อึ้ง! ธนบัตร 1 ใบ มีแบคทีเรียอื้อ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ตะลึง! วิจัยธนบัตร 1 ใบ มีแบคทีเรียสะสมมากถึง 2.6 หมื่นตัว เสี่ยงทำให้คนป่วยได้ โดยเฉพาะโรคท้องร่วง และปอดบวม ชูล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี 7 ขั้นตอน ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ 50% ปอดบวม 25% กรมอนามัยเร่งจัดกิจกรรมกระตุ้นผู้ค้าล้างมือเป็นประจำ
วันนี้ (11 ต.ค.) พญ.แสงโสม สีนะวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานรณรงค์ล้างมือเนื่องในวันล้างมือโลก ณ ตลาดรังสิต จ.ปทุมธานี ว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ กำหนดให้ทุกวันที่ 15 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day) ซึ่งการล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี เป็นการป้องกันเชื้อโรคได้ทางหนึ่ง โดยปีนี้กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์ล้างมือ กระตุ้นให้ประชาชนและผู้ประกอบการค้าอาหารภายในตลาดสด ตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี 7 ขั้นตอนเป็นประจำ ทั้งก่อนและหลังจากที่หยิบจับสินค้าให้แก่ผู้บริโภค อาทิ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ อาหารสำเร็จรูปรวมถึงการหยิบจับธนบัตรที่เสี่ยงต่อเชื้อโรค
พญ.แสงโสม กล่าวอีกว่า จากผลการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ระบุว่า บนธนบัตร 1 ใบ จะมีเชื้อแบคทีเรียสะสมโดยเฉลี่ย 26,000 ตัว เนื่องจากการใช้ธนบัตรผ่านมือไปหลายต่อ โดยแบคทีเรียเหล่านี้มีจำนวนมากพอที่จะทำให้คนทั่วไปเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลองค์การยูนิเซฟยังพบว่า ในแต่ละปีมีเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องเสียชีวิตจากโรคอุจจาระร่วงถึง 3.5 ล้านคน และโรคปอดบวมอีกประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า การล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคอุจจาระร่วงได้ถึงร้อยละ 50 และจากโรคปอดบวมได้ร้อยละ 25
“สำหรับประเทศไทย ผลการสำรวจพฤติกรรมการล้างมือของประชาชนในปี 2552 พบว่า มีเพียงร้อยละ 61 ที่มีการล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และถึงแม้จะมีการล้างมือหลังจากใช้ห้องส้วมถึงร้อยละ 87 แต่ยังเป็นการล้างมือด้วยน้ำเปล่าถึงร้อยละ 41 แสดงให้เห็นว่าคนไทยยังไม่ให้ความสำคัญในการล้างมือด้วยน้ำและสบู่เท่าที่ควร จำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้มากขึ้น เพื่อป้องกันและลดอัตราการเกิดโรค โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง เฉพาะปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงสูงถึง 1,013,225 ราย” พญ.แสงโสม กล่าว
พญ.แสงโฉม กล่าวด้วยว่า วิธีการการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ฝ่ามือถูกัน 2.ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว 3.ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว 4.หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 5.ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 6.ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ และ 7.ถูรอบข้อมือ โดยทุกขั้นตอนทำ 5 ครั้ง สลับกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งวิธีการล้างมือข้างต้นเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เสียค่าใช้จ่ายน้อย และสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้