เมื่อใบปริญญาไร้ความหมาย
เมื่อดูจากสถิติของ UNESCO จะพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเรียนต่ออุดมศึกษาไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่นๆเลย แต่ข้อมูลที่จะได้รู้หลังจากนี้ อาจทำให้บางคนหันกลับมาทบทวนเรื่องเส้นทางการศึกษากันใหม่
ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร รองคณะกรรมการการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จะมีจำนวนเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น ที่หางานทำได้ภายใน 1 ปี และจำนวนที่ว่านี้ ก็ไม่ได้มีการสำรวจว่า ถูกจ้างตรงกับวุฒิการศึกษาหรือไม่ เพราะฉะนั้นถือได้ว่า การมีปริญญาหรือวุฒิบัตร ไม่ได้ประกันการมีงานทำแต่อย่างใด
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า ประเทศไทยมีการรับตรงกับตลอดปีตลอดชาติ ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งไม่สามารถที่จะใช้คำสั่งไม่ให้ดำเนินการได้ เป็นปัญหาที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเชิงพาณิชย์แอบแฝง และรายได้ที่แอบแฝงตรงนี้จะคืนสังคมได้อย่างไร อยากฝากให้ทางมหาวิทยาลัยคิด
ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร ได้กล่าวอีกว่า เท่าที่คุยกับเด็กจำนวนมาก เด็กจะยังไม่ค่อยรู้อะไร ไม่ทราบว่าตัวเองอยากเรียนอะไร หรืออยากทำงานอะไร ซึ่งพวกเขาก็จะพึ่งครูแนะแนวเป็นหลัก
ดร. สุภาวดี วงษ์สกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิตกล่าวว่า จะบอกว่าโรงเรียนมัธยมไม่ได้ชี้ทิศทาง ก็อาจจะพูดไม่ได้เต็มปาก เมื่อมีนโยบายต่างๆมา โรงเรียนก็ได้พยายามทำอยู่แล้ว ซึ่งโรงเรียนก็ทำได้เพียงวางฐานรากให้นักเรียน ไม่สามารถแนะนำเด็กได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว
อ.วิภา เกตุเทพา ประธานครูแนะแนวกรุงเทพมหานคร สมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าครูแนะแนวไม่ทำงานตามกระบวนการแนะแนว ครูจะให้เด็กรู้จักตัวเอง ค้นหาความสนใจและความถนัด แต่เมื่อถึงเวลาที่เด็กต้องตัดสินอนาคต กลับไม่ได้ใช้ผลการสำรวจหรือที่วางแผนตนเองไว้ แต่ใช้คะแนนเป็นตัวตัดสิน เด็กจำนวนมากรู้ว่าตนเองไม่เก่งวิทย์คณิต แต่พอถึงเวลาพ่อแม่กลับให้เลือกวิทย์คณิต เพราะว่าวันข้างหน้าจะมีตัวเลือกเยอะกว่า
ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร กล่าวว่า สัญญาจากรัฐที่ให้กับเด็กนั้นผิดมาตลอด รัฐตีคุณค่าของคนจบปริญญาสูงกว่าคนจบ ปวส.หรือปวช. ทั้งๆที่ควรจะใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นเด็กก็หันไปเรียนปริญญา แต่ปริญญาที่ได้มานั้นกลับใช้ทำงานไม่ได้ เพราะเป้าหมายผิด ฉะนั้นเราควรที่จะเน้นสร้างคนทำงานมากกว่า
นายวิมล เรืองแจ่ม ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริษัท ลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนได้ไปที่วิทยาลัยเทคนิกหลายแห่งทั่วประเทศ แต่กลับได้เด็กมาเพียงแค่ 4-5 คน และส่วนใหญ่ได้ลาออกไปแล้ว อย่างที่วิทยาลัยเทคนิคหนองคายที่ตนได้ไปมาล่าสุด พบว่าเด็กเกือบทั้งหมดเลือกที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัย ไม่มีเด็กที่สนใจจะสมัครทำงานเลยสักคน
คุณสุภาวดี อักษรสิทธิ์ ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริษัทเอ็นโอเค พรีซิชั่น คอมโพเนนท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ถ้าให้น้องๆที่เพิ่งจบใหม่เลือกลำดับสำรองงาน ส่วนใหญ่จะบอกว่าอะไรก็ได้ที่ให้เขาได้ทำงาน ซึ่งเขายังไม่ค้นพบตัวเอง ซึ่งตนได้เคยรับนักศึกษาจบใหม่มายอมรับว่าผิดหวังมาหลายคนแล้ว ก็เลยขอรับคนที่มีประสบการณ์ก่อนดีกว่า
คุณพิชญดา ตรีทิพยบุตร ผู้ประกอบการบริษัท Push Media กล่าวว่า จากคนที่สัมภาษณ์ใน 10 คน ตนจะเลือกเข้าทำงานเพียงแค่คนเดียว ซึ่งคำถามที่ผู้สมัครมักจะถามคือ เดือนนึงหยุดกี่วัน ไม่ทำงานวันนี้นะ ไม่ทำงานดึกนะ หรือต้องการผลประโยชน์ตามนี้นะ ซึ่งตนก็สงสัยว่า ทำไมพวกเขาถึงคิดเรื่องเงินเยอะขนาดนี้
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ฝากบอกถึงคนที่จะเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาว่า จงเลือกเรียนในสาขาที่ชอบ หาสถานที่เรียนที่มีคุณภาพ เนื่องจากในอนาคตหลังจากนี้ 5 ปีเค้าจะเริ่มวัดกันที่คุณภาพและจะไม่วัดกันที่ใบปริญญาอีกต่อไป เรามักจะได้ยินเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ และจากตลาดงานว่า “เรียนอะไรมาก็ไม่รู้ ที่ควรสอนก็ไม่สอน ที่ควรเรียนก็ไม่เรียน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลผลิตที่ไม่ตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ
ดร.พรชัย มงคลวนิช นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เห็นด้วยว่าการศึกษาไทยมีปัญหา เพราะหากว่าในระบบการแข่งขันไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจน ก็จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการรับนักศึกษาในปัจจุบันไม่ค่อยมีระบบสักเท่าไหร่ อย่างมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งรับนักศึกษาหลายรอบเกินไป ซึ่งควรจะกำหนดจำนวนรอบให้เหมาะสม เช่นครั้งเดียว หรือสองครั้ง แล้วหลังจากนั้นมหาวิทยาลัยเอกชนก็จะสามารถรับนักศึกษาต่อได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่าสถาบันทุกแห่งก็ย่อมมีจุดเน้นที่แตกต่างกันไป และคุณภาพก็คงจะไม่เท่ากัน
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและวิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การศึกษาระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันมีระบบค่านิยมกับระบบตลาดเป็นตัวกำหนด เมื่อมีหลักสูตรและมหาวิทยาลัยเปิดขึ้นมาเยอะ แต่จำนวนผู้เรียนน้อยลง ทางมหาวิทยาลัยก็ต้องหาแรงจูงใจเพื่อที่จะได้นักศึกษาเข้ามา เกิดเป็นระบบแข่งขันและเป็นเรื่องของผลประโยชน์ บางมหาวิทยาลัยถึงกับต้องจัดอาจารย์ ศิษย์เก่า หรือรุ่นพี่ให้เข้าไปในแต่ละโรงเรียนเพื่อแนะแนวและโฆษณาให้เด็กนักเรียนมาสมัครเข้ามหาวิทยาลัยของตนเอง ซึ่งเหตุการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ตนยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นจริง
ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร กล่าวปิดท้ายว่า คนที่น่าสงสารก็จะเป็นเด็กต่างจังหวัดที่มีฐานะยากจน ที่คาดหวังว่าการที่ได้เข้ามหาวิทยาลัยจะเป็นใบเบิกทางในการทำงาน แต่แท้จริงแล้วกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะใบปริญญาไม่ได้ประกันการมีงานทำเลย หากไม่ได้จบจากสถาบันที่เป็นที่ยอมรับมากพอ
รู้อย่างนี้แล้ว เราคนไทยในฐานะผู้รับผล จะช่วยกันทำอย่างไร เพื่อให้ความใฝ่ฝันบนเส้นทางการศึกษาของเด็กไทยมีคุณภาพดีขึ้นบ้าง ใครบ้างที่จะช่วยให้ปลายทางการศึกษาของเด็กไทยที่มีฝันเป็นจริงได้ “ไม่ใช่คำสัญญาที่ว่างเปล่า”