หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

มารู้จักกิโยตินเครื่องประหารที่บั่นพระเศียรราชินีมารี อองตัวเน็ต ราชินีองค์สุดท้ายแห่งฝรั่งเศส

โพสท์โดย มารคัส

มารู้จักกิโยตินเครื่องประหารที่บั่นพระเศียรราชินีมารี อองตัวเน็ต ราชินีองค์สุดท้ายแห่งฝรั่งเศส

กิโยติน (ฝรั่งเศส: guillotine) เป็นชื่อเรียกของอุปกรณ์การประหารชีวิตของชาววฝรั่งเศส


ลักษณะคือเครื่องมือที่ใช้ในการลงโทษโดยการตัดคอ กิโยตินประกอบโครงโดยส่วนมากจะเป็นไม้ ไว้สำหรับแขวนใบมีดรูปสี่เหลี่ยมคางหมู น้ำหนักประมาณ 40 กก. ใบมีดจะถูกแขวนไว้ในส่วนบนสุด ภายใต้ใบมีดจะเป็นส่วนที่ให้ผู้ถูกลงโทษวางศีรษะ เมื่อเชือกได้ถูกปล่อยหรือตัดลง ใบมีดที่หนักจะหล่นลงไม้ในระยะทางประมาณ 2.3 เมตร และตัดศีรษะผู้ถูกประหาร (ความสูงและน้ำหนักตามมาตรฐานกิโยตินฝรั่งเศส)

ถึงแม้ว่าประเทศฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกที่ใช้การประหารชีวิตด้วยกิโยติน นิโกลาส์ ชัก เปลติเยร์ (Nicolas J. Pelletier) โจรปล้นสัญจรถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตินเป็นคนแรกเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2335 (ค.ศ. 1792) ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 สหราชอาณาจักร มีเครื่องลงโทษลักษณะที่คล้ายกันชื่อ จิบบิต (gibbet) และมีเครื่องลงโทษลักษณะคล้ายกันใน ประเทศอิตาลี และ สวิตเซอร์แลนด์


ผู้คิดค้นอองตวน หลุยส์ (Antoine Louis) สมาชิกของกลุ่ม Académie Chirurgical เป็นบุคคลที่คิดค้นการทำงานของเครื่องกิโยติน โดยเครื่องกิโยตินตอนแรกได้ใช้ชื่อว่า หลุยซอง (Louison) หรือ หลุยเซท (Louisette) แต่ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "กิโยติน" ตามชื่อของ ดร.โฌเซฟ-อินแนซ กิโยแตง (Joseph-Ignace Guillotin) แพทย์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้เสนอแนะการประหารชีวิตโดยการตัดคอ ภายหลัง ดร.กิโยติน ได้เปลี่ยนนามสกุล เนื่องจากไม่ต้องการใช้ชื่อสกุล เป็นคำเดียวกับวิธีการประหารชีวิต การใช้เครื่องกิโยตินแทนการประหารชีวิตแบบเก่า โดยเหตุผลว่าเป็นการประหารชีวิตของมนุษย์ ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงจะถูกตัดคอโดยดาบหรือขวาน ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไปจะถูกแขวนคอ หรือวิธีการประหลาดต่างๆ ในช่วงของยุคกลาง (เช่น ถูกเผา หรือมัดกับล้อไม้) ในการตัดคอ มีหลายครั้งที่ตัดคอไม่สำเร็จในดาบแรก ทำให้เกิดความทรมานต่อผู้ถูกประหารชีวิต การใช้กิโยตินจะทำให้ผู้ถูกประหารชีวิตเจ็บปวดน้อยที่สุด ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส มีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตินอย่างน้อย 20,000 คน โดยการประหารด้วยกิโยตินถือเป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไปเช่นกัน

กิโยตินถือเป็นเครื่องประหารชนิดเดียวที่ถูกกฎหมาย จนกระทั่งยกเลิกกฎหมายประหารชีวิตในปี พ.ศ. 2424 (ค.ศ. 1881) บุคคลสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตินคือ ยูจีน เว็ดมันน์ (Eugene Weidmann) ฆาตกรสังหาร 5 ศพ โดยถูกตัดศีรษะเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) เวลา 16.32 น. ภายนอกคุก Saint-Pierre rue Georges Clemenceau 5 ที่เมืองแวร์ซายส์

ข้อมูลจาก wikipedia.org


และมารู้จักกับมารี อองตัวเน็ต
มารี-อองตัวเน็ต โฌเซฟ ฌานน์ เดอ ฮับสบูร์ก-ลอแรนน์ (ประสูติ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2298 ณ กรุงเวียนนา สิ้นพระชนม์ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2336 กรุงปารีส) เจ้าหญิงแห่งฮังการี และแคว้นโบฮีเมีย อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย ราชินีฝรั่งเศส และนาแวร์ (แคว้นบาสก์ในปัจจุบัน) (พ.ศ. 2317 – พ.ศ. 2336) รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า มารี-อองตัวเนตแห่งออสเตรีย พระนางถูกประหารด้วยกิโยตินระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส


เมื่อทรงพระเยาว์
ที่กรุงเวียนนา
ธิดาของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ที่ 1 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ดยุคใหญ่แห่งแคว้นทัสคานี (แห่งราชสำนักลอเรนน์) กับสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถมาเรีย เทรีซาแห่งออสเตรีย มารี อองตัวเนตดำรงพระยศเป็น กษัตริย์ แห่งฮังการี และราชินีแห่งแคว้นโบฮีเมีย อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย (แห่งราชสำนักฮับสบูร์ก) พระนางประสูติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2298 (ค.ศ. 1755) เป็นธิดาองค์ที่ 15 และก่อนองค์สุดท้ายของพระบิดาและพระมารดา พระนางถูกเลี้ยงดูโดยอายาส เหล่าข้าราชบริพารของราชสำนัก (มาดาม เดอ บร็องเดส และต่อมาโดยมาดาม เดอ เลอเชนเฟลด์ ผู้เข้มงวด)

ภายใต้การสอดส่องดูแลอย่างเข้มงวดของจักรพรรดินี ผู้มีแนวความคิดล้าหลังเกี่ยวกับการเลี้ยงดูโอรสและธิดา ด้วยการควบคุมสุขอนามัย และกระยาหารอย่างเข้มงวด และการทรมานร่างกายด้วยกิจกรรมหนักหน่วง มารี อองตัวเนตเติบโตขึ้นที่พระราชวังฮอฟบูร์กในกรุงเวียนนา และ ปราสาทชอนบรุนน์ การศึกษาของพระนางค่อนข้างถูกปล่อยประละเลย (หรือในอีกแง่หนึ่ง คือถูกเลี้ยงมาแบบง่ายๆกว่าการเลี้ยงดูราชนิกูลในราชสำนักฝรั่งเศส ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ห่างไกลจากกฎเกณฑ์ทั้งปวงของราชสำนัก เกือบจะแบบชาวบ้านธรรมดา)

สามารถอ่านออกเขียนได้เมื่ออายุเกือบสิบชันษา เขียนภาษาเยอรมันได้ไม่ดีนัก พูดภาษาฝรั่งเศสได้น้อยนิด และยิ่งถ้าเป็นภาษาอิตาเลียนแล้วพระนางพูดได้น้อยมาก แม้ว่าทั้งสามภาษานั้นจะเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรดาราชนิกูลของออสเตรียก็ตาม จักรพรรดินีได้บังคับให้พระนางอภิเษกสมรสกับหลานชายคนโตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ผู้มีชันษาใกล้เคียงกัน และในขณะเดียวกัน จักรพรรดินียังใฝ่ฝันจะจัดการอภิเษกอิซาเบล ธิดาอีกองค์ กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ผู้ทรงชราภาพ

เมื่อมารี อองตัวเนตทรงเจริญพระชนมายุได้ 13 ชันษา จักรพรรดินีที่ขณะนั้นทรงเป็นหม้าย ได้ทรงสนพระทัยเพิ่มขึ้นในด้านการศึกษาของโอรสธิดา เพื่อจะได้สามารถจัดการอภิเษกสมรสได้ อาร์คดัชเชสมารี อองตัวเนต ได้หัดเล่นฮาร์ปซิคอร์ด กับ คริสตอฟ วิลบัลด์ กลุค (คีตกวีชื่อดัง) และเรียนนาฏศิลป์ฝรั่งเศสกับโนแวร์ เมื่อพระมารดาต้องเลือกระหว่างนักแสดงสองคนเพื่อให้มารี อองตัวเนตหัดการอ่านออกเสียง และร้องเพลง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้ทัดทานอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเห็นว่านักแสดงไม่มีคุณสมบัติพอ มารี-เทเรซา แห่งออสเตรีย จึงได้ขอให้เขาจัดหาครูที่ราชสำนักฝรั่งเศสรับรองมาให้ ผู้ที่ถูกส่งมาคือ บาทหลวงแห่งแวร์มงด์ ผู้นิยมในยุคแสงสว่าง และผู้นิยมศาสตร์แห่งการคัดตัวหนังสือ เขาจะเป็นผู้ที่แก้ไขข้อบกพร่องทางการศึกษาของมารี อองตัวเนต

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2312 (ค.ศ. 1769) มาร์กีแห่งดูร์ฟอร์ต ได้มาสู่ขอมารี อองตัวเนตเพื่ออภิเษกกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส จักรพรรดินีมารี-เทเรส แห่งออสเตรียรีบตกปากรับคำ ส่วนฝ่ายฝรั่งเศสที่เคร่งศาสนาได้คัดค้านการหมั้นหมายดังกล่าวที่ดำเนินการโดยดยุคแห่งชัวเซิล เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส เนื่องจากจะเป็นการเ้อื้อประโยชน์กับออสเตรีย ศัตรูตลอดกาล พวกเขาได้เรียกพระชายาของมกุฎราชกุมารแล้วว่า ผู้หญิงออสเตรีย


มกุฎราชกุมารี
เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2313 (ค.ศ. 1770) มารี อองตัวเนต ได้ประกาศสละสิทธิ์ในการเป็นอาร์คดัชเชสของราชสำนักออสเตรียอย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พระนางได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารฝรั่งเศส ที่พระราชวังแวร์ซาย ในวันเดียวกันนี้เอง ได้มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้น เมื่อบรรดาเจ้าหญิงแห่งแคว้นลอเรนน์ของฝรั่งเศส ได้อ้างสิทธิ์ในการเป็นพระญาติกับองค์มกุฎราชกุมาร เพื่อให้ได้เต้นรำกับพระองค์ก่อนบรรดาอาร์คดัชเชสจากออสเตรียที่มาร่วมงาน ท่ามกลางความกังวลของเหล่าผู้ดีทั้งหลาย ที่ได้มีการซุบซิบนินทาต่อต้าน "ผู้หญิงออสเตรีย" กันแล้ว และในเย็นวันนั้นเอง มีประชาชน 132 คนขาดใจตายกลางท้องถนน ในระหว่างพิธีเฉลิมฉลองงานมงคลอภิเษกสมรส

มกุฎราชกุมารีผู้เยาว์ชันษาทรงมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ในรั้วในวังของฝรั่งเศส พระสวามีของพระนางตีตนออกห่าง โดยการหนีไปออกป่าล่าสัตว์แต่เช้าตรู่ (ทั้งคู่เริ่มมีสัมพันธ์็ฉันสามีภรรยาอย่างแท้จริง ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2316) พระนางต้องทนทุกข์กับการปรับตัวเข้ากับพระราชพิธี และขนบประเพณีแบบฝรั่งเศส และทรงเกลียดการใช้ชีวิตกับผู้คนรอบข้าง นอกจากนั้นแล้ว

พระนางยังได้รับคำปรึกษาทางไกลจากกรุงเวียนนา โดยการเขียนจดหมายโต้ตอบมากมายหลายฉบับกับพระมารดา และกับท่านเค้าท์แห่ง แมร์ซี-อาร์จองโต ผู้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำกรุงปารีส ที่ประเทศฝรั่งเศส ท่านเค้าท์แห่ง แมร์ซี-อาร์จองโตเป็นผู้เดียวที่พระนางสามารถวางพระทัยได้ เนื่องจากดยุคแห่งชัวเซิลได้ถูกปลดจากตำแหน่งภายในเวลาไม่ถึงปีหลังการอภิเษกสมรส จากแผนการอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนของมาดาม ดู บาร์รี พระสนมผู้ทรงอิทธิพลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จดหมายโต้ตอบกับท่านเค้าท์แห่ง แมร์ซี-อาร์จองโต ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลชิ้นเยี่ยม ที่จะอธิบายชีวิตโดยละเอียดของมารี อองตัวเนตภายหลังการอภิเษกสมรสในปี พ.ศ. 2313 (ค.ศ. 1770) จนกระทั่งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระนางมารี-เทเรสที่หนึ่ง พระมารดาในปี พ.ศ. 2323 (ค.ศ. 1780)


ขึ้นครองราชย์
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2317 (ค.ศ. 1774) พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสเสด็จสวรรคต และพระนางมารี อองตัวเนต ได้ทรงขึ้นเป็นราชินีแห่งฝรั่งเศส และแห่งนาแวร์ แต่พฤติกรรมของพระนางไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2320 (ค.ศ. 1777) เป็นต้นมา กระแสต่อต้านพระนางเริ่มแพร่สะพัด พระนางถูกรายล้อมด้วยพระสหายสนิทจำนวนหนึ่ง (เจ้าหญิงแห่งลอมบาลล์ บารอนแห่งเบอซองวาล ดยุคแห่งควงยี รวมถึงโยลองด์ เดอ โปลาสตรง กับเคานท์เตสแห่งโปลินยัก) ซึ่งสร้างความอิจฉาริษยาให้แก่นางสนมคนอื่นๆ ด้วยการจัดหาเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับจำนวนมาก จัดงานเลี้ยงหรูหราฟุ่มเฟือย และจัดเกมการละเล่นที่มีเงินเดิมพันจำนวนมหาศาล


ชีวิตในราชสำนัก
มารี อองตัวเนต พยายามมีอิทธิพลทางการเมืองเหนือพระมหากษัตริย์ ด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีเป็นว่าเล่นตามพระทัย หรือไม่ก็ด้วยคำแนะนำของพระสหายผู้จะได้รับประโยชน์ พระนางต้องเดือดร้อนจากการเข้าไปพัวพันกับคดีกีเนส (เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงลอนดอน ผู้ถูกกล่าวหาว่าวางแผนผลักดันฝรั่งเศสเข้าร่วมสงคราม)เนื่องด้วยขาดความยั้งคิด ส่งผลให้พระนางสั่งปลดตูร์โกต์ในกาลต่อมา บารอนพิชเลอร์ ราชเลขาของพระนางมารี-เทเรสที่หนึ่ง ได้ให้ความเห็นโดยรวมอย่างสุภาพด้วยการบันทึกไว้ว่า :

"พระนางไม่ต้องการจะปกครอง หรืออำนวยการ หรือแม้แต่ชี้นำเรื่องใดๆก็ตาม สิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่พระนางคิดคำนึงมาตลอดเวลาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้แล้ว พระนางไม่ค่อยคิดเรื่องอื่นเท่าไรนัก และอุปนิสัยรักอิสระของพระนางเป็นข้อพิสูจน์ที่เพียงพอแล้ว เนื่องจากพระนางจะสนพระทัยเฉพาะสิ่งบันเทิงเริงรมย์ หรือไม่ก็เรื่องไร้สาระ"

กลุ่มคนที่ต่อต้านพระนางได้รวมตัวกันตั้งแต่เมื่อพระนางขึ้นสู่ราชบัลลังก์ มีการแจกใบปลิวกล่าวหาว่าพระนางมีชายชู้ (ท่านเค้าท์แห่งอาร์ตัว พระเชษฐาเขย และท่านเค้าท์ฮาน แอกเซล เดอ เฟอเสน หรือแม้กระทั่งว่าพระนางมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสตรี (โยลองด์ เดอ โปลาสตรง และเค้าท์เตส เดอ โปลินยัก) มีการใช้จ่ายเงินสาธารณะอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพื่อการบันเทิงเริงรมย์ และเป็นฝ่ายหนุนหลังออสเตรียที่ตอนนั้นถูกปกครองโดยพระเจ้าโจเซฟที่สอง แห่งออสเตรีย พระเชษฐาของพระนาง แต่ก็ต้องกล่าวว่า พระนางได้ทำทุกวิถีทางที่จะต่อสู้กับพวกต่อต้านออสเตรีย ด้วยการปลดดยุคแห่งเอกุยยง และแต่งตั้งดยุคแห่งชัวเซิลขึ้นแทน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ พระราชวังแวร์ซายร้างจากผู้คน พวกนางสนมที่ราชินีหวาดระแวงได้หนีหน้าหายไปเนื่องด้วยไม่สามารถสนับสนุนรายจ่ายที่เกิดจากชีวิตอันหรูหราในราชสำนักได้

ในที่สุด เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2321 (ค.ศ. 1778) มารี อองตัวเนตได้มีประสูติกาลพระธิดาองค์แรก ที่มีพระนามว่า มารี-เทเรสแห่งฝรั่งเศส (ชาตะ พ.ศ. 2321 - มรณะ พ.ศ. 2394) หรือมีชื่อเล่นว่า "มาดามรัวยาล" และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2324 (ค.ศ. 1781) ก็ถึงคราวให้กำเนิดเจ้าชายหลุยส์-โจเซฟ มกุฎราชกุมาร แต่ประสูติกาลเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลดีแก่พระนางมารี อองตัวเนต เนื่องจากมีผู้กล่าวหาว่าโอรสธิดานั้นไม่ได้มีเ้ชื้อสายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระนางได้หันกลับมาใช้ชีวิตที่สนุกสนานเช่นเดิมอย่างรวดเร็ว และได้เฝ้าดูการก่อสร้างหมู่บ้านชนบทที่พระราชวังแวร์ซาย ให้เป็นฟาร์มขนาดเล็กที่พระนางเชื่อว่าทำให้ได้ค้นพบชีวิตชาวนาอันผาสุก ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2328 (ค.ศ. 1785) พระนางได้ให้กำเนิดพระโอรสองค์ที่สอง มีพระนามว่าเจ้าชายหลุยส์-ชาร์ล ดำรงตำแหน่งดยุคแห่งนอร์มงดี





คดีสร้อยพระศอ
มารี อองตัวเนตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2328 (ค.ศ. 1785) ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวในคดีสร้อยพระศอของพระนางมารี อองตัวเนต เมื่อนายโบห์แมร์เรียกร้องเงินจำนวน หนึ่งล้านห้าแสนปอนด์จากองค์ราชินี เป็นค่าสร้อยคอเพชรที่พระคาร์ดินัล เดอ โรออง เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำขึ้นในนามของราชินี มารี อองตัวเนตยืนยันที่จะให้จับกุมพระคาร์ดินัล แล้วเรื่องก็แดงขึ้นมา องค์กษัตริย์ได้มอบหมายให้รัฐสภาจัดการเรื่องนี้ ที่ในที่สุดก็ทราบตัวการ คือคู่รักที่อ้างว่าเป็นเค้าท์และเค้าท์เตสมอธ ที่ไปหลอกลวงพระคาร์ดินัลโรอองผู้บริสุทธิ์อีกต่อหนึ่ง แม้ว่าสมเด็จพระราชินีจะไม่มีความผิดเช่นกัน แต่ก็เสียพระเกียรติเป็นอันมาก เมื่อพระนางขอให้พระมหากษัตริย์เบิกตัวพระคาร์ดินัลเดอ โนไอญ์ และให้ส่งตัวพระนางไปลี้ภัยในที่สังฆมณฑลแห่งหนึ่งของพระคาร์ดินัลนี้

มารี อองตัวเนตได้ทราบถึงชื่อเสียงที่เสื่อมเสียของพระนางในที่สุด และได้พยายามตัดลดค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าปรับปรุงพระตำหนักของพระนาง ซึ่งก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวระลอกใหม่ขึ้นในพระราชวัง เมื่อพระสหายโปรดเห็นว่าพวกเขาไม่มีภาระหน้าที่อีกต่อไป พระนางทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ พระนางยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป และได้รับการขนานพระนามว่า "มาดามหนี้ท่วมหัว" และมีคนกล่าวหาพระนางว่าเป็นต้นเหตุของการต่อต้านรัฐสภาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 รวมทั้งการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีหลายคนโดยไม่มีเหตุผลสมควร อันที่จริงแล้ว ในปี พ.ศ. 2331 (ค.ศ. 1788) พระนางเป็นผู้เรียกร้องให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ปลดนายโลเมนี เดอ เบรียนน์ผู้เสื่อมความนิยม และแต่งตั้งนายชัค เนคแกร์ขึ้นแทน แต่การกระทำดังกล่าวก็สายไปที่จะกอบกู้ชื่อเสียงคืนมา



การปฏิวัติฝรั่งเศส พ.ศ. 2332


ในปี พ.ศ. 2332 (ค.ศ. 1789) สถานการณ์ขององค์ราชินีเลวร้ายลงมาก มีเสียงเล่าลือว่าคุณผู้ชาย (พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส ในอนาคต) จะยื่นเรื่องต่อสภาบุคคลชั้นสูงในปี พ.ศ. 2330 (ค.ศ. 1787) เพื่อขอพิสูจน์สายเลือดของโอรสธิดาของกษัตริย์ ข่าวลือยังอ้างด้วยว่าองค์ราชินีได้ลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองวัล-เดอ-กราซ ชานกรุงปารีส บาทหลวงซูลาวี ได้เล่าไว้ใน บันทึกประวัติศาสตร์และการเมืองในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ว่า "พระนางได้นำเอาความโชคร้ายของสาธารณะชนไปกับพระนางด้วย และทางราชสำนักก็มีชีวิตชีวาขึ้น และได้รับการฟื้นฟูขึ้นโดยทันทีทันใด จากการที่พระนางเสด็จแปรพระราชฐานเพียงอย่างเดียว"

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2332 (ค.ศ. 1789) ได้มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาของกษัตริย์ขึ้น ระหว่างพิธีมิสซาเพื่อการเปิดสภาอย่างเป็นทางการ สาธุคุณเดอ ลา ฟาร์ ผู้อยู่บนบัลลังก์สงฆ์ ได้กล่าวประนามมารี อองตัวเนตอย่างเปิดเผย ด้วยการตีแผ่การใช้ชีวิตในราชสำนักอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย และยังกล่าวว่าผู้ที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิตหรูหราดังกล่าวได้หลบไปหาความสำราญด้วยการ ใช้ชีวิตเลียนแบบธรรมชาติอย่างไร้เดียงสา อันเป็นคำประชดประชันแดกดันด้วยการเปรียบเปรยถึงชีวิตในพระตำหนักเปอติ ทรีอานง บ้านไร่ในพระราชวังแวร์ซายที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สร้างขึ้นเพื่อมอบให้กับพระนางมารี อองตัวเนต (ตามที่เขียนไว้ใน บันทึกเกี่ยวกับคณะสมาชิกสภา ของ อาเดรียง ดูเกสนัว)

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน มกุฏราชกุมารพระองค์น้อยได้สิ้นพระชนม์ลง ได้มีการจัดพิธีพระศพขึ้นที่วิหารน้อยซังต์-เดอนีส์เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย กิจกรรมทางการเมืองไม่อนุญาตให้เชื้อพระวงศ์ไว้ทุกข์ได้อย่างสะดวกนัก มารี อองตัวเนต ผู้ซึ่งปั่นป่วนพระทัยจากเหตุการณ์นี้ และเสียความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์ในที่ประชุมสภาที่ปรึกษากษัตริย์ จึงปักใจเชื่อในแนวคิดต่อต้านการปฏิวัติ ในเดือนกรกฎาคม พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้สั่งปลดนายชาก เนกแกร์ องค์ราชินีได้เผาเอกสารต่างๆ และรวบรวมเพชรนิลจินดาของพระนาง และกราบทูลโน้มน้าวให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เสด็จออกจากพระราชวังแวร์ซายไปหลบในปราสาทที่เป็นป้อมปราการแข็งแกร่งกว่านี้ ห่างไกลจากกรุงปารีส หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2332 (ค.ศ. 1789) หน้งสือต่อต่านระบอบกษัตริย์ถูกแจกจ่ายไปทั่วกรุงปารีส ผู้ใกล้ชิดพระนางถูกหมายหัว และพระเศียรของมารี อองตัวเนตถูกตั้งราคาไว้ มีคนกล่าวหาพระนางว่าต้องการลอบวางระเบิดรัฐสภาและต้องการส่งทหารเข้ามาในกรุงปารีส

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวครั้งใหม่ขึ้น ขณะที่มีงานเลี้ยงพระกระยาหารโต๊ะยาวโดยเหล่าราชองครักษ์จากพระตำหนักทหารขององค์กษัตริย์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่กองทหารเรือจากฟลองเดรอที่เพิ่งกลับมาถึงกรุงปารีส ได้มีการโห่ร้องถวายพระพรแก่องค์ราชินี อีกทั้งประดับประดาสถานที่ด้วยธงชัยสีขาว และธงไตรรงค์ิ ประชาชนในกรุงปารีสได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับงานพระราชพิธีนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการถวายช่อดอกไม้ ในขณะที่ประชาชนขาดแคลนขนมปัง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ขบวนประท้วงของเหล่าสตรีได้เดินทางมาถึงพระราชวังแวร์ซาย เ่พื่อเรียกร้องขอขนมปัง โดยกล่าวว่าพวกเขากำลังเดินทางไปหา คนทำขนมปังชาย (พระมหากษัตริย์) และคนทำขนมปังหญิง (องค์ราชินี) รวมทั้ง บุตรชายของคนทำขนมปัง (มกุฎราชกุมาร) ในเช้าวันรุ่งขึ้น ประชาชนผู้ลุกฮือติดอาวุธด้วยหอกและมีด ได้บุกเข้าไปในพระราชวัง สังหารองครักษ์เพื่อเป็นการข่มขวัญเชื้อพระวงศ์ ทำให้บรรดาเชื้อพระวงศ์จำต้องเดินทางกลับกรุงปารีสโดยมีกองทหารของมาร์กี เดอ ลา ฟาแยต และเหล่าผู้ลุกฮือตามประกบ ระหว่างทาง ได้มีผู้ข่มขู่องค์ราชินีโดยการให้ทอดพระเนตรเชือกเส้นหนึ่ง พร้อมกับกราบทูลว่าจะใช้เสาโคมในกรุงปารีสแขวนคอพระนางด้วยเชือกเส้นนี้


ระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม รัฐสภาแห่งชาติได้ประกาศให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16ครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย พระองค์ได้ร่วมกับพระนางมารี อองตัวเนตขอความช่วยเหลือจากราชวงศ์ต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก กษัตริย์แห่งปรัสเซีย พระเจ้าชาร์ลที่ 4 แห่งสเปน และพระเจ้าโจเซฟที่ 2 แห่งออสเตรีย พระเชษฐาของพระนางมารี อองตัวเนต แต่กษัตริย์แห่งเสปนได้ตอบกลับอย่างคลุมเครือ และเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2333 (ค.ศ. 1790) พระเจ้าโจเซฟที่ 2 แห่งออสเตรียเสด็จสวรรคต ลา ฟาแยตได้แนะนำอย่างเย็นชาให้มารี อองตัวเนตหย่ากับกษัตริย์ ยังมีบางกระแสได้กล่าวอย่างเปิดเผยว่าจะดำเนินคดีกับพระนางเรื่องมีชายชู้ และจับได้ว่าพระนางลอบเป็นชู้กับท่านเค้าท์ ฮาน แอกเซล เดอ เฟอร์เสน

ราวปลายปี พ.ศ. 2333 บารอน เดอ เบรอเตย ได้เสนอแผนการหลบหนี ด้วยการหนีออกจาพระราชวังตุยเลอรี และเข้ายึดป้อมปราการที่เมืองมงต์เมดี ให้กับชายแดน องค์ราชินีต้องอยู่ตามลำพังพระองค์เองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2333 แมร์ซี-อาร์จองโต ได้ออกจากฝรั่งเศส เพื่อไปรับตำแหน่งในสถานเอกอัครราชทูตแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ในขณะที่พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 กษัตริย์องค์ใหม่แห่งออสเตรีย พระเชษฐาอีกพระองค์ของมารี อองตัวเนต ปฏิเสธที่จะช่วยพระนาง ในวันที่ 7 มีนาคม ได้มีผู้จับได้ว่าแมร์ซี-อาร์จองโต ส่งจดหมายถึงพระนาง และได้นำเรื่องให้คณะปฏิวัติดำเนินการ จึงเกิดเป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้นว่า นั่นเป็นหลักฐานว่าพระนางได้มีส่วนพัวพันกับ "คณะกรรมาธิการออสเตรีย" และได้เจรจาจะขายชาติให้กับประเทศออสเตรีย

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน กลุ่มก่อการปฏิวัติได้บุกกรุงปารีส ทันใดนั้นเอง ชาวกรุงปารีสก็พบว่ากษัตริย์กับราชินีได้หลบหนีไปแล้ว แต่มาร์ควิส เดอ ลา ฟาแยตต์ได้โน้มน้าวให้กลุ่มก่อการปฏิวัติเชื่อว่ากษัตริย์ถูกกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติลักพาตัวไป พระราชวงศ์ที่หลบไปนอกกรุงปารีสไม่จำเป็นต้องซ่อนตัวอีกต่อไป แต่โชคร้ายที่ราชรถของพวกพระเจ้าหลุยส์และพระนางมารี อองตัวเนตมาถึงช้าไปกว่าสามชั่วโมง และเมื่อพวกเขามาถึงจุดนัดพบจุดแรก ที่จุดแวะพักปงต์-เดอ-ซอม-เวสเลอ กองทหารที่จะมาช่วยได้จากไปเสียแล้ว โดยคิดว่าพระมหากษัตริย์เปลี่ยนพระทัย ก่อนจะถึงเที่ยงวันเล็กน้อย ราชรถถูกจับได้ที่เมืองวาเรนน์-ออง-อาร์กอนน์ เนื่องจากเจ้าของจุดแวะพักจุดก่อนจำพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้ เขาลังเลอยู่ครู่หนึ่ง ไม่มีใครทราบว่าจะทำอย่างไรดี และในขณะนั้นเอง ได้มีฝูงชนหลั่งไหลมาที่เมืองวาเรนน์ ท้ายที่สุด ราชวงศ์ที่กำลังถูกคุกคาม ได้ถูกนำตัวกลับไปยังกรุงปารีส ภายใต้บรรยากาศโหดร้ายอันเรียบเชียบเงียบงัน




ภายหลังเหตุการณ์ที่เมืองวาเรนน์
เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกไต่สวนโดยคณะผู้แทนของสภาแห่งชาติ พระองค์ได้ตอบคำถามอย่างคลุมเครือ คำตอบที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก จนมีกระแสเรียกร้องให้ถอดถอนพระองค์จากตำแหน่งกษัตริย์ ทางด้านพระนางมารี อองตัวเนตได้พบกับอองตวน บาร์นาฟ อย่างลับๆ โดยต้องการโน้มน้าวให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยอมรับตำแหน่งกษัตริย์ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในที่สุด เมื่อวันที่ 13 กันยายน พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ยอมรับระบอบประชาธิปไตย และในวันที่ 30 กันยายน ได้มีการยุบสภาที่ปรึกษากษัตริย์ และตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นมาแทนที่ แต่อย่างไรก็ดี ข่าวการทำสงครามกับราชวงศ์ของประเทศเพื่อนบ้านได้แพร่สะพัดไปทั่ว ในบรรดาเชื้อพระวงศ์ของยุโรปทั้งหมด ออสเตรียทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้สึกกดดันที่สุด ประชาชนจึงได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านมารี อองตัวเนตและเรียกพระนางว่าเป็น "นางปิศาจ" หรือไม่ก็ "มาดามผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมาย" และยังกล่าวโทษว่าพระนางเป็นผู้ทำให้เมืองหลวงนองไปด้วยเลือด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2335 (ค.ศ. 1792) คำแถลงการณ์แห่งบรุนส์วิก ที่ได้รับแรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากท่านเคานท์ ฮาน แอกเซล เดอ เฟอร์เสน ได้จุดเพลิงแค้นของประชาชนชาวฝรั่งเศสได้สำเร็จในที่สุด

ประชาชนได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ด้วยการบุกพระราชวังตุยเลอรี พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จำต้องลี้ภัยในสภาคณะปฏิวัติแห่งชาติ ที่ต่อมาได้ลงคะแนนให้ถอดถอนพระองค์ชั่วคราว และให้พระองค์เสด็จไปประทับที่คอนแวนต์ของนิกายเฟยยองต์ วันรุ่งขึ้น เชื้อพระวงศ์ก็ถูกนำตัวมาไว้ที่ห้องขังของโบสถ์ ระหว่างการสังหารหมู่เชื้อพระวงศ์ในเดือนกันยายน เจ้าหญิงแห่งลอมบาลล์ถูกสังหารอย่าง...มโหดเพื่อเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู และพระเศียรของเจ้าหญิงถูกเสียบไว้ที่ปลายหอกและตั้งไว้นอกหน้าต่างห้องที่ประทับของพระนางมารี อองตัวเนต ไม่นานต่อมา หลังจากที่สงครามได้เริ่มขึ้น สภาคณะปฏิวัติได้ประกาศให้เชื้อพระวงศ์ตกอยู่ในฐานะตัวประกัน ราวต้นเดือนธันวาคม ได้มีการค้นพบ"เสื้อเกราะเหล็ก"ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ใช้ซ่อนเอกสารลับของพระองค์ จึงจำเป็นต้องจัดการไต่สวนคดีขึ้นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม สภาคณะปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสได้ลงมติให้ประหารกษัตริย์ ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16ถูกประหารเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2336 (ค.ศ. 1793) ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม แมกซิมิเลียง เดอ โรปสปิแยร์ได้เรียกร้องกับสภาคณะปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ให้จัดการกับราชินีอีกองค์ วันที่ 13 กรกฎาคม องค์มกุฎราชกุมารก็ถูกลักพาตัวไปจากพระมารดาและถูกมอบให้อยู่ในความดูแลของอองตวน ซิมง ช่างทำรองเท้า และในวันที่ 2 สิงหาคม ก็ถึงคราวที่พระนางมารี อองตัวเนตถูกพรากจากเหล่าเจ้าหญิงและนำตัวไปยังทัณฑสถานกรุงปารีส การไต่สวนพระนางจะเริ่มต้นในวันรุ่งขึ้น


การพิจารณาคดี
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2336 มารี อองตัวเนตถูกตั้งข้อหาโดยศาลปฏิวัติ โดยฟูกิเยร์-ทังวิลล์ ผู้ฟ้องร้องแทนประชาชน หากแม้นว่าการพิจารณาคดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังคงไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรม การพิจารณาคดีของราชินีมิได้เป็นเช่นนั้นเลย ได้มีการทำสำนวนฟ้องขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากนายฟูกิเยร์ เดอ ทังวิลล์ไม่สามารถหาเอกสารของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พบทุกชิ้น และเพื่อให้สามารถตั้งข้อกล่าวหาแก่พระนางมารี อองตัวเนตได้ เขามีแผนที่จะให้มกุฎราชกุมารขึ้นให้การต่อศาลในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมารดา ซึ่งต่อหน้าศาล มกุฎราชกุมารพระองค์น้อยได้กล่าวหาพระมารดา และพระมาตุจฉาว่าเป็นผู้สอนให้พระองค์สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง และบังคับให้เล่นเกมสวาท พระนางมารี อองตัวเนตผู้เสื่อมเสียพระเกียรติได้เรียกราชเลขามาขึ้นให้การ พระนางพ้นจากการถูกรุมประชาทัณฑ์ได้อย่างเส้นยาแดงผ่าแปด แต่พระนางยังถูกตั้งข้อกล่าวหาอีกว่าสมรู้ร่วมคิดกับประเทศมหาอำนาจต่างชาติ และเมื่อพระนางยังคงยืนกรานความบริสุทธิ์ นายแอร์มานน์ ประธานศาลปฏิวัติ ได้กล่าวว่าพระนางเป็น "ตัวการสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการทรยศต่อหลุยส์ คาเปต์" คดีนี้จึงกลายเป็นการพิจารณาคดีของทรราชไป บทนำของสำนวนฟ้องยังกล่าวอีกด้วยว่า:

"จากการพิจารณาเอกสารทั้งหมดที่ยื่นโดยผู้ฟ้องร้องแทนประชาชน ผลปรากฏว่า ในบรรดาราชินีทั้งหลาย เป็นต้นว่า เมสซาลีน บรูเนอโอ เฟรเดกองด์ และมารี เดอ เมดิซี ที่เมื่อก่อนเรายอมรับว่าเป็นราชินีของฝรั่งเศส ผู้ซึ่งมีชื่อเสื่อมเสียไม่อาจลบล้างได้จากประวัติศาสตร์ นับได้ว่ามารี อองตัวเนต หญิงหม้ายของหลุยส์ คาเปต์ เป็นผู้มีความละโมบเป็นที่สุด และเป็นหายนะอันใหญ่หลวงของชาวฝรั่งเศส"
พวกพยานที่จัดหามาดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าที่ควร พระนางมารี อองตัวเนตให้การตอบว่า พระนาง "เป็นเพียงแค่ภรรยาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เท่านั้น และพระนางก็ทำอะไรตามพระทัยของพระนางเอง" นายฟูกิเยร์-ทังวิลล์ ได้เรียกร้องให้ประหารพระนางและกล่าวหาว่าพระนางเป็น"ศัตรูอย่างเปิดเผยของชาติฝรั่งเศส" ทางด้านนายทรองซง-ดือคูเดรย์ และนายโชโว-ลาการ์ด ทนายความสองคนของพระนางมารี อองตัวเนต ยังหนุ่มและขาดประสบการณ์ อีกทั้งยังไม่ได้เห็นเอกสารฟ้องก่อนขึ้นว่าความ ทำได้แค่เพียงอ่านออกเสียงบันทึกไม่กี่หน้าที่ตนได้จดเอาไว้

คณะลูกขุนต้องตอบถามคำถามสี่ข้อด้วยกัน:
" 1. จริงหรือไม่ที่ได้มีการคบคิดและมีการและเปลี่ยนข่าวกรองกับประเทศมหาอำนาจต่างชาติ และศัตรูอื่นๆ นอกสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยที่การคบคิดและข่าวกรองดังกล่าวนั้นมีจุดมุ่งหมายให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ให้พวกนั้นเข้ามาในดินแดนฝรั่งเศส และให้พวกนั้นพัฒนาอาวุธได้?"
"2. มารี อองตัวเนตแห่งออสเตรีย (...) เราเชื่อว่านางได้มีส่วนร่วมมือกับการคบคิดและสนับสนุนการข่าวกรองดังกล่าวหรือไม่?"
"3. จริงหรือที่มีแผนการสมรู้ร่วมคิดและแผนข่าวโคมลอยที่พยายามจุดชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองภายในสาธารณรัฐฝรั่งเศส?"
"4. เราเชื่อว่ามารี อองตัวเนตได้มีส่วนร่วมในแผนสมรู้ร่วมคิดและข่าวโคมลอยนี้หรือไม่?"
คณะลูกขุนได้ตอบว่าคำถามดังกล่าวว่าจริงและใช่ทุกข้อ มารี อองตัวเนตจึงถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อเป็นทรราชขั้นร้ายแรงเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ประมาณเวลาสี่นาฬิกาของรุ่งเช้า ในวันเดียวกันนั้นเอง เมื่อเวลาสิบสองนาฬิกาสิบห้านาที พระนางถูกประหารด้วยกิโยติน หลังจากที่ได้ปฏิเสธจะสารภาพบาปกับบาทหลวงที่คณะปฏิวัติจัดหาให้ ศพของพระนางถูกฝังในหลุมฝังศพลา มาเดอเลน บนถนนอองจู-ซังต์-ตอนอเร ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2358 (ค.ศ. 1815) พระศพของพระนางถูกขุดขึ้นมา และถูกย้ายไปฝังไว้ที่วิหารซังต์ เดอนีส์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม


--------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง Philippe Delorme, Marie-Antoinette, Histoire des Reines de France, Ed. Pygmalion, 2001.
Évelyne Lever, Marie-Antoinette, Fayard, 1991.
Stefan Zweig, Marie-Antoinette, Livre de Poche, 1999 (พิมพ์ครั้งที่ 1 ค.ศ. 1937)
จากwikipedia.org

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
มารคัส's profile


โพสท์โดย: มารคัส
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
16 VOTES (4/5 จาก 4 คน)
VOTED: ginger bread, zerotype, เพ้ยเพ้ย
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3 มาแน่! คนทั่วไปรับผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568คนดูยังท้อ!! หนุ่มทำคอนเทนต์ตามล่า “ ช็อกโกแลตดูไบ” ในเซเว่น หาทั้งจังหวัด 23 สาขา ก็ยังไม่มี แต่สุดท้ายได้ลองสมใจ"เหมือนเป๊ะ! แตงโมจัดเต็มโคฟเวอร์ 'เจ๊มิ่ง' แซ่บเวอร์ทุกดีเทล"เพจดังเปิดภาพพระสงฆ์ ควงแขนผู้ชาย ชาว เน็ตวิจารณ์ยับน้ำใจยิ่งใหญ่! หนุ่มไร้เงินขอติดรถกลับบ้าน เจอผู้ให้เต็มคันสุดอบอุ่น
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
เฮ! เงินไร่ละพันยังมาต่อเนื่อง! ชาวนารับเงินช่วยเหลือ ธ.ก.ส. กันอยู่หรือเปล่า? มาอัปเดตกันหน่อย!รีบมา! คืนนี้วันสุดท้ายแล้ว "ตำรวจตกน้ำ" ไวรัลสุดเสียวกาชาด 2567 หล่อ เปียก ฮา พุ่งกระจาย!อย่าท้าทายระบบ! "สารวัตรแจ๊ะ" เผยสาเหตุที่ต้องใส่แมสก์ และสวมหมวกตลอดเวลาสั่งพักงานยกชุด! 18 ตำรวจจราจร ปมตั้งโต๊ะจับปรับ 'เจอจ่ายจบ'"ร่วมส่งใจ อาเป็ด เชิญยิ้ม แอดมิตด่วน เจอพิษ “โนโรไวรัส” ยังไม่มียา-วัคซีน ชวนป้องกัน กินสุกลดเสี่ยง ล้างมือบ่อย #ลดเสี่ยงโรค
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
จริงไหมที่คำว่า ‘Salary’ มาจาก ‘Salt’ เพราะทหารโรมันรับค่าจ้างเป็นเกลือ?อยากโกอินเตอร์? เจาะลึกวิธีหางานต่างประเทศ 2567 แบบถูกกฎหมาย ได้สิทธิเต็มที่ ไม่มีโดนหลอก!ชาวต่างด้าวข้ามฝั่งมาคลอดฟรี คนไทยเสียงแตก งานนี้ใครได้ ใครเสียชั่วขณะสุดท้ายของชีวิต หากถูกประหารด้วยกิโยติน เราจะรู้สึกอย่างไร?
ตั้งกระทู้ใหม่