รู้จักกับโรคไซนัสอักเสบ และจัดการด้วยภูมิคุ้มกันที่สมดุล
ไซนัส (Sinus) คือ โพรงอากาศเล็ก ๆ ในกะโหลกศีรษะที่อยู่รอบ ๆ จมูก ซึ่งมีทางเชื่อมมาเปิดที่โพรงจมูกอยู่หลายจุดทั้งด้านซ้ายและด้านขวา โดยมีหน้าที่ให้ความอบอุ่นและความชื้นแก่อากาศที่หายใจเข้าไปในทางเดินหายใจ ช่วยปรับเสียงพูด ช่วยในการรับรู้กลิ่น และสร้างเมือกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก ภายในเยื่อบุโพรงไซนัส (โพรงอากาศ) จะมีขนอ่อน (Cilia) ที่คอยโบกพัดเพื่อระบายเอาเมือก (เสมหะหรือน้ำมูก) ออกมา ซึ่งในภาวะปกติจะมีการระบายของเมือกที่สร้างขึ้นในโพรงไซนัสลงมาที่รูเปิดในโพรงจมูกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก แต่ถ้ารูเปิดเหล่านี้ถูกอุดกั้น เช่น จากการเป็นหวัด (เยื่อบุจมูกและไซนัสอักเสบบวม) การติดเชื้อหรือภูมิแพ้ ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีริดสีดวงจมูก ก็จะทำให้เมือกในโพรงไซนัสไม่สามารถระบายเมือกออกมาได้ เมือกเหล่านี้จึงเกิดการหมักหมมจนกลายเป็นแหล่งอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ลุกลามมาจากโพรงจมูกเข้าไปในโพรงไซนัส จึงทำให้เยื่อบุไซนัสอักเสบบวม ขนอ่อนในโพรงไซนัสสูญเสียหน้าที่ในการขับเมือก และมีการสร้างและสะสมของเมือกมากขึ้น กลายเป็นหนองขังอยู่ในโพรงไซนัสทำให้เกิดอาการของโรคไซนัสอักเสบ