กบฏเงี้ยวปล้นเมืองแพร่
ปฐมบทของเรื่องนี้เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2445 เวลา 7 โมงเช้า เงี้ยวซึ่งมีพะกาหม่องและสะลาโปไชยเป็นหัวหน้าโจร ได้นำสมุนราว 50 คนบุกเมืองแพร่ด้านประตูชัย จู่โจมสถานีตำรวจซึ่งมีกำลังพลอยู่แค่ 12 คน จึงไม่สามารถต้านทานได้ กองโจรเงี้ยวปลดอาวุธตำรวจแล้วพากันโจมตีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ตัดสายโทรเลข และทำลายอุปกรณ์สื่อสาร ก่อนจะมุ่งหน้าไปบ้านพักข้าหลวงเมืองแพร่ "พระยาไชยบูรณ์" แต่ท่านข้าหลวงได้พาครอบครัวพร้อมคุณหญิงเยื้อนภริยาหลบหนีออกจากบ้านไปก่อนหน้าแล้ว
โจรเงี้ยวจึงบุกปล้นทรัพย์สินและสังหารคนใช้ ทำลายคลังหลวงและกวาดเงินสดไป ปล่อยนักโทษในเรือนจำและติดอาวุธให้บรรดานักโทษ จนมีกำลังสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 300 คน ราษฎรเมืองแพร่ต่างตื่นตกใจพากันอพยพไปอยู่นอกเมือง แต่กองโจรประกาศให้อยู่ในความสงบ และยืนยันจะไม่ทำร้ายชาวบ้าน ยกเว้นคนไทยภาคกลางที่มาปกครองเมืองแพร่ ราษฎรบางส่วนจึงเข้าร่วมกับกองโจรเงี้ยว จนมีกำลังเข้มแข็งยิ่งขึ้น
พระยาไชยบูรณ์ตรงไปยังคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ "พระยาพิริยวิไชย" หวังพึ่งกำลังเข้าตีโต้ แต่ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากไม่มีทั้งกำลังคนและอาวุธ พระยาไชยบูรณ์จึงหนีออกจากเมืองแพร่ไปทางบ้านมหาโพธิ์ หวังไปขอกำลังจากเมืองอื่นมาปราบปรามในภายหลัง
พอตกสายวันที่ 25 กรกฎาคม กองโจรเงี้ยวก็สามารถยึดเมืองแพร่ได้เบ็ดเสร็จ พะกาหม่องและสะลาโปโชยตรงไปคุ้มเจ้าหลวง เชิญเจ้าเมืองแพร่ปกครองบ้านเมืองตามเดิม โดยให้เจ้าเมืองแพร่และบุตรหลานทำพิธีถือน้ำสาบาน มีพระยาพิริยวิไชยเป็นประธาน ร่วมด้วยเจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงคราม และเจ้านายบุตรหลานคนอื่นๆ รวม 9 คน ตกลงว่าจะร่วมกันต่อต้านกองทัพรัฐบาล โดยกองโจรเงี้ยวเป็นกองหน้า ส่วนเจ้าเมืองเป็นกองหลังคอยส่งกำลังสนับสนุน
วันรุ่งขึ้นกองโจรเงี้ยวออกตามล่าข้าราชการฝ่ายไทยและคนไทยภาคกลาง พร้อมประกาศตั้งรางวัลนำจับพระยาไชยบูรณ์และพระเสนามาตย์ ยกกระบัตรเมืองแพร่ คนละ 5 ชั่ง วันที่ 27 กรกฎาคม พระยาไชยบูรณ์ซึ่งอดอาหารมา 3 วัน 2 คืน ซ่อนตัวอยู่บนต้นข่อยกลางทุ่งนาใกล้หมู่บ้านร่องอากาศได้ออกจากที่ซ่อนมาขออาหารชาวบ้าน หนานวงศ์ราษฎรบ้านร่องอากาศจึงนำความไปแจ้งพะกาหม่องเอาเงินรางวัล พะกาหม่องนำกำลังไปล้อมจับและนำตัวกลับเมืองแพร่
ตลอดการเดินทางมีการบังคับขู่เข็ญต่างๆ นานา ขณะที่พระยาไชยบูรณ์ก็ท้าทายให้โจรเงี้ยวฆ่า เมื่อมาถึงร่องกวางเคาโจรเงี้ยวจึงลงมือฆ่าพระยาไชยบูรณ์ พร้อมด้วยพระเสนามาตย์ ยกกระบัตรศาล หลวงวิมล ข้าหลวงผู้ช่วย ขุนพิพิธ ข้าหลวงคลัง และนายเฟื่อง ผู้พิพากษา นายแม้น อัยการ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และสมุห์บัญชีอำเภอต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นการเข่นฆ่าข้าราชการไทยครั้งใหญ่ในภาคเหนือ ปัจจุบันที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ด้วย
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรัฐบาลจึงส่งกองทัพจากเมืองใกล้เคียง ทั้งพิชัย สวรรคโลก สุโขทัย ตาก น่าน และเชียงใหม่เข้าปราบปรามโจรเงี้ยวเมืองแพร่ และมอบหมายให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ยกทัพหลวงขึ้นไปปราบปรามและสอบสวน โดยให้ถือว่าผู้ปฏิบัติการทั้งหมดเป็นกบฏเรียกว่า "กบฏเงี้ยวเมืองแพร่"
ส่วนกองโจรเงี้ยวเมื่อก่อกบฏสำเร็จก็ไม่ได้ตระเตรียมกำลังป้องกัน กระทั่งวันที่ 1 สิงหาคม 2445 เมื่อทราบข่าวกองทัพรัฐบาลจะยกมาปราบปราม จึงแบ่งกำลังออกเป็น 2 กอง กองหนึ่งนำโดยสะลาโปไชยยกไปขัดตาทัพที่ด้านใต้ ส่วนอีกกองนำโดยพะกาหม่องยกไปด้านตะวันตกตีนครลำปาง เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่น แต่นครลำปางที่รู้ตัวล่วงหน้าได้เตรียมกำลังไว้ป้องกัน เป็นเหตุให้พะกาหม่องพลาดท่าถูกยิงเสียชีวิต ส่วนกองโจรแตกพลัดพรายหายไป
การประหัตประหารของกองทัพฝ่ายรัฐบาลกับเงี้ยวดำเนินไปจนถึงวันที่ 11 สิงหาคม สุดท้ายกองโจรเงี้ยวก็ต้านทานต่อไปไม่ไหว แตกกระจัดกระจายไม่อาจรวมกันได้ติด อีก 3 วันถัดมาพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพ เนติโพธิ์) ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย พร้อมกำลังก็ยึดเมืองแพร่ได้สำเร็จ
ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนำทัพหลวงถึงเมืองแพร่ ลงมือไต่สวนความผิด โดยขั้นแรกสั่งจับตัวหนานวงศ์มาประหารชีวิต ตามด้วยจับพญายอด ผู้นำกำลังจับหลวงวิมลมาประหารชีวิตตามติดไปอีกหนึ่ง การไต่สวนดำเนินไปตามนโยบายของกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ที่ทรงกำชับไม่ให้ตั้งข้อสงสัยหรือกล่าวหาเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานล่วงหน้า
ทว่าเมื่อการสอบสวนดำเนินไปก็พบหลักฐานต่างๆ ผูกมัดเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบางคน เช่น เจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงคราม แต่ก่อนจะชำระความผิด เจ้าราชวงศ์และภริยาเกรงความผิดจึงดื่มยาพิษฆ่าตัวตายเสียก่อน
การกระทำอัตวินิบาตกรรมข้างต้น ส่งผลให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเกรงว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจผิดว่า รัฐบาลกระทำการรุนแรงต่อเจ้านายเมืองแพร่ ครั้นจะสืบหาพยานต่อไปหลักฐานก็จะผูกมัดเจ้าเมืองแพร่และบุตรหลาน ในที่สุดก็ต้องถูกประหารชีวิตในข้อหากบฏ หากเป็นเช่นนี้ย่อมกระทบกระเทือนใจเจ้านายเมืองเหนือทุกเมือง ด้วยต่างเกี่ยวพันฉันญาติผู้สืบสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนด้วยกัน ทั้งยังสร้างความสะเทือนใจแก่ราษฎรทั้งหลายในล้านนา
ดังนั้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงหาทางออกอย่างละมุนละม่อม ด้วยการปล่อยข่าวว่าจะมีการจับกุมเจ้าเมืองแพร่และเจ้านาย พอตกดึกเจ้าเมืองแพร่พร้อมคนสนิทก็หลบหนีออกจากเมืองแพร่ โดยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีมีคำสั่งลับ มิให้กองทหารที่ตั้งสกัดรอบเมืองขัดขวาง ทำให้การหลบหนีครั้งนี้เป็นไปอย่างสะดวก จนถึงหลวงพระบางอย่างปลอดภัย
เมื่อเจ้าเมืองแพร่หนีไปได้ 15 วัน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ เปิดโอกาสให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีออกคำสั่งถอดเจ้าพิริยวิไชยออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองแพร่ อายัดทรัพย์ชดใช้หนี้หลวง ส่วนความผิดฐานร่วมกันก่อกบฏให้ระงับไป ไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นอีก สำหรับเจ้าพิริยวิไชยเจ้าเมืองแพร่คนสุดท้าย ได้ใช้ชีวิตบั้นปลายที่หลวงพระบางจนถึงแก่พิราลัย
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกวันที่ 25 กรกฎาคมของทุกปีจึงมีพิธีวางพวงมาลาสดุดีวีรกรรมพระยาไชยบูรณ์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
แหล่งที่มา: http://www.oknation.net/blog/kingkaoz/2007/10/18/entry-4