ความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่พบได้จากปรากฏการณ์เอลนีโญ
เขียน โดย แอรอน เกรย์-บล็อค
ปรากฎการณ์เอลนีโญในปีที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดพายุเฮอริเคนแพทริเซียที่ใหญ่ที่สุดซึ่งทำลายสถิติที่เคยบันทึกไว้ พายุลูกดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายต่อป่าพรุและทำให้เกิดไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดอย่างกระทันหันในอินโดนีเซียซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
พายุเฮอริเคนแพทริเซียเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งแปซิฟิกของเม็กซิโก [ตุลาคม พ.ศ. 2558]
โลกเผชิญกับปรากฎการณ์เอลนีโญมาหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2541 เป็นปีที่คนทั่วทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกากลางหลายล้านคนต้องทนทุกข์ทรมานกับความอดอยาก ปรากฎการณ์เอลนีโญในปีนี้และปีที่ผ่านมากลับรุนแรงขึ้นกว่าเก่า และอาจส่งผลให้ความอดอยากเลวร้ายลง ผลกระทบยิ่งร้ายแรงขึ้น
นักภูมิอากาศวิทยาเคยคาดการณ์ว่าจะเกิดเอลนีโญขึ้นในปี พ.ศ. 2557 แต่แล้วปรากฎการณ์เอลนีโญก็ไม่เกิดขึ้นตามที่คาดไว้ ถึงแม้ว่าปีนั้นจะเป็นปีที่ร้อนและอุณหภูมิที่พื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกกลางจะร้อนผิดปกติก็ตาม
อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2558 สภาวะต่าง ๆ ก็พร้อมที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดเอลนีโญขึ้น และในเดือนมีนาคม องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) ก็ประกาศว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญได้เกิดขึ้นแล้ว
ไม่ใช่เพียงแค่ปรากฎการณ์เอลนีโญเท่านั้นที่เกิดขึ้น แต่ภัยพิบัติอื่น ๆ ที่รุนแรงก็เกิดขึ้นตามมาด้วย เช่น พายุเฮอริเคนแพทริเซียเมื่อปีก่อน ภาวะภัยแล้งในปีนี้ เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ชวนให้เราตั้งคำถามว่า เหตุการณ์เหล่านี้มีเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนอย่างไร
องค์กรอ็อกแฟมเตือนว่า ประชากรอย่างน้อยสิบล้านคนทั่วโลกจะถูกคุกคามจากภัยของความอดอยากเนื่องจากทำการเกษตรไม่ได้ผล ซึ่งมีสาเหตุคือปรากฎการณ์เอลนีโญนั่นเอง
เช่นเดียวกับภาวะโลกร้อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฎการณ์เอลนีโญจะทดสอบการรับมือในระดับประเทศ กรีนพีซไม่ใช่แค่เพียงเป็นประจักษ์พยานของปัญหา แต่เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข
ปรากฎการณ์เอลนีโญได้ทำให้ฤดูแล้งในอินโดนีเซียทวีความรุนแรงขึ้นและได้ทำลายป่าพรุ รวมทั้งทำให้เกิดไฟป่าที่ส่งผลให้เกิดหมอกควันปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นเพื่อที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ กรีนพีซได้เรียกร้องให้หยุดการตัดไม้ทำลายป่าและเรียกร้องให้มีกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เม็กซิโกเคยเผชิญหน้ากับภัยคุกคามต่าง ๆ ที่เกิดจากพายุเฮอริเคนแพทริเซียที่ทรงพลังมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกและลุ่มน้ำแอตแลนติกเหนือ ความรุนแรงของพายุเฮอริเคนแพทริเซียนี้มีสาเหตุจากน้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ จนขับเคลื่อนปรากฏการณ์เอลนีโญ
นอกจากนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา พายุไต้ฝุ่นคอปปุได้เคลื่อนตัวเข้ามาและทิ้งปริมาณน้ำฝนสูงมากกว่าหนึ่งเมตรไว้ที่ฟิลิปปินส์ ทำให้ภูมิภาคที่ปลูกข้าวเป็นหลักเกิดน้ำท่วม เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับที่เราคาดไว้ที่ว่าจะมีภาวะแห้งแล้งจนไม่สามารถเพาะปลูกได้
ชาวนาและครอบครัวยืนอยู่ในทุ่งนาที่แห้งแล้งในหมู่บ้านที่ฟิลิปปินส์
กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ประสานงานแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ผักออร์แกนิคและปุ๋ยไปช่วยเหลือเกษตรกรให้เพาะปลูกพืชผลใหม่แทนพืชผลเก่าที่ถูกทำลายไป ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานี้เป็นวิธีเดียวกับที่กรีนพีซเคยใช้ตอนที่เกิดพายุไต้ฝุ่นฮากูปิต
ที่ออสเตรเลีย กรีนพีซออสเตรเลียแปซิฟิกสำรวจแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ และพบการฟอกขาวของปะการังจำนวนมาก อันเป็นผลมาจากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น การฟอกขาวเป็นอันตรายระยะยาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อแนวปะการัง และเป็นสิ่งที่บอกเราว่าทำไมเราต้องหยุดโครงการเหมืองถ่านหินคาร์ไมเคิลในควีนส์แลนด์ นั่นก็คือ เพื่อที่จะลดการเพิ่มอุณหภูมิของบรรยากาศโลก
ปรากฎการณ์เอลนีโญเป็นเป็นเพียงการแสดงตัวอย่างผลกระทบของภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติจากธรรมชาติและจากมนุษย์ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เราต้องปรับปรุงระบบอาหารและเกษตรกรรมทั่วโลกรวมทั้งยุติยุคของเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ได้
สัญญานเตือนเหล่านี้ชัดเจนอยู่แล้ว
มีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ไคลเมทเชนจ์ พบว่า อัตราการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบันอาจทำให้เกิดปรากฎการ์เอลนีโญเป็นสองเท่าของผลที่ร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้นในอีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้า
ปรากฎการณ์เอลนีโญเป็นสภาวะลำดับต้น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนระยะยาว
ในขณะที่ความแปรปรวนทางธรรมชาติยังคงมีบทบาทต่อสภาพอากาศของเรา ภาวะโลกร้อนได้เปลี่ยนแปลงขีดจำกัดที่ธรรมชาติจะรับได้และเพิ่มความเป็นไปได้ที่สภาพอากาศแบบสุดโต่งจะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น
ปรากฎการณ์เอลนีโญที่เราเผชิญนี้เป็นเครื่องเตือนใจถึงสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นและย้ำความจำเป็นที่จะต้องบรรลุข้อตกลงร่วมกันเพื่อที่จะลดการปล่อยคาร์บอนลง
ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่เราจะต้องทำทุกอย่างที่เราพอจะทำได้
แปลโดย วรานุช ทนุบำรุงสุข อาสาสมัครกรีนพีซในโครงการแปลเปลี่ยนโลก
แปลและเรียบเรียงจากบทความ Climate change in the eyes of El Nino?โดย แอรอน เกรย์-บล็อค
ที่มา: Greenpeace Thailand