เปิดพิธีกรรมโบราณล้านนา “ฟ้อนผีมดผีเม็ง”
ม้าขี่ หรือร่างทรง ร่ายรำในท่วงท่าฟ้อนชนไก่สอดรับตามจังหวะท่วงทำนองของวงมโหรี ปี่พาท ที่บรรเลง.....เสียงเพลงที่ครึกครื้นสนุกสนานทำให้ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง ที่บ้านแม่อุ้ยบุญยวง อินตา ในตำบลสันทรายมูล อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินไปขึ้นอย่างคึกคัก
ตามวิถีความเชื่อของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมายาวนาน ลพื้นที่ที่จะจัดงานฟ้อนผีมด-ผีเม็ง ได้นั้น ต้องเป็นบ้าน “เก๊าผี” หรือบ้านของลูกหลานในสายตระกูลที่สืบทอดสายเลือดมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่าตายาย และบ้านที่สามารถทำพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ได้จะมี “หอผี” สถานที่สิงสถิตของดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ และจะต้องสร้างไว้ด้านทิศหัวนอนของบ้านผู้เป็นเก๊าผี เท่านั้น
พิธีกรรมเก่าแก่ของชาวล้านนานี้ จัดขึ้นเพื่อสังเวยผีบรรพบุรุษ หรือ เจ้าปู่เจ้าย่า ที่เชื่อกันว่า แม้จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ดวงวิญญาณจะยังวนเวียน คอยปกปักษ์รักษา คุ้มครองลูกหลานในสายตระกูล และตามคติความเชื่อนั้น ผีมด หมายถึงผีชาวบ้าน ที่สืบเชื้อสายจากชาวไทใหญ่ ส่วนผีเม็ง หมายถึงผีระดับแม่ทัพนายกอง สืบเชื้อสายจากชาวมอญ
ดอกไม้ธูปเทียน เครื่องเซ่นสังเวยตามวิธีชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เหล้า ยา ปลาปิ้ง จิ้นเนื้อ ลาบ อาหารพื้นเมือง ขนม ผลไม้ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายร่างทรงถูกจัดวางอย่างครบครัน ใน”ผาม”หรือประรำพิธี รอคอยการเชื้อเชิญผีบรรพบุรุษให้มารับของไหว้
ผ้าขาวที่ถูกมัดไว้อย่างแน่นหนา ตรงกลางผาม เป็นหัวใจสำคัญที่สุดในงานนี้ เพราะถือเป็นเครื่องเชื่อมต่อผ่านภพภูมิระหว่างจิตวิญญาณของ “มาขี่”กับดวงวิญญาณผีบรรพบุรุษ
ตามความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา การเข้าประทับร่างของวิญญาณบรรพบุรุษนั้น จะมาเพื่อมาบอกกล่าวให้ลูกหลาน รับรู้ว่าจะมีเหตุเพศภัยอะไรเกิดขึ้น และจะแก้ไขอย่างไร และที่สำคัญยังเป็นช่วงเวลาให้ลูกหลานว่านเครือที่ประพฤติผิดผี ลบหลู่ดูหมิ่นบรรพบุรุษมาขอขมาลาโทษ ก่อนที่จะเกิดเหตุร้ายในครอบครัว
และนี่คือท่วงท่าร่ายรำฟ้อนดาบของม้าขี่ หนึ่งในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิของการฟ้อนผีมดผีเม็ง ของตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากนักรบ และก่อนจะออกทำศึกนั้น วิญญาณของนักรบจะต้องทำพิธีกรรมคล้องช้างป่า เพื่อนำมาฝึกให้เป็นช้างศึก
พิธีกรรมที่สืบทอดต่อกันมา เชื่อว่าหากดวงวิญาณบรรพบุรุษ สามารถคล้องช้างได้ นั่นหมายถึงว่า ในปีนี้คนในสายตระกูล จะอยู่ดีมีสุข โชคดีมีชัย คิดอ่านทำกิจการสิ่งใดจะประสบผลสำเร็จดังหวัง
พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ เดินทางมาถึงช่วงเวลาส่งผี ร่างทรงม้าขี่และช้างที่คล้องได้ จะกลับไปที่หอผี เพื่อไปสิงสถิตอยู่ในภพภูมิดั้งเดิม เพื่อรอเวลาให้ลูกหลานจัดพิธีกรรมฟ้อนผีมด-ผีเม็ง ให้ ตามความเชื่อและวิถีแห่งศรัทธาของแต่ละสายตระกูล