พระราชประวัติ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์
พระประวัติ
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เป็นพระธิดาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ประสูติแต่ยุวธิดา ผลประเสริฐ อดีตนักแสดง[1] (ปัจจุบันใช้ชื่อว่าสุจาริณี วิวัชรวงศ์) เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530 เมื่อแรกประสูติมีพระนามว่า หม่อมเจ้าบุษย์น้ำเพชร มหิดล พระองค์มีพระเชษฐาร่วมพระมารดา 4 องค์ ได้แก่ จุฑาวัชร, วัชรเรศร, จักรีวัชร และวัชรวีร์ วิวัชรวงศ์ มีพระภคินีและพระอนุชาร่วมพระชนก คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ตามลำดับ
หลังจากการหย่าร้างของพระบิดาและพระมารดา อดีตหม่อมสุจาริณีพร้อมพระโอรสได้ย้ายไปพำนักยังต่างประเทศในปี พ.ศ. 2539 ส่วนหม่อมเจ้าบุษย์น้ำเพชรตกอยู่ในการดูแลของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ[2] ได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า หม่อมเจ้าจักรกฤษณ์ยาภา มหิดล[3] ขณะมีพระชันษา 10 ปี พระองค์ประทับร่วมกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถราวสองปี[4] ที่ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548[5]
พระองค์สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนจิตรลดา[6] ต่อมาได้สำเร็จการศึกษาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 (เหรียญทอง) ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.93[7][8] และทรงได้รับรางวัลนิสิตดีเด่นประจำปีการศึกษา 2551 ด้วยมีผลการการเรียนอันน่าพึงใจ[9] หลังจากนี้พระองค์ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศส[10][11] ณ สถาบันเอโกล เดอ ลา ฌอมป์ซินดิกัล เดอ ลา กูตูร์ปารีเซียง[12]
ชีวิตส่วนพระองค์
พระองค์เรียกแทนพระองค์เองว่า "ท่านหญิง" ด้วยมีพระยศเดิมเป็นหม่อมเจ้ามาก่อน พระองค์มีพระสหายน้อยคน ทรงประทานสัมภาษณ์ว่า "...ท่านหญิงมีเพื่อนน้อย แต่ทุกคนดีมีคุณภาพ"[13] ระหว่างที่ทรงศึกษา ณ โรงเรียนจิตรลดา พระสหายจะเรียกพระองค์ว่า "ตึก" เพราะทรงสวมรองเท้าส้นตึกซึ่งเป็นที่นิยมมากในขณะนั้น[14]
พระองค์หญิง กล่าวว่าพระองค์เป็นคนที่โกรธง่ายหายเร็ว[14] และทรงกล่าวว่าครั้งหนึ่งเคยมีสุภาพบุรุษเคยมาจีบพระองค์ถึงสามคนโดยที่ไม่ทราบว่าพระองค์เป็นใคร[15] ทั้งนี้ทรงมี "สเป็ก" ส่วนพระองค์ ทรงกล่าวว่า "เรามี Type ของผู้ชายที่เราชอบ คือ ชอบคนที่คิดบวก แล้วเป็นคนที่ชอบเรา รักเราที่เป็นตัวเรา ไม่ใช่เป็นเจ้าหญิง แล้วต้องดูแลตัวเรา ไม่ใช่หมายถึง เรื่องเงินทอง แต่ดูแลเรื่องจิตใจ แล้วไม่ทำร้ายกัน...และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน"[16] และ "เราไม่จำเป็นต้องเลือกคนที่รวยที่สุดในจักรวาล หรือเลือกคนที่เป็นเจ้าหรือมีฐานันดรอะไร..."[17]
พระองค์ได้รับการจัดอยู่ในลำดับที่ 16 โดยนิตยสารฟอบส์ในเยาวราชนิกุลที่ทรงได้รับความนิยมมากสุดในโลกยี่สิบอันดับ[18] ในปี พ.ศ. 2556 เว็บไซต์ askmen ได้จัดอันดับพระองค์ว่าเป็นเจ้าหญิงที่โดดเด่นที่สุด อันดับที่ 7[19] และพระองค์ได้รับรางวัล "แฟชั่นไอคอน" จากนิตยสาร นูเมโร ไทยแลนด์ ในปีเดียวกัน[20]
วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557 พระองค์หญิงได้ทรงโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ้กส่วนพระองค์ ว่าทรงคบหากับชายชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมปีที่แล้ว ด้วยทรงต้องการสยบข่าวลือที่ว่าพระองค์เสกสมรสแล้ว[21][22]
ความสนพระทัย
พระองค์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักกีฬาทีมชาติไทย ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันในการแข่งขันกีฬาแบดมินตันซีเกมส์ 2005 ประเภททีมหญิง ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยได้รับรางวัลเหรียญทอง[23] และอีกหลายรายการ[24][25]
นอกจากกีฬาแบดมินตัน พระองค์ยังทรงสนพระทัยกีฬาขี่ม้าตั้งแต่พระชันษา 9 ปี ด้วยขี่ตามพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา[26] ที่ต่อมาพระองค์ได้กลับมาสนพระทัยจนเป็นนักกีฬาขี่ม้าดังกล่าว ซึ่งชนะเลิศในรายการไทยแลนด์แชมเปียนชิพคิงส์คัพ 2012[27][28] และทรงตั้งพระทัยที่จะคัดเลือกเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยในซีเกมส์ 2013 [29] ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ทรงลงแข่งขันขี่ม้าประเภทศิลปะบังคับม้าประเภททีม[30] วันที่ 14 ธันวาคม พระองค์ลงแข่งรอบชิงชนะเลิศทรงทำคะแนนรวม 53.810 คะแนน จบอันดับที่ 10 ในการแข่งขัน[31]
ทรงเข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2014[32][33] โดยเข้าแข่งขันกีฬาศิลปะการบังคับม้าประเภททีม ลงแข่งขันเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557 ร่วมกับ เฉลิมฉาน ยศวิริยะพาณิชย์, รวิสรา เวชากร และภคินี พันธาภา ส่วนพระองค์ได้คะแนน ร้อยละ 58.079 รวมคะแนนเฉลี่ยทีมไทยอยู่อันดับที่ 7 ด้วยคะแนนเฉลี่ย ร้อยละ 62.711[34]
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ได้รับเชิญจากห้องเสื้อปิแยร์บาลแมง ให้จัดแสดงผลงานการออกแบบเสื้อผ้า จำนวน 39 ชุด ในงานแสดงเสื้อผ้าปารีสแฟชั่นวีค (Paris Fashion Week : Spring/Summer 2008) ที่โอเปร่า การ์นิเย กรุงปารีสเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2550 [35] โดยเสื้อผ้าที่จัดแสดงทรงผสมผสานระหว่างเครื่องแต่งกายแบบชาวตะวันตก กับรูปแบบผ้านุ่งไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ ตัดเย็บโดยช่างจากวิทยาลัยในวังหญิง[36]
ทั้งนี้ทรงมียี่ห้อเสื้อผ้าส่วนพระองค์คือ "สิริวัณณวรี" (Sirivannavari)[37] และมียี่ห้อของแต่งบ้านส่วนพระองค์ชื่อ "สิริวัณณวรีเมซอง" (Sirivannavari Maison)[38][39] ทั้งนี้สินค้าบางส่วนของพระองค์ได้รับการจดลิขสิทธิ์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศเพื่อมิให้เกิดการละเมิดหรือลอกเลียน[40]
- หม่อมเจ้าบุษย์น้ำเพชร มหิดล
- หม่อมเจ้าจักรกฤษณ์ยาภา มหิดล
- หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายใน (ป.จ.)[41]
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[42]
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[43]
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)[44]
- เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)[45]
พระยศทางทหาร
- ร้อยโทหญิง และทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายทหารพิเศษประจำกองพันทหารม้า ที่ 29 รักษาพระองค์ฯ (4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555)[46][47]
และนายทหารพิเศษประจำกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ฯ (4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555)[48]
- ร้อยเอกหญิง (1 ตุลาคม พ.ศ. 2555)[49]
- พันตรีหญิง (9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555)[50][51]
สถานที่อันเนื่องด้วยพระนาม
- อาคารศูนย์กีฬาในร่มสิริวัณณวรีกีฬาเวศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
แหล่งที่มา: http://google.co.th