CAC Telecom: เคเบิ้ลใต้น้ำไทย-ฮ่องกง คาดพร้อมเปิดใช้งานปี 2563
CAC Telecom: เคเบิ้ลใต้น้ำไทย-ฮ่องกง คาดพร้อมเปิดใช้งานปี 2563
เซิ่นเจิ้น, จีน – หลังจากที่ได้มีการลงนามในเอกสารหลักการเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเคเบิ้ลใต้น้ำไทย-ฮ่องกง กับ บมจ. กสท. โทรคมนาคม ไปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา บริษัท ไชน่า อาวิเอชั่น คลาวด์ (CAC) เทเลคอม ได้แถลงในระหว่างงานประชุม Asia-Pacific Submarine Networks Forum ครั้งที่ 4 ว่า โครงการเคเบิ้ลใต้น้ำไทย-ฮ่องกงนี้จะพร้อมเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปี 2563
ในระหว่างงานประชุม Asia-Pacific Submarine Networks Forum ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเซิ่นเจิ้น เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา มร. บิล ลี รองประธานบริหาร บริษัท CAC Telecom ได้กล่าวว่า “เรารู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยและกสท. โทรคมนาคม ในการสร้างระบบเคเบิ้ลไทย-ฮ่องกง เพื่อขยายโครงข่ายการสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับภูมิภาค”
งานประชุมดังกล่าวร่วมกันจัดขึ้นภายใต้ธีม Innovation Driving Future Submarine Networks โดยบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด, บริษัท หัวเว่ย มารีน เน็ตเวิร์คส จำกัด และไชน่า อะคาเดมี ออฟ อินฟอร์เมชั่น แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เทคโนโลยี
ภายในงาน มร. ลี ได้ระบุถึงรายละเอียดสำคัญของโครงการเคเบิ้ลใต้น้ำไทย-ฮ่องกง ดังนี้
- ดีไซน์เส้นทางด่วนให้มีความหน่วงต่ำสุด (Lowest Latency) – โครงการนี้สามารถลดความยาวของเส้นทางลงได้ 13% เมื่อเทียบกับเคเบิ้ลที่มีอยู่เดิม และลดอัตราความล่าช้าของการรับส่งข้อมูล (Latency) ระหว่างฮ่องกงและกรุงเทพฯ ลงได้ 5 มิลลิวินาที
- จัดตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์กับประเทศที่มีสถานีจุดขึ้นบก – ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ภาคพื้นดินจะช่วยให้ผู้ใช้งานทั่วโลกสามารถขยายขอบเขตของพื้นที่ให้บริการ
- เทคโนโลยีชั้นนำล่าสุด – 200G * 96WL ต่อสายใยแก้วนำแสง 1 คู่ และสายใยแก้วนำแสง 8 คู่รองรับความจุได้ 153.6 เทราไบต์ต่อวินาที ช่วยลดความซ้ำซ้อนในทุกส่วน
- สามารถขยายความจุเพิ่มได้ในอนาคต – 5 ROADM Bus สำหรับการขยายเพิ่มเติมไปยังประเทศอื่นๆ ระหว่างเส้นทางในอนาคต
- เป็นระบบเปิด
เนื่องจากการรับส่งข้อมูลระหว่างประเทศราว 95% ดำเนินการผ่านเคเบิ้ลใต้น้ำ ความร่วมมือในกลุ่มประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก
มร. เหมา เซิงเจียง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของหัวเว่ยมารีน อธิบายว่า “จากการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์คอมพิวติ้ง วิดีโอ 4K/8K เทคโนโลยี 5G และ IoT ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ได้ส่งผลให้การใช้งานแบนด์วิธทั่วโลกผ่านเคเบิ้ลใต้น้ำเติบโตอย่างรวดเร็ว หลายๆ ประเทศ อาทิ ไทย จึงได้ประกาศนโยบายสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำ และสร้างไอซีทีฮับของภูมิภาค”
การเชื่อมโยงสื่อสารผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำขั้นสูงยังช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม มร. เอียน เรดพาธ นักวิเคราะห์หลักของ Ovum บริษัทที่ปรึกษา วิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดด้านดิจิทัล กล่าวว่า “การเชื่อมโยงขั้นพื้นฐานเป็นก้าวแรกของการไปสู่เป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงสื่อสารของภูมิภาค เมืองชั้นนำต่างๆ จึงเปรียบได้กับประตูบานหลักของประเทศ ที่เชื่อมไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลจะฃ่วยขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนโครงข่าย”
นอกจากนี้ หัวเว่ยมารีนยังได้ประกาศในงานประชุมอีกด้วยว่า บริษัทได้สร้างเคเบิ้ลใต้น้ำไปแล้วรวมความยาวทั้งสิ้น 50,361 กิโลเมตร ส่งมอบงานไปแล้ว 90 โครงการ เชื่อมโยง 75 ประเทศ ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง หัวเว่ยมารีนยังได้ลงนามความร่วมมือกับ CAC Telecom อีกด้วย
หัวเว่ยมารีนประสบความสำเร็จในการจัดงานประชุม Asia-Pacific Submarine Network Forum ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเป็นเวทีสำหรับการสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรม โดยปีนี้ มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 300 คนจากเอเชียแปซิฟิค แอฟริกา ตะวันออกกลางและยุโรป มาร่วมถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาในปัจจุบัน แนวโน้มในอนาคต และเทคโนโลยีขั้นสูงในงาน