โสเภณีสุดเลอค่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในโลกยุคโบราณ
Siripoj Laomanacharoen โพสต์เรื่องนี้
ขออนุญาตเกาะกระแส "อิกระหรี๊ (เสียงสูง)" ของน้องปันปัน หน่อยนะฮะ 5555 คือผมเคยเขียนเรื่อง... (ในความหมายของคนที่ประกอบกิจกรรมทางเพศเพื่อผลประโยชน์อะไรสักอย่าง ในที่นี้ผลประโยชน์ที่ว่าผูกอยู่กับความเชื่อ) ในหลักฐานโบราณว่า มันสัมพันธ์กับศาสนามาก่อน ก็เลยเอามาเรียบเรียง และตัดแต่งเพิ่มอีกนิดมาให้อ่านกันขำๆ นะครับผม :)
นักวิชาการบางกลุ่มอธิบายว่า "..." หรือหญิงโสเภณี มีกำเนิดมาจากพิธีการทางศาสนานะฮะ เรื่องนี้เห็นได้จากในพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮิบรู มีคำเรึยก "..." อยู่สองคำคือ "โซนาห์" (zonah) กับ "เคเดชาห์" (kedeshah บางทีก็เขียนว่า qedesha)
คำว่า "โซนาห์" ก็หมายถึง "..." ธรรมดาๆนี่แหละครับ แต่คำว่า "เคเดชาห์" ต่างหากที่น่าสนใจเพราะมันแปลว่า "ผู้อุทิศตน" ซ้ำยังเป็นผู้อุทิศตนที่มีรากศัพท์มาจาก "q-d-sh" (กลุ่มภาษาในโลกตะวันออกกลางประสมศัพท์ขึ้นจากอักษรสามตัว ก่อนจะเติมสระเข้าไป) ที่มีความหมายถึง "ความศักดิ์สิทธิ์" เสียด้วย (กิจกรรมทางเพศนี่แม่งศักดิ์สิทธิ์เสมอแหละ เชื่อผมเหอะ)
อย่างไรก็ตาม ไม่มีที่ว่างเพียงพอสำหรับ...ทุกประเภทในศาสนาของพระยะโฮวาห์ คำศัพท์ที่ปรากฏอยู่จึงเป็นเพียงร่องรอยให้ทราบว่า มี...ประเภทที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วยในโลกยุคโบราณ
ชาวกรีก ผู้ทึ่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์โลกอย่าง เฮโรโดตุส (Herodotus, มีชีวิตอยู่ในช่วง 484-425 ก่อนคริสต์กาล) บันทึกเอาไว้ในหนังสือ The Histories ว่า ในดินแดนแห่งลุ่มน้ำไทกริส และยูเรติส หญิงสาวชาวบาบิโลนโบราณพาจะต้องนั่งคอยชายแปลกหน้าในวิหารองค์เทวีซึ่งมีอยู่มากมาย เพื่อเข้าสู่พิธีสละพรหมจารีกับชายแปลกหน้า ถ้าชายพึงใจในหญิงคนใดก็จะโยนเหรียญมาที่ตักของเธอ หญิงที่ได้รับเหรียญจะต้องลุกตามเขาไปทันทีเพื่อประกอบพิธีภายในห้องภายในวิหารนั้นเอง ไม่ว่าหน้าเหรียญที่ชายโยนให้นั้นจะมีค่ามากน้อยเพียงไรก็ตาม โดยชายผู้นั้นจะต้องเอ่ยประโยคที่ว่า
"ขัาขอเชิญท่านในนามแห่งเทวีไมลิตตา"
การร่วมประเวณีอย่างนี้จึงถูกถือเป็น "การร่วมประเวณีอันศักดิ์สิทธิ์" เพราะถือกันว่าเป็นการกระทำเพื่อสังเวยแก่เทวีไมลิตตา (Mylitta) อันเป็นชื่อเทวีองค์หนึ่งของชาวอัสซีเรียน แต่เฮโรโดตุสเข้าใจว่าเทวีองค์นี้คือ เทวีอโฟรไดต์ (Aphrodite, หรือ วีนัส, Venus, ของพวกโรมัน) ของพวกบาบิโลเนียน จึงเรียกชื่อวิหารที่มีการประกอบกามกิจอันศักดิ์สิทธิ์นี้ว่า วิหารแห่งเทพีอโฟรไดต์เสมอ
และเมื่อได้กระทำความ "ฟีเจอริ่ง" พลีพรหมจารีแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ หญิงเหล่านั้นจะได้กลับไปบ้านเมืองและครองชีวิตอย่างมีเกียรติพร้อมกับตั้งหน้าคอยโชคลาภต่อไป โดยผู้หญิงทุกคนจำต้องปฏิบัติพิธีกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็นหญิงสูงศักดิ์หรือหญิงสาวชาวบ้านก็ตาม เฮโรโดตุสเล่าต่อไปว่าหญิงสูงศักดิ์อาจจะนั่งโดยที่มีผ้าม่านกั้นคลุมเอาไว้ ในขณะที่หญิงที่รูปไม่งามอาจต้องนั่งรอชายแปลกหน้าเป็นเวลานานกว่า
เฮโรโดตุสเรียกพิธีกรรมอย่างนี้ว่า "พิธีกรรมที่โง่เขลา" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเฮียแกเหยียดหยามพิธีกรรมที่ว่า และอันที่จริงแล้วอาจถึงกับดูแคลนเหมือนกับเป็นอนารยชน จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรที่เมื่อ ผู้สืบทอดเทคโนโลยีและอารยธรรมของกรีกอย่างพวกโรมันเข้าไปสร้างศูนย์กลางอำนาจแห่งที่สองของจักรวรรดิโรมันที่อิสตันบุล คือกรุงคอนสแตนดิโนเบิล โดยจักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine, มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 272-337) จะสั่งให้ยกเลิกพิธีกรรมนี้ทั้งหมด ทั้งที่จริงๆ แล้วก็มีหลักฐานว่ามีพิธีทำนองเดียวกันในอารยธรรมของกรีกด้วย
นักประวัติศาสตร์และนักภูมิศาสตร์คนสำคัญของกรีกอีกคนหนึ่งคือ สตราโบ (Strabo) ได้บันทึกไว้ในงานที่เขียนขึ้นเมื่อราว 2 ปีก่อนคริสต์กาลว่า เมื่อราว 700-400 ปีก่อนคริสต์กาล วิหารของเทวีอโฟรไดต์ในเมืองคอรินธ์ (Corinth) มี "เฮไทรา" (hetaira) คือผู้ที่ถูอุทิศให้เป็นข้าวัด ทั้งชายและหญิงมากกว่า 1,000 คน
สตราโบ บันทึกเอาไว้ว่า หญิงสาว เฮไทรา เหล่านี้ แลกเปลี่ยนเงินตราด้วยร่างกายของตนเอง ความตอนนี้ตรงกับที่ อาเธเนอุส (Athenaeus) นักปาฐกถาคนสำคัญชาวกรีก ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 2-ศตวรรษที่ 3 บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับไฮไทราเช่นกัน
ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งมากจากบทกวีของ พินดาร์ (Pindar, มีอายุอยู่ในช่วง 522-433 ปีก่อนคริสต์กาล) กวีชาวกรีก บันทึกเอาไว้ว่าเมื่อ 464 ปีก่อนคริสต์กาล ซีโนฟอน (Xenophon) แข่งปัญจกรีฑาชนะเลิศในการแข่งขันโอลิมปิค ได้รับรางวัลเป็นสาวเฮไทรา จากวิหารของเทพีอโฟรไดท์แห่งเมืองคอรินธ์เป็นจำนวน 100 นาง
อันที่จริงแล้วยังมีร่องรอยอื่นๆเกี่ยวกับ...ศักดิ์สิทธิ์ในอารยธรรมกรีกอีกมากนอกเหนือจาก บรรดาเฮไทราที่วิหารเทพีอโฟรไดท์แห่งเมืองคอรินธ์ ลักษณะอย่างนี้ยังคงตกทอดไปถึงโรมอีกด้วย
พวกโรมันยังมีพิธีกรรมบางอย่าง โดยเฉพาะพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทวีอโฟรไดท์ ที่มี...เข้าร่วมเป็นส่วนประกอบสำคัญของพิธีกรรม ที่น่าสนใจคือ พิธีเฉลิมฉลองเทวีฟอร์ทูนา (Fortuna) ที่มหากวี โอวิด (Ovid, มีชีวิตอยู่ในช่วง 43 ปีก่อนคริสต์กาล-ค.ศ. 17) พรรณนาเอาไว้ว่า "ทุกวันที่ 1 เมษายน จะต้องให้...และหญิงสาวที่แต่งงานแล้วจะร่วมกันเปลี่ยนฉลองพระองค์ และทำความสะอาดองค์เทพี" ในกรณีนี้ จึงดูเหมือนว่า...มีความหมายเชิงสัญลักษณ์เท่าเทียมกับหญิงสาวผู้มีสามีแล้ว?
ในอารยธรรมของพวกโรมัน "..." เป็นผู้หญิงประเภทเดียวที่จะสวมผ้าโทก้า (toga) คือผ้าคลุมชั้นนอก ซึ่งเป็นผ้าแสดงศักดิ์ฐานันดรของผู้ชาย ยิ่งเป็น...ชั้นสูง (แน่นอนฮะว่า ...ก็มีชนชั้น เเหใมือนกับทุกๆ อาชีพน่ะแหละ) ด้วยแล้ว ผ้าโทก้าจะถูกทอขึ้นจากผ้าไหม มองทะลุ ที่มึสีสันฉูดฉาดบาดตาความตรงนี้ถูกตีความกันโดยผู้ศึกษาอารยธรรมโรมันกันออกไปหลายแนวคิดหลายทฤษฎีเลยทีเดียวว่าทำไม...จึงมีสิทธิ์สวมผ้าโทก้า ซึ่งเป็นอภิสิทธิ์เฉพาะของผู้ชาย โดยเฉพาะสังคมที่ถือผู้ชายเป็นใหญ่อย่างยิ่งอย่างโรม?
เรื่องของ...ศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้มีเฉพาะในโลกตะวันตกนะครับ ในโลกตะวันออก โดยเฉพาะในอู่อารยธรรมอย่างอินเดีย การร่วมประเวณียังมีบทบาทในปรัชญาศาสนาด้วย
รูปเคารพในพุทธศาสนาที่เป็นรูปการเสพสังวาสระหว่างพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ พระโพธิสัตว์ เทพ ฯลฯ กับชายาของตน เรียกกันว่า "ยับยุม" นิยมอยู่ในพุทธศาสนา ตันตระยาน โดยเฉพาะที่ ธิเบต เนปาล และบริเวณใกล้เคียง เป็นสัญลักษณ์ของทางสู่นิพพาน ทางกลับไปสู่ "ศูนยะ"
ก่อนเกิด ก่อนมีชีวิต ชีวิตซึ่งเต็มไปด้วยทุกข์ เราเป็นศูนย์ เราจึงมาจากศูนย์ และทางที่เราออกมาจากความเป็นศูนย์ก็คือทางกลับเข้าไปนั่นเอง
ปรัชญาอย่างนี้ก็มีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะว่าเป็นความเชื่อพื้นเมืองมาก่อน มีเรื่องเล่าว่าในเทวาลัยของเจ้าแม่กาลี บางแห่งมีนางเทวทาสี ที่ทำหน้าที่ไม่ต่างไปจาก นางไฮเทราของพวกกรีก
...บางทีจึงศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่อาชีพที่ถูกเหยียดหยามจนต่ำต้อยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพียงแต่คำหลายคำ (ในทุกๆภาษา) ในปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนและบดบังความหมายและสถานภาพดั้งเดิมไปหมดแล้ว
เข้าใจตรงกันนะครับน้องปันปัน :P
(ภาพประกอบ มาจากอาคารหลังหนึ่งเมือง Pompeii ที่เรียกกันว่า Lupanar คำๆ นี้เป็นภาษาละตินแปลว่า "ซ่อง" รูปผู้หญิงคนนี้จึงเชื่อกันว่าเป็นหญิงบริการนั่นเอนะครับผม)