เผย!!!!!..10 วีรกรรมแสบ รถเมล์ไทย กับผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ จิตไม่แข็งพออย่าขึ้นเลยเป็นห่วง
เผย!!!!!..10 วีรกรรมแสบ รถเมล์ไทย กับผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ จิตไม่แข็งพออย่าขึ้นเลยเป็นห่วง
นับว่าปัญหาระหว่างรถเมล์กับผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะนั้นมีความขัดแย้งกันมาตลอด แม้ภาครัฐจะออกมาตรการเข้าควบคุมแต่ก็ยังไม่วายเกิดปัญหาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ อย่างล่าสุดกับผู้ใช้ทวิเตอร์หมีเล่าข่าว @kungBKP ออกมาโพสต์ภาพรถโดยสารเอกชนร่วมบริการธรรมดา สาย 8 หมายเลข 39 - 115 ของบริษัท กลุ่ม 39 เดินรถ จำกัด และรถโดยสารเอกชนร่วมบริการธรรมดา สาย 44 หมายเลข 24 ของบริษัท รวีโชค จำกัด
ที่ปรากฏในภาพกำลังเบียดซ้อนกันอยู่หน้าป้ายรถเมล์ใกล้ 2 ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ย่านลาดพร้าว ทั้งนี้ภาพดังกล่าวถูกนำไปแชร์ต่อ และเกิดเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ กันเป็นอย่างมากถึงความน่ากลัวเพราะด้วยระยะที่เรียกได้ว่าชิดกันมากจนผู้โดยสารไม่สามารถลงจากตัวรถได้ ประกอบกับพื้นถนนที่ไม่กว้างมากจนอาจเกิดอันตรายขึ้นแก่ผู้โดยสาร
โดยทาง ขสมก. ได้นำเหตุการณ์ครั้งนี้ไปประชุมพิจารณาเห็นว่าส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของ ขสมก. จึงลงโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท บริษัท กลุ่ม 39 เดินรถ จำกัด และ บริษัท รวีโชค จำกัด พร้อมทั้งให้กำกับดูแลพนักงานใต้บังคับบัญชา ปฎิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับของขสมก. พร้อมทั้งสั่งลงดาบพนักงานขับรถทั้ง 2 คัน ให้งดการปฎิบัติงานเป็นเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. 2561
นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของวีรกรรมรถเมล์ไทย ที่ก่อขึ้นให้เห็นอยู่หลายครั้งจนผู้ใช้บริการเอือมระอากับพฤติกรรมที่แก้ไม่หาย แม้จะมีบทลงโทษ 5 สถาน ได้แก่
1. ภาคทัณฑ์
2. ตัดเงินเดือน
3. ลดขั้นเงินเดือน
4. ให้ออก
5. ไล่ออก
แม้จะมีบทลงโทษไว้ให้ผู้ขับรถเมล์ได้เกรงกลัว แต่นั่นก็ใช้ได้กับพนักงานในกำกับของรัฐอย่างขสมก. เท่านั้น ด้านรถร่วมบริการเอกชนยังไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้เต็มที่ มากสุดเพียงแค่ปรับสูงสุด 5,000 บาท ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
วันนี้ทางสำนักข่าวทีนิวส์จะพาไปย้อนดู 10 วีรกรรมแสบที่รถเมล์ไทยเคยสร้างเอาไว้ว่าจะหัวร้อนขนาดไหน
1. พนักงานเก็บตั๋วพกอาวุธ
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2558 หลังชาวเน็ตมีการแชทภาพส่งต่อพนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์สาย 39 หมายเลขรถ 23 - 162 ทะเบียน 15 -4456 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต - สนามหลวง แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมไล่ผู้โดยสารลงจากรถ พร้อมพกพาอาวุธมีดเพื่อข่มขูู่ผู้โดยสาร จนดังสนั่นโลกออนไลน์ ในตอนนั้น จากเหตุการณ์นี้เองทำให้ ขสมก. ลงโทษบริษัท หลีกภัยขนส่ง จำกัด ฐาน ปล่อยให้พนักงานเก็บค่าโดยสารแสดงพฤติกรรมรุนแรง จึงปรับสูงสุดเป็นเงิน 5,000 บาท พร้อมให้เจ้าของอู่อบรมตักเตือนพนักงานอย่างเคร่งครัด
2. พนักงานรถเมล์ขับรถเร็ว
เรียกว่าเป็นหนึ่งในปัญหาโลกแตกที่ผู้ใช้บริการรถเมล์ต้องเจอกับพฤติกรรมขับรถเร็วของพนักงานขับรถ ใช้อารมณ์ ตะโกนด่ารถคันอื่น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เห็นจนชินตาในสังคมไปเสียแล้วกับพฤติกรรมเช่นนี้ มีประชาชนเข้ามาร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง ที่เว็บ ขสมก. หรือสายด่วน 1348
3. พนักงานขับรถเมล์เล่นโทรศัพท์ไปด้วยระหว่างขับรถ
เหตุการณ์ทำนองนี้ถูกนำมาวิพากษ์ วิจารณ์ อย่างหนัก อย่างกรณีเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2558 กับคลิปของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง นำมาโพสต์ไว้เป็นคลิปขณะพนักงานขับรถเมล์สายหนึ่งกำลังนั่งเล่นโทรศัพท์ โดยไม่สนใจการขับรถว่าจะอันตรายหรือไม่ แม้คนขับจะติดอยู่ระหว่างไฟแดงหรือรถกำลังชะลอการวิ่งอยู่ก็ตาม ส่งผลให้คลิปดังกล่าวโด่งดังจนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ ในที่สุด นี่ไม่ใช่รถเมล์คันแรกที่เป็นข่าวยังมีอีกหลายคันที่เกิดก่อนหน้านั้นแต่ก็ไม่เป็นที่สนใจมากนัก เนื่องจากยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นนั่นเอง
4. โบกไม่จอด
ถือเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้ใช้บริการรถเมล์ทุกคนต้องเคยเจอกับการโบกไม่จอด ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามของพนักงานขับรถโดยสาร โดยเหตุผลหลักที่ไม่จอดนั้นเป็นเพราะออกไปวิ่งรถในเลนขวาสุดของถนน จึงทำให้เข้าจอดป้ายรถเมล์ประจำทางไม่สะดวก
5. ทะเลาะกันระหว่างสาย หรือแย่งผู้โดยสาร
โดยปัญหานี้ถูกนำมาวิพากษ์ วิจารณ์กันอย่างสนั่นเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 61 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์คลิป เหตุทะเลาะวิวาทบนท้องถนน ระหว่างคนขับรถเมล์ด้วยกันเอง โดยในคลิปมีการด่าทอกันอย่างเห็นได้ชัดพร้อมกับถืออาวุธเหล็กและมีดลงมาประจันหน้ากัน จนผู้โดยสารหวาดกลัว จากเหตุการณ์นี้ ขนส่งเข้าตรวจสอบพบว่า รถทั้งสองคันเป็นของบริษัทหลีกภัยขนส่งจำกัด สาเหตุเกิดจากการแย่งรับผู้โดยสาร ทั้งนี้ยังพบว่าพนักงานขับรถไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ขับ กรณีนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยภายหลังได้นำตัวคนขับรถเมล์ส่ง สน.บางซื่อ ต่อไป
6. รับผู้โดยสารจนแน่น
ปัญหานี้ไม่เพียงแต่รถตู้เท่านั้นที่ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะต้องพบเจอ แต่รถเมล์ ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช่นช่วงเช้าและเย็นเวลาเลิกงาน เป็นเหตุการณ์ที่พบเจอได้บ่อย โดยคนขับรถเมล์จะรับผู้โดยสารจนแน่นไม่คำนึงถึงความปลอดภัย จนบางคันไม่สามารถปิดประตูรถโดยสารได้
7. ไม่จอดรับตามป้าย
อีกหนึ่งปัญหาที่แก้ไม่หายสำหรับการจอดรถไม่ตรงป้ายของรถเมล์ เช่นกดกริ่งแล้วไปจอดอีกป้ายเนื่องจากคนขับรถเมล์นั้นขับเร็วหรืออยู่เลนขวาสุดไม่สามารถเทียบเข้าจอดตามป้ายที่กำหนดได้ จนกลายเป็นปัญหาตามมาระหว่างผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะกับรถเมล์ในที่สุด
8. ขายตั๋วรถเมล์เกินราคา
เชื่อว่าปัญหานี้หลายคนต้องเคยพบเจอกับเหตุการณ์รถเมล์นำตั๋วเก่ามาขายเช่นตั๋วราคา 8 บาท นำไปขายเป็น 13 บาท ซึ่งส่วนมากพนักงานเก็บค่าโดยสารจะอ้างว่า ตั๋วหมด แต่การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดเสมือนการยักยอกทรัพย์ ทำให้ขสมก.เสียชื่อเสียง มีความผิดไล่ออกสถานเดียวทั้งยังนำตัวส่งดำเนินคดีได้อีกด้วย
9. ไม่ทอนเงินผู้โดยสาร
เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ขณะนั้นโลกออนไลน์มีการแชร์คลิปพนักงานรถเมล์ ขสมก. สายหนึ่งไม่ยอมทอนเงินให้กับผู้โดยสาร หลังผู้โดยสารจ่ายธนบัตร 20 บาท แต่กระเป๋ารถเมล์ไม่ยอมทอนเงินให้ทวงถามพนักงานคนดังกล่าวก็ชักสีหน้าใส่ จนเกิดเป็นการปะทะคารมกันขึ้น หลังเรื่องนี้แพร่ออกไปทาง ขสมก. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยพิจารณาให้พนักงานเก็บค่าโดยสารรายนี้ถูกลงโทษทางวินัย ด้วยการภาคทัณฑ์พนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์คันดังกล่าว เป็นเวลา 1 ปี เพราะถือเป็นการกระทำผิดด้วยการฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับของการบริการผู้โดยสาร
10.รถเมล์ฝ่าไฟแดง
ถือเป็นปัญหายอดฮิตโดยแท้จริงกับรถเมล์ฝ่าไฟแดง ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นที่พูดถึงเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้นำมาโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กเป็นเหตุการณ์ช่วงรถจอดติดไฟแดงอยู่บริเวณแยกกล้วยน้ำไท แต่กลับมีรถเมล์ฝ่าไฟแดงไปถึงสองคันด้วยกัน ซึ่งรถเมล์สายที่ฝ่าไฟแดงไป ทั้งสองคัน เป็นสายเดียวกัน
นี่คือ 10 วีรกรรมเล็กน้อยของรถเมล์ไทยที่เคยเกิดขึ้นจริงผู้ใช้สัมผัสกันมาจนคุ้นชิน จนผู้ใช้บริการหลายท่านอยากให้ขสมก. กำหนดบทลงโทษอย่างเอาจริง เอาจังมากกว่าเดิมทั้งนี้เพื่อให้พนักงานขับรถเมล์ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้นนั่นเอง