ย้อนรอย "ขุนพลภูพาน"
ด้วยความคับแค้นใจในความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำในสังคมอีสาน ประกอบกับถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ผลักดันให้เกิดหนึ่งในแกนนำขบวนการเสรีไทยภาคอีสาน เจ้าของตำนาน "ขุนพลแห่งภูพาน" ให้เล่าขานสืบต่อกันมายาวนานถึง 72 ปี
แม้จะล่วงเข้าวัย 70 ปีเศษ แต่ข้าราชการบำนาญอย่าง "นภาพร วงศ์กาฬสินธ์" ก็ยังจดจำวีรกรรมของ "เตียง ศิริขันธ์" อดีต ส.ส.สกลนคร และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยประจำภาคอีสานได้เป็นอย่างดี เธอเป็นหนึ่งในผู้ระดมทุนจัดสร้างอนุสาวรีย์ของวีรชนผู้นี้ ณ ลานจอดรถทางเข้าถ้ำเสรีไทย บนเทือกเขาภูพาน ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเคยใช้เป็นที่ซุกซ่อนอาวุธไว้ห้ำหั่นกับทหารญี่ปุ่น
นภาพรพยายามเท้าความย้อนไปเมื่อ 72 ปีก่อน ตั้งแต่เตียงจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.)
สมัยนั้นยังไม่เปิดเรียนระดับปริญญาตรี จากนั้นไปเป็นครูที่ ร.ร.มัธยมหอวัง อีก 4 ปีต่อมาในปี 2477 ย้ายไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ ร.ร.อุดรพิทยานุกูล สอนวิชาภาษาไทย อังกฤษ และประวัติศาสตร์
ที่นี่เองที่ครูเตียงถูกจับในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกับเพื่อนอีก 3 คน คือ ครูปั่น แก้วมาตย์ ครูสุทัศน์ สุวรรณรัตน์ และครูญวง เอี่ยมศิลา เนื่องจากมีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าจะฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในโรงเรียน เมื่อมีการชักธงรูปค้อนเคียวอันเป็นสัญลักษณ์ของคอมมิวนิสต์ขึ้นสู่ยอดเสาธง โดยถูกคุมขังอยู่ราว 2 เดือน ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้อง มีเพียงครูญวงคนเดียวที่ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี
การได้รับอิสรภาพครั้งนั้น ผลักดันให้ครูเตียงหักเหชีวิตจากครูก้าวเข้าสู่วงการเมือง ในปี 2480 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สกลนคร ด้วยวัยเพียง 28 ปี มีโอกาสร่วมทำงานกับ ส.ส.อีสานที่มีอุดมการณ์เดียวกัน คือ ต่อสู้เพื่อคนยากจน เช่น ถวิล อุดล จากร้อยเอ็ด จำลอง ดาวเรือง จากมหาสารคาม ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จากอุบลราชธานี จนถูกขนานนามว่า สี่รัฐมนตรีอีสาน หรือขุนพลอีสาน มีผลงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้แก่คนทุกข์ยาก เคียงบ่าเคียงไหล่ "ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์" อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ก่อตั้งคณะราษฎร
ครูเตียงและเพื่อนร่วมกันต่อตั้งพรรคสหชีพ ซึ่งมีนโยบายเพื่อเกษตรกรและคนทุกข์ยากในสังคมไทย เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม กระจายอำนาจและรายได้สู่ประชาชนระดับล่าง แนวทางใกล้เคียงกับพรรคแนวรัฐธรรมนูญที่มี ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสเป็นแกนนำ ตลอดเวลาที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มครูเตียงพยายามนำเสนอแนวคิดดังกล่าว ขณะเดียวกันก็โจมตีนโยบายบริหารประเทศของผู้นำทหาร ที่มักจัดสรรงบประมาณให้กองทัพมากเกินไป แทนที่จะกระจายไปสู่งานการศึกษาและพัฒนาด้านอื่นๆ ในชนบท สร้างความขุ่นเคืองให้แก่ผู้นำทหารตลอดมา
หลังจากกองทัพลูกพระอาทิตย์ยกพลขึ้นบนที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นด้วย และถูกผลักดันพ้นตำแหน่งการเมืองเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เห็นควรติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อให้เข้าใจสภาพอันแท้จริงของไทยที่เสียอิสรภาพ จึงมีการติดต่อกับอังกฤษ สหรัฐ และจีน โดย ส.ส.เตียงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำเสรีไทยประจำภาคอีสาน มีนามลับว่า "พลูโต"
ช่วงนั้นมีการชักชวนชาวบ้านมาร่วมฝึกอาวุธ เป็นกองทัพประชาชน จัดทำสนามบิน 3 แห่ง ที่บ้านโนนหอม บ้านเต่างอย และตาดภูวง ค่อนข้างเสี่ยงมาก เพราะขณะนั้นมีการประกาศกฎอัยการศึก และเสี่ยงต่อการถูกทหารญี่ปุ่นจับ มีโทษถึงประหารชีวิต โชคดีที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทหารป่าเสรีไทยได้ไปเดินสวนสนามที่กรุงเทพฯ ในปลายเดือนกันยายน 2488 เก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทางราชการในเวลาต่อมา" นภาพร เท้าความหลัง
ชีวิตเจ้าของฉายาพลูโตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขามีชื่ออยู่ในรัฐบาลทวี บุณยเกตุ รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และรัฐบาล พล.ร.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กระทั่งวันที่ 10 เมษายน 2490 จึงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อเดินทางไปสหรัฐ ในฐานะรองตัวแทนการเจรจาประนีประนอมระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส
ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ได้ยึดอำนาจการปกครอง ล้มล้างรัฐบาล พล.ร.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และโค่นอำนาจปรีดี พนมยงค์ เชิญพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลขัดตาทัพ
ด้านครูเตียงเมื่อได้ข่าวการรัฐประหารจึงหลบขึ้นเทือกเขาภูพาน จัดตั้งกำลังต่อต้านคณะรัฐประหาร แต่ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ที่สิงคโปร์ ได้ออกอากาศทางวิทยุห้ามพลพรรคเสรีไทยต่อสู้กับคณะรัฐประหาร เพราะไม่ต้องการให้คนไทยเข่นฆ่ากันเอง ครูเตียงจึงยุติการจัดตั้งกองกำลังและซ่อนตัวอยู่บนภูพานนับแต่นั้นเป็นต้นมา
รัฐบาลสั่งการให้ พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ ตามล่าตัวครูเตียง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนหนังสือพิมพ์ยุคนั้นพร้อมใจกันตั้งสมญานามให้ว่า "ขุนพลภูพาน" ต่อมาหลวงพิชิตธุรการจึงใช้วิธีข่มขู่ให้ชาวบ้านบอกที่ซ่อนของขุนพลภูพาน โดยจับครูครอง จันดาวงศ์ และมิตรสหายของครูเตียงอีก 15 คน สร้างแรงกดดันจนเขาตัดสินใจมอบตัวต่อทางการในเดือนมีนาคม 2491 ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน แต่ท้ายที่สุดศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง
4 ปีต่อมา เดือนพฤศจิกายน 2495 รัฐบาลได้กวาดล้างจับกุมฝ่ายค้านจำนวนมากในข้อหากบฏ ที่เรียกกันต่อมาว่า "กบฏสันติภาพ" และออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้าม มีรัฐมนตรี 4 คนถูกสังหารในครั้งนั้นด้วย ระหว่างนี้เตียงดำรงตำแหน่ง ส.ส.ในคณะกรรมการนิติบัญญัติฝ่ายรัฐบาล เขาถูกตำรวจตามตัวออกจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2495 ตั้งแต่นั้นมาก็หายสาบสูญไป ไม่ปรากฏตัวอีกเลย
อย่างไรก็ตาม หลักฐานต่อมาปรากฏว่า เตียง ศิริขันธ์ ถูกสังหาร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2495 หรือ 2 วันหลังจากถูกตำรวจเรียกตัวออกจากรัฐสภา โดยถูกสังหารพร้อมด้วย เล็ก บุนนาค, ผ่อง เขียววิจิตร, สง่า ประจักษ์วงศ์ และชาญ บุนนาค โดยศพถูกนำไปเผาทิ้งที่ ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
เตียง ศิริขันธ์ เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวอีสานแห่งลุ่มน้ำโขง เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2452 ที่คุ้มวัดศรีสะเกษ ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวน 9 คนของนางอ้ม ศิริขันธ์ กับนายบุดดี ศิริขันธ์ (ขุนนิเทศพาณิช) หรือที่ชาวบ้านเรียกทั่วไปว่า "นายฮ้อยบุดดี" เนื่องจากเป็นนายฮ้อยยุคค้าควายไทย-พม่า อันเป็นที่มาของตำนานนายฮ้อยแห่งภาคอีสาน การเดินทางไปขายของในเมืองแต่ละครั้ง จะมีพ่อค้านำกองเกวียนรวมไปด้วย 20-30 ราย เดินทางไปจนถึง จ.ขอนแก่น นครราชสีมา หรือบางครั้งไกลถึงกรุงเทพฯ นานเป็นแรมเดือน บางครั้งก็นำวัว-ควายไปขายถึงเมืองมะละแหม่ง-ย่างกุ้ง ประเทศพม่า นับว่าเป็นผู้มีรายได้ดี มีฐานะเป็นคหบดีคนหนึ่งของสกลนคร
ฉายา "ขุนพลภูพาน" ของเตียง ศิริขันธ์ หมายถึง การเป็นทั้งแม่ทัพใหญ่ในการฝึกหัดเสรีไทยนับพันคนหลายรุ่น มีอัธยาศัยไมตรีเป็นที่ไว้วางใจของชาวสกลนคร ขณะเดียวกันก็มีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว เต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมคติที่จะต่อสู้กับนักการเมืองที่มีอิทธิพล จนถูกยัดเยียดข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม สุดท้ายถูกอำนาจทางการเมืองสั่งฆ่า
จากวีรกรรมการต่อสู้เพื่อคนทุกข์ยาก วันนี้สมาคมข้าราชการนอกประจำการ จ.สกลนคร ร่วมกับครอบครัวศิริขันธ์ มีความพยายามสร้างอนุสาวรีย์ 100 ปี ขุนพลภูพาน วีรบุรุษไทยสามัญชน "เตียง ศิริขันธ์" เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญเด็ดเดี่ยว รวบรวมพลพรรคตั้งค่ายเสรีไทยแห่งแรกที่สกลนคร เพื่อก่อตั้งกองทัพพลเรือนเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น จนเป็นที่ยอมรับของฝ่ายพันธมิตร
ล่าสุดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อนุมัติให้มีการสำรวจและเตรียมพร้อมพื้นที่ก่อสร้างอนุสาวรีย์ 100 ปี ขุนพลภูพาน บริเวณลานจอดรถทางเข้าถ้ำเสรีไทยบนเทือกเขาภูพาน ระหว่างนี้มีการระดมทุนในการจัดสร้าง โดยแบบที่จะสร้างนั้น เป็นรูปปั้นเหมือนตั้งอยู่ฐานคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 6x6x6 เมตร คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3 ล้านบาท