ประวัติมหาตคานธี
ประวัติมหาตคานธี และ คำสอนของท่าน
เขาไม่ใช่คนร่ำรวยและมีทรัพย์สินไม่ถึง 3 ดอลลาร์เมื่อเขาตายแต่เขาก็เป็นคนคนเดียวกับที่อัจฉริยะของโลกอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า “คนรุ่นอนาคตจะไม่มีทางเชื่อเลยว่า มีคนแบบนี้จริงอยู่บนโลกมนุษย์นี้” มาร์ติน ลูเธอร์คิง ยกย่องเขาว่า “พระเยซูเจ้ามอบคำสอนแก่ข้าพเจ้า คานธีเป็นผู้มอบพิธีการ”
เมื่อเป็นเช่นนี้คงไม่มีประโยคใดเหมาะสมสำหรับเขาเท่ากับการที่ทั่วโลกต่างยกย่องให้เขาเป็นบุคคล “อมตะ” และมอบความ “ยิ่งใหญ่” ในฐานะผู้มีจิตใจสูง ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “มหา+ อาตมา” ( แปลว่า ผู้มีจิตใจสูง ) จนกลายมาเป็น “มหาตมะ” ขนานนามโดย “รพินนารถ ฐากูร”นักปราชญ์ชาวอินเดียผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบล
บุรุษผู้นี้ก็คือ “มหาตมะ คานธี” บุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักต่อสู้รุ่นแล้วรุ่นเล่า ไม่ว่าจะเป็น หญิงเหล็กอองซาน ซูจี ผู้ที่เจริญรอยตามการต่อสู้โดยยึดหลัก “อหิงสา” แสดงให้เห็นว่า “การกระทำโดยไม่กระทำ” นั้นก่อให้เกิดผลยิ่งใหญ่เพียงใด ทั้ง ๆที่เขาถือกำเนิดเป็นชาวฮินดูแต่สิ่งที่เขาปฎิบัติโดยยึดหลัก “อหิงสา” นั้นเป็นการเดินตามรอยมหาศาสดาเอกของโลกโดยที่เขาถือว่าสิ่งนี้เป็น “สัจธรรม” ตามธรรมชาติที่พระพุทธองค์นำมาเป็นแนวทางเพื่อให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติ จึงเป็นบุคคลที่เข้าใจโลกและทางออกของมนุษย์ที่ไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีซึ่งผู้บริหารในยุคปัจจุบันควร นำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาระหว่างความคิดของคนต่างศาสนา ในวาระที่วันที่ 2ธันวาคมเป็นวันครบรอบวันเกิดของคานธี ผมจึงนำเรื่องราวของท่านมาฝากท่านผู้อ่าน
“พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” อย่างอังกฤษ ท่ามกลางการดูหมิ่นเหยียดหยาม ชาวเอเชียอย่างรุนแรง และด้วยความเข้าใจในปัญหานี้ ทำให้เขาหาหนทางต่อสู่อย่างสันติ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นตัวตนแห่งเสรีภาพของชนชาติของเขา ซึ่งถือเป็นการต่อสู้กับมหาอำนาจที่ยากที่จะต่อสู้ด้วย“กำลัง” แต่สิ่งที่ เขาเลือกใช้คือ “สติและปัญญา” ความแน่วแน่และกล้าหาญ ทำให้เขาสามารถขับไล่ผู้รุกรานได้อย่างสันติ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการใช้สันติวิธีในการขับไล่ผู้รุกราน และเขาเป็นผู้ที่เชื่อมโยงการแบ่งชั้นวรรณะในอินเดีย เพื่อหลอมรวมจิตใจของคนอินเดียทั่วประเทศที่ไม่ต้องการให้เกิดการเสียเลือดเนื้อ ทำให้คนอินเดียที่มีความหลากหลายทางด้านปรัชญาที่มีรากฐานมากว่าสี่พันปี มีเป้าหมายอย่างเดียวกัน
ประวัติ เด็กชาย โมฮันดาส คาดามจันด์ คานธี เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1869 เกิดที่เมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งชื่อขัตติยวาส เขตสุทามาปุรี แคว้นบอมเบย์ เป็นชาวฮินดูในตระกูลแพศย์ เขาเป็นลูกคนสุดท้องของพี่น้องทั้งหมดสี่คน บิดาชื่อ นายกรมจันด์ คานธี มารดาชื่อ นางปุตลีไป ตั้งแต่เด็กเขาได้รับการปลูกฝังให้เป็นคนที่มีวินัยและการอุทิศตนตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด มารดาของเขาซึ่งเป็นผู้ที่เคร่งในศาสนามาก มักถือศีลอดอาหารเป็นเวลานานอยู่เนืองๆ
ในวัยเด็ก เขามักถูกดูถูกเหยียดหยามเพราะวรรณะแพศย์ไม่ใช่วรรณะชั้นสูงเท่าใดนัก ทำให้เขาเกลียดการแบ่งชั้นวรรณะ และเนื่องจากการที่เขาเป็นลูกคนเล็ก จึงถูกตามใจมากทำให้เขาเป็นเด็กที่มีนิสัยเกเรมาก ครั้งหนึ่งเขาขโมยเงินบิดาไปซื้อบุหรี่ ด้วยความกลัวจะถูกดุด่า ( บิดาของเขาดุมาก ) จึงสารภาพความจริงออกมา บิดาของเขานอกจากไม่ดุด่าและทำร้ายเขาแล้ว ยังสวมกวดและร้องไห้เนื่องจากซาบซึ้งในความดีและความกล้าหาญของคานธี น้ำตาในครั้งนั้นถือเป็นน้ำตาแห่งความรักของบิดาที่มีต่อเขา เปรียบเสมือนน้ำตาที่ชำระสิ่งไม่ดีไปจากตัวคานธีนั่นเอง
นี่คือตัวอย่างเล็ก ๆน้อย ๆ ที่ผู้ปกครองทั้งหลายสมควรเอาเยี่ยงอย่าง เมื่อลูกทำผิดควรใช้เหตุผล อย่าเอาอารมณ์ไปทำร้ายลูก ๆ ควรคิดและไตร่ตรองก่อน โดยใช้ความรักให้เป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้กับครอบครัวคานธีแต่งงานตั้งแต่อายุ 13 ปี เขาเป็นสามีขี้หึงชอบแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ภรรยาของคานธีชื่อ คาสตวาเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อเขามากพอ ๆ กับบิดาของเขาเลยทีเดียว เมื่ออายุ 17 ปีเขาต้องทิ้งภรรยาและครอบครัวเพื่อไปเรียนกฎหมายที่อังกฤษ ความหวังของเขาในขณะนั้นคือการที่จะได้เป็นสุภาพบุรุษอังกฤษ ที่แต่งตัวอย่างผู้ดีอังกฤษ เรียนเต้นรำและดนตรี โดยที่เขาเองไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลยว่าชีวิต ความคิดของเขาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนับจากวินาทีที่เขามุ่งหน้าสู่ดินแดนใหม่ อย่างไรก็ตามเมื่อเขาเรียนจนจบแล้วกลับมาประกอบอาชีพทนายความในอินเดีย แต่การว่าความครั้งแรกของเขาสร้างความอับอายให้แก่เขามากตามประสาทนายความมือใหม่ที่เต็มไปด้วยความประหม่า ตื่นเต้น เขาไม่สามารถเปิดปากพูดสิ่งใดได้เลย และเพื่อหนีความอับอายทำให้เขาตัดสินใจหนีไปอยู่ที่แอฟริกาใต้ ที่ที่เขาเริ่ม มองเห็นความต้องการและ “ตัวตน” ของตนเอง
เมื่ออยู่ในแอฟริกาได้ไม่นาน เขาก็พบสิ่งที่สะเทือนใจของเขาอย่างมาก อันเกิดจากการกีดกัน แบ่งชั้นวรรณะ ( ที่อาจดูเหมือนเลวร้ายพอ ๆ กับในบ้านเกิดของเขา ) โดยที่เขาไม่รู้มาก่อนว่ามีการเลือกปฎิบัติต่อชาวอินเดีในแอฟริกาใต้ เมือวันหนึ่งเขาซื้อตั๋วรถไฟชั้นหนึ่ง แต่ถูกเหยียดหยามจากผู้โดยสารผิวขาว โดยผู้โดยสารผิวขาวได้ต่อว่าพนักงานและบอกให้เขาย้ายไปนั่งที่นั่งชั้นสาม แต่คานธีไม่ยอม พอถึงสถานีแรกที่รถจอด เขาก็โดนผู้คุมโยนลงจากรถไฟ อย่างไร้ความปราณี และจุดนี้เองที่เขาเองก็ถือว่า “เป็นประสบการณ์ที่สร้างสรรค์มากที่สุดในชีวิต” ทำให้เขานั่งคิดทั้งคืนว่า การที่ถูกปฏิบัติอย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หลังจากนั้นอีกเพียงหนึ่งสัปดาห์ เขาจึงได้นำความคิดของเขามาแสดงออกใน การประชุมผู้อพยพชาวอินเดียพื้นเมืองขณะนั้นเขามีอายุเพียง 24 เท่านั้น
เขาแสดงแนวความคิดที่จะเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับคนอินเดียและคนผิวดำ ซึ่งถูกกดขี่จากคนผิวขาว ที่ถูกจำกัดสิทธิในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางสิทธิในการออกเสียง การเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือ แม้แต่เดินบนถนนในยามค่ำคืนก็ไม่สามารถออกมาเดินได้เพราะคนขาวเกรงว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะมาทำร้ายด้วยอุดมการณ์แบบนักกฎหมายที่เขาเชื่อว่า เมื่อกฎหมายเปลี่ยน...พฤติกรรมของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงตาม.... เขายังคงทุ่มเททำงานในศาลระดับล่างเพื่อเตรียมทำอะไรบางอย่างเรื่อยมา
จนเมื่อปี 1906 เขาสมัครเข้าร่วมกองทัพทหารอังกฤษเพื่อปราบปรามการลุกฮือของพวกซูลู ในสงครามโบเออร์ และที่นี่เองที่ทำให้เขาเห็นความรุนแรงอย่างไร้มนุษยธรรมว่า พวกซูลูถูกกดขี่และเอาเปรียบจากคนอังกฤษ เขาเริ่มคิดถึงภรรยาของเขา คนใกล้ตัวมากที่สุดที่เขาเคยกดขี่และเอาเปรียบ จนเขาเกิดความสำนึกผิดและคิดว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกผิดต่อชีวิตสมรสของตัวเอง ต่อความสัมพันธ์ของคาสวา ( ภรรยา) ”
ในปี 1906 นั้นเองที่กฎหมายใหม่ในแอฟริกาใต้กำหนดให้ ชาวอินเดียทุกคนต้งอเข้ารับการจดทะเบียนและพิมพ์ลายนิ้วมือ ข้อบังคับนี้รวมถึงการให้หญิงชาวอินเดียต้องเปลื้องผ้าต่อหน้าตำรวจผิวขาว เพื่อกรอกตำหนิรูปพรรณลงไปด้วย สิ่งนี้เองที่สร้างความไม่พอใจให้กับเขาและชาวอินเดียเป็นอย่างมาก จนเกิดการชุมนุมชาวอินเดียสามพันคนในกรุงโยฮันเนสเบริก เขาขึ้นไปพูดว่า
เราจะสวดมนต์ขอต่อพระผู้เป็นเจ้าว่าเราจะเข้าคุก และจะอยู่ในคุกจนกว่ากฎหมายนี้จะถูกเพิกถอน
เพราะคำพูดประโยคนี้จึงทำให้เกิดการจุดประกายให้เกิดการต่อต้านครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ผู้ประท้วงต่างอดทนต่อการทุบตีของตำรวจและยอมรับความเจ็บปวดอย่างกล้าหาญและที่นี่เองที่ “หลักอหิงสา” ได้อุบัติขึ้น เพราะเขาคิดได้แล้วว่า “หลักอหิงสา” จะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เกิดสันติได้โดยไม่ต้องเกิดการต่อสู้ และเสียเลือดเนื้อ จนในที่สุดเขาก็พิสูจน์ว่าได้ผลเมื่อทหารอังกฤษต้องยอมยกเลิกกฎนั้น
ขณะที่เขามีอายุ 45 ปีในค.ศ. 1915 เขากลับมายังอินเดีย แผ่นดินแม่ที่ถูกปกครองโดยลัทธิจักวรรดินิยมมากว่า 20 ปี และถูกกอบโกยเอาทรัพยากรต่าง ๆ ไปเป็นจำนวนมาก เขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่คนอินเดียกว่าสามร้อยล้านคน จะก้มหัวให้กับคนอังกฤษเพียงแสนคน ทำให้เขาปลุกระดมให้คนอินเดียรวมตัวกันประท้วง
การประท้วงครั้งแรกเกิดจากคนอินเดียสองพันคนในเมืองอำมริษา ปรากฎว่านายพลเรจินนอล์ ดายเออร์ ได้ออกคำสั่งห้ามชุมนุมไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว นายพลจึงบัญชาการให้ทหารห้าสิบนายไปปราบปรามโดยกราดยิงกระสุนไรเฟิลเข้าใส่ผู้ชุมนุมกว่าสิบนาทีและที่หยุดยิงเพราะกระสุนหมด.... เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 379 คน และบาดเจ็บกว่า 1,000 คน
เหตุการณ์นี้เองสร้างความตึงเครียดที่อาจก่อให้เกิดการล้างแค้นขึ้น แต่คานธีลุกขึ้นมาพูดว่า จะไม่ตอบโต้อังกฤษ ที่กระทำเช่นนั้น เขาไม่ใช่ศัตรูแต่เป็นเพื่อนเราต่างต้องการการปลดปล่อยเหมือนกัน ด้วยวิธีการพูดเช่นนี้ช่วยแปรเปลี่ยนความเคียดแค้น ชิงชังให้กลายมาเป็นความสามัคคีของชาวอินเดียทุกคน เขาได้กล่าวว่า เขาหันมาใส่เสื้อผ้าธรรมดาพร้อมกับพูดว่า “เสื้อผ้าของชาวต่างชาติที่สวมใส่อยู่นั้น แสดงความเป็นทาสต่อวัฒนธรรมของชาวตะวันตก และเราจะไม่สามารถปลดปล่อยความเป็นทาสได้” ทำให้คนอินเดียเอาเสื้อผ้าเหล่านั้นไปเผาทิ้ง
ตำนานแห่งการต่อสู้ด้วยหลัก “อหิงสา” ของคานธีมีอีกหลายเรื่องที่เล่าขานกันได้อย่างไม่จบสิ้น แต่ก็มีเรื่องที่สำคัญมากคือ การต่อสู้สิทธิของชาวอินเดียในเรื่อง “เกลือ” ( ในอดีตเกลือเป็นของที่มีค่า ) เพราะชาวอังกฤษกดขี่ชาวอินเดีย ไม่ให้ทำเกลือเองและ ห้ามว่าการขายเกลือของชาวอินเดียเป็นสิ่งผิดกฎหมายแต่กลับสงวนไว้เพื่อชาวอังกฤษเท่านั้น คานธีจึงวางแผนต่อต้านด้วยการเดินเท้าเปล่าระยะทางกว่าสองร้อยไมล์ ไปยังทะเลอาหรับ พร้อมด้วยสาวกกว่าแปดสิบคน เพื่อไปทำเกลือที่นั่น
วันที่ 12 มีนาคม 1930 อีกบทหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เริ่มต้นอีกครั้ง..การเดินทางครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักข่าวต่างประเทศที่เข้ามาทำข่าวของเขามากมายซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของการเข้ามาทำข่าวในดินแดนอนุทวีปแห่งนี้ ทำให้โลกได้รู้ถึงการกระทำของเขาและสาวกจนทำให้มีคนเข้าร่วมเดินกับเขาเป็นจำนวนมาก เป็นการเปิด “ความจริง”ให้โลกทั้งโลกได้รับรู้และแม้จะไม่สามารถมาร่วมขบวนได้แต่ต่างก็ได้เอาใจช่วยเขา เขาใช้เวลาเดินทาง 24 วันจนในที่สุดเมื่อวันที่ 6 เมษายน เขาก็เดินไปถึงชายฝั่งมหาสมุทรพร้อมกับชาวอินเดียหลายแสนคนที่ร่วมเดินทางมากับเขา เขาก้มลงหยิบเกลือขึ้นมาและพูดว่า
“ด้วยเกลือหยิบมือนี้ ข้าพเจ้าขอต่อต้านการบังคับของจักรวรรดิอังกฤษ ขอเราจงร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิของเราเถิด”
ถือเป็นการสร้างประกายไฟแห่งการตอบสนองของคนอินเดีย ให้มีการค้าขายเกลือกันอย่างเปิดเผย ทำให้คานธี และคนอินเดียหลายพันคนถูกจับและทำร้ายร่างกาย แต่ด้วยแรงกดดันจากนานาประเทศ ทำให้ลอร์ดเออวินน์ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษปล่อยตัวคานธีและเปิดการเจรจาเพื่อทำการต่อรอง คานธีมาตามคำเชิญพร้อมกับขอน้ำอุ่นมาหนึ่งแก้ว พร้อมกับหยิบของขึ้นมาสิ่งหนึ่ง พร้อมกับบอกว่า
“ท่านที่เคารพ อย่าบอกใครนะว่านี่คือเกลือที่ข้าทำอย่างผิดกฎหมาย” พร้อมกับเทเกลือลงน้ำและยกขึ้นดื่ม และจากเหตุการณ์นี้ ทำให้กษัตริย์อังกฤษเรียกตัวเขาเข้าพบ ซึ่งที่นั่นเอง ที่ทำให้เขามีโอกาสแสดงทรรศนะของเขาว่า "ข้าพเจ้ากำลังขอร้องต่อบิดาแห่งชาติของเรา ให้ท่านมีเมตตา มีความรัก เห็นความจริงและงดใช้ความรุนแรง ขอจงประทานพรแก่พวกเรา เสรีภาพอันสมบูรณ์เท่านั้นคือสิ่งที่เราต้องการ"
ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปี 1942 คานธีเรียกร้องการประกาศอิสรภาพโดยทันที "นี่คือคำสวดเป็นคำสั้นๆ ที่ข้าพเจ้าจะมอบแก่ท่านอยู่หรือตาย เราจะปลดปล่อยอินเดียหรือมิฉะนั้นก็ยอมตาย" และในคืนวันที่คานธี ประกาศอิสรภาพนั้นเอง เขาและสมาชิกสภาคองเกรซทั้งหมดก็ถูกจับกุม ด้วยวัย 73 ปี แต่โลกทั้งโลกก็ให้ความ สนใจต่อการกระทำของเขาในครั้งนี้มาก วันที่ 14 สิงหาคม 1947 อินเดียก็ฉลองอิสรภาพของตน เนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้อำนาจของอังกฤษลดน้อยลง จนในที่สุดอังกฤษต้องยอมรับว่าตนไม่สามารถปกครองอินเดียอีกต่อไปได้ แต่ 'ลอร์ดเมาท์ แบดเทริส์น' ได้ทิ้งยาพิษที่ขมขื่นไว้สำหรับชาติอินเดียที่เป็นเอกราชและคานธี คือการ แบ่งแยกอินเดียออกเป็น 2 ประเทศ ด้วยการก่อตั้งรัฐปากีสถาน อนาคตของชาติใหม่ปรากฏความขัดแย้งให้เห็นอยู่ เบื้องหน้าแล้ว ชาวฮินดูและมุสลิม คู่แข่งอันยาวนาน หันมาเกลียดกันอย่างเปิดเผย ชาวมุสลิมส่วนน้อยยืนยันจะแยกตัวออกไป (กลายเป็นประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) หลังจากอุทิศมาชั่วชีวิตเพื่อรวมประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียว แต่คานธีกลับต้องเห็นบ้านเกิดอันเป็นที่รักถูกแบ่งออกเป็น 2ส่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำร้ายจิตใจเขามาก
บางทีเขาอาจต้องทบทวนว่าด้วยหลัก “อหิงสา” และการต่อสู้เกือบทั้งชีวิตของเขาหรือไม่ที่ทำให้เกิดการสูญเสียจากการสังหารหมู่ระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมจำนวนครึ่งล้าน มาถึงตอนนี้เขากลายเป็นบุคคลที่มีทั้ง “ คนรักและคนชัง” เพราะเมื่อเขาเริ่มอดอาหารประท้วง ก็มีผู้เดินขบวนและร้องออกมาว่า “ คานธีจงลงนรก ปล่อยให้คานธีตายไป ให้เขาตายไปลงนรกซะ” นับเป็นการใช้ชีวิตในช่วงปัจฉิมวัยที่ขมขื่นมากสำหรับเขาเลยทีเดียว วันที่ 30 มกราคม 1948 คานธีในวัย 78 ปี เดินเข้าไปในที่ประชุมสวดประจำวัน ในสวนเวอริฮาทร์ กรุงนิวเดลี ท่ามกลางฝูงชน ชายชาวฮินดูคนหนึ่ง 'นาฮูราน กอสซี่' วัย 36 ปี ก้าวออกมาก้มลงคารวะคานธี แล้วพูดว่า 'ท่านมาสายสำหรับการสวด' คานธีก็พูดว่า 'ใช่ฉันมาสายไป มาสายจริงๆ' แล้วกอสซี่ชักปืนเล็กๆ ออกจากเสื้อเชิ้ตของเขา แล้วยิงปืนใส่คานธี 3 นัด กระสุนเจาะทะลุท้องและอีกนัดหนึ่งที่หน้าอก เขาไม่แสดงถึงความประหลาดใจ หรือความเจ็บปวด ขณะสุดท้ายก่อนสิ้นลม เขาพนมมือในลักษณะสวดมนต์แล้วพึมพรำคำว่า "ราม" ( พระผู้เป็นเจ้าในภาษาอินเดีย )
เราจะยกคำสอนท่านเรื่องคานธีทิ้งรองเท้ามาซักเรื่องหนึ่ง
คานธีทิ้งรองเท้า
ขณะที่ท่านคานธีกำลังขึ้นรถไฟไปต่างเมืองอยู่นั้น...
รองเท้าข้างหนึ่งของท่านตกลงจากรถไฟ
ท่านไม่สามารถลงมาเก็บรองเท้าท่านได้ทัน
เพราะรถกำลังเครื่อนตัวออกจากสถานีรถไฟพอดี
ท่านคานธีจึงถอดรองเท้าของท่านอีกข้างหนึ่ง
แล้วโยนออกไปใกล้ๆ ที่เดียวกันกับรองเท้าของท่านที่ตกลงไปนั้น
ผู้ติดตามถามท่านว่า "ทำไมท่านจึงทำเช่นนั้น"
ท่านคานธีตอบว่า...
"เพื่อว่าถ้ามีคนเก็บรองเท้าของท่านได้
เขาจะได้มีรองเท้าใส่ครบทั้งสองข้าง"
(ด้วยจิตใจที่กว้างขวาง ทำให้ท่านคานธีปล่อยสละ
สิ่งที่ท่านมีอยู่กับคนซึ่งท่านไม่รู้จัก และอาจไม่มีวันรู้จักเขา)