สายสัมพันธ์ล้านนาล้านช้าง
ความสัมพันธ์ของอาณาล้านนากับล้านช้าง
ความสัมพันธ์ของทั้งสองอาณาจักรนั้นมีความใกล้ชิดกันมากในรัชสมัยของพระเจ้าโพธิสารแห่งล้านช้าง (พ.ศ. 2063 - พ.ศ. 2090) นับได้ว่าเป็นรัชสมัยแห่งความรุ่งเรืองในด้านศิลปะและวรรณกรรมต่างๆ ในด้านพระพุทธศาสนา พระองค์ก็ได้ทรงประกาศห้ามให้มีการบูชาผีต่างๆ และทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยความเลื่อมใสอย่างยิ่ง โดยมีการรับอิทธิพลด้านพุทธศาสนามาจากอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับล้านช้างในเวลานั้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้อักษรธรรมล้านนาเป็นเครื่องมือศึกษาพระพุทธศาสนา (อักษรดังกล่าวนี้ได้พัฒนาเป็นอักษรธรรมลาวในเวลาต่อมา)
อาณาจักรล้านช้างได้เข้าเกี่ยวดองกับอาณาจักรล้านนาผ่านการเสกสมรสของเจ้านายในเครือญาติของทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็คือ พระเจ้าโพธิสารแห่งอาณาจักรล้านช้างกับพระนางยอดคำทิพย์ (พระราชธิดาในมหาเทวีจิรประภา) แห่งอาณาจักรล้านนา โดยพระองค์ทรงให้ประสูติกาลพระโอรสผู้เป็นดั่งโซ่ทองคล้องสองอาณาจักรไว้คือ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช หรือพระอุปโย
การที่ล้านช้างมีความสัมพันธ์กับล้านนาอย่างใกล้ชิดก็ด้วยเหตุผลด้านการเมืองเป็นหลัก กล่าวคือ ในขณะนั้นอาณาจักรล้านนาได้อ่อนแอลง จากการที่เหล่าขุนนางได้แก่งแย่งแบ่งฝักฝ่ายกัน โดยมีการแบ่งกลุ่มอำนาจเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มแสนคราว เป็นกลุ่มขุนนางในเชียงใหม่ได้ลอบปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้า แล้วไปอัญเชิญเจ้านายเมืองเชียงตุงที่มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายมาครองเมืองเชียงใหม่แต่ไม่ยอมมา จึงได้อัญเชิญเจ้าฟ้าเมืองนายแทน
- กลุ่มหมื่นหัวเคียนแสนหวี เป็นกลุ่มขุนนางที่นำเข้ามารบกับกลุ่มแสนคราวที่เมืองเชียงใหม่ รบกันเป็นเวลาสามวันสามคืน ฝ่ายหมื่นหัวเคียนแสนหวีพ่ายแพ้หนีไปเมืองลำพูน กลุ่มนี้ได้แจ้งให้กรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นมายึดเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาจึงทรงยกทัพมายังเชียงใหม่
- กลุ่มเชียงแสน กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย เจ้าเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองพาน ซึ่งเป็นกลุ่มของมหาเทวีจิรประภาเอง ได้ทำการกวาดล้างกลุ่มแสนคราวได้สำเร็จ และสนับสนุนพระอุปโย (หรือ พระไชยเชษฐา) แห่งล้านช้างมาครองล้านนา ด้วยพระองค์มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระเมืองเกษเกล้า โดยระหว่างการรอการเสด็จมาของพระไชยเชษฐา เหล่าบรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญพระนางจิรประภา พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า พระอัยยิกาในพระไชยเชษฐาแห่งล้านช้าง ขึ้นเป็นกษัตรีย์พระองค์แรกในแผ่นดินล้านนาในปี พ.ศ. 2088
สงครามล้านนากับกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑
ขณะที่มหาเทวีจิรประภาทรงครองราชย์นั้น ได้มีทัพจากอยุธยานำโดยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งรู้ข่าวจากกลุ่มหมื่นหัวเคียนแสนหวีว่าล้านนากำลัีงอ่อนแอแตกแยกกัน เดินทัพขึ้นมายังเชียงใหม่ แต่ด้วยพระปณิธานของมหาเทวีจิรประภาซึ่งรู้ว่าบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่พร้อมกับการสงคราม เพื่อไม่ให้บ้านเมืองบอบช้ำหนัก จึงได้ส่งเสนาอำมาตย์ไปถวายสมเด็จพระไชยราชาธิราชเพื่อให้บ้านเมืองพ้นภัยด้วยการเป็นไมตรีกัน พระนางทรงใช้วิธีการกราบบังคมทูลเชิญให้สมเด็จพระไชยราชาธิราชไปประทับที่เวียงเจ็ดลิน พระราชวังฤดูร้อนของกษัตริย์เชียงใหม่ที่เชิงดอยสุเทพแทนการเข้าเวียงโดยผ่านประตูช้างเผือกตามฮีตล้านนา และทูลเชิญสมเด็จพระไชยราชาธิราชร่วมทำบุญสร้างกู่ถวายพระเมืองเกษเกล้าที่วัดโลกโมฬีที่เปรียบเสมือนวัดประจำรัชกาลพระเมืองเกษเกล้า แต่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง โดยสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้ประทับสำราญพระอิริยาบถที่เวียงเจ็ดลิน พักพลที่สบกวงใต้เมืองลำพูน แล้วเสด็จกลับ
สงครามล้านนากับกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒
เนื่องจากในปีนั้นมีข้าศึกมาติดพันอยู่ตลอดมหาเทวีจิรประภาจึงได้ขอกำลังจากล้านช้างซึ่งเป็นอาณาจักรของพระเจ้าโพธิสารธิราช พระชามาดา (ลูกเขย) ของพระนางเอง ซึ่งอาณาจักรล้านช้างกำลังเจริญรุ่งเรือง ซึ่งการรวมกันของล้านช้างและล้านนา ได้สร้างความหวั่นวิตกต่อสมเด็จพระไชยราชาธิราช โดยเฉพาะการแทรกแซงล้านนา กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ขึ้นมาปราบเชียงใหม่เป็นครั้งที่สองในปี พ.ศ.2089 โดยเฟอร์ดินานด์ เมนเดส ปินโต นักเดินทางชาวโปรตุเกสได้บันทึกไว้ว่า มีกำลังพล 400,000 คน เรือ 300 ลำ ช้าง 4,000 เชือก เกวียนสำหรับบรรทุกปืนใหญ่ 200 เล่ม และมีทหารรับจ้างโปรตุเกสไปร่วมรบด้วย 120 คน ในครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาสามารถตีเมืองลำพูนแตก แต่เชียงใหม่ก็ป้องกันตัวเองสำเร็จผลของสงครามคือกรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงต้องกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บสาหัส ทหารฝ่ายล้านนาและล้านช้างได้อาวุธยุทโธปกรณ์ ช้าง ม้า และเชลยศึกจำนวนมาก
หลังจากสิ้นสงครามแล้ว พระเจ้าโพธิสารราชได้รับความดีความชอบสูง และได้นำพระราชโอรส คือ พระไชยเชษฐาธิราชขึ้นมาครองอาณาจักรล้านนา มหาเทวีจิรประภาจึงทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชนัดดา ในช่วงที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงครองอาณาจักรล้านนา ในช่วงปี พ.ศ. 2089-2090 แต่พระโพธิสารราชเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน พระไชยเชษฐาจึงเสด็จกลับล้านช้างในปี พ.ศ. 2090 โดยเสด็จไปพร้อมกับ พระแก้วมรกต (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร) ซึ่งประดิษฐาน ณ วัด บุปผาราม เชียงใหม่ พระพุทธสิหิงค์ (พระสิงห์) และพระแก้วขาว พร้อมกับมหาเทวีจิรประภา พระราชอัยยิกา แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์ เกิดสงครามกลางเมืองเชียงใหม่ด้วยขุนนางต่างสู้รบกัน ดังนั้นระหว่างปี พ.ศ. 2091 - 2094 จึงถือเป็นกลียุคของล้านนา ในที่สุดขุนนางเมืองเชียงใหม่เห็นว่าสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงไม่เสด็จกลับมาแล้ว จึงได้อัญเชิญท้าวเมกุเสวยราชย์ต่อไป ด้วยเหตุนี้พระไชยเชษฐาทรงเห็นว่าท้าวแม่กุครองราชย์โดยพระองค์มิชอบ จึงนำไปสู่การยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ.2098
จากการที่ทั้งสองอาณาจักรมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น จึงทำให้ทั้งสองอาณาจักรมีศิลปะวัฒนธรรมและประเพณีที่เหมือนกัน ทั้งการพูดที่มีคำว่า "เจ้า" การเขียน (ซึ่งอักษรธรรมลาวได้รับอิทธิพลมาจากอักษรธรรมล้านนา) พิธีบายศรีสู่ชวัญ การฟ้อนรำ การนุ่งซิ่นพาดสไบ การแกะสลักพระพุทธรูป ลักษณะของวัดวาอารามที่ได้รับอิทธิพลมาจากสกุลช่างล้านนา เช่น การเขียนลายคำหรือลงรักปิดทองตรงเสาวิหารและฝาผนัง หลังคาที่ลดหลั่นลงเป็นชั้นซ้อนกันแบบอ่อนช้อย และประดับช่อฟ้าสัตตบริภัณฑ์ตรงกลางของสันหลังคาวิหารที่เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุตามความเชื่อของล้านนา ที่สำคัญคือการยึดมั่นในพระพุทธศาสนาที่เคร่งครัด
อักษรลาว (พัฒนามาจากอักษรธรรมลาวที่ได้รับอิทธิพลจากล้านนา)
อักษรธรรมล้านนา
วัดโลกโมฬี ศิลปะล้านนา เชียงใหม่ (สร้างโดยมหาเทวีจิรประภา)
วัดเชียงทอง หลวงพระบาง
(สร้างโดยพระไชยเชษฐาธิราชพระราชนัดดาในมหาเทวีจิรประภาแห่งล้านนา โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะล้านนา)
พิธีบายศรีสู่ขวัญล้านนา
พิธีบายศรีสู่ขวัญลาว
ทุงลาว
ตุงล้านนา