หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ความหมายของการแต่งงาน

โพสท์โดย Nanami

ก่อนอื่นเรามาพูดถึงความหมายของการแต่งงานกันก่อนนะ..

การแต่งงานนั้น เป็นขั้นตอนที่คู่หนุ่มสาวทั้งสองที่ได้คบหากันมาสักระยะหนึ่ง จนสามารถเข้ากันได้ เข้าใจอุปนิสัยใจคอซึ้งกันและกัน และตกลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน สร้างครอบครัวใหม่ของตนร่วมกัน จึงอยากจะบอกกล่าวให้สังคมได้รับรู้ อาจจะเป็นเครือญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง ตลอดจนคนรอบข้างที่ตนรู้จัก ซึ้งการจัดงานแต่งงานนั้นก็ถือว่าเป็นการประกาศหรือบอกกล่าวให้สังคมได้รับรู้อีกวิธีการหนึ่ง

จัดงานแต่งงานเพื่ออะไร

การจัดงานแต่งงาน นอกจากจะเป็นการประกาศให้สังคมได้รับรู้ว่า คู่บ่าวสาวตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ยังถือว่าเป็นวัฒนธรรมสากลที่ถือปฎิบัติกันทั่วไปอีกด้วย ซึ่งการจัดพิธีแต่งงานจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของท้องถิ่นหรือประเทศนั้นๆ

สำหรับประเทศไทยนั้น การจัดงานแต่งงานถือว่าเป็นพิธีการที่เป็นมงคล แต่ก็จะมีความแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น เช่นทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ก็จะมีความแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย ซึ้งโดยภาพรวมแล้วจะมีขั้นตอนคล้ายๆกัน ซึ้งเราขอสรุปได้ดังนี้..

ขั้นตอนการแต่งงานของไทย

โดยทั่วไปจะมีลำดับ 3 ขั้นตอนดังนี้

  1. การสู่ขอ ซึ้งฝ่ายชายก็จะให้ญาติผู้ใหญ่ที่ตนให้ความเคารพ ไปสู่ขอผู้หญิงกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง
  2. การหมั้น หลังจากที่มีการสู่ขอแล้ว ขั้นต่อไป ฝ่ายชายก็จะจัดขบวนขันหมากไปที่บ้านของฝ่ายหญิง
  3. พิธีแต่งงาน ตอน เช้าจะทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระ รดน้ำสังข์เพื่อให้ญาติผู้ใหญ่ ที่นับถือได้เป็นสักขีพยานในการแต่งงาน จากนั้นก็มักจะมีการกินเลี้ยงกัน
  4. ชุดวิวาห์ ชุด ที่ใส่ในพิธีแต่งงานโดยชุดดังกล่าวนั้นจะสวมใส่เฉพาะฝ่ายหญิงหรือสตรีผู้ เป็นเจ้าสาวเรียกว่าชุดวิวาห์ ซึ่งมีหลากหลายสีตามชนชาติ และวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ แต่ส่วนมากจะเป็นสี ขาว ครีม งาช้าง ชมพู แดง ทอง ล้วนแต่เป็นสีมงคลที่จะนำมาสวมใส่ ไม่นิยมสวมใส่สีที่ไม่เป็นมงคล เช่น สีดำ สีม่วง

กล่าวโดยสรุป

การแต่งงาน เป็นวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถือปฎิบัติกันมาอย่างยาวนานแทบจะทุก ประเทศทุกภาษา และมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามความเหมาะสมของยุคสมัย เป็นงานพิธีที่เป็นมงคล จึงมักจะมีพิธีกรรมทางศาสนาร่วมอยู่ด้วย

สำหรับในประเทศไทยนั้น การจัดงานแต่งงานตามประเพณีไทย โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า พิธีแต่งงานของไทยเราเป็นวัฒนธรรมที่สวยงาม แฝงไปด้วยความอ่อนช้อยผสมกับความสนุกสนานรื่นเริงที่ค่อนข้างจะลงตัว โดยเฉพาะพิธีหลั่งนํ้าพระพุทธมนต์ หรือพิธีรดนํ้าสังข์อย่างที่เราๆรู้จักกัน  ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของงานเลย ไม่ว่าจะเป็นชุดอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในพิธีล้วนมีความเป็นเอกลักษณ์ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังสวยงามอย่างบอกไม่ถูกเลยทีเดียว ฉะนั้นพิธีแต่งงานตามประเพณีไทยเราจึงยังเป็นที่นิยมและยึดถือปฎิบัติกันสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ และเราเชื่อว่ายังคงปฎิบัติสืบต่อกันไปอีกนาน ไม่ว่าสภาพทางสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม

 

8 คำแนะนำในการจัดงานแต่งงาน

เมื่อชายหญิงที่เป็นคู่รักกันได้ตัดสินใจที่จะแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกัน สิ่งแรกที่คนทั้งสองจะต้องนึกถึงก่อนเรื่องใดก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการจัดงานแต่งงานของตนนั่นเอง ในความเป็นจริงแล้ว ต่างฝ่ายก็คงจะมีภาพฝันงานแต่งของตนอยู่ในใจ ซึ่งอาจจะเป็นภาพที่คล้ายคลึงกัน หรืออาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าภาพฝันนั้นจะเป็นอย่างใด ก็คงจะมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ก็คืออยากให้งานแต่งงานของตนออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

การจัดงานแต่งงานของคู่บ่าวสาวนั้นจะออกมาดีหรือไม่ดีอย่างไร เราบอกได้เลยว่าขึ้นอยู่กับการวางแผนงานที่ดี มีการเตรียมความพร้อมในทุกๆเรื่องที่ต้องบริหารจัดการ เพื่อหลีกเลี่ยงจากปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมากมายทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินงาน หรือการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆที่จะมาใช้ในการจัดงาน เราเลยถือโอกาสที่จะมาแนะนำในเรื่องเกี่ยวกับการวางแผนเพื่อจะเตรียมการจัดงานแต่งงาน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีรายละเอียดอยู่มาก แต่ในที่นี้จะผมจะแนะนำในเรื่องที่เป็นหลักใหญ่ๆและที่สำคัญเท่านั้น และจะแยกเป็นหัวข้อๆเพื่อให้เข้าใจง่ายๆก็แล้วกัน

8 คำแนะนำสำหรับขั้นตอนในการเตรียมการจัดงานแต่งงาน

1. ตัดสินใจร่วมกัน

ก่อนอื่นขอแนะนำให้ว่าที่คู่บ่าวสาวทั้งสองนั่งลงและจับเข่าคุยกันก่อนว่าอยากจะให้งานของตัวออกมาเป็นแบบใด ลักษณะใด ถ้ามีความคิดที่แตกต่างกันมาก ก็คงต้องพยายามปรับเข้าหากัน ร่วมกันคิดร่วมกันปรึกษา จนสามารถหาข้อสรุปให้ได้ก่อน รวมถึงการประเมินจำนวนแขกที่เราจะเชิญมาในงานด้วย อย่าลืมนะว่าการจัดงานแต่งงานนี้เป็นงานของคุณทั้งสองคน ฉะนั้นอย่าโยนให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว เราแนะนำให้คู่บ่าวสาวทั้งสองควรร่วมกันคิด ร่วมกันบริหารจัดการ และควรที่จะมีสมุดบันทึกไว้คอยจดด้วยเพื่อกันลืม จะได้ไม่ต้องมาแก้ปัญหาในภายหลัง

2. ตั้งงบประมาณที่จะใช้ในการจัดงาน

หลังจากที่คู่บ่าวสาวได้ตกลงกันในเรื่องรูปแบบของงานแล้ว ต่อมาก็เป็นเรื่องของการตั้งงบประมาณที่ควรจะต้องจ่ายในการจัดงาน ส่วนนี้สำคัญมากๆนะ เพราะเป็นเรื่องของเงินๆทองๆ  จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เห็นมามากต่อมากเลย ว่าถ้าไม่มีการตั้งงบไว้ รับรองงบบานปลายแน่นอน และงบที่ตั้งไว้ควรที่จะสมดุลย์กับรูปแบบของงานที่ตกลงกันไว้ในตอนแรกด้วยนะ ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป

และสำหรับคู่บ่าวสาวที่มีงบค่อนข้างจำกัด เราขอแนะนำนะว่า ถ้างบของเราประเมินแล้วไม่น่าจะพอ ก็ลองมาปรับรูปแบบงานกันใหม่ แต่ไม่ควรไปปรับงบเพิ่มเป็นอันขาด ถ้าเราลงลึกถึงข้อมูลอย่างจริงจัง  รับรองว่าแม้งบจะน้อยหน่อยก็สามารถที่จะได้งานออกมาดีได้พอสมควรเลยทีเดียวค่ะ  เราไม่อยากให้คู่บ่าวสาวที่เริ่มสร้างครอบครัวของตนเองใหม่ๆจะมาเครียดเรื่องการเงินในชีวิตหลังแต่งงาน  ชีวิตหลังแต่งงานนั้นสำคัญมากๆ และมีหนทางที่เราต้องเดินอีกยาวไกลนัก

3. หาตัวช่วยหรือที่ปรึกษา

ข้อนี้เป็นการหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่จะนำมาใช้ในการจัดงาน ซึ่งเพื่อนๆสามารถค้นหาได้จากอินเตอร์เน็ท ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่ขาย หรือราคาค่าใช้จ่ายต่างๆ นอกเสียจากว่าคู่บ่าวสาวท่านใดไม่อยากทำเอง หรือไม่มีเวลา ก็จะลองใช้บริการจากพวกออแกไนซ์ หรือเวดดิ้งแพลนเนอร์ ที่เขาให้บริการรับปรึกษาและจัดงานแต่งงานก็ได้ค่ะ สะดวกดี

4. หาสถานที่จัดงานแต่งงาน

เมื่อได้ตั้งงบและพอประเมินได้อย่างคร่าวๆถึงจำนวนแขกที่จะเชิญมาในงาน สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การออกหาสถานที่สำหรับจัดงานแต่งงาน ซึ่งการหาสถานที่นี้ต้องรีบทำเลยนะ อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ถือฤกษ์ ด้วยวันฤกษ์ดีๆจะมีคู่แต่งงานในวันนั้นเป็นจำนวนมาก บางคู่จองสถานที่กันข้ามปีเลยก็มี ถ้าเราไม่รีบ อาจจะได้สถานที่ไกลๆ หรือสถานที่ๆไม่เหมาะกับคอนเซ็ปงานของเรา

5. พิมพ์การ์ดแต่งงาน

เมื่อเราได้สถานที่และรู้จำนวนแขกอย่างคร่าวๆแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการพิมพ์การ์ดแต่งงาน หรือการ์ดเชิญนั่นเอง ข้อนี้เรามีคำแนะนำแก่ว่าที่คู่บ่าวสาวมือใหม่ว่า การเชิญแขกด้วยการ์ดนั้นดีกว่าการเชิญด้วยวิธีโพสในโซเชียลเน็ตเวิร์คมากเลย ข้อแรกก็คือการเชิญด้วยการ์ดเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่แขกที่เราเชิญมาและค่อนข้างเป็นทางการ และที่สำคัญสามารถที่จะประเมินแขกที่จะมาในงานได้ค่อนข้างจะแม่นยำ จะผิดบ้างก็ไม่น่าเกินบวกลบ 15% ส่วนการเชิญทางโซเชียลนั้น เราไม่สามารถที่จะประเมินแขกที่จะมาในงานได้เลย ซึ่งถ้าเราไม่ได้เตรียมโต๊ะสำรองไว้มากพอ ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้

6. หาเวดดิ้งสตูดิโอ ช่างภาพ ช่างวีดีโอ

เพื่อทำวีดีโอ Presentation แนะนำตัวคู่บ่าวสาว ตลอดจนถ่ายภาพ และถ่ายวีดีโอในวันแต่งงานของคุณ ในกรณีนี้เราแนะนำให้หาข้อมูลให้มากสักหน่อย ดูตัวอย่างผลงานของสตูดิโอที่คุณหมายตาไว้ ด้วยมีหลากหลายราคาให้เลือก ต้องเปรียบเทียบราคาให้ดีอย่าใจร้อน และที่สำคัญน่าจะลองเช็คประวัติการบริการของเขาเท่าที่ทำได้ เราไม่อยากให้ในวันงาน คู่บ่าวสาวต้องมาวิตกกังวลว่าช่างภาพจะเบี้ยวหรือเปล่าก็ไม่รู้ คอยแต่ตั้งตาคอย เพราะช่างภาพที่เราว่าจ้างไม่มีวินัยในการทำงาน สายตลอด อย่างนี้ไม่เอานะ

7. ชุดแต่งงาน

การเลือกชุดแต่งงานเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะว่าที่เจ้าสาวแล้วจะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และต้องพิถีพิถันเป็นกรณีพิเศษเลยก็ว่าได้ และเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลามากพอควร ไหนจะต้องหาร้านที่เชื่อถือได้ หาแบบ สั่งตัด ในบางกรณีอาจจะมีการแก้ไขแล้วแก้ไขอีก มีการลองชุดกันหลายต่อหลายครั้ง คู่บ่าวสาวควรจะต้องเผื่อเวลาไว้พอสมควร แต่เราว่าคุ้มนะ เพราะถ้าในวันแต่งงานของคุณ ชุดแต่งงานที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี ตัดเย็บด้วยความประณีต จะทำให้คุณดูดี สง่างาม สมกับเป็นเจ้าหญิงเจ้าชายในงานเลยทีเดียวค่ะ

8. หาช่างแต่งหน้าทำผมงานแต่งงาน

เพื่อที่จะมาเนรมิตให้คุณเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงในวันงาน ซึ่งช่างแต่งหน้าทำผมนั้นก็มีหลายระดับหลายราคา ลองค้นหาข้อมูลดูจากอินเตอร์เน็ท หรือไม่ก็ลองสอบถามพวกเพื่อนๆหรือญาติที่มีประสบการณ์หรือผ่านงานแต่งงานมาแล้ว
การวางแผนจัดงานแต่งงาน หรือการเตรียมการจัดงานแต่งงานนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก คู่บ่าวสาวควรที่จะต้องเตรียมสมุดบันทึกไว้คอยจดรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆเพื่อกันลืม คู่บ่าวสาวบางคู่ไม่เคยที่จะมีการจดบันทึกหรือมีการทำบันทึกประจำวันเลย เราว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มีการฝึกการจดบันทึกนะ นอกจากการวางแผนเตรียมจัดงานแต่งงานที่ได้เขียนแนะนำมาแล้วนั้น การจัดงานแต่งงานยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องจัดเตรียมอีกมากมายหลายเรื่อง

ฉะนั้นการที่คู่บ่าวสาวจะได้งานแต่งของตนที่สมบูรณ์แบบ จะต้องมีการหาข้อมูลให้มากพร้อมกับมีการจดบันทึกไว้อย่างต่อเนื่องเพื่อกันลืม และค่อยๆนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการจัดงานแต่งงานของตน แต่เราขอแนะนำอีกประการหนึ่งก็คือ งานแต่งงานที่ดีและสมบูรณ์นั้นควรจะจัดกันแบบเรียบง่ายไม่สลับซับซ้อนมากจนเกินไป รายการต่างๆที่เสริมเข้ามาต้องไม่ยุ่งยาก ไม่มีการขนย้ายหรือเปลี่ยนส่วนตกแต่งของงานมากจนเกินไป ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้ ทำให้การดำเนินงานติดขัดไม่ไหลลื่น ส่วนการตกแต่งภายในงานนั้นก็ไม่ควรที่จะรกรุงรังจนเกินกว่าเหตุ ให้นึกอยู่เสมอว่าแขกเขามางานแต่งงานนะ ไม่ใช่ไปเดินป่าหรือชมสวนดอกไม้ เราเคยเห็นบางงานจัดดอกไม้มากเกินไป แทนที่จะสวยงามกลับทำให้ดูทึบ ไม่สบายตา

 

 

ความเป็นมาของแหวนแต่งงาน

ในสมัยยุคสมัยโบราณนั้น มนุษย์เราเชื่อว่า การที่คนเรารักกันและได้สวมสวมแหวนที่นิ้วนางให้แก่กันนั้น อำนาจแห่งความรักสามารถที่จะส่งผ่านเข้าสู่หัวใจของกันและกันได้ ด้วยเชื่อว่านิ้วนางด้านซ้ายนั้นมีเส้นเลือดที่เชื่อมตรงเข้าสู่หัวใจ และยังสื่อความหมายถึง คำมั่นสัญญาที่มีให้ต่อกันว่า จะร่วมทุกข์ ร่วมสุข และจะดูแลซึ้งกันและกัน ให้ความมั่นคง ความอบอุ่นแก่กัน นอกจากนั้น ความราบเรียบของแหวนที่ไม่มีรอยต่อ ยังหมายถึง เส้นทางแห่งความรักที่ราบเรียบ ไม่มีที่สิ้นสุดอีกด้วย

ประวัติและความเป็นมาของแหวนแต่งงาน

ชนกลุ่มแรกที่เริ่มใช้แหวนแต่งงาน คือชาวอียิปต์ โดยปรากฏหลักฐานจากอักษรภาพที่แสดงความหมายของวงกลม ซึ่งหมายถึง ความเป็นนิรันดร์ และแหวนแต่งงานก็คือ ความหมายแห่งรักแท้ที่จะอมตะนิรันดรสืบทอดไปตราบจนชั่วฟ้าดินสลาย ในระยะแรกนั้นมีการใช้เถาวัลย์นำมาถักเป็นแหวนสวมใส่ให้แก่กัน ซึ่งไม่คงทนสามารถสวมใส่ได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงได้มีการพัฒนาโดยการใช้วัสดุอย่างอื่น เช่นหนังสัตว์ เขา แม้กระทั่งงาช้าง ตลอดจนใช้โลหะต่างๆมาทำแหวนแทนเถาวัลย์

และในกาลต่อมา เมื่อความเชื่อเรื่องการสวมแหวนได้ถูกถ่ายทอดเข้าสู่ยุคโรมัน ซึ้งมีความรู้และความชำนาญในเรื่อง การหลอมโลหะกว่ายุคอียิปต์โบราณ จึงได้มีการพัฒนาโดยใช้โลหะที่มีค่ามาทำแหวน ซึ้งถือได้ว่าแหวนแต่งงานที่เป็นโลหะนั้น ได้มีการพัฒนาอย่างจริงจังในยุคนี้เอง แรกเริ่มเดิมทีนั้น แหวนแต่งงานได้ถูกทำขึ้นจากเนื่อโลหะเหล็กแต่ด้วยปัญหาการเกิดสนิม จึงค่อยๆเสื่อมความนิยมไปในที่สุด และได้มีการนำเนื้อโหละชนิดต่างๆพัฒนามาทำแหวนพร้อมประดับด้วยหินสี พลอยและอัญมณีต่างๆเพื่อเพิ่มคุณค่า จนในที่สุดมาเป็นแหวนแต่งงานที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะทำจากโลหะทองคำ


ต่อมา ธรรมเนียมการสวมแหวนนั้น ถูกนำไปเป็นจุดเริ่มต้นของ พิธีหมั้น ( Engagement ) เพื่อประกาศให้เป็นที่รู้กันว่า หญิงสาวที่สวมแหวนวงนี้ คือ หญิงสาวที่กำลังจะเข้าสู่พิธีแต่งงาน อีกทั้งยังเป็นการเตือนชายคนอื่นๆไม่สมควรที่จะเข้ามาข้องแวะด้วย แหวนแต่งงานจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการเป็นเจ้าของอีกวิธีหนึ่งของชายโรมันประเพณีสวมแหวนหมั้นหรือแหวนแต่งงาน จึงเกิดเป็นธรรมเนียมปฎิบัติสืบต่อกันมา จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจวบจนถึงปัจจุบัน

สำหรับแหวนแต่งงานในประเทศไทยนั้น ได้มีการพัฒนารูปร่างและวัสดุที่ที่ใช้แตกต่างกันไป อีกทั้งมีความเชื่อเข้ามา เกี่ยวข้องอีกด้วย ทั้งเรื่องของอัญมณี ซึ้งแต่เดิมนั้นใช้เป็นเครื่องบอกแต่เพียงฐานะ แต่ปัจจุบันนั้นมีเรื่องของความเชื่อเข้ามาปะปนอยู่ อย่างเช่น เพชรที่นำมาใช้ประกอบแหวนแต่งงาน ควรจะต้องเป็นสีใสบริสุทธิไร้สิ่งเจือปน หรือไม่ก็ใช้ เป็นสีชมพู สีฟ้า แล้วรูปร่างก็ห้ามเป็นรูปหยดน้ำเด็ดขาด เพราะจะทำให้คู่รักทะเลาะกัน

 

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “เค้กแต่งงาน”

การตัดเค้กแต่งงาน น่าจะเป็นความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวหลายๆคู่ที่กำลังมีความรัก โดยเฉพาะฝ่ายหญิงแล้ว เราว่าน่าจะมีเกินกว่า 90%เลยทีเดียว ที่มีความฝันว่าจะได้มีโอกาสตัดเค้กแต่งงานสักครั้งหนึ่งในชีวิต เวลาที่เราไปงานเลี้ยงฉลองแต่งงาน ส่วนใหญ่แล้วจะเห็นว่ามีพิธีการตัดเค้ก หลายคนอาจจะสงสัยว่า งานแต่งงานทำไมต้องมีการตัดเค้ก และการตัดเค้กแต่งงานนั้นมีความเป็นมาอย่างไร เริ่มมีความนิยมและถือเป็นแนวปฎิบัติสืบต่อกันมาเมื่อใด วันนี้เลยถือโอกาสที่จะมาพูดคุยกันถึงเรื่อง “เค้กแต่งงาน

ประวัติความเป็นมาของเค้กแต่งงาน

ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว เมื่อมีงานแต่งงานผู้คนที่มาร่วมงานก็มักจะนำเอาขนมปัง ผลไม้ และของหวานชนิดต่างๆมาบวงสรวงแก่เทพเจ้า เพื่อเป็นการขอพรให้แก่คู่บ่าวสาวในการที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน จนกระทั้งต่อๆมาในยุคแองโกลแซกซอน แขกที่มาในงานแต่งงานก็จะนำเอาขนมปังมาร่วมพิธีด้วย โดยต่างนำมากองรวมกันเป็นชั้นๆ มีการสอดแทรกพิธีกรรมของการเสี่ยงทายไปด้วย โดยให้ผู้ที่เป็นเจ้าบ่าวและเจ้าสาวปีนขึ้นไปจุมพิตกันบนยอดขนมปัง ถ้าคู่ใดสามารถปีนขึ้นไปจุมพิตกันได้ถึงยอดขนมปัง ก็ถือว่าคู่นั้นจะประสบโชคดี แต่ถ้าทำไม่สำเร็จตกลงมาก็จะสร้างความสนุกสนานครื้นเครงให้กับแขกที่มาร่วมงาน อันนี้ตามความเข้าใจของผมน่าจะเป็นกุศลบายอย่างหนึ่งเพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับแขกที่เชิญมาในงานนั่นเอง

ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดจากเดิมซึ่งเป็นขนมปังได้เปลี่ยนมาเป็นเค้กแต่งงานอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยจุดเปลี่ยนนั้นเชื่อว่าเริ่มจากพ่อครัวชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งนำน้ำตาลมาบดเป็นผงละเอียดเพื่อที่จะตกแต่งหน้าขนมปังให้มีความสวยงามกว่ารูปแบบเดิมๆ และมีการดัดแปลงกรรมวิธีต่อมาเรื่อยๆ จนในที่สุด ก็สามารถเปลี่ยนขนมปังธรรมดาๆให้กลายสภาพเป็นเค้กที่มีรสชาติหอมหวานอร่อยชวนทานอย่างทุกวันนี้

ลักษณะของเค้กแต่งงาน

เค้กแต่งงานโดยส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่ที่ฐานชั้นล่าง และมีรูปร่างเป็นชั้นๆขนาดลดหลั่นเรียงกันขึ้นไป และมีการตกแต่งหน้าเค้กอย่างสวยสดงดงามด้วยครีมและน้ำตาล ซึ่งในบางกรณีอาจมีการนำแอลด์มอน หรือช็อคโกแลตชิพ มาเป็นส่วนผสมในการทำ โดยส่วนยอดของเค้กนั้นมักประดับด้วยตุ๊กตาแทนตัวบ่าวสาว หรือในบางความคิดอาจใช้เป็นรูปนก รูปแหวนทอง หรือรูปเกือกม้า ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี และความเจริญรุ่งเรืองสำหรับคู่บ่าวสาวทั้งสิ้น

เค้กแต่งงานที่ดีจะต้องมีเนื้อแน่นสามารถรองรับน้ำหนักของชั้นเค้กที่ตกแต่งอย่างสวยงามได้ และที่สำคัญยังต้องรับประทานได้และอร่อยด้วย สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยทักษะฝีมือความคิดสร้างสรรค์และความปราณีตเป็นอย่างมากจากพ่อครัวหรือผู้ทำขนมเค้ก ส่วนการที่จะเลือกเค้กแต่งงานที่เป็นรสชาติใดนั้น ก็คงขึ้นอยู่กับความต้องการของคู่บ่าวสาวเจ้าของงาน แต่ที่เห็นส่วนใหญ่แล้ว ก็มักจะเลือกเป็นบัตเตอร์เค้กกลิ่นวนิลา ส่วนอีกกรณีที่อยากจะพูดถึงในที่นี้ก็คือ ถ้าเป็นการจัดงานแบบเอ๊าท์ดอร์ เค้กที่เหมาะกับงานลักษณะนี้ควรจะต้องทนแดนทนลมได้สักหน่อย เช่น เค้กที่แต่งหน้าด้วยไอซิ่งหรือโรลฟองดองท์ (Rolled Fondant)

การตัดเค้กแต่งงาน

ประเพณีการตัดเค้กแต่งงาน ถือว่าเป็นไฮไลท์ของงานเลี้ยงฉลองสมรสเลยทีเดียว ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้เป็นเจ้าสาวจะเป็นคนตัด โดยมีเจ้าบ่าวคอยช่วยประคองไว้แต่เพียงเท่านั้น หลังจากตัดเค้กแล้ว ตามประเพณี ฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นผู้นำเค้กที่ตัดไปแจกจ่ายให้กับบรรดาญาติๆของฝ่ายเจ้าบ่าว เปรียบเสมือนเป็นการบอกกล่าวว่า ต่อแต่นี้ไปตนจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวฝ่ายชายแล้ว

 




หลังจากที่ได้นำเค้กแต่งงานไปให้กับบรรดาญาติๆของฝ่ายเจ้าบ่าวดังที่กล่าวไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เค้กแต่งงานนั้นก็จะถูกนำมาคัดแบ่งเป็นชิ้นๆเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับแขกที่มาร่วมงานได้รับประทานกัน ซึ่งอาจจะทานเลยหรือจะนำกลับไปฝากบุคคลที่ไม่ได้มาร่วมงานก็ได้ (ซึ่งตามประเพณีโบราณเชื่อว่า หากเพื่อนเจ้าสาวคนใดนำเค้กแต่งงานไปไว้ใต้หมอนหรือข้างหมอนแล้วนอนหลับ สาวคนนั้นจะฝันเห็นคู่ชีวิตของตนในอนาคต จริงเท็จอย่างไรก็มิอาจทราบได้ คงต้องรบกวนผู้ที่เคยมีประสบการณ์มาแชร์ให้ฟัง)

สำหรับในประเทศไทย ระยะหลังเค้กแต่งงานได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปบ้างพอสมควร จากเค้กปอนด์แบบชั้นๆ ก็หันมานิยมคัพเค้ก หรือเค้กถ้วยกันมากขึ้น ก็อาจจะด้วยหลังจากที่ทำพิธีตัดเค้กแล้ว ก็สามารถนำออกแจกจ่ายให้กับญาติผู้ใหญ่และผู้ที่มาร่วมงานได้เลย ไม่ต้องมาทำการตัดแบ่งให้ยุ่งยาก และข้อดีอีกประการหนึ่งก็คือ ส่วนใหญ่แล้วเค้กแต่งงานที่เป็นคัพเค้กจะเป็นเค้กจริงทั้งหมด ซึ่งต่างจากเค้กปอนด์ที่เป็นชั้นๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเค้กจริงก็แต่เฉพาะฐานด้านล่างเท่านั้น เพราะถ้าใช้เค้กจริงทั้งหมดจะมีราคาแพงมาก


การตัดเค้กแต่งงานในงานเลี้ยงฉลองสมรสนั้นเป็นที่นิยมและถือเป็นแนวปฎิบัติสืบต่อกันมาอย่างแพร่หลายจากอดีตจวบจนปัจจุบัน ถือว่าเป็นไฮไลท์ของงานเลยก็ว่าได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ งานเลี้ยงแต่งงานก็มักจะนำระบบแสง สี เสียง เข้ามาปรับใช้เพื่อเพิ่มสีสันของงานให้ตื่นตาตื่นใจมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงพิธีตัดเค้กแต่งงานนั้น มักจะนิยมใช้แสง สี เสียงตลอดจนการใช้ดรายไอ๊ซ์ ฟองสบู่ เข้ามาเสริม เพื่อช่วยเน้นให้คู่บ่าวสาวที่อยู่บนเวทีดูโดดเด่น และสง่างาม

นอกจากนั้น พิธีตัดเค้กยังสามารถสร้างความประทับใจให้กับคู่บ่าวสาวทั้งสอง ซึ่งจะประทับอยู่ในความทรงจำไปอีกนานแสนนาน ในปัจจุบันเค้กแต่งงานถือเสมือนหนึ่งเป็นตัวแทนแห่งความหวานของชีวิตคู่ อีกทั้งยังเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบิดามารดา เมื่อเจ้าบ่าวเจ้าสาวร่วมกันตัดเค้กมอบให้กับบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายเพื่อแสดงความขอบคุณต่อท่านผู้มีพระคุณทั้งสอง…

 

พิธีแต่งงานแบบไทย (ลำดับพิธี)
 
ขั้นตอนก่อนการแต่งงาน

ก่อนที่จะมีงานแต่งงานเกิดขึ้นได้ แน่นอนว่าชายและหญิงคู่นั้น จะต้องมีการทำความรู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักในแบบใดก็ตาม และต่างฝ่ายต่างไปมาหาสู่กัน เรียนรู้นิสัยใจคอซึ่งกันและกัน จนเกิดความรู้สึกรักชอบพอกัน และในที่สุดก็ตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อสร้างครอบครัวใหม่ของตน จึงตัดสินใจที่จะแต่งงานกัน

ในสังคมไทย เมื่อชายและหญิงตัดสินใจที่จะแต่งงานกัน ฝ่ายชายมักจะสรรหาผู้ใหญ่ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่มีหน้ามีตาในสังคม หรืออาจจะเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ตนนับถือ ซึ่งเรียกว่า “เถ้าแก่” ไปทาบทามพ่อแม่ของฝ่ายหญิงเพื่อที่จะสู่ขอหญิงสาวมาเป็นเจ้าสาวของตน รวมถึงการพูดเจรจาเรื่องสินสอดทองหมั้น และเมื่อพ่อแม่ของฝ่ายหญิงตกปากรับคำแล้ว โดยส่วนใหญ่ก็จะนำวันเดือนปีเกิดของทั้งสองฝ่ายไปดูฤกษ์วันแต่งงานกันต่อไป

การแต่งงานแบบไทย

ในที่นี้ จะพูดถึงเฉพาะการแต่งงานแบบไทย หรือก็คือการจัดงานแต่งงานตามประเพณีของชาติไทยเรา ที่มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน…กล่าวคือ

เมื่อถึงวันกำหนดฤกษ์แต่งงาน

ทางฝ่ายชาย ก็จะจัดตั้งขบวนขันหมากพร้อมสินสอดทองหมั้นที่ได้ตกลงกันไว้ มาที่บ้านของฝ่ายหญิง เพื่อสู่ขอหญิงสาวที่ตนรักเข้าสู่พิธีแต่งงาน

ทางฝ่ายหญิงสาว ก็จะจัดเตรียมต้อนรับขบวนขันหมากของฝ่ายชาย โดยปกติจะใช้เด็กผู้หญิงถือพานเชิญขันหมากไว้คอยต้อนรับขบวนขันหมากเข้าบ้าน

อีกทั้งเตรียมการเรื่องพิธีทางศาสนา โดยทำการนิมนต์พระสงฆ์ ซึ่งมักจะนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาเป็นจำนวน 9 รูป เพื่อมาทำพิธีทางศาสนา ที่มักนิยมเรียกกันว่า พิธีสงฆ์ เพื่อเป็นสิริมงคลให้แก่คู่บ่าวสาว และที่นิยมนิมนต์พระสงฆ์มา 9 รูปนั้น ด้วยเชื่อว่าเลข 9 สื่อถึงความเจริญก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองฝ่าย

ลำดับขั้นตอนพิธีการแต่งงานแบบไทย

วันนี้จะมาแนะนำการแต่งงานแบบไทยอย่างกว้างๆก่อนนะ ไว้โอกาสหน้าจะมาลงลึกในรายละเอียดเพื่อที่จะได้เป็นแนวทางให้แก่คู่บ่าวสาวมือใหม่นำไปปรับใช้เตรียมงานแต่งงานของตนต่อไป ซึ่งลำดับขั้นตอนมีดังนี้

1. พิธีสงฆ์ ซี่งถือเป็นพิธีการทางศาสนา เป็นพิธรการคที่สำคัญยิ่งโดยเฉพาะชาวพุทธ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรืองให้แก่คู่บ่าวสาว

2. พิธีปูเรียงสินสอด หรือตรวจนับสินสอด เพื่อให้ญาติๆทุกคนได้รับรู้รับทราบ

3. พิธีสวมแหวน รับตัวเจ้าสาวเข้าสู่พิธีสวมแหวนหมั้น หรือแหวนแต่งงาน

4. พิธีรับไหว้ผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการขอขมาต่อสิ่งที่คู่บ่าวสาวได้เคยกระทำล่วงเกินไว้

5. พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หรือ พิธีรดน้ำสังข์ ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์ของงาน เป็นพิธีการเพื่อให้บรรดาญาติๆตลอดจนเพื่อนฝูง คนรู้จัก ได้มีโอกาสมาแสดงความยินดี และร่วมอวยพรให้แก่คู่บ่าวสาวให้พบแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรืองต่อไป

6. พิธีส่งตัว หรือ ปูที่นอน เป็นขั้นตอนสุดท้าย หรือที่เรารู้จักกันก็คือ พิธีส่งคู่บ่าวสาวเข้าหอนั่นเอง

กล่าวโดยสรุป

การแต่งงานแบบไทยนั้น เป็นงานพิธีที่เป็นมงคล แผงด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมแบบเรียบง่ายของไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อาจจะมีแตกต่างกันบ้างตามแต่ละท้องถิ่น เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อกันมาจนทุกวันนี้ ในสมัยนี้พิธีการแต่งงาน ได้ถูกตัดทอนย่นย่อลงมาก เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สิ่งที่สิ้นเปลืองก็ตัดออกไป แต่ยังคงรักษาพิธีการแต่งงานตามธรรมเนียมไทยสืบต่อกันมา

 

พิธีแต่งงานเช้า แบบไทย

ลำดับการพิธีแต่งงานเช้าตามประเพณีไทย

ลำดับขั้นตอนที่ 1 : พิธีสงฆ์

นิมนต์พระสงฆ์เพื่อทำพิธีสงฆ์ให้แก่คู่บ่าวสาว ซึ่งถือว่าเป็นพิธีการที่เสริมความเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว 

คู่บ่าวสาวได้ถือโอกาสทำบุญตักบาตรพร้อมถวายภัตตราหารแด่พระสงฆ์ หรือที่คนสมัยโบราณเรียกว่า ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน เป็นการทำบุญในวันสำคัญของตนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองเป็นสิริมงคลในชีวิตคู่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และยังมีความเชื่ออีกว่า ถ้าได้ทำบุญตักบาตรร่วมกันแล้ว จะเป็นคู่กันในชาติภพต่อไปอีกด้วย


คู่บ่าวสาวกำลังรับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์จากพระสงฆ์ที่มาทำพิธีทั้ง 9 รูป

คู่บ่าวสาวกำลังนมัสการพร้อมส่งพระคุณเจ้ากลับวัดหลังจากเสร็จสิ้นพิธีทางสงฆ์แล้ว 

ลำดับขั้นตอนที่ 2 : ตั้งขบวนขันหมากเพื่อแห่มาสู่ขอเจ้าสาว

ทางเจ้าพิธีจะดำเนินการจัดขบวนขันหมากเตรียมตัวรอฤกษ์เคลื่อนขบวนให้แก่เจ้าบ่าว เพื่อที่จะเข้ามาสู่ขอเจ้าสาว โดยจะที่มีทั้ง ขันหมากเอก และ ขันหมากโท แล้วแต่ความต้องการของเจ้าบ่าว

ส่วนทางฝ่ายเจ้าสาวก็จะต้องจัดเตรียมหาญาติหรือตัวแทนมาถือพานเชิญขันหมาก เป็นการต้อนรับขบวนขันหมากของฝ่ายชาย โดยปกติจะใช้เด็กผู้หญิงหรือหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานเป็นผู้เชิญพานขันหมาก

มีการกั้นประตูเงิน ประตูทอง เพื่อเพิ่มสีสันและความสนุกสนาน ซึ่งอย่างน้อยควรจะมี 3 ประตู คือ ประตูชัย ประตูเงิน และประตูทอง

ขั้นตอนที่ 3 : พิธีสู่ขอและตรวจนับสินสอด

เมื่อฝ่ายเจ้าสาวรับขบวนขันหมากเสร็จเรียบร้อยแล้ว พิธีการต่อไปก็คือการนำของจากขบวนขันหมากมาจัดวางเรียงกัน ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะนำพานสินสอดออกมาเปิด เพื่อเข้าสู่พิธีนับสินสอด ซึ่งจะจัดวางอยู่บนผ้าแดงหรือผ้าเงินผ้าทอง แล้วทำทีเป็นตรวจนับตามธรรมเนียม ซึ่งตามประเพณีโบราณให้ใส่เกินจำนวนไว้เล็กน้อย เพื่อที่จะเป็นเคล็ดว่า..คู่บ่าวสาวที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันต่อไปจะได้มีเงินทองงอกเงยขึ้นมา และหลังจากนับสินสอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันโปรยถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ดอกไม้ ใบเงิน ใบทอง ที่บรรจุมาในพานขันหมากเอกลงบนสินสอด หลังจากนั้น แม่ของเจ้าสาวจะห่อสินสอดด้วยผ้า แล้วแบกขึ้นไว้บนบ่าตามประเพณี

ขั้นตอนที่ 4 : พิธีสวมแหวนหมั้น หรือแหวนแต่งงาน

หลังจากได้ทำพิธีตรวจนับสินสอดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงฤกษ์ดีตามที่กำหนด ฝ่ายเจ้าบ่าวจะทำการสวมแหวนหมั้นให้ฝ่ายเจ้าสาว จากนั้นฝ่ายหญิงไหว้ขอบคุณพร้อมกับสวมแหวนแลกกับฝ่ายชาย เมื่อสวมแหวนเสร็จมักจะมีการถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึก และรอเวลาที่จะประกอบพิธีสำคัญต่อไป

ขั้นตอนที่ 5 : พิธีรับไหว้ผู้ใหญ่

ขั้นตอนต่อมา ทางเจ้าพิธีก็จะเริ่มดำเนินการพิธีรับไหว้ หรือ พิธีไหว้ผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัวของคู่บ่าวสาว การไหว้พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่นั้น คู่บ่าวสาวต้องก้มกราบ 3 ครั้ง ส่วนญาติคนอื่นให้กราบครั้งเดียวโดยไม่ต้องแบมือ เมื่อก้มกราบแล้วจึงส่งพานธูปเทียนให้ผู้ใหญ่ ท่านจะรับไหว้พร้อมกับให้พรและใส่ซองเงิน หรือของมีค่าอย่างอื่นลงบนพานให้ไว้เป็นเงินทุนในการสร้างครอบครัว ในขั้นตอนนี้ คู่บ่าวสาวที่มีเชื้อสายจีนจะใช้พิธียกน้ำชาแบบจีนแทนพิธีรับไหว้แบบไทยก็ได้ ไม่ถือว่าเป็นการผิดกติกาแต่อย่างใด

ขั้นตอนที่ 6 : พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร หรือพิธีรดน้ำสังข์

สำหรับการทำพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร เริ่มจากบ่าวสาวไปนั่งที่ตั่งเพื่อทำพิธีรดน้ำสังข์ ซึ่งเจ้าสาวต้องนั่งด้ายซ้ายของเจ้าบ่าวเสมอ ประธานในพิธีคล้องพวงมาลัย สวมมงคลแฝดบนศีรษะของบ่าวสาว พร้อมกับเจิมที่หน้าผากมงคลแฝด ส่วนแป้งเจิมที่นำมาใช้นั้นเป็นของที่ได้ผ่านพิธีมงคลมาเรียบร้อยแล้ว จากนั้นประธานหลั่งน้ำอวยพรให้บ่าวสาว ตามด้วยพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่ และเชิญแขกอื่นๆ เข้ารดน้ำตามลำดับความอาวุโส พิธีรดน้าสังข์นั้นเป็นพิธีที่สวยงามมาก โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีก็ล้วนแต่วิจิตรงดงาม เป็นธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างแท้จริงซึ่งควรอนุรักษ์สืบไป

ขั้นตอนที่ 7 : พิธีส่งตัวเข้าหอ หรือพิธีปูที่นอน

เป็นส่วนท้ายสุดของพิธีการ ซึ่งส่วนสำคัญของพิธีนี้จะอยู่ที่คู่ผู้ใหญ่ที่จะมาทำพิธีปูที่นอนให้ จะเริ่มจากการจัดปูที่นอนในห้องหอ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของคู่บ่าวสาวในอนาคต โดยพ่อแม่จะเชิญผู้ใหญ่คู่สามีภรรยาที่มีครอบครัวอบอุ่นสมบูรณ์ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมมาช่วยปูที่นอนให้ เพื่อถือเคล็ดให้คู่บ่าวสาวจะได้มีชีวิตคู่ที่ดี โดยผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอนนี้จะเป็นผู้จัดเรียงหมอน 2 ใบ แล้วปัดที่นอนพอเป็นพิธีจากนั้นจัดวางข้าวของประกอบพิธีลงบนที่นอน ได้แก่ หินบดยาหรือหินก้อนเส้า, ฟักเขียว, พานใส่ถุงข้าวเปลือก งา ถั่วทองหรือถั่วเขียว และขันใส่น้ำฝนมาประกอบพิธีอีกด้วย ซึ่งถือเป็นอันประกอบพิธีแต่งงานช่วงเช้าเสร็จสิ้น จากนั้นจะเป็นการเลี้ยงอาหารแขกที่มาร่วมงาน

กล่าวโดยสรุป การแต่งงานตามประเพณีไทยจะมีลำดับขั้นตอนที่สำคัญดังนี้..

  1. พิธีสงฆ์
  2. พิธีจัดตั้งและแห่ขบวนขั้นหมาก
  3. พิธีกั้นประตูเงิน ประตูทอง
  4. พิธีสู่ขอ และตรวจนับสินสอด หรือที่เรียกว่าพิธีปูเรียงสินสอดนั่นเอง
  5. พิธีสามแหวนหมั้น หรือแหวนแต่งงาน
  6. พิธีรับไหว้ผู้ใหญ่
  7. พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หรือพิธีรดน้ำสังข์
  8. พิธีส่งตัว หรือพิธีปูที่นอน
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Nanami's profile


โพสท์โดย: Nanami
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
8 VOTES (4/5 จาก 2 คน)
VOTED: ginger bread, Nanami
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
ศึกสะใภ้เกาหลี! "แพน" ฟาดแรง "สะใภ้ซอ"..ซัดติ่งดูให้จบแล้วจะรู้พ่อช็อก! หลังให้ลูกเล่นมือถือไข้หวัดสายพันธุ์เอ! โหดยิ่งกว่าโควิด!?สาว 23 ยอมตัดขาดกับครอบครัว แต่งงานกับชายรุ่นปู่ ไม่สนอายุที่ห่างกันกว่า 57 ปีราศีที่เดาใจคนได้เก่งที่สุดบีจี ปทุมฯ ให้รถคันใหม่ กับชายที่ถูกพลุหล่นใส่รถพบสุสานจีนโบราณซ่อนอยู่ใต้ท่อระบายน้ำ กว่า 800 ปี"สุสานช้าง" ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ที่ไหน?ร้านตัดผม คิดราคาตามรูปแบบของหรรมเปิปวาร์ป! สำรวจโลกไดโนเสาร์ที่กระบี่:เปิดสถานที่ถ่ายทำ 'จูราสสิค เวิลด์ 4' ที่คลองหรูด-น้ำตกห้วยโต้พบหลักฐานยืนยัน “แก่นโลกชั้นใน” หมุนช้าลงจริงวัยรุ่นรุมกระทืบตำรวจ ในเหตุชุลมุนหลังงานบั้งไฟ
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
แฟนคลับต้อนรับ ซีลีน ดิออน อย่างอบอุ่น ในงานหนังสารคดีชีวิตของเธอนักวิทยาศาสตร์ค้นพบ "สุสานฉลาม" ในมหาสมุทรอินเดียอดทนไม่ไหว! หญิงพิการฟ้อง Orange จ่ายเงินเดือน 20 ปี แต่ไม่ให้ทำงาน"เบียร์ เดอะวอยซ์" โพสต์คลิป ลั่น! ถึงจะนิสัยไม่ดี..แต่หน้าตาดี ไม่เหมือนบางคน
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
งานวิจัยพบว่า อสุจิไม่วิ่ง อาจเป็นผลมาจากวัคซีนโควิดมะม่วงหาว มะนาวโห่ มีสรรพคุณทางยามากถึง 50 ประการย้อนรอยประวัติศาสตร์: ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำรายได้ทะลุพันล้านเหรียญสหรัฐฯChimney Sweep เด็กปล่องไฟ ที่น่าสงสารของอังกฤษ
ตั้งกระทู้ใหม่