เพราะสังคมตั้งคำถาม ปตท.จึงต้องออกมาแถลงไข
ปตท. ชี้แจงกรณีบุคคลกล่าวอ้างเลื่อนลอย
ตามที่มีการให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนโดยกล่าวอ้างข้อมูลที่ไม่มีความชัดเจนนั้น ในฐานะที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เห็นว่าการกล่าวอ้างดังกล่าวทำให้เกิดความสับสนกับผู้ถือหุ้นและประชาชนทั่วไป ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อองค์กรพลังงานของประเทศ
ดังนั้น ปตท. ขอชี้แจงในประเด็นที่ถูกนำมากล่าวอ้าง นอกเหนือจากคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้ยืนยันว่า ปตท. ได้ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้กระทรวงการคลังครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว ตั้งแต่ปี 2551 ดังต่อไปนี้
1. แปรรูป ปตท. โปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน
ปตท. ยืนยันว่าการแปรรูป ปตท. มีความโปร่งใสและดำเนินการถูกต้องทุกขั้นตอนของ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 โดย ปตท. ได้รับโอนอำนาจ สิทธิ และประโยชน์พิเศษที่มีอยู่ตามกฎหมายเดิมจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยมายัง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินงานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยว่าการยุบเลิกการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการแปรรูป ปตท. ก็ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใด
2. อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของ ปตท. เป็นของรัฐและคนไทย เพราะหลังแปรรูป ปตท. ยังคงมีสถานะรัฐวิสาหกิจ
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2544 กำหนดให้ภาครัฐถือหุ้นใน บมจ.ปตท. มากกว่า 51% ปัจจุบัน กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ปตท. นอกจากนี้ยังมีกองทุนวายุภักดิ์ กองทุนบำเหน็จบำนาญ สำนักงานประกันสังคมอีก รวมแล้วรัฐและคนไทยมีสัดส่วนถือหุ้น ปตท. รวมกันประมาณ 80% ดังนั้น หลังปตท. แปรรูปสิทธิและผลประโยชน์ต่างๆ ของ ปตท. จึงยังคงเป็นของรัฐและประชาชน
การที่ ปตท. เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระต่างๆ อย่างใกล้ชิดมากกว่าก่อนแปรรูป อาทิ จากตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. สตง. และผู้ถือหุ้น เป็นต้น
3. การกระจายหุ้นของ ปตท. เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่เป็นสากล
การกระจายหุ้น ปตท. ที่ถูกจองซื้อหมดอย่างรวดเร็ว เกิดจากการประชาสัมพันธ์และความพยายามที่จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนนักลงทุนทั่วไปสามารถจองซื้อหุ้นผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ของธนาคารพาณิชย์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่าย จำนวนมากกว่า 10,000 หน้าจอ พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งเป็นวิธีการทั่วไปที่บริษัทต่างๆ ถือปฏิบัติ ณ ขณะนั้น
การกำหนดวิธีการจองซื้อหุ้นและจัดสรรหุ้นได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยผ่านการอนุญาตและกำกับดูแลจาก ก.ล.ต. ให้เป็นธรรมและทั่วถึง
สำหรับการเสนอขายหุ้นให้แก่พนักงานเป็นแนวปฏิบัติที่กระทำกันโดยทั่วไปเพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสถือหุ้นในฐานะเป็นเจ้าของบริษัท และรู้สึกมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของบริษัทด้วย อันจะส่งผลให้พนักงานร่วมมือในการสร้างความเจริญให้แก่ ปตท. ต่อไป
4. กรณีมีนอมินีถือหุ้น ปตท.
การที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างมีการถือหุ้นโดยนอมินีเป็นเรื่องปกติ และอาจเป็น นอมินีที่มีรายชื่อเดียวกัน เพราะการถือหุ้นโดยนอมินีนั้นนับเป็นเพียงอีกช่องทางหนึ่งของการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติหลายๆ ราย ลงทุนผ่านบริษัทนอมินีของสถาบันการเงิน คล้ายกับบริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ของไทย ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นการลงทุนและระดมทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นผ่านนอมินีเหล่านี้ไม่ได้มีสิทธิ์ออกเสียงหรือกำหนดนโยบายใดๆ ในบริษัทเหล่านั้นได้เลย
สำหรับนอมินีที่ถือหุ้นใน ปตท. นับเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่รายอื่นๆ ดังนั้น หาก ปตท. มีผลประกอบการที่ดีมากเพียงใดก็ตาม ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ไม่ใช่เป็นเพียงนอมินีเท่านั้น แต่ประโยชน์จะตกกับผู้ที่ถือหุ้น ปตท. ส่วนใหญ่ซึ่งก็คือ กระทรวงการคลัง รัฐบาลไทย และประชาชนชาวไทย
5. ค่าตอบแทนกรรมการ
ปตท. ได้กำหนดนโยบายค่าตอบแทนกรรมการอย่างเป็นธรรมและสมเหตุสมผล โดยดูจากผลการดำเนินงานเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้และผลประกอบการ ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ แนวปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนในอุตสาหกรรมเดียวกันและบริษัทชั้นนำ ทั้งระดับประเทศและระดับโลก และแนวปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นรัฐวิสาหกิจ การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาแนวทางการกำหนดค่าตอบแทนให้แก่กรรมการ ตลอดจนกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์การกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผล เนื่องจากค่าตอบแทนเป็นปัจจัยสำคัญในการเชิญชวนและรักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้อยู่คู่องค์กร อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้น การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการจึงดำเนินการด้วยความรอบคอบ สมเหตุสมผล นอกจากนี้ ค่าตอบแทนกรรมการยังต้องนำเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติ รวมทั้ง ปตท. ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลค่าตอบแทนกรรมการในรายงานประจำปีให้สาธารณชนรับทราบอีกด้วย
6. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร
ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ทำให้ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงตามราคาตลาดโลก การมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงมีประโยชน์ในการช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ และช่วยให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายราคาน้ำมันในราคาที่สูงเกินไปในภาวะวิกฤติการณ์ราคาน้ำมัน
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เป็นผู้ดูแลและกำหนดนโยบาย โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ทำหน้าที่เลขานุการ ออกประกาศกำหนดอัตราเงินส่งเข้า อัตราชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะที่กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รับผิดชอบในการจัดเก็บเงินและส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทั้งนี้ ปตท. ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดดังกล่าว และไม่สามารถแทรกแซงการกำหนดนโยบายใดๆ เกี่ยวกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้
ปตท. ขอยืนยันว่าได้ดำเนินงานทุกขั้นตอนภายใต้หลักธรรมภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเห็นว่าการกล่าวหาใดๆ ควรมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน และควรพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันในชั้นศาล ซึ่งจะเป็นการยุติธรรมต่อทุกฝ่าย
หากมีข้อสงสัยในข้อมูลใดที่มีการกล่าวอ้างที่สร้างความเข้าใจผิดต่างๆ สามารถตรวจสอบข้อมูลหรือสอบถามได้ที่ www.pttplc.com หรือ ดาวน์โหลด PTT Insight Application หรือ PTT Contact Center โทร.1365









