ความรักของเพศที่3
สังคมยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้เราได้เรียนรู้ในเรื่อง ‘ความต่าง’ ที่มากขึ้น แต่ความต่างที่ว่านี้จะไม่ได้เป็นปัญหาเลย หากเราเข้าใจ และไม่ได้มองว่าผิดแปลก
เรื่องราวของเพศที่ 3 กะเทย เกย์ หรือคำอะไรก็ตามที่เราใช้เรียก หากเราลองค้นลึกลงไปในประวัติศาสตร์ ก็จะรู้ว่ามันมีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าอาจไม่ได้รับการเปิดเผยเฉกเช่นในปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้ ผู้คนได้รับทราบถึงความหลากหลายทางเพศที่มีมากขึ้น ทำให้คนกล้าที่จะแสดงออก ซึ่งตัวตนและภาวะทางเพศตามใจปรารถนามากขึ้นเช่นกัน
เพศที่มีในสังคมโดยกว้างๆ
ทางกายภาพเราสามารถแบ่งเพศได้เป็น 2 เพศ คือ ผู้ชายและผู้หญิง นอกเหนือจากนั้นก็อาจเป็นการผิดปกติทางกาย
อาทิ ‘Hermaphrodite’ หรือการมีอวัยวะเพศทั้งเพศชายเพศหญิงในร่างเดียวกัน เรียกว่า เป็นกะเทยโดยสมบูรณ์ แต่ทั้งนี้
อาจจะมีการผ่าตัดเพื่อให้เป็นเพศใดเพศหนึ่งโดยสมบูรณ์ได้เมื่อโตขึ้น
นอกจากเพศโดยปกติทางกายภาพที่เราเข้าใจกันแล้ว ยังมีความหลากหลายทางเพศอีกมากมายที่เกิดขึ้นในสังคมโดย ‘นพ.สุพร เกิดสว่าง’ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เคยได้อธิบายเรื่องเพศที่ 3 ไว้ในนิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 341 ว่า
การเป็นเกย์และกะเทยส่วนหนึ่ง มาจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา นอกนั้นคือสิ่งแวดล้อมสังคมและการเลี้ยงดูในครอบครัว
คนทั่วไปส่วนใหญ่ยังมีความสับสนเรื่องผู้ชายที่รักผู้ชายด้วยกัน หรือผู้ชายที่มีกิริยามารยาทคล้ายผู้หญิง นอกจากคนในสังคมจะสับสนและไม่เข้าใจแล้ว ยังมองบุคคลเหล่านี้ไปในทางลบ ทั้งนี้จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ชายมีหลักๆ 3 กลุ่ม
คือ
1. กลุ่มผู้ชายที่รักผู้หญิง (เพศตรงข้าม-ต่างเพศ) ซึ่งสังคมทั่วไปยอมรับ
2. กลุ่มผู้ชายที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย แต่รักผู้ชายด้วยกัน (เพศเดียวกัน – รักร่วมเพศ) ซึ่งมักนิยามตัวเองว่า เกย์ (gay)
มาจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษที่แปลว่า สดใส ร่าเริง
3. ผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิง หรือเป็นผู้หญิง ที่อยู่ในร่างของผู้ชายนั่นเอง คำไทยมักใช้ว่า ‘กะเทย’ (transgender หรือ transsexual)
การที่ผู้ชายมีความรักเพศเดียวกันมีสาเหตุหลายอย่างทั้งปัจจัยทางชีววิทยาและจิตวิทยา เริ่มตั้งแต่สาเหตุทางพันธุกรรม การพัฒนาของสมองเด็กในครรภ์ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศ ตลอดจนการอบรม เลี้ยงดู และประสบการณ์การเรียนรู้หลังจากที่เกิดมาแล้ว ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการเลียนแบบและไม่ติดต่อกัน
เพศที่ 3 ไม่ได้เป็น ‘บ้า’
แม้ว่าสมัยก่อนเราจะเคยเข้าใจว่า เป็นลักษณะอาการผิดปกติทางจิตหรือจิตเภท แต่ในปี พ.ศ.2516 องค์การอนามัยโลก (WHO), สมาคมนักจิตวิทยาอเมริกัน(APA : American Psychiatric Association) ได้ออกมาแก้ไขการวิเคราะห์แบบเดิมที่เคยกล่าวหาคนรักเพศเดียวกันใหม่ โดยมีการแถลงการณ์ว่า ‘การรักเพศเดียวกันนั้นไม่ได้ถือว่า เป็นโรค ไม่ถือเป็นความ
ผิดปกติทางจิต หรือความผิดปกติทางเพศแต่อย่างใด’
สำหรับประเทศไทยเองในสมัยก่อนเรื่องการเกณฑ์ทหาร สาวประเภทสองที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก จะถูกบันทึกเหตุผลลงไปว่า ‘มีความผิดปกติทางจิตถาวร’ซึ่งมีผลมากต่อการสมัครงาน และหลังจากที่ฟ้องร้องและดำเนินการมานานนับปีล่าสุดก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงเป็น ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ แทน
การขานรับและรับรองสิทธิในหลายๆ ประเทศ
เพราะการเปิดกว้าง การยอมรับในความต่าง และเพื่อความเท่าเทียมในสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทำให้หลายๆ ประเทศขานรับในเรื่องนี้ อาทิ สหราชอาณาจักร ที่แต่เดิมไม่ได้รับรองสิทธิให้เปลี่ยนเพศ หลังจากการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว แต่ในปัจจุบันก็ได้อนุญาตให้ผู้ผ่าตัดแปลงเพศได้ ในสถานะทางกฎหมายตามเพศใหม่ พร้อมสิทธิต่างๆ ทั้งการแต่งงาน การแก้ไขเอกสาร
ทางกฏหมาย สวัสดิการตามเพศใหม่ทุกประการ ฯลฯ และนอกจากประเทศอังกฤษแล้ว ประเทศอื่นๆ อีกกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ก็มีกฎหมายยอมรับการเปลี่ยนแปลงสถานะของผู้ผ่าตัดแปลงเพศได้เช่นกัน
นอกจากเรื่องการรับรองสิทธิในการแปลงเพศแล้ว ในส่วนของการแต่งงานทั่วโลก ก็เริ่มขานรับถึงความต่างนี้ ล่าสุด ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ‘บารัก โอบามา’ ก็ได้ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์เอบีซี ถึงแผนการสนับสนุนการแต่งงานของกลุ่มรักร่วมเพศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก ที่สนับสนุนการแต่งงานของกลุ่มเกย์ระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ล่าสุดรัฐสภาท้องถิ่นของ มลรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ก็ลงมติอนุมัติร่างกฎหมายรับรองการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันได้แล้ว ขณะเดียวกันรัฐสภาท้องถิ่นของนิวเจอร์ซีก็มีกำหนดการลงมติในร่างกฎหมายดังกล่าว
สำหรับประเทศบราซิล หลังศาลสูงสุดออกกฎหมายใหม่อนุญาตให้คู่รักที่เป็นเพศเดียวกันเข้าพิธีสมรสได้อย่างถูกกฎหมาย ก็ทำให้ชายหญิงคู่เกย์และเลสเบี้ยน จำนวน 43 คู่ ร่วมพิธีสมรสหมู่ ณ บริเวณสถานีรถไฟกลางกรุงริโอ เดอ จาเนโร ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานต่อต้านการรักร่วมเพศ ของรัฐบาลบราซิล
เพศที่ 3 ในโลกการ์ตูน
เหมือนเป็นการเกาะกระแสสนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่ประกาศโดย ประธานาธิบดีบารัก โอบามา
ผู้ผลิตการ์ตูนชื่อดังของโลกอย่าง ‘มาร์เวล’ ก็ได้นำเสนอ ‘X-Men’ ที่เป็นเรื่องราวของสองซูเปอร์ฮีโร่ ‘นอร์ธสตาร์’และ ‘ไคลี่’
ในฐานะคู่รักเกย์ โดยได้เพื่อนๆ ซูเปอร์ฮีโร่มาร่วมเป็นสักขีพยาน แต่ยังไม่จบแค่นั้น เพราะทางค่าย ‘DC’ คู่แข่งขัน ก็ประกาศว่า
จะเปิดเผยตัวซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็นรักร่วมเพศด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็น แบทแมน, ซูเปอร์แมน หรือวันเดอร์ วูแมน ด้วย
ในส่วนของการ์ตูนทางฝั่งเอเชีย ก็มีเรื่องราวของรักร่วมเพศมานานแล้วเช่นกัน หากแต่ไม่ได้มีลิขสิทธิ์ในประเทศไทย ทำให้อาจจะไม่ได้มีการพบเห็นมากนัก
ทำไมรักของเพศที่ 3 จึงดูเหมือนว่าจะไม่ยั่งยืน
ต้องเข้าใจก่อนว่าสื่อนั้นมีพื้นที่จำกัด ข่าวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ออกมาในหน้าสื่อส่วนใหญ่ จึงออกมาในลักษณะที่เป็นข่าวด้านลบมากกว่าด้านบวก เช่น การหลอกลวง ตมตุ๋น หึงหวง จนไปถึงการฆ่ากันตาย แต่ในสังคมจริงๆ ย่อมไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องด้านลบ ความรักที่ยั่งยืนของเพศที่ 3 ถามว่า มีไหมคงตอบได้ไม่ยากว่า ‘มี’ แต่ใครละที่จะมาทำข่าว นั่นก็เป็นหตุผลหนึ่งที่เราไม่ได้รับทราบเรื่องราวเหล่านั้นมากเท่าที่ควร
แน่นอนว่าภาพจากสื่อก็ย่อมส่งผลต่อพวกเขาด้วย การกระทำต่างๆ จึงยิ่งสอดรับกับภาพเหล่านั้น เช่น เมื่อเราคิดว่าการคบกันอย่างคนรัก ไม่มีทางยืดยาว เราก็จะไม่จริงใจให้แก่คนที่เขามา เพราะคิดว่าเขาไม่จริงใจกับเราเช่นกัน ผลกระทบที่เกิดก็จะเป็นเหมือนลูกโซ่แก่สังคม
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความรักที่ว่านี้ดูเหมือนจะไม่ยั่งยืน นั่นอาจเป็นไปได้ว่า กฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้ครอบคลุมถึงเพศที่ 3 การที่เขาไม่สามารถแต่งงานกันได้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเลิกรากันง่ายตามไปด้วย
เราลองเปรียบเทียบง่ายๆ จากคู่แต่งงานชายหญิงปกติ เมื่อแต่งงานก็จะเกิดพันธะนอกเหนือจากความผูกพันทางร่างกายแล้ว ยังมีความผูกพันเรื่องกฏหมาย เรื่องของสินสมรส และรวมถึงเรื่องบุตร ดังนั้นเมื่อมีเหตุให้ทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้าไม่ได้มีพันธะทางกฏหมายหรือเรื่องของสินสมรส อาจทำให้ต่างคนต่างแยกย้าย หรือแยกทางกันได้ง่ายขึ้น แม้กระทั่งหากเกิดเรื่องของการนอกใจ กฏหมายก็สามารถที่จะฟ้องหย่าหรือเรียกร้องค่าเสียหายได้
แม้ใครหลายคนจะบอกว่า ‘ทะเบียนสมรส’ เป็นเพียงกระดาษใบหนึ่ง ถ้าอย่างนั้นคงต้องถามกลับว่า แล้วทำไมชายหญิงยังต้องจดทะเบียนสมรส ถ้าไม่ใช่เพราะชีวิตคู่มันมีอะไรที่มากกว่าแค่เรื่องของ ‘ความรัก’ ไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน หากแต่เกี่ยวพันถึงครอบครัวและคนรอบข้างด้วย
‘ความรัก’ ไม่ใช่เพียงคำคำหนึ่งที่ออกจากปากโดยไม่มีความหมาย แต่ความรักเป็นเรื่องของความรู้สึกดีๆ ที่มีให้แก่กัน
โดยที่อาจจะไม่ต้องพ่วงความสัมพันธ์ทางร่างกาย และ ‘ความรัก’ ก็ไม่มีเพศเป็นเครื่องกำหนดว่าเพศไหนมีได้ เพศไหนมีไม่ได้ การเป็นเพศที่ 3 ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรักกับเพศเดียวกันไปตลอดไม่สามารถเปลี่ยนได้ และไม่ได้หมายความว่า คุณจะมีความรักกับเพศเดียวกันไปตลอดชีวิตไม่ได้เพราะยังไงเสียมันก็คือ ‘ความรัก’
ซ้ำขออภัยค่ะ
รูปประกอบ : อินเตอร์เน็ต