ความเหงา ทำร้ายเรา มากกว่าที่คิด…
ความเหงา เป็นอีกหนึ่งความรู้สึกที่ทุกคนต่างต้องประสบพบเจอกันในชีวิตของตัวเอง ซึ่งแต่ละคนนั้นก็จะมีความมากและน้อยแตกต่างกันไป รวมถึงระยะเวลาที่มันอยู่กับแต่ละคนก็จะต่างกันไปด้วย แต่ว่าความรู้สึกเหงานั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาลอยๆ เพราะงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่ศึกษากันมาตั้งแต่ปี 2006 จะมาช่วยอธิบายให้เพื่อนๆ ได้เข้าใจว่า แท้จริงแล้ว ความเหงาของเรานั้นเกิดขึ้นจากอะไร?
งานวิจัยของ Stephanie Cacioppo และ Hsi Yuan Chen นักประสาทวิทยาที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Personality and Social Psychology Bulletin โดยทีมวิจัยได้ใช้เวลานานกว่า 11 ปี ในการเก็บข้อมูลระดับความรู้สึกเหงา จำนวน 230 คน ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 50 – 68 ปี
จากการเก็บข้อมูลเป็นประจำทุกปี ทีมวิจัยพบว่า คนที่มีอาการของความเหงาเพิ่มขึ้นจะมีนิสัยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากขึ้นตามไปด้วย และคนที่มีนิสัยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว ก็มีระดับความเหงาที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนกว่าคนทั่วไปอีกด้วย พอจะชี้ให้เห็นได้ว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระดับความเหงาโดยตรง ก็คือลักษณะนิสัยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง(Self-Centered) นั่นเอง (ความเหงาทำร้ายสุขภาพ พอๆกับการสูบบุหรี่ 15 มวน ต่อวัน)
และความเหงายังทำให้สมองผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามากขึ้นความดันโลหิตสูง ระบบภูมิคุ้มกันโรคอ่อนแอลง นอนหลับยาก และอาจเป็นโรคจิตเสื่อมเร็วขึ้น เมื่อเปรียบเทียบสุขภาพของคนที่ปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก กับคนที่ชอบสังสรรค์ นักวิจัยพบความแตกต่างมากพอๆ กับความแตกต่างระหว่างคนสูบบุหรี่กับไม่สูบ คนที่เป็นโรคอ้วนกับคนที่น้ำหนักปกติ และคนที่ออกกำลังกายกับคนที่ไม่ออกกำลังกาย
ฮอร์โมนคอร์ติซอลในระดับสูงยังไปกดทับระบบภูมิคุ้มกันโรค ทำให้คนๆ นั้นอ่อนแอต่อโรคต่างๆ คนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวยังนอนหลับไม่สนิท ทำให้ระหว่างวันรู้สึกเฉื่อยชา และมีแนวโน้มต้องพึ่งยานอนหลับ
ในปัจจุบันมีคนไม่น้อยที่ถูกความเหงาเล่นงาน เพราะผู้คนสื่อสารกันทางอินเทอร์เน็ตแทนการพบหน้าค่าตากัน “เราต่างอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น บางทีอาจเป็นเพราะเราอายุมากขึ้น แต่งงานช้าลง มีลูกและเพื่อนสนิทน้อยลง”
ที่มา – neurosciencenews , modernformhealthcare