“สมเด็จพระเพทราชา” ปฐมกษัตริย์แห่ง “บ้านพลูหลวง”
“สมเด็จพระเพทราชา” เป็นอีกตัวละครเด่นในละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่ได้ทำรัฐประหารสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มารู้จักประวัติของพระองค์ให้มากขึ้นกัน
สมเด็จพระเพทราชา แต่เดิมเป็นสามัญชนชื่อว่า "ทองคำ" เป็นชาวพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๑๗๕(บางแห่งว่า พ.ศ.๒๑๗๐) จุลศักราช ๙๙๔ จัตวาศก ปีเดียวกับ สมเด็จพระนารายณ์ และทรงเป็นพระสหายกับสมเด็จพระนารายณ์มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ เนื่องจากพระมารดาของพระองค์เป็นพระนมโทในสมเด็จพระนารายณ์ (พระนมเอก คือ เจ้าแม่วัดดุสิต มารดาของ โกษาเหล็ก และ โกษาปาน)
ในตอนต้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระเพทราชามีตำแหน่งเป็นจางวางกรมช้างมีความชำนาญในศิลปศาสตร์การบังคับช้างและมีฝีมือในการสงคราม เคยได้รับความชอบจากสมเด็จพระนารายณ์หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเพทราชาหรือจางวางกรมช้างในขณะนั้นได้ตามเสด็จไปทำศึกด้วย
การศึกในครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์ตีได้เมืองเชียงใหม่และได้มีสัมพันธ์กับราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งจนตั้งครรภ์ แต่พระองค์ทรงคิดละอายที่จะรับราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ไว้เป็นพระสนม เนื่องจากในเวลานั้นยังถือว่าเมืองเชียงใหม่เป็นพวกเดียวกับเมืองลาวและยังเป็นที่ดูถูกว่าต่ำต้อยจึงทรงยกนางนั้นให้กับจางวางกรมช้าง เมื่อเดินทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่มาถึงเมืองพิษณุโลก ตำบลโพธิ์ประทับช้างจังหวัดพิจิตรในปัจจุบัน ราชธิดาองค์นั้นได้คลอดบุตรออกมาเป็นเพศชายตั้งชื่อให้ว่า “เดื่อ” ซึ่งก็คือหลวงสรศักดิ์(ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์) สมเด็จลูกยาเธอกรมพระราชวังบวร(ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา) หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ)เมื่อทรงขึ้นครองราชต่อจากสมเด็จพระเพทราชานั่นเอง
จากการศึกษาประวัติศาสตร์จากพงศาวดารต่างๆจะเห็นได้ว่าปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ได้มีฝรั่งต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายและเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก หนึ่งในชาวต่างชาติที่คนไทยรู้จักดีก็คือชาวกรีกผู้ภักดีต่อฝรั่งเศสที่ชื่อ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน หรือ เยการี) สามีของ ท้าวทองกีบม้า(มารี กีมาร์ เดอ ปีนา) ลูกผสมญี่ปุ่น – โปรตุเกส ต้นตำรับขนมหวาน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และขนมหม้อแกงของไทย สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความสามารถและได้ทำประโยชน์ให้แก่ราชการเป็นอันมาก
แต่การกระทำหลายอย่างของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ สร้างความไม่พอใจให้กับเสนาบดีกลาโหม(สมเด็จพระเพทราชาได้รับตำแหน่งนี้ต่อจากโกษาเหล็ก)และหลวงสรศักดิ์เป็นอันมาก เนื่องจากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์พยายามจะโน้มน้าวสมเด็จพระนารายณ์ให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ อีกทั้งคริสเตียนชาวกรีกผู้นี้ได้กระทำการหมิ่นน้ำใจชาวพุทธหลายครั้ง เช่น จัดการสึกภิกษุสามเณรให้ลาสิกขาออกมารับราชการโดยไม่สมัครใจ เป็นต้น สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงโอนอ่อนตามเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ในหลายเรื่อง ทำให้พุทธศาสนิกชนอย่างเสนาบดีกลาโหมและหลวง สรศักดิ์รู้สึกโกรธเคืองในตัวชาวกรีกผู้นี้ยิ่งนัก
อีกทั้งมีความระแวงว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์จะนำทหารฝรั่งเศสเข้ายึดกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากในเวลานั้นสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรอย่างหนัก เสนาบดีกลาโหมและหลวงสรศักดิ์จึงก่อการยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์และได้ประหารเจ้าพระยาวิชาเยนทร์รวมทั้งผู้อยู่ในข่ายที่จะได้สืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนารายณ์คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ เจ้าฟ้าน้อย(พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์) และพระปีย์(พระโอรสบุญธรรม)เสีย เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบอาการประชวรก็เพียบหนักขึ้นและสวรรคตในเวลาต่อมา เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต เสนาบดีกลาโหมจึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเพทราชา ครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๘ แห่งกรุงศรีอยุธยา(ไม่นับรัชกาลขุนวรวงษาธิราช) ส่วนหลวงสรศักดิ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จลูกยาเธอกรมพระราชวังบวร
สมเด็จพระเพทราชาทรงขึ้นครองราชเมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๑ จุลศักราช ๑๐๕๐ ขณะพระชน-มายุ ๕๖ พรรษา(บางแห่งว่า ๖๑) เป็นต้นราชวงศ์ “บ้านพลูหลวง” เมื่อขึ้นครองราชพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งกรมหลวงโยธาทิพพระภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ให้เป็นพระมเหสีฝ่ายขวา ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ “เจ้าพระขวัญ” และแต่งตั้งกรมหลวงโยธาเทพ พระธิดาองค์เดียวของสมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ “ตรัสน้อย”
หลังจากการขึ้นครองราช ก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ ได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายอาณาจักรอยุธยาเป็นผู้จัดเรือ กับต้องส่งคืนทรัพย์สิน ที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาคืนทั้งหมด สำหรับข้าราชการและราษฎรไทย ที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส สิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา
ในรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชาได้เกิดกบฎขึ้นหลายครั้ง อีกทั้งเกิดปัญหาหัวเมืองใหญ่อย่างเมืองนครราชสีมาและเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งได้รับการสถาปนาจากสมเด็จพระนารายณ์ไม่ยอมรับพระราชอำนาจของพระองค์ เนื่องจากมองว่าพระองค์เป็นผู้แย่งชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระนารายณ์ ในเวลานั้นชาวฝรั่งเศส นักสอนศาสนาคริสต์ และชาวต่างชาติบางกลุ่มถูกเนรเทศให้กลับประเทศ ส่วนพระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุงเป็นอันมาก
สมเด็จพระเพทราชาทรงครองราชสมบัติเป็นเวลาถึง ๑๕ ปี ก่อนที่จะทรงพระประชวรอย่างหนัก ระหว่างที่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่นั้นได้เกิดปัญหาในการสืบราชสมบัติขึ้น ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์คือเจ้าพระขวัญและตรัสน้อยพระราชโอรสแท้ๆของพระองค์ แต่เจ้าพระขวัญถูกกรมพระราชวังบวร(พระเจ้าเสือ)ลอบประหาร ตรัสน้อยทรงหนีไปบวชพระ เมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงทราบก็ทรงรีบตั้งพระราชนัดดาคือ “เจ้าพระยาพิไชยสุรินทร์” ให้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ แต่เมื่อพระองค์สวรรคต(พ.ศ.๒๒๔๖)เจ้าพระยาพิไชยสุรินทร์ไม่กล้าปราบดาภิเษกขึ้นครองราชด้วยเกรงบารมีของกรมพระราชวังบวรและได้ขอให้กรมพระราชวังบวรขึ้นครองราชแทน กรมพระราชวังบวรจึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) ครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระเพทราชา เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๙ แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นอันสิ้นสุดรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชา
ราชวงศ์ “พลูหลวง” นี้ มาจากชื่อบ้านพลูหลวง หมู่บ้านในแขวงเมืองสุพรรณบุรี อันเป็นถิ่นกำเนิดเดิมของสมเด็จพระเพทราชา โดยลำดับพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีดังนี้
สมเด็จพระเพทราชา – ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2231 – พ.ศ. 2246 (15 ปี)
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) – ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2246 – พ.ศ. 2251 (6 ปี)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ – ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2251 – พ.ศ. 2275 (25 ปี)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ – ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2275 – พ.ศ. 2301 (26 ปี)
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร – ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2301 (2 เดือน)
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) – ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2301 – ปี พ.ศ. 2310 (9 ปี)
พระราชกรณียกิจ
การปฏิรูปการปกครอง
ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่ โดยกำหนดให้หัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความดูแลของสมุหนายก และหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหพระกลาโหม โดยแบ่งให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบดูแลกิจการทั้งด้านทหารและพลเรือนในภูมิภาคนั้น ๆ
นอกจากนี้พระองค์ยังได้เพิ่มจำนวนกำลังทหารให้แก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า เพื่อเป็นกำลังป้องกันวังหลวงอีกทางหนึ่งด้วย
งานต่างประเทศ
ประเทศใกล้เคียง มีหัวเมืองประเทศใกล้เคียงเข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์เป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2234 เขมรได้ส่งคณะราชทูตนำช้างเผือกเชือกหนึ่งมาถวาย ขอเข้ามาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร ต่อมา ในปี พ.ศ. 2238 กษัตริย์กรุงศรีสัตนาคนหุตได้ส่งราชทูตนำพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย กับขอให้กองทัพอยุธยาไปช่วยต้านทานการรุกรานจากกองทัพหลวงพระบาง พระองค์ได้จัดกองทัพขึ้นไปช่วยไกล่เกลี่ย จนทั้งสองเมืองกลับเป็นไมตรีต่อกัน