ความสุขจากการเป็น "ผู้ให้" คุณเองก็ทำได้ :)
อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันผู้บริจาคโลหิตโลกแล้ว (14 มิถุนายน 2560) เลยจะมาแชร์ประสบการณ์การบริจาคเลือดของตัวเอง ให้เพื่อนๆที่ยังลังเลใจที่จะทำบุญโดยการต่อชีวิตผู้อื่นอย่างการบริจาคเลือดได้อ่านกัน ว่าจริงๆแล้วเข็มใหญ่ๆที่เรากลัวนั้น มันไม่ได้เจ็บอย่างที่เราคิดเลยค่ะ
ย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อน เราตัดสินใจบริจาคเลือดครั้งแรก เพราะรู้สึกว่าอยากทำตัวเองให้มีประโยชน์กับคนอื่น หรือทำอะไรดีๆเพื่อสังคมบ้าง บวกกับเป็นช่วงที่เราหันมาดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ เลยคิดว่าตัวเองน่าจะใช้ความแข็งแรงให้เกิดประโยชน์กับคนอื่น ว่าแล้วเราก็ตัดสินใจก้าวผ่านความกลัวของตัวเอง โดยการหาข้อมูลเพื่อเตรียมตัวจะไปบริจาคเลือด
ก่อนจะไปบริจาค เราก็ต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนว่าเราสามารถบริจาคโลหิตได้มั้ย ?
- ถ้าอายุระหว่าง 17 ปี ถึง 60 ปีบริบูรณ์ ก็สามารถบริจาคได้ (ถ้าเป็นการบริจาคครั้งแรกมีข้อแม้ว่าต้องอายุไม่เกิน 55 ปีค่ะ)
- ต้องมีน้ำหนักตัว 45 กิโลกรัมขึ้นไป
- ต้องมั่นใจว่ามีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และไม่อยู่ระหว่างการรับประทานยาใดๆค่ะ
- ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือติดยาเสพติด
- สำหรับสาวๆ ถ้าอยู่ระหว่างการมีประจำเดือน ไม่แนะนำให้บริจาคค่ะ เพราะอาจจะเสียเลือดมากเกินไป หรือว่าถ้าตั้งครรภ์อยู่ก็ไม่ควรบริจาคเลือดเช่นกันค่ะ
ถ้ามีคุณสมบัติด้านบนครบ ก็เตรียมพร้อมร่างกายเพื่อไปบริจาคเลือดกันได้เลย
- นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อเนื่องในคืนก่อนที่เราจะไปให้เลือดค่ะ
- ทานข้าวให้อิ่มก่อนมาบริจาคเลือด งดอาหารที่มีไขมันสูง เช่น แกงกะทิ ข้าวมันไก่ หรืออาหารมันๆทั้งหลาย เพราะอาจจะทำให้เลือดของเราไม่สามารถนำไปใช้ได้นั่นเองค่ะ
- ระหว่างรอคิวเพื่อบริจาค ควรดื่มน้ำมากกว่าปกติประมาณ 3-4 แก้ว เพราะจะทำให้เลือดไหวเวียนได้ดี ลดอาการแทรกซ้อน เช่น หน้ามืด เป็นลม อ่อนเพลีย ค่ะ เราเคยดื่มน้ำน้อย พอบริจาคเสร็จ ลุกขึ้นมาไม่ไหว ต้องนอนพักนานเลยค่ะ กว่าจะหาย
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนบริจาคค่ะ
- งดสูบบุหรี่ ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้เต็มที่ค่ะ
ขั้นตอนการบริจาคโลหิต
1.ก่อนบริจาคโลหิต จะต้องทำการเช็คลิสเพื่อคัดกรองความพร้อมของร่างกายก่อนว่าจะสามารถบริจาคโลหิตได้หรือไม่ โดยเค้าจะมีคำถามมาให้เราติ๊กประมาณ 20 ข้อค่ะ จากนั้นจึงค่อยไปวัดความดันโลหิตเป็นขั้นตอนต่อไป
ตัวอย่างแบบสำรวจ(หน้า)
ตัวอย่างแบบสำรวจ(หลัง)
2.วัดความดันโลหิต ศูนย์บริจาคโลหิตบางที่ เราก็สามารถวัดความดันโลหิตได้ด้วยตัวเองค่ะ การแสดงผลจะออกมาเป็นสลิปกระดาษ
3. เจาะเลือดเพื่อตรวจสอบความเข้มข้นของเลือด ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริจาคเลือดได้หรือไม่ ในขั้นตอนนี้หากความเข้มข้นของเลือดไม่ผ่าน จะยังบริจาคไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะให้วิตามินเสริมธาตุเหล็กกลับไปรับประทานก่อน แล้วค่อยมาบริจาควันหลังค่ะ
4.นั่งรถคิวเพื่อรอบริจาคเลือด ระหว่างนี้ควรดื่มน้ำสัก3-4 แก้วนะคะ เพื่อทำให้เลือดเราไม่ข้นหนืด เวลาบริจาคจะได้เลือดจะได้ไหลสะดวก
5.ขึ้นเตียง เมื่อถึงคิวเรา เจ้าหน้าที่จะเรียกไปนอนรอบนเตียง จากนั้นจะนำสายยางมารัดรอบต้นแขน จากนั้นจะทำความสะอาดด้านในข้อพับ เพื่อให้เห็นเส้นเลือดดำชัดเจน และทำการเจาะเลือด ในระหว่างที่เลือดเรากำลังไหลจากสายยาง ให้เราบีบ-คลายลูกเหล็กเป็นจังหวะ เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยรวมระยะเวลาการการให้เลือดประมาณ 10 -15 นาทีขึ้นอยู่กับบุคคลค่ะ
6.นอนพักสักครู่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่การบริจาคเลือดแต่ละครั้งจะเสียเลือดประมาณ 300 - 400 ซี.ซี. เราไม่ควรลุกจากเตียงในทันที ควรนอนพักสักครู่ หลังจากนั้นจึงเดินออกมายังห้องรับรอง เพื่อทานอาหารว่าง และเครื่องดื่มที่จัดเตรียมไว้ค่ะ
เพียงเท่านี้ ก็เท่ากับเราได้ทำบุญครั้งใหญ่แล้วค่ะ เลือดของเราจะถูกนำไปคัดแยกเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการต่อไป โดยหลังจากบริจาคเลือดแล้ว ควรทานวิตามินธาตุเหล็กที่ได้รับมาจนหมด เพื่อป้องกันภาวะการขาดธาตุเหล็กด้วยด้วยนะคะ
หลังจากการบริจาคโลหิตแล้ว อย่าลืมปฏิบัติตัวตามคำแนะนำนะคะ
หวังว่าเพื่อนๆคงได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับการแชร์ประสบการณ์ขั้นตอนการบริจาคโลหิตจากเรานะคะ ถ้าหากใครสนใจอยากก้าวผ่านความกลัวของตัวเองแบบเรา แถมยังสุขใจที่ได้ช่วยต่อชีวิตให้ผู้อื่นแบบเราก็สามารถเข้าไปตรวจสอบสถานที่รับบริจาคโลหิตได้ทางเวปไซต์ของสภากาชาดไทยค่ะ