25 ปีโศกนาฏกรรมโบพาล แก็สพิษหมื่นศพ
25 ปีโศกนาฏกรรมโบพาล แก็สพิษหมื่นศพ
กลุ่มผู้ประท้วงมาชุมนุมกันที่นอกสำนักงานของบริษัทดาว เคมีคอล ในกรุงบรัสเซลส์ ในเบลเยี่ยม เพื่อร่วมรำลึกวันครบรอบ 25 ปี เหตุโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมครั้งเลวร้ายที่สุด เท่าที่โลกเคยได้เจอมา
โดยตอนที่เกิดอุบัติเหตุ แก๊สอันตรายในโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงที่เมืองโบพาล ในอินเดียรั่วไหลออกมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2527 โรงงานเป็นของบริษัท ยูเนี่ยน คาร์ไบด์ แต่ทางดาว เคมีคอล เข้าซื้อบริษัทในปี 2544
อุบัติเหตุครั้งนั้น ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปราว 1 หมื่น 5 พันราย แต่จากการประเมินของฝ่ายทางการอินเดีย ขณะที่นักเคลื่อนไหวในพื้นที่บอกว่าตัวเลขน่าจะสูงกว่านี้ถึง 2 เท่า
หนึ่งในผู้ประท้วง ก็รวมถึงชาวเบลเยี่ยมคนหนึ่ง ที่บังเอิญเข้าไปท่องเที่ยวอยู่ในเมืองโบพาลวันที่เกิดเหตุด้วย โดยเธอเล่าว่า เธอตื่นขึ้นมากลางดึก พร้อมกับอาการแสบร้อนที่ตา และมีปัญหาในการหายใจ แม้วันเวลาจะผ่านมา 25 ปีแล้ว แต่ผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวก็ยังพบเห็นได้ ในบรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น โดยกลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนบอกว่า สารเคมีจากโรงงานแห่งนี้ ยังคงปนเปื้อนในดิน และน้ำบาดาลของเขตที่อยู่ใกล้เคียง
จากข้อมูลของทางการอินเดีย มีผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุครั้งนี้อย่างน้อย 5 แสนคน และเด็กมากมายหลายพันคนที่เกิดจากพ่อแม่ที่ได้รับผลกระทบ ต่างก็มีร่างกายพิกลพิการมากมาย
ทางด้านดาว เคมีคอล บอกว่า การดำเนินการทางกฏหมายได้เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อปี 2532 เมื่อทาง ยูเนี่ยน คาร์ไบด์ ตกลงจ่ายเงินชดเชยให้ทางการอินเดีย 470 ล้านดอลล่าร์ ตอนนี้ความรับผิดชอบทั้งหลายจึงตกอยู่ที่รัฐบาลรัฐมัธยประเทศของอินเดีย
โบพาล, อินเดีย, 25 พฤศจิกายน 2545 – นักรณรงค์ของกลุ่มกรีนพีซประมาณ 60 คนจากทั่วโลกและประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองโบพาล รัฐมัธยประเทศ อินเดียถูกจับกุมภายหลังจากที่ได้เดินทางมาถึงบริเวณซากโรงงานยูเนี่ยน คาร์ไบด์ เพื่อจัดกิจกรรมเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ชาวโบพาลได้เพียงครึ่งชั่วโมง
กำลังตำรวจกว่า 100 นายได้รุกเข้ามา ณ จุดที่มีการจัดกิจกรรมอย่างสันติ เพื่อเรียกร้องให้บริษัท ดาว เคมีคอลส์ ซึ่งได้ซื้อกิจการของบริษัท ยุเยี่ยน คาร์ไบด์ ที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นเมื่อ 18 ปีที่ผ่านมาจากเหตุการณ์แก๊สพิษรั่วจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีถึง 8,000 คนและบาดเจ็บอีกกว่า 500,000 คน
นายวอร์เรน แอนเดอร์สัน ผู้บริหารสูงสุดของยูเนี่ยน คาร์ไบด์ขณะนั้นถูกเรียกร้องให้รับผิดชอบต่อหายนะภัยที่เกิดขึ้นไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านมากว่าทศวรรษแล้วก็ตาม
สำหรับการจับกุมบรรดานักรณรงค์ในกิจกรรมครั้งนี้ พวกเขาได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าบุกรุก ในขณะที่ทีมกู้สารพิษอันตรายของกรีนพีสพยายามจะเข้าไปนำซากสารพิษซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงจำนวนนับพันตันบรรจุและเก็บให้เหมาะสมและปราศจากการปนเปื้อน และเพื่อจะติดต่อให้บริษัท ดาวฯ เร่งลงมือในการทำความสะอาดโบพาล
นักรณรงค์จากสหรัฐอเมริกา อย่าง “สเตฟานี ฮิลล์แมน” กล่าวว่า กรีนพีซและกลุ่มผู้รอดชีวิตต้องการจะ ‘คลีนอัพ’ โบพาลเพื่อที่จะแสดงให้บริษัท ดาวฯ เห็นว่าสารพิษจำนวนมากที่ถูปล่อยทิ้งไว้ตั้งแต่คืนวันเกิดเหตุสามารถจัดการได้ และต้องการให้บริษัทฯ จัดการโดยด่วน
นอกจากนี้นักรณรงค์จาก 14 ประเทศทั่วโลกล้วนแต่มีความต้องการที่จะนำเสนอปัญหาของโบพาล ซึ่งประชาชนจะต้องทนทุกข์ทรมานจากปัญหาที่สืบเนื่องมาจากเมื่อ 18 ปีที่แล้ว เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและปล่อยให้โบพาลเป็นเหมือนสิ่งประจานการไร้ความรับผิดชอบของบริษัทฯ ที่ใหญ่และรุนแรงที่สุดในโลก ขณะที่ประชาชนยังคงต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการที่ต้องอาศัยและใช้น้ำที่ปนเปื้อนสารพิษดื่มกินทุกวัน
ในบริเวณซากโรงงานเก่าของยูเนี่ยน คาร์ไบด์นั้นประกอบด้วยสารพิษที่ยังคงเป็นอันตรายนับพันตันที่ยูเนี่ยน คาร์ไบด์ปล่อยทิ้งเอาไว้ตั้งแต่ปี 2527 เป็นเหตุให้จนถึงปัจจุบันนี้มียอดผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์นี้แล้วสูงถึง 20,000 คน และบ่อน้ำใช้ของชาวเมืองที่อยู่รอบโรงงานมรณะแห่งนี้ใช้กันอยู่ทุกวันนั้นเปรียบได้กับบ่อที่บรรจุภัยร้ายจากสารพิษที่หลงเหลืออยู่ดีๆ นี่เอง
ขณะที่บริษัท ดาวฯ ยังคงนิ่งเฉยกลับมีคนอย่างน้อยวันละหนึ่งคนที่มีสาเหตุของการเสียชีวิตจากผลกระทบที่เกิดจากภัยแก๊สพิษรั่ว การชดเชยที่ไม่พอเพียงและขาดการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสมเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตที่ต่อเนื่องมา สาเหตุที่สำคัญอีกอย่างก็คือสารพิษจำนวนมากที่ถูกทิ้งร้างไว้ในชุมชนที่โบพาล
ผู้ที่เข้าร่วมการรณรงค์ในวันนี้จากกลุ่มโบพาลเพื่อข้อมูลและการเรียกร้อง (the Bhopal Group for Information and Action) Satinath Sarangi กล่าวว่า “ดาว เคมีคอลส์ในฐานะเจ้าของที่ซื้อกิจการยูเนี่ยน คาร์ไบด์ไป กำลังกระทำในสิ่งที่เป็นการคุกคามต่อชีวิตและความเป็นอยู่ด้วยการที่ไม่เหลียวแลสารพิษที่หลงเหลืออยู่เหล่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ควรจะเป็นการควบคุมตัวผู้ที่มาชุมนุมกันอย่างสันติ รัฐบาลอินเดียควรจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นว่าบริษัท ดาวฯจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่โบพาล ไม่ใช่การมาเอาผิดบรรดาผู้ชุมนุม”
หากไม่อยากอ่าน มีคลิปให้ฟัง!