แถบไคเปอร์ ที่อยู่ของดาวพลูโต
ภาพนี้ขยายให้เห็นแถบไคเปอร์ให้ชัดเจนขึ้น
สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้จะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักรอบนอกของระบบสุริยะกัน ซึ่งจริงๆ แล้วก็เพียงอยากให้เพื่อนได้รู้จักกับแถบไคเปอร์ ว่ามันคืออะไร เพราะในบทต่อไปจะมีการพูดถึงอยู่บ่อยๆ จะได้เข้าใจในเนื้อหาและจินตนาการตามไปอย่างเข้าใจครับ
ระบบสุริยะ ประกอบด้วยดวงอาทิตย์และวัตถุอื่นๆ ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เนื่องจากแรงโน้มถ่วง ได้แก่ ดาวเคราะห์ 8 ดวงกับดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้ว 166 ดวง ดาวเคราะห์แคระ 5 ดวงกับดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้ว 4 ดวง กับวัตถุขนาดเล็กอื่นๆ อีกนับล้านชิ้น ซึ่งรวมถึง ดาวเคราะห์น้อย วัตถุในแถบไคเปอร์ ดาวหาง สะเก็ดดาว และฝุ่นระหว่างดาวเคราะห์
ภาพของระบบสุริยะของเรา โดยมีดาวพลูโตอยุ่ในแถบไคเบอร์
โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งย่านต่างๆ ของระบบสุริยะ นับจากดวงอาทิตย์ออกมาดังนี้คือ ดาวเคราะห์ชั้นในจำนวน 4 ดวง แถบดาวเคราะห์น้อย ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่รอบนอกจำนวน 4 ดวง และแถบไคเปอร์ซึ่งประกอบด้วยวัตถุที่เย็นจัดเป็นน้ำแข็ง พ้นจากแถบไคเปอร์ออกไปเป็นเขตแถบจานกระจาย ขอบเขตเฮลิโอพอส (เขตแดนตามทฤษฎีที่ซึ่งลมสุริยะสิ้นกำลังลงเนื่องจากมวลสารระหว่างดวงดาว) และพ้นไปจากนั้นคือย่านของเมฆออร์ต
แถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) หมายถึง บริเวณที่อยู่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป ที่ด้านนอกระบบสุริยะรอบนอก มีบริเวณกว้าง 3,500 ล้านไมล์ มีก้อนวัตถุแข็ง เป็นน้ำแข็งขนาดเล็กจำนวนมากโคจรรอบดวงอาทิตย์ ลักษณะคล้ายกับแถบดาวเคราะห์น้อย ที่อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี วัตถุที่อยู่ในแถบไคเปอร์ มีชื่อเรียกว่า วัตถุในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt Object - KBO) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า วัตถุพ้นดาวเนปจูน (Trans-Neptunian Object - TNO) ซึ่งมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็ง เชื่อกันว่าก้อนน้ำแข็งเหล่านี้ เป็นแหล่งกำเนิดของดาวหางคาบสั้น โดยชื่อแถบไคเปอร์นี้ ได้ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ เจอราร์ด ไคเปอร์ ผู้ค้นพบ
ดาวพลูโต ซึ่งถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2473 ซึ่งเดิมทีเป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ถูกค้นพบในแถบไคเปอร์ ซึ่งมีระยะห่างจากโลกประมาณ 5,925,000,000 กิโลเมตร ส่วนก้อนน้ำแข็งอื่นๆ นั้นมีแสงริบหรี่และมองหายาก แต่ก็ถูกค้นพบในเวลาต่อมา ดวงแรกที่ค้นพบ คือ 1992 QB1 เมื่อ พ.ศ.2535 และใน พ.ศ.2548 นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบวัตถุในบริเวณนี้ดวงหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกว่า 2003UB313 โดยมีขนาดใกล้เคียงกับพลูโต และนำไปสู่การถกเถียงในหมู่นักดาราศาสตร์ว่าควรจะเรียกวัตถุใหม่ที่มีขนาดใกล้เคียงกับพลูโตว่าดาวเคราะห์หรือไม่ สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลจึงลงมติปลดพลูโตจากการเป็นดาวเคราะห์มาเป็นดาวเคราะห์แคระ และวัตถุที่มาของความขัดแย้งนี้ก็ได้ชื่อเป็นทางการว่า เอริส (Eris) ต่อมาในต้น พ.ศ. 2550 นักดาราศาสตร์ก็ยืนยันขนาดของเอริสว่ามีขนาดใหญ่กว่าพลูโตเล็กน้อย โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2400 กิโลเมตร
ดาวพลูโต
ไคลด์ วิลเลียม ทอมบอ (Clyde William Tombaugh) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ค้นพบดาวเคราะห์แคระพลูโตเมื่อ พ.ศ.2473
ไคลด์ ทอมบอ เกิดที่เมืองสเตรเตอร์ รัฐอิลลินอยส์ ครอบครัวยากจนเกินกว่าที่จะส่งทอมบอเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ หลังจากครอบครัวย้ายไปอยู่ที่รัฐแคนซัส ทอมบอ ได้สร้างกล้องโทรทัศน์ขึ้นด้วยตนเองเพื่อใช้ส่องดูดาว จากการส่งภาพวาดดาวพฤหัสและดาวอังคารที่เขาศึกษาจากกล้องทำเองไปให้สถาบันหอดูดาวโลเวลล์ดู ทอมบอจึงได้งานเป็นผู้ช่วยนักดาราศาสตร์ที่นั่นแลได้ค้นพบดาวพลูโตดังกล่าวเมื่อ พ.ศ. 2473 การค้นพบนี้เองที่ทำให้ทอมบอ ได้เข้าศึกษาและจบสาขาดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคนซัสและมหาวิทยาลัยนอร์ทแอริโซนา
ไคลด์ ทอมบอ
ไคลด์ ทอมบอ ทำงานที่หอดูดาวโลเวลล์ระหว่าง พ.ศ. 2472 - พ.ศ. 2488 จึงได้ย้ายไปสอนวิชาดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโกตั้งแต่ พ.ศ. 2498 จนเกษียณจากงานเมื่อ พ.ศ. 2516
ไคลด์ ทอมบอ ค้นพบดาวเคราะห์น้อย (asteroid) มากถึง 14 ดวง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลพลอยได้จากการค้นหาดาวเตราะห์ต่างๆ รวมทั้งดาวพลูโต ราชสมาคมดาราศาสตร์ แห่งประเทศอังกฤษได้มอบ เหรียญรางวัลแจ็กสัน-วิลท์ ให้แก่เขาเมื่อ พ.ศ. 2474 และเถ้ากระดูกของทอมบอส่วนหนึ่งได้รับการบรรจุไว้ในยานอวกาศ "นิวฮอไรซอน" ที่เดินทางไปยังดาวพลูโต
ไคลด์ วิลเลียม ทอมบอ ถึงแก่กรรมที่นิวเม็กซิโกเมื่ออายุ 91 ปี
ภาพเปรียบเทียบดาวพลูโต กับโลก และดวงจันทร์ของโลก
การสำรวจดาวพลูโต ซึ่งเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 ได้มีการปล่อยยานนิวฮอไรซันส์ เพื่อทำการสำรวจดาวพลูโต และแถบไคเปอร์ ซึ่งจะใช้เวลาเดินทาง 9 ปี เพื่อจะไปถึงจุดหมาย บทความต่อไปเราจะได้มาทำความรู้จักกับยานนิวฮอไรซันส์กันครับว่า ปัจจุบันยานเดินทางไปถึงไหนกันแล้ว อย่าลืมติดตามนะครับในเรื่อง ยานนิวฮอไรซันส์ ยานสำรวจดาวพลูโต ที่กำลังจะถึงจุดหมาย กับระยะทางประมาณ 5,925,000,000 กิโลเมตร แล้วพบกันครับ...mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพจาก
http://www.student.chula.ac.th/~53371119/
http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2012/05/X12094894/X12094894.html
http://www.sunflowercosmos.org/cosmology/cosmology_main/scale_universe%20_1.html
ขอบคุณแหล่งข้อมูล