพศสัมพันธ์ทางใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือแม้แต่ทางปากหรือออรัลเซ็กซ์ ก็ควรที่จะมาตรวจเชื้อหาเอชไอวี โดยเฉพาะกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ซึ่งมีการร่วมรักกันผ่านทางทวารหนัก มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดในผู้หญิงถึง 10 เท่า เนื่องจากทวารหนักมีความเปราะบางกว่าช่องคลอด
“จากการศึกษาพบว่า กลุ่มคู่ต่างคือฝ่ายหนึ่งมีการติดเชื้อเอชไอวี ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีการติดเชื้อนั้น ไม่ว่าจะเป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย หรือชายมีเพศสัมพันธ์กับหญิงนั้น หากผู้ติดเชื้อเป็นฝ่ายรุก ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อเป็นฝ่ายรับ เมื่อมีการหลั่งน้ำภายในทวารหนักของฝ่ายชายหรือในช่องคลอดของฝ่ายหญิง ฝ่ายรับจะมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีมากกว่า แต่หากผู้ติดเชื้อเป็นฝ่ายรับ ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อเป็นฝ่ายรุก กรณีเช่นนี้ฝ่ายรุกจะมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่า”
อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายรุกที่ไม่ติดเชื้อจะมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีน้อยกว่า แต่ พญ.นิตยา บอกว่า ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสติดเชื้อเลย ดังนั้น การป้องกันยังคงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ซึ่งพื้นฐานในการป้องกันคือการใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จะสามารถช่วยป้องกันโรคได้ และอีกแนวทางหนึ่งที่มีผลการศึกษาชัดเจนแล้วว่า การรักษาด้วยการรับยาต้านไวรัส สามารถป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีได้ ไม่ว่าจะเป็นจากแม่ไปสู่ลูก หรือจากคู่รักไปสู่คู่รัก
พญ.นิตยา อธิบายว่า การรับยาต้านไวรัสจะเป็นการกดเชื้อไวรัสในร่างกายลง ซึ่งเมื่อกดเชื้อไวรัสจนไม่พบในกระแสเลือด โอกาสในการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นจึงน้อย และยิ่งมารับยาต้านไวรัสเร็วเท่าไรก่อนภูมิคุ้มกันหรือค่า CD4 ของร่างกายจะต่ำลง ก็จะยิ่งลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้น ซึ่งจากการวิจัยโครงการ HPTN052 โดยศึกษาอาสาสมัครคู่ต่างกว่า 1,700 คู่ ใน 9 ประเทศ รวมทั้งไทย พบว่า กลุ่มที่กินยาต้านไวรัสเร็ว ก่อนที่ค่า CD4 จะตก มีการติดเชื้อไปสู่คู่รักเพียง 0.0-0.4 คน ใน 100 คนต่อปีเท่านั้น คือต่ำกว่า 0-1% ส่วนกลุ่มที่กินยาต้านไวรัสเมื่อภูมิคุ้มกันต่ำกว่า 250 ซึ่งถือว่าป่วยแล้ว พบว่าป้องกันได้แต่น้อยกว่า โดยมีโอกาสติดเชื้อไปสู่ผู้อื่นอยู่ที่ 1.1-2.5 คน ใน 100 คนต่อปี
เรียกได้ว่าการกินยาต้านไวรัสเร็วก่อนค่า CD4 จะตก ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อเอดส์ไปสู่คนอื่นได้มากกว่าการกินยาต้านไวรัสเมื่อค่า CD4 ตกแล้วสูงถึง 96% แต่ที่จะลืมไม่ได้เลยคือ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรุกหรือฝ่ายรับ คนหนึ่งจะติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ติดเชื้อ ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จะต้องสวมถุงยางอนามัยป้องกัน และผู้ติดเชื้อเอชไอวี หากคุณรักตัวเองและคู่รักของคุณก็ควรกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ดูแลตัวเองอย่างดี เพื่อให้ไวรัสในร่างกายของคุณไม่ไปติดหรือไม่ไปทำร้ายคนที่คุณรักต่อไป