กินโปรตีนให้ฉลาด พืช VS เนื้อสัตว์
หลายคนรู้จัก “โปรตีน” แต่ไม่รู้ว่า ในแต่ละวันร่างกายควรได้รับมากน้อยแค่ไหน และควรจะกินโปรตีนจากสัตว์หรือพืชดี?
นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ บอกว่า โปรตีนจากสัตว์ เช่น เนื้อหมู วัว ไก่ เป็ด ปลา นม ชีส โยเกิร์ตส่วนโปรตีนจากพืช พบมากในพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วฝักยาว รวมไปถึง ชะอม สะตอ กระถิน สังเกตง่ายๆ พืชที่มีกลิ่นแรงจะมีซัลเฟอร์ หรือกำมะถัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรตีน
ข้อเสียของโปรตีนจากพืชต่างจากสัตว์ คือ กรดอะมิโนน้อยชนิดกว่าโปรตีนจากสัตว์ แต่โปรตีนจากสัตว์มีกำมะถันเป็นส่วนประกอบค่อนข้างมาก ถ้ากินโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากๆ เลือดก็เป็นกรด เพราะมีกรดกำมะถันมาก ถ้ากินโปรตีนจากพืช กรดกำมะถันน้อยกว่า แต่อาจจะขาดกรดอะมิโนบางตัวไป
มีสถาบันเพื่อการกินและสุขภาพของสหรัฐอเมริกา คือ “ดานาฟาเบอร์” บอกว่า ถ้ากินโปรตีนจากพืชเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เป็นอาหารสมดุล เพราะฉะนั้นจะต้องกินโปรตีนจากพืชร่วมกับสัตว์ โดยโปรตีนจากสัตว์ให้เน้นที่มีโอเมก้า3 คือ โปรตีนจากเนื้อปลา เพราะนอกจากโอเมก้า3 กำมะถันน้อยแล้ว โอกาสจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรดก็น้อยกว่าเนื้อแดง
ยิ่งในอาหารจำพวกเนื้อแดงที่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น แหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม หมูรมควัน หมูสวรรค์ ความเป็นกรดจะสูงกว่าเนื้อสัตว์ที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป
เพราะฉะนั้นการกินโปรตีนจากสัตว์ หรือพืช อย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เช่น กินเนื้อสัตว์มากอาจจะทำให้เลือดเป็นกรด ทำให้สุขภาพไม่ดี เกิดการอักเสบในร่างกาย แต่ถ้าหนักไปทางโปรตีนจากพืชอาจทำให้ขาดวิตามินบางตัว โดยเฉพาะวิตามินบี 12 ที่มีอยู่ในเนื้อสัตว์ อาจทำให้เลือดจาง เม็ดเลือดแดงรูปร่างผิดปกติไป ดังนั้นควรกินแบบผสมผสานกันดีที่สุด
ถามว่าควรกินโปรตีนมากน้อยแค่ไหนในแต่ละวัน ? นพ.กฤษดา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของแต่ละบุคคล โดยหลักจะต้องกินโปรตีนประมาณ 0.5 -1 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กก. สมมุติว่าหนัก 60 กก. ต้องกินโปรตีนไม่ถึง 1 ขีด นั่นหมายความว่า โปรตีนต้องดูดซึมได้ทั้งหมดที่กินเข้าไป แต่ในความเป็นจริงเรากินโปรตีน 60 กรัมอาจจะดูดซึมไม่ถึง 60 กรัมก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องกินเผื่ออีก 1 เท่าตัว
ถ้าใครรัก“กินเจ” หรือ “กินมังสวิรัติ”มีสิ่งที่ช่วยอุดช่องโหว่ได้ คือ การกินวิตามินบี 12 เติมเข้าไป หรือถ้า “กินมังสวิรัติ” ก็ต้องกินไข่ด้วยจะช่วยเติมช่องโหว่กรดอะมิโนที่ขาดไปได้
ภายหลังการกินเนื้อสัตว์แนะนำว่า ควรกินอาหารที่มีแมกนีเซียม และแคลเซียม โดยเฉพาะอาหารประเภทผักใบเขียวจัดเพราะมีฤทธิ์เป็นด่าง ไปช่วยจูนให้กรดกำมะถันจากเนื้อสัตว์จางลง ดังนั้นพอกินเนื้อสัตว์ขอให้กินผักใบเขียวเยอะ ๆ เน้นที่ใบ อย่าไปกินก้าน จะช่วยต้านกรดได้
ถามว่าไม่กินเนื้อสัตว์เลยได้หรือไม่ ? นพ.กฤษดา บอกว่า บางคนอาจจะคิดว่าทำไมสัตว์บางชนิด เช่น แพะกินแต่หญ้าได้ ต้องบอกว่าลำไส้ของสัตว์เหล่านี้สามารถสร้างวิตามินบี 12 ได้ แต่มนุษย์มีข้อเสียคือลำไส้ไม่สามารถสร้างได้ ตรงนี้พิสูจน์ว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างให้เป็นมังสวิรัต 100% ให้เป็นครึ่งเนื้อครึ่งผัก
สรุปว่า ควรกินโปรตีนทั้งจากสัตว์และพืชผสมผสานกัน ส่วนคนที่กินเนื้อสัตว์มาก ๆ ควรกินผักใบเขียวร่วมด้วย จะช่วยลดกรดในเลือดได้ สำหรับคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์เลยก็ควรกินวิตามินบี12 เสริมเข้าไปด้วย