เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน สะท้อนย่างก้าวมั่นคงแห่งการปฏิรูป สู่การร้อยเรียงบทใหม่แห่งการพัฒนา
เพียงแค่ 30 กิโลเมตรจากย่านใจกลางเมืองหนานหนิง แห่งเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง คือดินแดนแห่งความงดงามและมหัศจรรย์ เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ดินแดนแห่งนี้เปลี่ยนผ่านจากการเป็นบ้านของชาวจีนโพ้นทะเลมาสู่การเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระดับชาติ นอกจากนี้ ข้อได้เปรียบในแง่ของทำเลที่ตั้งอันโดดเด่น กอปรกับแนวคิดด้านการพัฒนาอันรุดหน้า ส่งผลให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในเขตกว่างซี
เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน (Guangxi ASEAN Economic and Technological Development Zone) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2547 และได้รับการยกระดับให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแห่งชาติเมื่อเดือนมี.ค. 2556 หลังจากนั้นจึงได้รับการอนุมัติให้เป็นเขตสาธิตการปฎิรูปวัฏจักรอุตสาหกรรมระดับชาติ จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงพื้นที่เพาะปลูกของชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งมุ่งเน้นเศรษฐกิจเชิงเกษตรกรรม พื้นที่แห่งนี้ผ่านช่วงเวลาแห่งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งวันนี้ เขตพัฒนาแห่งนี้ได้กลายเป็นเมืองที่เหมาะสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โครงสร้างอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน ได้ดำเนินการตามหลักการพัฒนา อันได้แก่ "การส่งเสริมเมืองผ่านอุตสาหกรรม การขยายอุตสาหกรรมผ่านเมือง การบูรณาการเมืองเข้ากับอุตสาหกรรม" พร้อมเดินหน้าเร่งความพยายามในการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงทุ่มเทความมุมานะเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมที่เป็นสามเสาหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ชีวการแพทย์ และการผลิตเครื่องจักร Budweiser, Shuanghui Group, Uni-President และบริษัทชั้นนำอื่น ๆ อีกมากมายได้มาตั้งสาขาและดำเนินกิจการที่นี่ ซึ่งนำไปสู่การขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมออกไปทั้งในระดับต้นน้ำและปลายน้ำ นอกจากนี้ เขตพัฒนาแห่งนี้ยังได้ร่วมมือกับกรมการเกษตรของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เพื่อสร้าง "ซิลิคอน วัลเลย์ เชิงเกษตร" ที่ได้ช่วยส่งเสริมโครงการต้นแบบด้านการเกษตรสมัยใหม่ 19 โครงการ เช่น โรงงานต้นแบบการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เขตพัฒนาแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติและระบบนิเวศที่สงบเงียบ และมุ่งสนับสนุนโครงสร้างภาคบริการที่ทันสมัย โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและการดูแลผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างเช่น ชุมชน Taihe-Pure Land ซึ่งเป็นพื้นที่สาธิตสำหรับอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุในสังคมของกว่างซี โครงการดังกล่าวมียอดเงินลงทุนรวมกว่าหมื่นล้านหยวน และเสร็จสิ้นการก่อสร้างระยะแรกแล้ว ด้านนิคมอุตสาหกรรมการศึกษาหนานหนิงและศูนย์ฝึกอบรมทักษะวิชาชีพสาธารณะกว่างซีนั้น ก็มีความคืบหน้าตามกำหนด ซึ่งทั้งสองโครงการจะตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนเมือง ทิศทางการพัฒนา และแบบแผนอุตสาหกรรมของเขตพัฒนาแห่งนี้ได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อ ในขณะเดียวกันก็จะช่วยผลักดันการบูรณาการระหว่างเมืองและอุตสาหกรรมด้วย
สำหรับในอนาคต เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน จะรักษาสมดุลและเติมเต็มข้อกำหนดทั้งในด้าน "การพัฒนาอุตสาหกรรม" และ "การก่อสร้างระบบนิเวศ" เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ การอยู่อาศัย และอุตสาหกรรม พรั่งพร้อมไปด้วยภูมิทัศน์และสวนพักผ่อน อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่ความฝันในการเป็นเจ้าของกิจการสามารถกลายเป็นจริงได้
ที่มา: Guangxi ASEAN Economic and Technological Development Zone