ภูเขาฟุจิ
ภูเขาฟุจิ (ญี่ปุ่น: 富士山 Fuji-san ฟุจิซัง ?) เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ราว 3,776 เมตร (12,388 ฟุต) ตั้งอยู่บริเวณจังหวัดชิซุโอะกะและจังหวัดยะมะนะชิ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว(東京都) พื้นที่โดยรอบ ประกอบด้วยทะเลสาบฟูจิทั้งห้า อุทยานแห่งชาติฟุจิ-ฮะโกะเนะ-อิซุและน้ำตกชิระอิโตะ โดยในวันที่อากาศแจ่มใสสามารถมองเห็นจากโตเกียวได้ ในปัจจุบันภูเขาได้ถูกจัดโดยนักวิทยาศาสตร์อยู่ในลักษณะของภูเขาไฟที่มีโอกาสปะทุต่ำ ระเบิดครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2250 (ค.ศ. 1707) ยุคเอะโดะ
ภูเขาฟุจิ มีชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า "ฟุจิซัง" ซึ่งในหนังสือในสมัยก่อนเรียกว่า "ฟุจิยะมะ" เนื่องจากตัวอักษรคันจิตัวที่ 3 (山) สามารถอ่านได้สองแบบทั้ง "ยะมะ" และ "ซัง"
เนื้อหา
1 ประวัติ
2 มรดกโลก
3 ดูเพิ่ม
4 อ้างอิง
ประวัติ
เชื่อว่ามีผู้ปีนเขาฟุจิ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 1206 โดยนักบวชท่านหนึ่ง และในช่วงระหว่างนั้นจนถึงยุคเมจิ ภูเขาฟุจิได้ชื่อว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ซึ่งห้ามผู้หญิงขึ้นเขา โดยในปัจจุบันภูเขาฟุจิเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ภูเขาฟุจิได้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของญี่ปุ่น ซึ่งจะเห็นได้จากในงานเขียนหรือภาพวาดต่าง ๆ โดยเฉพาะภาพวาดของ โฮะกุไซ ที่มีให้เห็นในวรรณกรรมญี่ปุ่นและกาพย์กลอนที่สำคัญมากมาย ภูเขาฟุจิยังเป็นฐานทัพของซามูไรในอดีตใช้เป็นที่ฝึกฝน ซึ่งในปัจจุบันฐานทัพหนึ่งของกองทหารญี่ปุ่นตั้งอยู่บริเวณตีนเขาฟุจิ
รูปแบบภูเขาไฟฟุจิและกิจกรรมต่อเนื่องเป็นแรงบันดาลใจจนกลายเป็นวิถีปฏิบัติทางศาสนาที่เชื่อมโยงผู้คนที่นับถือศาสนาชินโต พุทธศาสนา และธรรมชาติเข้าด้วยกัน ภูเขาไฟฟุจิยังเป็นแรงบันดาลใจต่อศิลปินในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในการผลิตภาพเขียนที่มีลักษณะทางวัฒนธรรม ซึ่งทำให้ภูเขาไฟลูกนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทั้งนี้ ภูเขาไฟฟุจิซึ่งมีความสูง 3,776 เมตร ตั้งอยู่ระหว่างจังหวัดยะมะนะชิและชิซุโอะกะ เป็นหนึ่งในทัศนียภาพที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของการทัวร์ญี่ปุ่น จากการที่มีหิมะปกคลุมบริเวณยอดเขา ทำให้กลายเป็นจุดดึงดูดผู้คนมานานหลายร้อยปี
มรดกโลก
ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 37 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ภูขาไฟฟุจิเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ภายใต้ชื่อ"ฟุจิซัง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และแหล่งที่มาของความบันดาลใจทางศิลปะ"ทำให้ภูเขาไฟฟุจิเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 13 และเป็นมรดกโลกแห่งที่ 17 ของประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้
(iii) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
(iv) - เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ