กมธ.ขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น ผลักดันแก้กฎหมาย เปิดทางประชาชนมีส่วนร่วมเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น
18 เม.ย. 59 – สปท. มีมติ 163 เสียง เห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น ที่เสนอ 4 ประเด็น แก้กฎหมาย เปิดทางประชาชนมีส่วนร่วมเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติ 163 เห็นชอบ รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น เรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นและร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. .... โดยหลังจากได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม สปท. แล้ว รายงานและร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ก็จะถูกเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
นางนินนาท ชลิตานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงเหตุผลว่า เพื่อให้เกิดการปฏิรูปเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2542 หลังพบว่า ยังมีหลายเงื่อนไขที่ส่งผลให้การใช้สิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการการเข้าชื่อเพื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นเป็นไปได้ยาก และนับตั้งแต่ปี 2542 ยังไม่ปรากฎว่ามีประชาชนได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นแต่ประการใด ดังนั้น กรรมาธิการฯ จึงได้เสนอให้ยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมายเดิม ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. ขจัดความยุ่งยากในการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ระบุให้ชัดว่าประชาชนเสนอข้อบัญญัติประเภทใดได้ โดยให้ประชาชนเสนอได้เฉพาะข้อบัญญัติทั่วไป ที่ไม่ใช่ข้อบัญญัติงบประมารณรายจ่าย 2. ลดจำนวนประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น โดยกำหนดให้ประชาชนเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ส่วนการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 คน 3. ลดความยุ่งยาก โดยประชาชนไม่ต้องจัดทำร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นประกอบการยื่นคำขอแต่อย่างใด และ 4.เพิ่มบทลงโทษทางอาญา แก่ผู้ที่ชักจูง ล่อลวง หรือกระทำการโดยไม่ชอบในการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติ ซึ่งรวมถึงผู้สมรู้ร่วมคิดด้วย อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯ จะเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ในช่วงเดือน พ.ค. นี้













