8 วิธี สู้อาการติดบุหรี่
ปัจจุบันมีเด็ก และเยาวชนไทย ติดบุหรี่มากถึงเกือบสองล้านคน และในเด็กไทย 10 คน ที่ติดบุหรี่ 7 คน จะเป็นทาสของการเสพติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต
จากการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ โดย สสส. ได้พบว่า เด็กและเยาวชนจะเริ่มต้นจากการลองสูบบุหรี่เป็นด่านแรก จากนั้นจะลองใช้สิ่งเสพติดและอบายมุขชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด การดื่มสุรา การเล่นพนัน ภาวะท้องไม่พร้อม อีกทั้งบุหรี่ยังทำร้ายคนสูบ และทำร้ายทั้งคนที่สูดกลิ่นเข้าไป อันตรายของบุหรี่นั้นมีเยอะแยะมากมาย
อย่างไรก็ตาม เชื่อแน่นอนว่ายังมีอีกหลายๆ คนต้องการที่จะเลิกสูบบุหรี่ แต่ไม่กล้าที่จะหักดิบ ใจอ่อน ไม่อดทนพอ จนต้องกลับไปสูบใหม่ โดย คู่มือ เลิกบุหรี่ “ชีวิตปลอดบุหรี่ การเตรียมตัวและชีวิตใหม่” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ บอกไว้ว่า อาการของผู้ที่พยายามเลิกบุหรี่ จะรู้สึกอยากบุหรี่อย่างรุนแรง หงุดหงิด โกรธง่าย เครียด เศร้าหดหู่ ปวดมึนศรีษะ นอนไม่หลับ หิวบ่อย รับประทานอาหารจุขึ้น ท้องผูก เป็นต้น อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วง 3-5 วัน หลังการหยุดสูบ
ดังนั้น การเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ต้องรู้จักวิธีการจัดการกับนิสัย หรืออารมณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นการสูบ ซึ่งการเผชิญหน้าจัดการกับอาการดังกล่าวที่เกิดขึ้น สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ดังนี้ค่ะ
1.อยากบุหรี่ หงุดหงิด เบี่ยงเบนความอยาก ด้วยการทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน อย่าให้มือว่าง และหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ อย่างน้อย 3 ครั้ง ให้สมองได้รับออกซิเจน จะรู้สึกผ่อนคลาย แนะนำว่าให้ดื่มน้ำ โดยอมไว้ในปากสักครู่ แล้วจึงกลืน ดื่มอย่างช้าๆ และอีกวิธีหนึ่งก็คือ หามะนาวที่มีเปลือกสีเขียวหั่นชิ้นเล็กๆ ให้มีเปลือกติดมาด้วย ขนาดเท่าเมี่ยงคำ แล้วอมทั้งเปลือก ค่อยๆ ดูดความเปรี้ยวอย่างช้าๆ นาน 3-5 นาที จากนั้นเคี้ยวทั้งเปลือก จะทำให้ลิ้นขม เฝื่อน จะช่วยลดความอยากลงได้ โดยสามารถใช้ผลไม้ชนิดอื่นแทนได้ เช่น ส้ม มะนาว มะยม มะดัน มะม่วง เป็นต้น ซึ่งมีความเปรี้ยวมากๆ สามารถอมได้ทุกครั้งที่มีอาการอยากบุหรี่
2 โกรธ ขุ่นเคืองง่าย ใช้ ความอดทนกับอารมณ์ของตนเอง ด้วยการเตือนตน ตั้งใจมั่น เลิกให้ได้ บอกคนข้างเคียงให้ทราบว่า อาการที่เกิดขึ้นเป็นผลของพยายามเลิกบุหรี่ ตั้งใจทำสิ่งดีๆ ต่อตนเองและครอบครัว ขอให้เขาเป็นกำลังใจและเข้าใจด้วย ลองพูดคุยกับคนที่ไว้ใจ เพื่อระบายความหงุดหงิดไปบ้าง
3.เครียด ให้หยุดพักสมองชั่วครู่ นวดคอ ศรีษะ หรือเปลี่ยนอิริยาบถ หายใจเข้าออกลึกๆช้าๆ หรือทำสมาธิ พูดคุยกับคนรอบข้าง โทรศัพท์หาเพื่อน หากำลังใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น เดินเล่น ทำงานบ้าน งานอดิเรก ออกกำลังกาย เล่นกีฬา และให้ย้ำเตือนตัวเองเสมอว่า ความเครียดเป็นธรรมดาของคนที่พยายามเลิกบุหรี่ คนที่ไม่สูบไม่บุหรี่ก็มีความเครียดเช่นกัน บอกตัวเองว่าต้องไม่ยอมแพ้ อีกไม่นานอาการจะดีขึ้น
4.เศร้าหดหู่ ให้ คิดถึงความสุขที่เกิดขึ้นในอนาคตเมื่อเราเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ หรือออกไปสูดอากาศบริสุทธ์ หากิจกรรมกระตุ้นความรู้สึกมีชีวิตชีวา เช่น ออกกำลังกาย ร้องเพลง หรือพักผ่อนด้วยการนอนหลับ
5.หิวบ่อย รับประทานมากขึ้น ให้ ดื่มน้ำเปล่ามากๆ น้ำผลไม้ไม่หวาน หรือดื่มเครื่องดื่มพลังงานน้อย ควรรับประทานผักและผลไม้ให้มาก โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย แคลอรี่ต่ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารว่างหรือของหวาน และควรรับประทานอาหารเป็นเวลา เคี้ยวอาหารช้าๆ เมื่อรับประทานเสร็จลุกออกจากโต๊ะทันที
6.ปวด มึนศรีษะ ให้อาบน้ำ ล้างหน้า หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า หรือดมยาดม ยาสมุนไพร และนอนพัก แนะนำว่าลองหันมาออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินเล่น ยกน้ำหนัก แกว่งแขน ในที่ทีมีอากาศบริสุทธ์
7.นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ให้จัดสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้สงบ เงียบ แสงสว่างไม่มาก ก่อนนอนให้อาบน้ำอุ่น และดื่มน้ำ หรือนมอุ่นๆ งดการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือสารกระตุ้นทุกชนิดหลังเที่ยงวัน เข้านอนทันทีที่รู้สึกง่วง ถ้านอนไม่หลับให้ลุกไปทำกิจกรรมอื่นที่สบายใจ เมื่อง่วงจึงกลับมานอนใหม่
8.ท้องผูก ให้ ดื่มน้ำ 1 แก้ว หรือ 2 แก้วทันที่ตื่นนอน และเข้าห้องน้ำเวลาเดิมให้สม่ำเสมอ อีกทั้งควรรับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผลไม้ ผักสด ข้าวกล้อง ธัญพืชต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ถ้าหากประชาชนต้องการคำปรึกษา หรือวิธีการเลิกบุหรี่ สามารถโทรไปได้ที่ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หรือสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ฟรี!! การที่เลิกบุหรี่ได้ สำเร็จนั้น นอกจากจะต้องมีวินัยและรู้จักจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้แล้ว คนรอบข้างก็สำคัญ ต้องให้กำลังใจ ชวนกันไปสร้างบรรยากาศ หรือทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ก็จะได้ชีวิตใหม่กลับมา เรียกได้ว่าเกินคุ้มแน่นอน