หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ริดสีดวง อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคริดสีดวงทวาร 18 วิธี !!

โพสท์โดย K. Top
ริดสีดวงทวาร

 

ริดสีดวง (Hemorrhoids หรือ Piles) เป็นภาวะที่หลอดเลือดดำที่มีอยู่ตามธรรมชาติของคนทั่วไปในบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพอง (ขอด) เป็นหัว หรือที่เรียกว่า “หัวริดสีดวง” แล้วมีการปริแตกของผนังหลอดเลือดในขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ จึงทำให้มีเลือดออกเป็นครั้งคราว โดยมักจะมีอาการของโรคเกิดขึ้นในเวลาท้องผูกหรือเกิดท้องเดินบ่อยครั้ง ปกติแล้วจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงหรืออันตราย โดยอาจจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง น่ารำคาญ หรือทำให้วิตกกังวลได้

หัวริดสีดวงที่พบอาจมีเพียงหัวเดียวหรือมีหลายหัวก็ได้ ถ้าเกิดจากหลอดเลือดดำที่อยู่ใต้ผิวหนังตรงปากทวารหนักจะเรียกว่า “ริดสีดวงภายนอก” (External Hemorrhoids) ซึ่งอาจมองเห็นจากภายนอกได้ แต่ถ้าเกิดจากหลอดเลือดอยู่ลึกเข้าไปจะเรียกว่า “ริดสีดวงภายใน” (Internal hemorrhoids) ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อใช้กล้องส่องตรวจไส้โดยตรง

โรคริดสีดวงทวาร โดยตัวมันเองแล้วไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง มักไม่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต แต่อาจทำให้เป็นเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ได้ ถ้ายังไม่สามารถควบคุมสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้ โดยจะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด และแม้ว่าจะเคยผ่าตัดรักษาริดสีดวงมาแล้ว ก็อาจจะเกิดริดสีดวงหัวใหม่ ทำให้มีเลือดออกได้อีก

  • โรคริดสีดวงทวารทั้งภายนอกและภายในอาจปรากฏให้เห็นต่างกัน แต่ในหลาย ๆ รายก็พบว่ามีอาการของทั้งสองประเภท
  • ริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อย มักพบเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด ๆ ในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 5% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด โดยจะพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 45-65 ปี แต่อาจพบได้ในเด็กและในช่วงวัยอื่น ๆ ทุกอายุได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิดเป็นหลัก (บางรายงานเชื่อว่า อย่างน้อยร้อยละ 50 ของประชากรชาวอเมริกันเป็นโรคริดสีดวงทวารในระยะแสดงอาการช่วงหนึ่งในชีวิต และประมาณร้อยละ 50 เมื่อเป็นแล้วจะกลับมาเป็นซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็มีอัตราการเป็นโรคนี้พอ ๆ กัน)
  • หลายคนรู้สึกอายที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร บ่อยครั้งกว่าจะไปพบแพทย์ได้ก็เมื่อเป็นเอามาก ๆ แล้ว ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการกินยา

สาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร

 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคริดสีดวงทวาร คือ หลอดเลือดดำที่อยู่ใต้เยื่อเมือกและผิวหนังในบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพองเป็นหัว เพราะมีภาวะความดันในหลอดเลือดดำสูงจากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่

  1. การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย
  2. ภาวะท้องผูกเรื้อรัง ทำให้ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำ แรงเบ่งจะเพิ่มความดัน และ/หรือทำให้เกิดการเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จนส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพองหรือหลอดเลือดขอดได้ง่าย
  3. ท้องเดิน ท้องเสียเรื้อรัง การถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ แรงเบ่งจะเป็นการเพิ่มความดัน และ/หรือทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดได้เช่นกัน
  4. อุปนิสัยในการเบ่งอุจจาระ เช่น ชอบเบ่งอุจจาระแรง ๆ หรือพยายามขับอุจจาระก้อนสุดท้ายออกไปให้ได้
  5. การเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน จากการเล่นโทรศัพท์มือถือหรืออ่านหนังสือในขณะขับถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการนั่งแช่ การยืน หรือเดินเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้เกิดการกดทับกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความดัน และ/หรือทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด
  6. การชอบใช้ยาสวนอุจจาระหรือยาระบายอย่างพร่ำเพรื่อ
  7. ภาวะตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักของครรภ์จะกดทับลงบนกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลกลับหัวใจได้ลดลง จึงเกิดการคั่งอยู่ในหลอดเลือดและเกิดหลอดเลือดบวมพองตามมา
  8. น้ำหนักตัวมาก (โรคอ้วน) มีผลให้แรงดันในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานเพิ่มสูงขึ้น เลือดจึงคั่งในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดได้เช่นเดียวกับสตรีตั้งครรภ์
  9. อายุมาก (ผู้สูงอายุ) ผู้สูงอายุมักจะมีการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ รวมทั้งความเสื่อมของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จึงทำให้หลอดเลือดโป่งพองได้ง่ายกว่าปกติ
  10. การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เพราะจะทำให้เกิดการกดเบียดทับหรือเกิดการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดส่วนนี้อย่างเรื้อรัง มีผลทำให้เลือดไปคั่งอยู่ในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองได้ง่าย
  11. อาการไอเรื้อรัง มีผลเพิ่มแรงดันในช่องท้อง
  12. โรคแต่กำเนิดที่ไม่มีลิ้นปิดเปิด (Valve) ในหลอดเลือดดำในเนื้อเยื่อหลอดเลือดซึ่งช่วยในการไหลเวียนเลือด มีผลทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งอยู่ภายในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองได้ง่าย
  13. เกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว ริดสีดวงทวารยังอาจพบร่วมกับโรคในช่องท้องอื่น ๆ ได้ เช่น ก้อนเนื้องอกในท้อง (เช่น เนื้องอกมดลูก เนื้องอกหรือถุงน้ำรังไข่), มะเร็งลำไส้ใหญ่ (อาจทำให้มีอาการของริดสีดวงทวารได้ ดังนั้น ถ้าพบว่ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือพบในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อความแน่ใจ), ต่อมลูกหมากโต, ตับแข็ง (เพราะทำให้มีภาวะความดันในหลอดเลือดดำตับสูง ซึ่งส่งผลกระทบมาที่หลอดเลือดดำที่ทวารหนัก) เป็นต้น
  14. ไม่ทราบสาเหตุหรืออาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม โดยพบว่าผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นริดสีดวงทวารหนัก จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป

ชนิดของโรคริดสีดวงทวาร

 

ทวารหนักเป็นส่วนติดต่อมาจากลำไส้ใหญ่และมาเปิดออกนอกร่างกาย มีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร และถูกแบ่งครึ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้วยเส้นรอบวงที่เรียกว่า “แนวเส้นประสาท” หรือ “แนวรอยต่อระหว่างปลายลำไส้กับทวารหนัก” (Dentate Line หรือ Pectinate Line) ส่วนที่อยู่เหนือแนวเส้นประสาทจะเรียกว่า “รูทวารหนัก” (Anal canal) ซึ่งจะไม่มีเส้นประสาทรับความเจ็บปวดมาเลี้ยงที่ผนังของรูทวารหนักปกติ แต่จะมีก้อนเนื้อนูนออกมาเป็นระยะโดยรอบ หรือที่เรียกว่า “เบาะรอง” (Cushion) ซึ่งภายในจะมีกลุ่มเส้นเลือดและกล้ามเนื้ออยู่

  1. โรคริดสีดวงทวารแบบภายนอก (External hemorrhoids) จะปกคลุมไปด้วยชั้นผิวหนัง เกิดขึ้นในบริเวณใต้แนวเส้นประสาท (Pectinate Line) ซึ่งจะมีเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดมาเลี้ยง เรียกว่า “ปากทวารหนัก” (Anal margin) เมื่อเบาะรองจากบริเวณรูทวารหนักเลื่อนตัวลงมาเรื่อย ๆ จนถึงปากทวารหนัก ก็จะดันกลุ่มเส้นเลือดและเนื้อเยื่อของปากทวารหนักให้เลื่อนต่ำลงและเบียดออกไปด้านข้างจนกลายเป็นก้อนนูนที่ปากทวารหนัก
  2. โรคริดสีดวงทวารแบบภายใน (Internal hemorrhoids) จะปกคลุมด้วยเยื่อบุลำไส้ เกิดขึ้นในบริเวณเหนือแนวเส้นประสาท (Pectinate Line) หรือที่รูทวารหนัก ซึ่งจะไม่มีเส้นประสาทรับความเจ็บปวดมาเลี้ยงที่ผนังของรูทวารหนักปกติ ผู้เป็นริดสีดวงแบบนี้จึงมักไม่มีอาการเจ็บปวด และผู้ที่เป็นส่วนใหญ่ก็มักไม่ให้ความสนใจแม้จะรู้ตัวว่าเป็น ถ้ารักษาไม่หายก็สามารถเป็นริดสีดวงทวารได้ 2 แบบ คือ แบบมีก้อนยื่นออกทวาร (Prolapsed hemorrhoids) หรือแบบบีบรัด (Strangulated hemorrhoids) ถ้าหูรูดทวารหนักหดตัวและบีบก้อนหัวริดสีดวงจนขาดเลือดไปเลี้ยง ริดสีดวงก็จะกลายเป็นแบบบีบรัด
    นอกจากนี้ริดสีดวงแบบภายในยังสามารถแบ่งตามระยะความรุนแรงของโรคได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

     

    • ระยะที่ 1 หลอดเลือดที่โป่งพอง ยังเกิดอยู่ภายในทวารหนักและลำไส้ตรง และยังไม่มีหัวริดสีดวงโผล่ออกมา (สามารถรักษาโดยการให้ยา หรือฉีดยาเข้าไปในตำแหน่งที่มีเลือดออกได้)
    • ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงปลิ้นโผล่ออกมาอยู่ที่ปากทวารหนักในขณะถ่ายอุจจาระ แต่หัวที่โผล่ออกมานี้สามารถกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้เองหลังจากขับถ่ายอุจจาระเสร็จ (สามารถใช้วิธียิงยางรัดโคนหรือหัวของริดสีดวงที่โผล่ออกมาได้ ซึ่งจะทำให้หัวริดสีดวงนั้นฝ่อและหลุดออกไปเอง)
    • ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงจะไม่สามารถกลับเข้าไปภายในทวารหนักเองได้หลังจากขับถ่ายอุจจาระเสร็จ แต่ยังสามารถใช้นิ้วดันกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้
    • ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงจะกลับเข้าไปภายในทวารหนักไม่ได้ และจะค้างอยู่ที่ปากทวารหนัก ถึงแม้จะใช้นิ้วช่วยดันแล้วก็ตาม ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดมากและต้องรีบไปพบแพทย์ด่วน ก่อนที่หัวริดสีดวงจะเน่าตายจากการขาดเลือด (สำหรับระยะที่ 3-4 สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัดทั่วไป)

อาการของริดสีดวงทวาร

 

  1. อาการของโรคริดสีดวงภายนอก คือ
    • มีติ่งเนื้อสีชมพูคล้ำออกมาจากปากทวารหนักเมื่อมีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม เจ็บ และระคายเคือง (ถ้าไม่เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ก็อาจจะไม่ก่อปัญหาอะไรมากนัก)
    • หากมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดที่โป่งพองจะก่อให้เกิดอาการปวด บวม เจ็บมากขึ้น (แต่มักจะไม่ค่อยพบว่ามีเลือดออกจากติ่งเนื้อนี้) ซึ่งปกติแล้วจะหายเจ็บได้ภายใน 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม กว่าจะหายบวมอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เมื่อหายดีแล้วอาจจะยังมีผิวหนังเป็นติ่งเหลืออยู่ และหากหัวริดสีดวงมีขนาดใหญ่ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือคันบริเวณรอบปากทวารหนักได้ด้วย
  2. อาการของโรคริดสีดวงภายใน คือ
    • ส่วนมากจะมีอาการเลือดออกทางทวารหนัก โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด ซึ่งจะเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังจากถ่ายอุจจาระเสร็จ เลือดที่ออกมานั้นจะมีลักษณะเป็นเลือดสีแดงสด ออกปนมากับอุจจาระ หรือมีเลือดไหลหยดลงในโถส้วม และอาจสังเกตว่ามีเลือดเปื้อนบนกระดาษชำระ (เลือดจะออกมาในลักษณะอาบก้อนอุจจาระ ส่วนตัวก้อนอุจจาระยังเป็นสีของมันตามปกติ ไม่มีมูกปน และเลือดมักจะหยุดไหลได้เอง) ซึ่งอาการเหล่านี้จะมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ ถ้ามีเลือดออกมากหรือเป็นเรื้อรัง อาจทำให้เกิดอาการซีดตามมาได้
    • ในรายที่เป็นมาก หลอดเลือดจะบวมมาก ทำให้หัวริดสีดวงโผล่ออกมานอกปากทวารหนัก หรือเห็นเป็นก้อนเนื้อนิ่ม ๆ ปลิ้นโผล่ออกมา ซึ่งในภาวะเช่นนี้จะก่อให้เกิดอาการปวดหรือเจ็บที่ทวารหนักได้ (ถ้าเกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้น ริดสีดวงกลายเป็นก้อนแข็ง หรือเกิดภาวะเซลล์ตายจะทำให้มีอาการเจ็บปวดได้) และอาจจะทำให้เกิดอาการคันและอาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ได้ด้วยเช่นกัน

การวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวาร

 

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวารได้จากการดูประวัติอาการ การตรวจร่างกาย โดยการตรวจก้อนเนื้อบริเวณทวารหนัก (อาจคลำได้ก้อนเนื้อนุ่ม ๆ สีคล้ำ ๆ ที่ปากทวารหนัก) และจากการส่องกล้องตรวจทางทวารหนักและลำไส้โดยตรง แต่ในบางกรณีอาจมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาด้วย เมื่อต้องแยกจากโรคมะเร็ง

ข้อควรรู้ : ปัญหาบริเวณปลายลำไส้และทวารหนักบางอย่าง อาจมีอาการคล้ายคลึงกัน ทำให้อาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคริดสีดวงได้ เช่น แผลปริ แผลชอนทะลุ มะเร็งลำไส้ตรง เส้นเลือดขอดบริเวณลำไส้ตรง และอาการคัน ส่วนอาการเลือดออกก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกันจากสาเหตุของมะเร็งลำไส้ ในกรณีที่เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ, โรคลำไส้อักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ, โรคถุงลำไส้ใหญ่ และความผิดปกติของเส้นเลือด และสำหรับภาวะอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดก้อนเนื้อบริเวณปากทวารหนักได้ก็มีหลายอย่าง เช่น ผิวหนังเป็นติ่ง, หูดทวารหนัก, ติ่งเนื้อ, ลำไส้ตรงเลื่อน, ปุ่มพองออกบริเวณทวารหนัก, เส้นเลือดขอดบริเวณลำไส้ตรงกับทวารหนัก ซึ่งเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงในเส้นเลือดหลักเพิ่มขึ้น อาจแสดงอาการให้เห็นคล้ายคลึงกับโรคริดสีดวงทวาร แต่เป็นภาวะอีกอย่างหนึ่งต่างหาก

ผลข้างเคียงของโรคริดสีดวงทวาร

 

  • ภาวะซีด เมื่อมีเลือดออกจากกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง หรือบางครั้งที่มีเลือดออกมากและไม่สามารถหยุดได้เอง อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เป็นการด่วน (สำหรับอาการเลือดออกมากจนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคโลหิตจาง ค่อนข้างจะพบได้น้อย ส่วนอาการที่มีเลือดออกมากจนทำให้เสียชีวิตนั้นก็มีน้อยเข้าไปใหญ่ ฉะนั้นอย่าเป็นกังวลมากเกินไปครับ)
  • เกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่ ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดจะทำหน้าที่ช่วยการปิดตัวของหูรูดปากทวารหนักในช่วงที่ยังไม่ถ่ายอุจจาระ แต่เมื่อเกิดหลอดเลือดโป่งพอง หูรูดปากทวารหนักจะปิดไม่สนิท จึงทำให้เกิดการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ตามมา
  • การติดเชื้อ อาจทำให้เกิดเป็นฝีหรือหนองในบริเวณก้นได้
  • เมื่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดปลิ้นออกมานอกทวารหนักในระยะที่ 4 จะเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดขาดเลือดและเกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อหลอดเลือดได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ซึ่งในกรณีนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ควรรีบไปพบแพทย์ด้วยเช่นกัน
 

วิธีรักษาริดสีดวงทวาร

 

  • การรักษาแบบประคับประคองอาการ ได้แก่ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มความดันในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร และการใช้ยาต่าง ๆ ซึ่งมักใช้ในกรณีที่เป็นริดสีดวงทวาร โดยไม่มีสาเหตุที่ร้ายแรง
    1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การใส่ยาทาบริเวณหัวริดสีดวง การเหน็บยา หรือการกินยาต่าง ๆ ตามที่แพทย์สั่ง
    2. ระวังอย่าให้ท้องผูกหรือท้องเดินบ่อย ๆ ผู้ป่วยควรรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูง ๆ ให้มาก ๆ เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง มะละกอสุก รวมถึงการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทกากใย เพื่อป้องกันอาการท้องผูก และดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย ถ้ายังมีอาการท้องผูกอีกให้กินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซียม, ดีเกลือ, อีแอลพี, สารเพิ่มกากใย
    3. ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่กลั้น และไม่เบ่งอุจจาระ
    4. หลีกเลี่ยงการนั่งเบ่งถ่ายเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการยืน การเดิน และการนั่งแช่เป็นเวลานาน ๆ
    5. พยายามฝึกไม่เบ่งอุจจาระ
    6. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้โรคริดสีดวงทวารเป็นมากขึ้นได้
    7. ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรหาวิธีลดความอ้วนอย่างเหมาะสมและหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
    8. เมื่ออุจจาระหรือปัสสาวะเสร็จ ควรล้างก้นด้วยน้ำอุ่น ๆ หรือน้ำสะอาด พยายามรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ แต่ถ้าอยากใช้สบู่ ก็ควรเป็นสบู่เด็กอ่อนเพื่อลดการระคายเคืองของหัวริดสีดวงที่กำลังบวมหรือมีการอักเสบอยู่ (ไม่ควรทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระแบบแข็ง แต่ควรใช้วิธีชุบน้ำ หรือใช้กระดาษชำระชนิดเปียกแทน)
    9. ถ้าหัวริดสีดวงหลุดออกมาข้างนอก ให้ใส่ถุงมือแล้วใช้ปลายนิ้วชุบสบู่ให้หล่อลื่น แล้วดันหัวกลับเข้าไปใหม่ ซึ่งจะช่วยได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ผล แนะนำให้ไปพบแพทย์
    10. ถ้ามีอาการคันให้ยาทาลดคันร่วมด้วย
    11. ในกรณีที่มีอาการปวดมาก ๆ เนื่องจากเกิดการอักเสบให้กินยาแก้ปวด นั่งแช่ในน้ำอุ่นจัด ๆ ครั้งละ 15-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดบวม และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวาร โดยเหน็บวันละ 2-3 ครั้ง เช้า ก่อนนอน และหลังจากถ่ายอุจจาระเสร็จ จนกว่าอาการจะบรรเทา ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน
    12. เมื่อมีก้อนเนื้อบวมออกมาบริเวณก้น อาจใช้วิธีประคบด้วยน้ำเย็น ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยลดอาการบวมลงได้บ้าง
    13. ถ้ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ หรือพบในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือสงสัยว่ามีโรคอื่นร่วมด้วย แนะนำว่าควรไปตรวจที่โรงพยาบาล โดยแพทย์อาจต้องใช้กล้องส่องตรวจไส้ตรง (Proctoscopy) ถ้าหากสงสัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็อาจจะต้องเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้งแบเรียม (Barium enema) ด้วย หรือใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
      เมื่อมีเลือดออกมาก ให้ใช้ผ้าขนหนูสะอาดกดบริเวณก้นเอาไว้ให้แน่น แต่ถ้าเลือดยังไม่หยุดไหล ควรรีบไปแพทย์เป็นการด่วน
      หากเกิดภาวะซีดควรรับประทานยาบำรุงโลหิตวันละ 3 ครั้ง (ครั้งละ 1 เม็ด)
    14. ไปพบแพทย์ตามนัดอยู่เสมอ และควรรีบไปพบก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่ หรือเมื่ออาการต่าง ๆ เลวร้ายลง เช่น เมื่อมีเลือดออกทางก้นไม่หยุด หรือเมื่อหัวริดสีดวงไม่สามารถกลับเข้าไปในทวารได้ (อย่าพยายามออกแรงดันหัวริดสีดวงมากจนเกินไป เพราะจะทำให้หัวริดสีดวงได้รับบาดเจ็บและบวมมากขึ้น)
  • การรักษาทางศัลยกรรม (หากใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองมาแล้วแต่ไม่ได้ผล) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ข้อบ่งชี้ และดุลยพินิจของแพทย์
    1. การฉีดยาเข้าที่หัวริดสีดวงทวาร ตัวยาจะทำให้หลอดเลือดดำฝ่อและหัวริดสีดวงยุบไป มักใช้กับโรคริดสีดวงในระยะที่ 2 วิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย ไม่มีความเจ็บปวด แพทย์มักจะนัดมาฉีดสัปดาห์ละครั้งประมาณ 3-5 ครั้ง สามารถช่วยให้หายขาดได้ประมาณ 60-70%
    2. การรักษาโดยวิธีใช้ยางรัด (Rubber band ligation) หรือยิงยางรัดโคนหรือหัวของริดสีดวงที่โผล่ออกมา ซึ่งจะทำให้หัวของริดสีดวงนั้นฝ่อและหลุดออกไปเองภายใน 5-7 วัน วิธีจะใช้ได้ผลดีในระยะ 2 โดยเฉพาะเมื่อหัวริดสีดวงมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการเจ็บปวด แต่หากรัดยางใกล้กับแนวเส้นประสาทมากเกินไป จะส่งผลให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงทันที
    3. การทำลายเนื้อเยื่อด้วยการเผา เป็นวิธีการรักษาที่ใช้กับโรคริดสีดวงระยะที่ 2 แต่ยังไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย โดยปกติแล้วแพทย์จะใช้เฉพาะเมื่อวิธีอื่นไม่ได้ผล ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ได้แก่ การเผาเนื้อเยื่อด้วยการใช้ไฟฟ้าจี้, การฉายรังสีอินฟราเรด, การใช้แสงเลเซอร์ผ่าตัด, การผ่าตัดด้วยการใช้ความเย็น เป็นต้น (การทำลายเนื้อเยื่อด้วยแสงอินฟราเรดอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับกรณีที่เป็นโรคในระยะที่ 1-2 ส่วนระยะที่ 3-4 การกลับมาเป็นซ้ำจะมีอัตราที่สูง)
    4. การผ่าตัดริดสีดวงทวาร มักทำให้กรณีที่เป็นมากแล้วในระยะที่ 3-4 หรือเมื่อมีลิ่มเลือด หรือมีการขาดเลือดของริดสีดวงทวาร ความจริงแล้วการผ่าตัดริดสีดวงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และไม่เจ็บในขณะผ่าตัด เพราะแพทย์จะให้ยาสลบหรือฉีดยาชาเข้าไขสันหลังก่อนเสมอ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบ้าง แต่ก็ไม่มากมายแต่อย่างใด และสามารถระงับได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด นอนพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วันก็กลับบ้านได้ ที่ผมกล่าวมานี้คือวิธีการรักษาแบบเดิม ๆ ครับ แต่ในปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยสามารถผ่าตัดได้โดยการฉีดยาชาเฉพาะที่รอบรูทวารหนักเท่านั้น ไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษใด ๆ ร่วมด้วย แต่อาจมีการฉีดยาหรือรับประทานยาแก้ปวดก่อนการผ่าตัด วิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ปวดแผลน้อยมากหรือไม่ปวดเลย ที่สำคัญก็คือไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล และสามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ซึ่งวิธีที่ว่านี้ก็คือ การใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น Ligasure หรือ Harmonic scalpel ในการตัดริดสีดวงทวารแต่ละตำแหน่งโดยไม่ต้องใช้ไหมเย็บ หรืออาจเย็บแผลเพียง 1-2 แห่ง และอีกวิธีคือการใช้เครื่องมือตัดต่อเยื่อบุลำไส้ชนิดกลมหรือเครื่องตัดเย็บอัตโนมัติ (Stapled haemorrhoidopexy) ซึ่งเป็นการผ่าตัดริดสีดวงและเย็บบาดแผลไปด้วยในเวลาเดียวกันแบบอัตโนมัติ ทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดจากการผ่าตัดน้อยมาก มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีริดสีดวงหลายตำแหน่ง (อย่างน้อย 3 ตำแหน่ง)

ข้อควรระวัง : การใช้ยากัดริดสีดวงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะอาจก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้ เช่น ทวารหนักเน่า หรือตีบตัน

วิธีป้องกันโรคริดสีดวงทวาร

 

  1. ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันคือ ทำให้อุจจาระไม่แข็งและผ่านไปได้โดยง่าย ด้วยการรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง ๆ ให้มาก ๆ ระวังอย่าให้ท้องผูก
  2. ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย
  3. ฝึกเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา ไม่กลั้นอุจจาระ (ขับถ่ายโดยไวเมื่อรู้สึกปวดอุจจาระ)
  4. หลีกเลี่ยงการนั่งเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน ๆ (ให้ใช้เวลาให้น้อยที่สุดในขณะเบ่งถ่าย และหลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์มือถือและอ่านหนังสือในขณะขับถ่าย)
  5. ระวังอย่าให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเดิน หรือท้องเสียบ่อย ๆ
  6. ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก (อ้วน) ควรหาวิธีลดความอ้วนอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  7. ออกกำลังกายให้เพียงพอ พยายามเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ เช่น การเดิน
ขอบคุณที่มา: http://www.honestdocs.co
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 


โพสท์โดย: K. Top
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
48 VOTES (4/5 จาก 12 คน)
VOTED: llHackll, makhamdong, Tabebuia, zerotype, Yang TianLiang, MsFour, Chiharu, ซาอิ, chuanb, todaysayhi
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
13 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการช่วยตัวlองแก้วน้ำของ "ลิซ่า" ธรรมดาซ่ะที่ไหน..สมฐานะซุปตาร์ระดับโลกของแทร่!พระเอกไทยแท้ จากไปอย่างสงบ อ๋อม อรรพันธ์เลขเด็ด เลขมาเเรง เลขดัง "รวมหวยเด็ดสำนักดัง vol.5" งวดวันที่ 1 ตุลาคม 2567ช็อก อ๋อม อรรคพันธ์ นะมาตร พระเอกชื่อดัง เสียชีวิตแล้วพระเอกดัง "อ๋อม อรรคพันธ์" เสียชีวิตแล้ว!..เพื่อนๆ ในวงการร่วมไว้อาลัยลิเบียขัดขวาง การลักลอบขนทองคำ 100 กก. และเงินสด 1.5 ล้านยูโรได้นักดับเพลิงมะกันถูกกล่าวหาว่าจุดไฟเผาแหล่งผลิตไวน์ของรัฐคุณยายวัย 79 ปี เข้าฟิตเนสตลอดระยะเวลา 19 ปีไม่ทันตั้งตัว พระเอกดัง “อ๋อม อรรคพันธ์” เสียชีวิตแล้ว ในวัย 39 ปีแอฟริกาใต้ เมืองโจฮันเนสเบิร์ก เผชิญหิมะตกหนัก ส่งผลให้ถนน N3 สู่เดอร์บันเป็นอัมพาต
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
แอฟริกาใต้ เมืองโจฮันเนสเบิร์ก เผชิญหิมะตกหนัก ส่งผลให้ถนน N3 สู่เดอร์บันเป็นอัมพาตคุณยายวัย 79 ปี เข้าฟิตเนสตลอดระยะเวลา 19 ปีพระเอกไทยแท้ จากไปอย่างสงบ อ๋อม อรรพันธ์
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
หมอมาเฉลยเอง..แฟนมีประจำเดือนแล้วมีlซ็กส์ได้มั๊ย ?[ไวอๅกร้ๅ] ช่วยทำให้อึดแค่ไหน?พระราชวังต้องห้าม มีกี่ห้องกันเเน่ทำงานพาร์ทไทม์ เซเว่น ดีไหม เจาะลึกทุกแง่มุมก่อนตัดสินใจ
ตั้งกระทู้ใหม่