เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้ "ติดหรู" เกินตัว?
เป็นเรื่องที่พูดถึงกันมากพอสมควรกับกระแสความฟุ้งเฟ้อบ้าวัตถุของเด็กรุ่นใหม่ ที่นับวันเกราะความยับยั้งชั่งใจเริ่มมีให้เห็นน้อยลง จนเริ่มน่าเป็นห่วงแล้วว่า เด็กยุคนี้อาจหลงติดกับค่านิยมติดแบรนด์ ติดหรู ติดสบาย นำไปสู่การดิ้นรนแสวงหาบนวิถีทางที่ไม่ถูกต้องตามมา
ปัญหานี้ พญ.วรรณพักตร์ วิวัฒนวงศา แพทย์เฉพาะทาง จิตเวชเด็กและวัยรุ่น ยอมรับว่า เป็นเรื่องน่าห่วงไม่น้อย เมื่อเด็กยุคใหม่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางกระแสสังคมที่ฟุ้งเฟ้อด้านวัตถุ ซึ่งหากเด็กเติบโตโดยขาดเกราะการยับยั้งชั่งใจ แนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมฟุ้งเฟ้อ ติดหรูย่อมเกิดได้สูง
ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้น พ่อแม่บางคนกลับหลงติดวัตถุเสียเอง โดยจิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นท่านนี้ เตือนว่า เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่ง เนื่องจากพ่อแม่เป็นต้นแบบของลูก โดยเฉพาะลูกวัยอนุบาลที่สามารถเปลี่ยนความคิด และมุมมองได้หลายอย่าง ตลอดจนช่วงวัยนี้เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ ถ้าพ่อแม่ทำตัวบ้าวัตถุนิยมให้ลูกเห็นมากเกินไป ลูกอาจซึมซับจนติดเป็นนิสัยเกินตัวได้
แต่กระนั้น ปฏิเสธได้ยากว่า สังคมรอบตัวลูกถือเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความอยากได้อยากมีไม่น้อย โดยเฉพาะสังคมเพื่อน ส่งผลให้พ่อแม่จำนวนหนึ่งที่รัก และอยากให้ลูกทัดเทียมกับเพื่อนคนอื่นๆ ออกแสวงหามาสนองความต้องการของลูก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นตัวสร้างนิสัยให้ลูกยึดติดเป็นนิสัยเกินตัวได้ง่าย
"หมอเคยเจอพ่อแม่ที่ตามใจลูกมาตลอด ไม่อยากให้ลูกมีปมด้อย แต่พอถึงจุดหนึ่งตัวเองเริ่มไม่ไหว ก็ระเบิดออกมา โดยที่พ่อแม่เองก็ไม่ได้บอกให้ลูกรู้ถึงปัญหาตั้งแต่แรก ลูกก็งง และเสียใจว่า ทำไมไม่บอกเขา แต่โชคดีที่เด็กคิดได้ ถ้าเด็กที่ติดไปแล้ว เขาไม่สนหรอกว่า พ่อแม่จะเป็นอย่างไร ในเมื่อฉันไม่มี คุณมีหน้าที่ไปหาก็ไปหามาสิ กลายเป็นเด็กก้าวร้าว ขาดความเคารพ บางคนขึ้นไอ้อีกับพ่อแม่เลยก็มี" จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นเผยถึงผลกระทบ
นอกจากนี้ การตามใจ และเกรงใจลูกมากเกินไป หากพ่อแม่ตอบสนองให้ลูกไม่ได้เหมือนเดิม จิตแพทย์เด็กท่านนี้ บอกด้วยว่า เด็กอาจหลงเข้าสู่ช่องทางแสวงหาที่ไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะสม
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการเร่งสร้างเกราะให้ลูกรู้เท่าทันค่านิยมด้านวัตถุอย่างมีขอบเขต โดย พญ.วรรณพักตร์ ให้แนวทางว่า พ่อแม่ควรพาลูกไปสัมผัสวิถีชนบท อยู่กับธรรมชาติ หรือพาไปแหล่งเรียนรู้ มากกว่าที่จะพาลูกไปเห็นความฟุ้งเฟ้อด้านวัตถุแต่ในห้างสรรพสินค้า
ส่วนเรื่องการให้รางวัลลูก ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ไม่จำเป็นต้องให้เป็นเงิน หรือวัตถุเสมอไป แต่ควรเปลี่ยนเป็นการพาลูกไปเที่ยวแทน หรือถ้าจะให้เงินก็ควรสอดแทรกให้ลูกใช้ความพยายามในการเก็บออม พ่อแม่มีอยู่จำนวนหนึ่ง ลูกเก็บอีกจำนวนหนึ่ง เป็นการสอนให้รู้จักการรอคอย ที่สำคัญ การเลือกซื้อของแต่ละครั้ง แทนที่จะบอกลูกว่า สวย หรือของชิ้นนี้มียี่ห้อ ควรชี้ให้เห็นถึงคุณค่า และประโยชน์การใช้งานมาเป็นอันดับแรก
"พ่อแม่ควรชี้ให้ลูกเห็นถึงการใช้ของที่ไม่เกินตัว โดยไม่ทำให้ลูกเห็นว่า ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อทำให้ตัวเองดูดี พร้อมกับชี้ให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะการให้คนอื่นยอมรับ และชื่นชม ไม่จำเป็นต้องใช้ของแพง หรือมียี้ห้อเสมอไป แต่การเป็นเด็กดี น่ารักก็ทำให้คนรอบข้างชื่นชมได้เช่นกัน ถ้าเด็กคิดได้แบบนี้ เมื่ออยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยวัตถุ เด็กจะไม่อ่อนไหว และรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหา" จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นทิ้งท้าย
แหล่งที่มา: http://www.thaihealth.or.th