ทศชาติชาดก
ชาดก
ชาดก คือ อะไร ? ขอยกคำอธิบายด้วยข้อมูลในพระไตรปิฏก ดังพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกายชาดก ภาค ๑
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ เป็นภาคแรกของชาดก ได้กล่าวถึงคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันมีลักษณะเป็นนิทานสุภาษิต แต่ในตัวพระไตรปิฎกไม่มีเล่าเรื่องไว้ มีแต่คำสุภาษิต รวมทั้งคำโต้ตอบในนิทานเรื่องละเอียดมีเล่าไว้ในอรรถกถา คือหนังสือที่แต่งขึ้นอธิบายพระไตรปิฎกอีกต่อหนึ่ง
คำว่า "ชาตก" หรือ "ชาดก" แปลว่า ผู้เกิด คือเล่าถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงเวียนว่ายตายเกิด ถือเอากำเนิดในชาติต่างๆ ได้พบปะผจญกับเหตุการณ์ดีบ้างชั่วบ้าง แต่ก็ได้พยายามทำความดีติดต่อกันมากบ้างน้อยบ้างตลอดมา จนเป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง จะถือว่า เรื่องชาดกเป็นวิวัฒนาการแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดี ของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ก็ได้ในอรรถกถาแสดงด้วยว่า ผู้นั้นผู้นี้กลับชาติมาเกิดเป็นใครในสมัยพระพุทธเจ้า แต่ในบาลีพระไตรปิฎกกล่าวถึงเพียงบางเรื่อง เพราะฉะนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่คุณงามความดีและอยู่ที่คติธรรมในนิทานนั้นๆ
อนึ่ง เป็นที่ทราบกันว่าชาดกทั้งหมดมี ๕๕๐ เรื่อง แต่เท่าที่ได้ลองนับดูแล้วปรากฏว่า ในเล่มที่ ๒๗ มี ๕๒๕ เรื่อง, ในเล่มที่ ๒๘ มี ๒๒ เรื่อง รวมทั้งสิ้นจึงเป็น ๕๔๗ เรื่อง ขาดไป ๓ เรื่อง แต่การขาดไปนั้น น่าจะเป็นด้วยในบางเรื่องมีนิทานซ้อนนิทาน และไม่ได้นับเรื่องซ้อนแยกออกไปก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนที่นับได้ จัดว่าใกล้เคียงมาก
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดกภาค ๒
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ เป็นเล่มที่รวมเรื่องชาดกที่เล็กๆน้อยๆรวมกันถึง ๕๒๕ เรื่อง แต่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ นี้มีเพียง ๒๒ เรื่อง เพราะเป็นเรื่องยาวๆทั้งนั้น โดย ๑๒ เรื่องแรกเป็นเรื่องที่มีคำฉันท์ ส่วน ๑๐ เรื่องหลัง คือเรื่องที่เรียกว่า มหานิบาตชาดก แปลว่า ชาดกที่ชุมนุมเรื่องใหญ่ หรือที่โบราณเรียกว่า "ทศชาติ"
ดังนั้นเนื้อเรื่อง ทศชาติชาดก ทั้งสิบเรื่องที่มีให้ผู้อ่านได้อ่าน ได้แก่
1.พระเตมีย์ บำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือ การออกบวช
2.พระมหาชนก บำเพ็ญวิริยะบารมี คือ สำแดงความเพียรอันแรงกล้า
3.พระสุวรรณสาม บำเพ็ญเมตตาบารมี คือ ความมีเมตตาจิตต่อทุกสรรพชีวิต
4.พระเนมิราช บำเพ็ญอธิษฐานบารมี คือ รักษาความประพฤติชอบโดยตั้งใจ
5.พระมโหสถ บำเพ็ญปัญญาบารมี คือ มีปัญญาอันเลิศล้ำและประพฤติชอบด้วยปัญญานั้น
6.พระภูริทัตต์ บำเพ็ญศีลบารมี คือ การรักษาอุโบสถศีลโดยเคร่งครัด
7.พระจันกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี คือ มีความอดทนเป็นที่ตั้ง
8.พระนารทฤาษี บำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือ กรรมของการทำดีย่อมได้ดี ทำผิดบาปย่อมได้ชั่วเป็นผล
9.พระวิธูรบัณฑิต บำเพ็ญสัจจะบารมี คือ ถือความสัตย์ ยอมสละชีวิตได้
10.พระเวสสันดร บำเพ็ญทานบารมี คือ บริจาคทานประกอบคุณความดี โดยไม่ท้อถอย
เดี๋ยวผมจะไล่โพสที่ละกัณฑ์ให้ทุกท่านได้อ่านกันนะครับ อันนี้เป็นการเกริ่นนำก่อน ^^