ภาพกากที่คุณอาจจะไม่ได้สังเกตุ ซุกซ่อนใน ภาพเรื่องรามเกียรติ์ ในวัดพระแก้ว
เพจ MaewMoh-แมวโม้ ได้โพสต์ภาพกาก งานจิตกรรมฝาผนังเรื่อง รามเกียรติ์ รอบระเบียง วัดพระแก้ว ในวัดพระแก้ว ที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจ
โดยทางเพจอธิบายไว้ว่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายของภาพกาก ตามพจนานุกรม ให้คำจำกัดความของคำ “ภาพกาก” ว่า ภาพกาก น. ภาพเขียนที่เป็นตัวประกอบในเรื่อง ภาพกาก คือภาพที่เป็นส่วนนอกเหนือจากโครงเรื่องหลัก จิตรกรใช้อิสรภาพทางความคิดสอดแทรกความสนุกสนานลงไปภายในภาพเพิ่มเติมเล็กน้อย
โดยไม่ทำให้วัตถุประสงค์หลักของเรื่องราวเสียหายไป บางเรื่องเกี่ยวพันกับเรื่องความเป็นอยู่ต่างๆ การแต่งกาย งานประเพณี การละเล่น การหุงหาอาหาร รวมถึงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ เรื่องราวธรรมชาติวิทยา หรือมุกตลกที่จะค่อนไปทางสัปดนเล็กๆ เป็นต้น
โดยทางเพจฯได้โพสท์บทความนี้ระบุว่า “ภาพกาก”อารมณ์ขันงานชั้นครูจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องรามเกียรติ์รอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระแก้ว ที่ยาวที่สุดในโลก รวมสี่ด้าน 178 ห้อง
. . .
ขอประเดิมโม้เรื่องแรกฉลองชื่อเพจใหม่เลยละกัน ย้อนไปเมื่อราว 13 ปีกว่าน่าจะได้ ตอนไปกราบพระช่วงวันเกิดที่วัดพระแก้ว กราบขอพรเสร็จก็ไปเดินดูจิตรกรรมฝาผนังเพลิน ๆ สักพัก..ได้ยินเสียงไกด์คนไทยไล่หลังมาระยะประชิด จับใจความได้ว่ากำลังบอกให้ฝรั่งมายืนดูภาพตรงตำแหน่งที่ตนเองยืนอยู่ ฉันเลยหันกลับไปมอง เห็นฝรั่งสูงวัยสามีภรรยา 2 คู่ ยืนคอเอียงกะเท่เร่ไปทางเดียวกันดูภาพเมืองอยู่
แล้วเสียงไกด์ก็อธิบายต่อว่า จิตรกรจงใจวาดให้ต้องมองเอียง ๆ แบบนี้ เพราะจะได้เห็นภาพเป็น 3 มิติ ฉันก๊ากลั่น (ในใจ) พอทั้ง 5 คนเดินผ่านไป ฉันก็ดอดไปยืนตรงนั้นมั่ง เย่ย.. 3 มิติจริงด้วยอะ ฮ่า ฮ่า
ทีนี้เลยรีบเดินตามแอบฟังไกด์บรรยายไปเรื่อย ๆ จนไปถึงจุดหนึ่ง ซึ่งได้ยินเค้าใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษที่ฉันไม่รู้จัก แต่เข้าใจบริบทที่ไกด์บรรยายได้ทั้งหมด จนตอนขากลับออกมา จึงรีบเดินไปถามเจ้าหน้าที่ของวัดถึงศัพท์คำนี้ (ใช้การอธิบายโดยไม่ได้พูดคำศัพท์ออกไป) และนั่นจึงเป็นที่มาของหัวข้อเรื่องเล่าฉบับ “แมวโม้ EP. ปฐมบท” นี้
[พจนานุกรม ให้คำจำกัดความของคำ “ภาพกาก” ว่า ภาพกาก น. ภาพเขียนที่เป็นตัวประกอบในเรื่อง]
ฉันแวะเวียนไปเดินชมจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วอีกหลายครา นับครั้งไม่ถ้วน (ไปถามผู้วาด (ตอนที่มีการซ่อมแซม) ไปแอบฟังไกด์ (ใช้มุกเดิม) และหาข้อมูลรูปเพิ่มเติม) จึงพอสรุปเพิ่มเติมให้ฟังคร่าว ๆ ได้ว่า
ภาพกาก คือภาพที่เป็นส่วนนอกเหนือจากโครงเรื่องหลัก จิตรกรใช้อิสรภาพทางความคิดสอดแทรกความสนุกสนานลงไปภายในภาพเพิ่มเติมเล็กน้อย โดยไม่ทำให้วัตถุประสงค์หลักของเรื่องราวเสียหาย บางเรื่องเกี่ยวพันกับเรื่องความเป็นอยู่ต่าง ๆ การแต่งกาย งานประเพณี การละเล่น การหุงหาอาหาร รวมถึงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ เรื่องราวธรรมชาติวิทยา หรือมุกฮาที่จะค่อนไปทางสัปดนเล็ก ๆ ฯลฯ
“ภาพกาก” มีอยู่มากมายในจิตรกรรมฝาผนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโบสถ์ตามวัดต่าง ๆ แทบทุกที่ (ส่วนมากเรื่องที่ปรากฎในโบสถ์จะเกี่ยวกับศาสนาและพุทธชาดก) ว่ากันว่าคนที่มารับงานวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดได้ ต้องมีฝีมือสูง การวาดแต่ละครั้งก็ใช้เวลานานมาก เมื่อเกิดความเบื่อหรือเมื่อยล้า ก็เลยอยากหาอะไรทำสนุก ๆ เพื่อผ่อนคลายบ้าง
ด้วยนิสัยของคนไทยที่เป็นคนขี้เล่นสนุกสนาน ทำให้ผลงานศิลปะไทยส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องราวความสนุกสนานสอดแทรกอยู่เป็นประจำ ภาพกากเหล่านี้จึงปรากฎให้เราเห็นในลักษณะซ่อนเร้นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะตามมุม ๆ ขอบประตูหน้าต่าง ขอบเสา ส่วนล่าง ๆ ของผนังภาพ หรือบางทีก็อยู่ในบริเวณที่มีภาพลายเส้น ภาพกลุ่มคนเยอะ ๆ ฯลฯ
นับได้ว่าภาพกากเป็นภาพความคิดสร้างสรรค์ร่วมสมัยของช่างเขียนคนนั้น ๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างงานจิตรกรรมฝาผนังของไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มภาพที่สะท้อนสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัยกับภาพเขียน ถือได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่งได้เลยทีเดียว
หมายเหตุ 1. เรื่องรามเกียรติ์รอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระแก้ว มีความละเอียดอ่อนในการนำเสนอเป็นอย่างมาก และไม่ใช่เรื่องพุทธประวัติ แต่อาจนับเป็นนิทานประกอบธรรมะได้ ทุกคนที่มาดูสามารถตีความได้ตามความคิดของตนเองว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นบอกอะไร เช่น รัก โลภ โกรธ หลง ธรรมะชนะอธรรม เป็นต้น จากการปรับปรุงซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง ทำให้ลักษณะของภาพถูกเขียนตามยุคสมัยที่ปรับปรุง รายละเอียดบางอย่างจึงผิดเพี้ยนไป แต่โดยเนื้อหาหลักของเรื่องราวก็ยังคงความสมบูรณ์ไว้ได้ดังเดิม
หมายเหตุ 2. จุดเด่นของจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้ว โดยเฉพาะภาพใหญ่ ๆ ที่เป็นภาพเมือง จะใช้วิธีเขียนแบบตานกมอง (Bird eye view) เป็นภาพต่ำกว่าสายตา มุมมองจากที่สูงลงสู่ล่าง จะทำให้เห็นเป็นรูปเรื่องราวได้ตลอดภาพ นั่นคือความชาญฉลาดของช่างเขียนที่ต้องการแก้ไขภาพที่เขียนสีแบน ไม่คำนึงถึงแสงและเงา ให้ดูเป็นภาพที่มีมิติขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับภาพ 3 มิติ ที่ไกด์พูดถึงนั่นเอง
หมายเหตุ 3. การซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้วครั้งล่าสุดที่ฉันจำได้ คือการซ่อมแซมเมื่อคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 (ปี พ.ศ.2525) ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นแม่กอง (ทรงเป็นสตรีพระองค์แรกที่รับหน้าที่นี้) โดยทำการอนุรักษ์จากการซ่อมครั้งล่าสุดสมัยรัชกาลที่ 7 คราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี
ปล. 1. ถ้ามีท่านใดทราบข้อมูลที่อัพเดทในเรื่องการซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้วมากกว่านี้ และสามารถแจ้งให้ทราบได้ ก็จักเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง
ปล. 2. และถ้าผู้อ่านท่านใด ประสงค์จะร่วมสนุกแบ่งปันประสบการณ์จากการที่เคยถ่าย “ภาพกาก” ที่ใดก็ได้ ไม่จำกัดเฉพาะวัดพระแก้ว ก็สามารถโพสต์ภาพพร้อมรายละเอียดไว้ใต้คอมเม้นท์ได้เช่นกัน ระบุวัน เวลา ได้ด้วยจะยิ่งดี (เพียงขอให้เป็นภาพถ่ายจริง ๆ ของตัวท่านเอง) ทางเพจจะทำการขึ้นรวบรวมไว้ในอัลบั้ม พร้อมลงเครดิตภาพให้ทุกท่านด้วย
ปล. 3. ขอแสดงความขอบคุณล่วงหน้าเป็นอย่างยิ่ง ไว้ ณ โอกาสนี้ (ในทุก ๆ กรณีแห่งการสร้างสรรค์ที่จะมีเข้ามา)
ปล. of ปล. แวะเวียนไปชม ไปภาคภูมิใจมรดกสยามที่วัดพระแก้ว ใน "มุมเก่าเล่าใหม่" กันเยอะ ๆ นะคะ และฝากช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยสมบัติแห่งชาติแห่งนี้ไว้กับทุก ๆ ท่านด้วยค่ะ 0(-/\-)0