เจาะลึกยาหม้อไทย
ขึ้นชื่อว่า คนไทย น้อยคนนักที่ไม่เคยได้สัมผัสกับยาหม้อ ยิ่งเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ด้วยแล้ว นับว่าบริโภคกันเป็นเรื่องปกติ
ซึ่งในปัจจุบันนี้ยาหม้อดูจะกลายเป็นยาที่หายากและเริ่มห่างหายไปจากวงการแพทย์ทางเลือก เพราะผู้คนนิยมใช้ยาฝรั่ง หรือยาแผนปัจจุบัน ซึ่งแท้จริงแล้ว ยาหม้อนั้นมีประโยชน์มากมาย เพียงแต่เราต้องทำความรู้จักกับมันให้ดีเสียก่อน
ยาหม้อคืออะไร
นพท.จิตติมา หลิวศิริ อายุรเวท โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เปิดเผยว่า ยาหม้อไทย เป็นรูปแบบการปรุงยาอย่างหนึ่งตามวิถีของแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้าน ซึ่งรูปแบบของยาจะเป็นในลักษณะของยาต้ม ซึ่งเป็นการใช้น้ำเป็นตัวทำละลายยาสมุนไพร
ยาหม้อมีส่วนประกอบอะไรบ้าง
-ตัวยาตรง เป็นตัวยาที่มีสรรพคุณโดยตรงในการบำบัดโรคหลักนั้นๆ
-ตัวยาช่วย เป็นตัวยาที่ช่วยรักษาโรคแทรก โรคตาม หรือโรคหลายโรครวมกันจากโรคหลักนั้นๆ
-ตัวยาประกอบ เป็นตัวยาที่ใช้เพื่อป้องกันโรคที่อาจจะตามมาได้ และช่วยบำรุงแก้ส่วนที่หมอเห็นควร หรืออาจจะเป็นตัวยาที่ใช้เป็นตัวคุมฤทธิ์ยาอื่นๆ
-ตัวยาชูกลิ่น ชูรส และแต่งสีของยา เป็นตัวยาที่ใช้เพื่อเป็นการปรุงยาให้น่ารับประทานมากขึ้น
กินยาหม้อเพื่อรักษาโรคดีจริงหรือ?
ยาหม้อมีข้อดีในการรักษา เนื่องจากเป็นยาที่สามารถรักษาอาการคนไข้ได้ครอบคลุมทุกอาการ ไม่ว่าจะเป็นอาการหลักของโรคหรืออาการแทรกซ้อน รวมถึงอาการข้างเคียงที่สามารถเกิดได้จากการรับประทานยาก็จะมีตัวยาประกอบที่สามารถไปควบคุมฤทธิ์ยาที่อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ นอกจากนี้ยาหม้อยังเป็นตัวยาที่ดูดซึมได้ง่าย ออกฤทธิ์เร็ว และมีวิธีการเตรียมที่ง่ายและสะดวกอีกด้วย
ความแตกต่างระหว่างการรักษาด้วยยาหม้อและยาแผนปัจจุบัน
ยาหม้อจะมีข้อดีในการรักษาที่เราจะเน้นการรักษาจากสาเหตุของโรค อีกทั้งตัวยาก็จะมีทั้งตัวยาที่ออกฤทธิ์เพื่อครอบคลุมอาการทั้งหมด ทั้งอาการหลัก อาการรอง และอาการข้างเคียงต่างๆ และการรับประทานยาหม้อยังเป็นยาที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย โดยไม่ต้องแปรรูปยา ทำให้อวัยวะภายใน เช่น ตับและไต ไม่ต้องทำงานหนักในการแปรรูปยา เพื่อการออกฤทธิ์และกำจัดออกจากร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ยาหม้อจะมีข้อเสีย ในเรื่องของสี กลิ่นและรสชาติในการรับประทาน อีกทั้งยาต้มไม่สามารถเก็บไว้ได้นานเนื่องจากขึ้นราได้ง่าย ส่วนยาแผนปัจจุบัน มักจะเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ แต่จะมีข้อดีตรงที่ยาแผนปัจจุบัน จะเป็นการรักษาตามอาการ แบบทันทีทันใด สามารถรักษาได้อย่างฉับพลัน อย่างเช่น หากมีอาการปวดมาก ก็อาจจะเป็นการรักษาโดยการฉีดยาเพื่อลดอาการปวดได้อย่างทันทีทันใด และตัวยาก็สามารถเก็บรักษาได้เป็นเวลานาน
ใครที่เหมาะและไม่เหมาะกับการกินยาหม้อ
ยาหม้อสามารถรักษาโรคได้ทุกโรคทั่วไปตามแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถรับประทานได้ทุกคน ยกเว้น ในกลุ่มของโรคที่อาจต้องรักษาโดยต้องใช้เครื่องมือแพทย์เฉพาะทางเป็นพิเศษ ซึ่งการกินยาหม้ออาจมีข้อควรระวัง ในแต่ละรายบุคคลไป และขึ้นกับยาสมุนไพรแต่ละตัวที่ใช้ในการรักษา หากมีอาการในเรื่องโรคประจำตัว เช่น แพ้เกสรดอกไม้ แพ้สมุนไพรบางชนิด มีความผิดปกติของตับ ไต และทางเดินปัสสาวะ สตรีมีครรภ์ เป็นต้น ซึ่งเราก็จะหลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพรนั้นๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงได้ โดยใช้ตัวยาอื่นที่มีสรรพคุณใกล้เคียงกันแทน นอกจากนี้ เนื่องด้วยยาหม้อมีสี กลิ่น รส ที่ไม่น่ารับประทาน จึงอาจไม่เหมาะที่จะใช้ในการรักษาเด็กและผู้ที่ไม่สามารถยอมรับในเรื่องสี กลิ่นและ รสของยาได้
อันตรายจากการกินยาหม้อ
สำหรับอันตรายจากยาหม้อนั้นนับว่ามีอยู่ เช่น อันตรายจากเชื้อรา วัตถุดิบ ฤทธิ์ของยา ซึ่งเราคงจะต้องระวังในเรื่องของวัตถุดิบตัวยา ที่เราจะนำมาใช้ เป็นยาหม้อ โดยสิ่งที่อยากให้ระวังในเรื่องแรกคือ ความสะอาดของตัวยา ไม่ควรที่จะมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ เช่น เศษดิน หนอน มด แมลงตัวเล็กๆ เป็นต้น การระวังในเรื่องของเชื้อราที่มากับตัวยาสมุนไพรที่มีความชื้นหรือจากการที่เก็บยาหม้อไว้เป็นเวลานานเกินไป เพราะหากรับประทานเข้าไปย่อมไม่ดีต่อร่างกายเป็นแน่ หรือแม้กระทั่งยาบางตัวที่มีฤทธิ์แรง ก็จะต้องทำการสะตุ ประสะ หรือฆ่าฤทธิ์ยาเสียก่อน เพื่อทำให้ฤทธิ์ยาอ่อนลงจนสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่เกิดอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย
วิธีการกินและเก็บรักษายาหม้อที่ถูกต้อง
ให้รับประทานยาในเวลาท้องว่าง คือ ก่อนอาหาร เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้ดี และวิธีในการเก็บรักษายาหม้อที่ถูกต้องคือ ยาหม้อโดยปกติสามารถต้มกินได้ไม่เกิน 7-10 วัน หรือจนกว่าตัวยาจืด แต่จะต้องอุ่นยาเช้า-เย็น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อรา และทำให้ยาหม้อบูด หรือเสียได้
ซ้ำขออภัยค่ะ