การลงนามสนธิสัญญาดัง กล่าว เป็นการกระทำโดยพลการของฉีซั่น ทำให้ฮ่องเต้เต้ากวงทรงกริ้วเป็นอย่างมาก จึงมีรับสั่งปลดและลงโทษฉีซั่น จากนั้นส่งอี้ซัน ซึ่งเป็นขุนนางราชองครักษ์วังหลวง นำกำลังทหารหมื่นกว่าคนไปยังมณฑลกวางตุ้งเพื่อต่อต้านทัพอังกฤษ ที่ในขณะนั้นได้เข้ายึดครองฮ่องกงและติ้งไห่
ทหาร ของอังกฤษหลังจากยึดป้อมปืนใหญ่ได้หลายแห่ง ก็นำกำลังบุกโจมตีกว่างโจว จนทหารของจีนต้องหลบกลับเข้าในตัวเมืองกันหมด แม่ทัพอี้ซั่นจึงได้เสนอให้เจรจาสงบศึกอีกครั้ง จนมีการลงนามในสนธิสัญญากว่างโจว ซึ่งได้รับการอนุมัติจากเต้ากวงให้มีการชดใช้เงินจำนวน 6,000,000 ตำลึงเพื่อให้อังกฤษถอยออกจากเมือง
ทว่าท่าทีของประชาชนกลับแตก ต่างจากราชสำนักที่ยอมอ่อนข้อให้กับทหารอังกฤษ จึงมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ลุกขึ้นจับอาวุธ ต่อสู้กับทหารอังกฤษที่มีอยู่พันกว่านายในเกว่างโจว จนทำให้มีทหารอังกฤษเสียชีวิตไปหลายสิบคน
ในขณะที่ทางอังกฤษเองก็ไม่พอใจกับสิทธิที่ได้รับจากการเจรจาของ ชาร์ลส์ เอลเลียต ถึงกับมีการปลดเอลเลียต แล้วส่งเซอร์เฮนรี ป็อตติงเจอร์ ในเดือน ส.ค.ปี ค.ศ. 1841 ป๊อตติงเจอร์ได้นำเรือ 37 ลำพร้อมทหารอีก 2,500 คนออกจากฮ่องกง มุ่งขึ้นเหนือโจมตีเซี่ยเหมิน ถัดมาอีกเดือนกว่าๆ ก็สามารถบุกยึดติ้งไห่ โดยเก่อหยุนเฟย (葛云飞) ผู้บัญชาการทหารของเมืองต้องพลีชีพ จากนั้นก็บุกยึดเจิ้นไห่ หนิงปอ และบุกต่อไปโดยไม่สนใจคำขอเจรจาจากฝั่งจีน จนกระทั่งบุกยึดเป่าซัน เซี่ยงไฮ้ และเรื่อยไปถึงด่านทางใต้ของหนันจิง (นานกิง) ทำให้ทางการจีนจำต้องยอมเจรจาภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง เรียกว่า “ร่างสนธิสัญญานานกิง” โดยสนธิสัญญาที่ถือว่าเป็นสัญญาอัปยศของจีนนั้นมีเงื่อนไขโดยสรุปคือ
1. รัฐบาลต้าชิงจะต้องชดใช้เงินเงินทั้งสิ้น 21 ล้านตำลึง โดยแบ่งเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม 12 ล้านตำลึง ค่าเสียหายให้พ่อค้าอังกฤษ 3 ล้านตำลึง และค่าเสียหายจากฝิ่นอีก 6 ล้านตำลึง โดยจำนวนนี้ไม่นับรวมกับ 6 ล้านตำลึงที่จ่ายไปก่อนหน้า
2. จะต้องยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ
3. เปิดเมืองท่าทั้ง 5 ได้แก่กว่างโจว เซี่ยเหมิน ฝูโจว หนิงปอ และเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองท่าพาณิชย์
4. ภาษีทั้งขาเข้าและขาออกของพ่อค้าอังกฤษให้เป็นไปตามการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งหลังจากนั้นอีก 1 ปีจีนยังได้ลงนามในข้อตกลงและวิธีปฏิบัติ ซึ่งมีสัญญาเพิ่มเติมจากสนธิสัญญานานกิงโดยกำหนดให้อังกฤษมีสิทธิสภาพนอก อาณาเขต คือชาวอังกฤษไม่อยู่ใต้กฎหมายของประเทศที่พำนักอาศัย เมื่อกระทำผิดหรือถูกฟ้อง คดีความจะถูกตัดสินพิจารณาคดีโดยกงสุลของประเทศตนเอง และอังกฤษจะต้องเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์อย่างดีที่สุด กล่าวคือหากจีนมีการให้สิทธิพิเศษด้านการค้า เดินเรือ ภาษี หรือ การคุ้มครองทางกฎหมายแก่ประเทศใด อังกฤษจักได้รับสิทธิดังกล่าวไปด้วยเช่นกัน และการลงนามในสนธิสัญญานานกิงนี้ก็ถือเป็นจุดจบของสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ลง
ภาพวาดการลงนามในสนธิสัญญานานกิง
กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว(太平天国)
ภายหลังราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้ ในสงครามฝิ่น ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมจีนขึ้นอย่างรุนแรง รัฐบาลต้าชิงได้หมดเงินไปกับการทหารในสงครามดังกล่าวถึง 70 ล้านตำลึง บวกกับต้องชดใช้ให้กับต่างชาติตามร่างสนธิสัญญานานกิงอีก 21 ล้านตำลึง ภาระเหล่านี้ถูกผลักโอนมายังชาวไร่ชาวนาทั่วไป ซ้ำร้ายยังถูกขุนนางกับเจ้าของที่ดินขูดรีด ทำให้ประชาชนต้องแบกภาระ และชำระภาษีมากกว่าที่กำหนดไว้ตามตัวบทกฎหมายหลายเท่า บวกกับเงินแท่งมีมูลค่าสูงขึ้น และภัยธรรรมชาติจากอุทกภัยและภัยแล้ง จนประชาชนต้องอดอยากและประสบทุกข์เข็ญอย่างยิ่ง
ผลของความวุ่นวายในสังคม และความลำบากของราษฎร ได้ก่อให้เกิดกลุ่มกบฏชาวนาขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์ชิง โดยกลุ่มกบฏนี้ได้ตั้งชื่อตนเองว่า “ไท่ผิงเทียนกั๋ว” อันหมายถึงอาณาจักรสวรรค์อันสันติสุข ซึ่งผู้นำกลุ่มกบฏนี้มีนามว่า หงซิ่วเฉวียน (洪秀全) ที่เคยเป็นบัณฑิตสอบตกหลายสมัย ในขณะที่กำลังท้อแท้หมดอาลัยกลับได้พบกับหมอสอนศาสนา ซึ่งหลังจากที่ได้อ่านหลักคำสอนในศาสนาคริสต์แล้วพบว่ามีการระบุถึง “ดินแดนสวรรค์ที่ทุกคนต่างดีงามและเสมอภาค” แล้ว ยิ่งทำให้หงมีความสนใจและเริ่มต้นนับถือพระผู้เป็นเจ้าขึ้น
ค.ศ. 1843 หงซิ่วเฉวียน ได้ชักชวน เฝิงหยุนซัน ที่เป็นเพื่อนสมัยเรียนและลูกพี่ลูกน้องชื่อ หงเหรินกาน ไปยังลำธารเล็กๆสายหนึ่ง จากนั้นกระโดดลงไปในน้ำ ชำระร่างกายจนสะอาด เป็นสัญลักษณ์เหมือนการทำพิธี “ใช้น้ำเข้าจารีต” ของศาสนาคริสตร์ จากนั้นทั้งสามก็ได้ตกลงกันอย่างลับๆในการจัดตั้ง “สมาคมนับถือพระเจ้า” (拜上帝会) ขึ้น และประกาศว่าตนเป็นบุตรคนรองของพระผู้เป็นเจ้า หรือเป็นน้องชายของพระเยซู
หลังจากจัดตั้งสมาคมขึ้น หงกับเฝิงหยุนซันก็เดินทางไปเผยแพร่คำสอนที่เขตจื่อจิงซัน ในมณฑลกว่างซี (กวางสี) หลังจากนั้นก็เดินทางไปยังกว่างตง (กวางตุ้ง) ในระยะเวลา 2 ปีกว่าๆ ที่เผยแพร่ศาสนา ก็ได้ทำการเขียนหนังสือต่างๆออกมา ว่าด้วยการผลักดันอุดมการณ์ความเท่าเทียมกันของชาวนา
ในขณะนั้นเฝิงหยุนซันก็สามารถรวมรวบสมาชิกได้หลายพันคน จนกระทั่ง ค.ศ. 1850 ฮ่องเต้เต้ากวงทรงสินพระชนม์ มีราชโอรสขึ้นครองราชย์ พระนามว่าฮ่องเต้ชิงเหวินจง (清文宗) หรือเรียกตามชื่อรัชกาลว่าฮ่องเต้เสียนเฟิง (咸丰皇帝) ในเวลานั้นสมาคมนับถือพระเจ้าได้รวบรวมคนมามากกว่า 20,000 คน โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ยากจนข้นแค้นเป็นหลัก
กระทั่ง เดือน มิ.ย.- ก.ค. ในปีเดียวกัน สมาชิกแต่ละคนได้นำเอาทรัพย์สินสิ่งของมีค่าของตนมาสมทบทุนกันตามแต่ฐานะที่ มี รวมเป็นกองทุนที่เรียกว่า “สมบัติศักดิ์สิทธิ์” จากนั้นก็จัดทั้งหน่วยสู้รบชายและหญิง โดยแยกค่ายทหารชายกับหญิงออกจากกัน และมีการตราระเบียบวินัยอย่างเข้มงวดอาทิ ห้ามทุจริต ห้ามสูบฝิ่น ห้ามข่มขืนสตรีซึ่งมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต นอกจากนั้นยังให้สมาชิกชาย ตัดหางเปียทิ้ง โดยระบุว่าเป็นเครื่องหมายข้าทาสของแมนจู แล้วให้หันมาไว้ผมยาวแทน
ช่วงต้นปี ค.ศ. 1851 สมาคมนับถือพระเจ้ามีสมาชิกมากถึง 30,000 คนมีการประกาศสถาปนาอาณาจักร “ไท่ผิงเทียนกั๋ว” ขึ้น โดยหงซิ่วเฉวียนตั้งตนเป็น “เทียนหวัง” หรือกษัตริย์สวรรค์ขึ้น จากนั้นก็แต่งตั้งหยางซิ่วชิง เป็นตงหวัง หรือเจ้าบูรพา แต่งตั้งเซียวเฉากุ้ยเป็นซีหวาง หรือเจ้าประจิม ตั้งเฝิงหยุนซันเป็นหนันหวัง หรือเจ้าทักษิณ เหวยชังฮุยเป็นเป็นหวังเจ้าอุดร และสือต๋าไคเป็น อี้หวังหรือเจ้าปีกทัพ เริ่มต้นกระบวนการปฏิบัติที่ยาวนานถึง 14 ปี
ชุดมังกรของไท่ผิงเทียนกั๋ว
เหรียญที่ไท่ผิงเทียนกั๋วผลิตไว้ใช้ในอาณาเขตของตน
หลังจากนั้นกองทัพก็เริ่มต่อสู้ กับกองกำลังราชวงศ์ชิง โดยบุกขึ้นเหนือไปยังกุ้ยหลิน ล้อมฉางซา ยึดอี้ว์โจว และเอาชนะที่อู่ชังได้ ทำให้ได้เรือมานับหมื่นลำ ได้อาวุธ และปืนใหญ่เป็นจำนวนมาก มีการตั้งกองทัพเรือขึ้น กระทั่งสามารถบุกหนันจิง (นานกิง) ในเดือน มี.ค. ปี ค.ศ. 1853 นี้ไท่ผิงเทียนกั๋วมีสมาชิกราว 500,000 คน
หลังจากยึดนานกิง ก็ได้อาศัยเปลี่ยนชื่อเป็นเทียนจิง และใช้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักร และส่งกองทัพสองสายบุกขึ้นเหนือและตะวันตก โดยทางเหนือบุกยึดไปถึงเทียนจิน ส่วนสายตะวันตกก็บุกไปตามแม่น้ำฉางเจียงสู่อู่ชาง ฮั่นหยาง และฮั่นโข่ว ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะประสบชัย ได้เข้ายึดครองดินแดนด้านตะวันออกของมณฑลหูเป่ย เจียงซี และอันฮุย ซึ่งถือเป็นช่วงรุ่งโรจน์ที่สุดของอาณาจักร
ประชาชนในอาณาจักรไท่ผิงเทียนกั๋วมีเป็นหลักล้าน ได้จัดตั้งสกุลเงินของตนเองขึ้นมาใช้ และได้มีการกำหนดนโยบายในการปกครองสำคัญๆขึ้น เช่นระบบการจัดสรรที่นาเทียนเฉา ที่ให้ที่ดินทั่วประเทศเป็นสาธารณะให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการถือครองอย่างเท่า เทียมกัน แล้วมี “ยุ้งฉางกลาง” ที่ให้ผลผลิตเป็นของส่วนกลาง แล้วจัดสรรให้ตามลำดับชั้นฐานะ ส่งเสริมให้ชายหญิงเท่าเทียมกัน ให้ผู้หญิงมีสิทธิ์สอบเข้ารับราชการเป็นขุนนางได้ สั่งห้ามการซื้อขายฝิ่น อนุญาตให้พ่อค้าต่างชาติค้าขายได้อย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งมีการยกเลิกประเพณีต่างๆ เช่นการมัดเท้าสตรี ให้รื้อทำลายศาลเจ้า ห้ามบูชากราบไหว้ ยกเลิกการแต่งงานด้วยการซื้อขาย และห้ามการซื้อทาสเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากบฏไท่ผิงเทียนกั๋วจะสามารถสร้างอาณาจักรของตนขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ แต่สุดท้ายจากการที่ผู้นำกบฏเกิดขัดแย้งกันเอง โดยหยางซิ่วซิงได้แยกตัวออกไป จากนั้นหงซิ่วเฉวียน ได้ให้ เหวยชังฮุยไปสังหารหยางซิ่วซิง แต่สุดท้ายเหวยชังฮุยก็ถูกหงซิ่วเฉวียนสังหาร ในขณะที่สือต๋าไคก็ต้องพาทหารตนเองหลบหนีไป กระทั่งกองทัพเริ่มอ่อนแอลง กอปรกับราชสำนักชิงในตอนนั้น ได้ร้องขอให้กองทัพอังกฤษซึ่งมีอาวุธอันทันสมัยมาร่วมมือกับทหารในกองทัพไฮ ว๋ของหลี่หงจาง และกองทัพหูหนัน ของจางกั๋วฟาน จนกองกำลังของไท่ผิงเทียนกั๋วสูญเสียที่มั่นไปเรื่อยๆ กระทั่งปลายปี ค.ศ. 1863 ในรัชกาลถงจื้อปีที่ 2 ทหารชิงก็สามารถล้อมเมืองเทียนจิง (นานกิง) ทว่าหงซิ่วเฉวียนไม่ยอมทิ้งเมืองหลวงไปตั้งหลักในที่ใหม่ จนกระทั่งหงซิ่วฉวนซึ่งเจ็บป่วยอยู่ได้สั่งให้ประชาชนกินหญ้าแทนข้าว โดยตนเองได้เริ่มต้นกินก่อน จนทำให้อาการป่วยทรุดหนักลง ประกอบกับไม่มียารักษาจึงทำให้เสียชีวิตลง ซึ่งบางตำราก็ระบุว่าหงซิ่วเฉวียนได้ฆ่าตัวตาย แต่แม้กระนั้นทหารไท่ผิงนับแสนคนในเทียนจิง ก็ยังคงสู้โดยไม่ยอมแพ้ จนกระทั่งสุดท้ายกว่าทหารชิงจะสามารถเอาชนะได้ อาณาจักรไท่ผิงเทียนกั๋วก็จบลงด้วยทะเลเลือด
เคราะห์ ซ้ำกรรมซัดกระหน่ำสู่ราชวงศ์ชิงช่วงปลายอย่างเหมือนไม่รู้จบสิ้น ในภายหลังเมื่อถึงค.ศ. 1856 ก็ได้เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ขึ้น โดยกินระยะเวลา 4 ปี โดยมีมูลเหตุมาจากหลังช่วงเกิดเหตุกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ รัสเซียก็คิดจะตักตวงผลประโยชน์จากจีนมากขึ้น
ธงราชวงศ์ชิง