พระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรบูชา
พระพรหม (อังกฤษ: Brahma; เตลูกู: బ్రహ్మ; สันสกฤต: ब्रह्मा; เทวนาครี: ब्रह्मा) เป็นเทพเจ้าสูงสุด (ตรีมูรติ) ในคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นเทพเจ้าแห่งการสร้างสรรค์ เป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตา เป็นผู้สร้างโลกและให้กำเนิดสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาล และให้กำเนิดคัมภีร์พระเวท
พระพรหมมีสี่พักตร์ พระศอสวมลูกประคำ พระหัตถ์แต่ละข้างถือดอกบัว, คัมภีร์ และหม้อน้ำ มีพาหนะเป็นหงส์ หรือ ห่าน พระชายา คือ พระสุรัสวดี เทพีแห่งศิลปะวิทยาการและความรอบรู้
ในคัมภีร์มัตสยาปุราณะเล่าว่า พระพรหมเดิมทีมีถึงห้าพักตร์ การที่มีห้าพักตร์เกิดจาก การที่พระพรหมให้ได้กำเนิดผู้หญิงนางหนึ่งชื่อ ศตรูป ขึ้นมา ความงามของศตรูปทำให้พระองค์หลงใหล เมื่อศตรูปนี้เคลื่อนไปทางใด พระพรหมก็จะหันพระพักตร์เพื่อมองตามไปด้วย แต่ว่ามีครั้งหนึ่งที่พระพรหมไปดูแคลนพระศิวะเข้า ทำให้พระศิวะพิโรธ และใช้ไฟบรรลัยกัลป์จากพระเนตรที่สามที่กลางพระนลาฏเผาพระพักตร์ที่อยู่ด้านบนเศียรของพระพรหม จนเหลือเพียงสี่พักตร์ แต่อีกความเชื่อหนึ่งเล่าว่า เพราะพักตร์ด้านบนของพระพรหมนั้นเจิดจรัสมาก ทำให้พวกสุระและอสุระทนไม่ได้ จึงขอร้องให้พระศิวะเป็นผู้ตัดให้
และยังเชื่อด้วยว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างบุคคลในวรรณะต่าง ๆ จากอวัยวะแต่ละส่วน ได้แก่ วรรณะพราหมณ์ เกิดจากพระโอษฐ์, วรรณะกษัตริย์ เกิดจากอก, วรรณะแพศย์ เกิดจากส่วนท้อง และวรรณะศูทร เกิดจากเท้า
ในบรรดาตรีมูรติ พระพรหมถือเป็นเทพเจ้าที่มีผู้เคารพบูชามาก่อนเทพเจ้าองค์อื่น ๆ มีหลักฐานตั้งแต่ก่อนยุคพุทธกาล แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นหนึ่งในตรีมูรติ ทว่าพระพรหมกลับเป็นเทพเจ้าที่ผู้คนให้การบูชาน้อยมากในบรรดาตรีมูรติและเทพองค์อื่น ๆ โดยในอินเดีย มีเทวสถานสำหรับบูชาพระพรหมเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น โดยเทวสถานที่เป็นรู้จักดีอยู่ที่ ตำบลบุษกร แคว้นอาชมีร์ มัธยมประเทศ (ปัจจุบันคือ เมืองอาชมีร์ รัฐราชสถาน)
ในคติของชาวไทยที่รับคติความเชื่อจากศาสนาพรหมณ์-ฮินดู เชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้ลิขิต ชะตาชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย เรียกว่า "พรหมลิขิต" และผู้ใดที่บูชาพระพรหมอยู่เป็นนิจ พระองค์จะประทานพรให้สมหวัง เรียกว่า "พรพรหม" หรือ "พรหมพร" และยังเป็นเทพประจำทิศเบื้องบนอีกด้วย
ด้วยเหตุดังนี้ พระพรหมจึงมีพระนามต่าง ๆ อาทิ "พรหมธาดา" หรือ "ประชาบดี" (ผู้สร้าง), "หงสรถ" หรือ "หงสวาหน" (ผู้มีหงส์เป็นพาหนะ), "จตุรพักตร์" (ผู้มีสี่หน้า), "ปรเมษฐ์" (ผู้ประเสริฐ) เป็นต้น ส่วนในลิลิตโองการแช่งน้ำเรียกว่า "ขุนหงส์ทองเกล้าสี่"
โดยความหมายของคำว่า "พรหม" หมายถึง "ความเจริญ, ความกว้างขวาง, ความขยายตัว หรือความเบิกบาน" ดังนั้นตามคติและวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ทั้งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนาจึงมีคำว่า พรหม ประกอบคำศัพท์ เช่น "พรหมจรรย์", "พรหมบุตร" หรือ "พรหมวิหาร" เป็นต้น
โพสท์โดย: คนบูชา