"ห้ามเหยียบธรณีประตู" สิ่งที่คนโบราณพร่ำบอก แท้จริงแล้วมันมีความหมายและสำคัญลึกซึ้งอย่างนี้!!!
ถ้าพูดถึงเรื่อง "ธรณีประตู" แล้วล่ะก็ หลายคนคงเคยได้ยินและสงสัยมาเหมือนๆกันอย่างแน่นอน โดยเป็นเรื่องที่คนโบราณบอกว่า "เวลาเข้าวัดห้ามเหยียบธรณีประตู" ทำให้เราต้องเดินข้ามกันจนเกิดเป็นคำถามมากมายว่า ทำไม? คนโบราณถึงมีความเชื่อแบบนี้ มันมีเหตุผลว่า "คนโบราณเพราะที่ธรณีประตูนั้นเป็นที่สถิตของพระภูมิประตู พระภูมิมีอยู่ ๙ องค์ เช่น พระภูมิบ้านเรือน พระภูมิประตูและหัวกระได พระภูมินา เป็นต้น ถ้าเราเหยียบธรณีประตูจึงเท่ากับเป็นการลบหลู่พระภูมิประตูนั่นเอง ในบางท้องถิ่นเชื่อว่าธรณีประตูมี <ผีธรณี> รักษาอยู่"
นอกจากนี้แล้ว ในบทประพันธ์ชื่อดัง "สี่แผ่นดิน" ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้กล่าวถึงความเชื่อเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน ในตอนที่แม่พาพลอยเข้าวังเป็นครั้งแรก ที่ประตูวังชั้นในมีหญิงแก่บ้างสาวบ้าง เรียกว่า โขลน ทำหน้าที่เฝ้าประตูวัง ใครที่ก้าวข้ามไม่พ้นเผลอเหยียบธรณีประตูจะต้องถูกตีหรือต้องกราบขอขมาธรณีประตูนั้น ม ร ว คึกฤทธิ์บรรยายธรณีประตูที่ประตูวังชั้นในไว้ว่า "ธรณีประตูนั้นทำด้วยไม้เหลี่ยมค่อนข้างใหญ่ มีรอยคนมาปิดทองไว้บ้างเป็นระยะ ๆ และใกล้ ๆ ขอบประตูนั้นก็มีธูปปักอยู่ที่ริมขอบประตู" นี่แสดงว่าเรื่องธรณีประตูเป็นความเชื่อที่ฝังแน่นอยู่ในหมู่คนไทยมาช้านาน ไม่ใช่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น ชาวโรมันก็เชื่อว่า ที่ตรงธรณีประตูเรือนทุกเรือนมีผีหรือเทพเฝ้าอยู่ ชื่อว่า "เยนุส"- "Janus"